Thursday, April 26, 2007 Roadmap สำหรับ VI 2 (ต่อ)

หลังจากที่เรามีความรู้ในเรื่องของแนว คิดการลงทุนแบบ vi รวมกับความรู้ในการอ่านบัญชี หรือการวิเคราะห์จากตัวเลข ท้ายสุดก็คือเรื่องของจิตวิทยาการลงทุน ผมก็เชื่อว่านักลงทุนท่านนั้นๆก็น่าจะมีความพร้อมระดับนึงในการลงทุนให้ตลาด หุ้นแล้ว ....

4. ทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทักษะในการวิเคราะห์ธุรกิจ มองถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรม ผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อเราเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น บริษัทอะไรจะได้ประโยชน์ บริษัทอะไรจะเสียประโยชน์ เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น บริษัที่ขายเครื่องดื่ม และบริษัที่ขายแอร์ก็น่าจะได้ประโยชน์ แรกๆผมเองก็ไม่ค่อยเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมต่อบริษัทต่างๆใน ตลาดหุ้นซักเท่าไหร่ แต่ยิ่งผมนั่งศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆมากขึ้น อ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 56-1, annual report, หนังสือพิมพ์ หรือ Pocket Book ต่างๆ

นอกจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อม ต่อตัวบริษัท เรายังจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงความสามารถของบริษัท ข้อเด่นข้อด้อย ความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพราะบางครั้งเราวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกได้ว่าธุรกิจกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์ แต่การเลือกหุ้นในธุรกิจนั่นๆ ก็จำเป็นต้องสามารถวิเคราะห์แบบภายในได้เช่นกัน ....

ในระยะแรกๆของ การลงทุน ผมเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องในแต่ละอุตสาหกรรมเท่าหร่ .. ในช่วงแรกๆของการเล่นหุ้นผม พยายามศึกษาธุรกิจโฆษณา เนื่องจากสนใจลงทุนในบริษัทโฆษณา แรกๆก็ไม่เข้าใจว่าโครงสร้างรายได้เป็นอย่างไร ปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร แนวโน้มของบริษัทเป็นอย่างไร พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้น ต่อมาผมก็หันมาสนใจกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ก็ทำให้รู้ว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจว่าบริษํทนั้นมีการผลิตโดยเน้นเครื่องจักร ที่ทันสมัยเป็น Automatic หรือว่าเป็นการผลิตที่เน้นการใช้แรงงาน ซึ่งธุรกิจทั้ง 2 ประเภทก็จะมีความสามารถในการลดต้นทุนที่แตกต่างกันและมี Key Success Factor ที่แตกต่างกัน ฟังๆดูอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ยิ่งผมศึกษาการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆกันมากเท่าไหร่ ความรู้ของผมก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ ขอบเขตความสามารถก็กว้างขึ้น ทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการทำความเข้าใจหุ้นแต่ละตัว เนื่องจากการลงทุนแบบ vi ทีดีจำเป็นต้องเข้าใจในธุรกิจที่ลงทุน การขยายขอบเขตความรู้ของตัวเองออกไป ทำให้ผมคว้าโอกาสที่ผ่านมาได้มากขึ้น หุ้นที่แต่เดิมไม่เคยคิดจะสนใจ ก็เข้ามาอยู่ในกรอบความสนใจ เมื่อมีปัจจัยอะไรที่ให้โอกาสกับหุ้นตัวนั้นๆ ผมก็ซื้อหุ้นได้ทัน และเร็วกว่าคนอื่นๆ ผลตอบแทนก็ยิ่งมากขึ้นๆ

ทักษะ ในข้อนี้ของผมเองก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ผมยังมองว่ายากเกินที่ผมจะเข้าใจ เช่น การเกษตร แบงค์ อสังหา ฯลฯ ทำให้ผมไม่สามารถที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ .. แต่ผมก็หวังความยิ่งผมใช้เวลาอยู่ลงทุนนานขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น อ่านมากขึ้น ขอบเขตความรู้ของผมก็จะกว้างขึ้น และในอนาคต ตัวเลือกในการลงทุนก็จะมากขึ้น ผลตอบแทนคงจะดีขึ้นตามลำดับ ..... ขั้นตอนนี้แม้จะใช้เวลานานมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผลเชื่อว่าเป็นทักษะที่สำคัญในอันดับต้นๆของการลงทุนให้สำเร็จ

5. ความสามารถในอ่านคน: หลายๆคนอาจจะงงๆว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน .... ผมเชื่อว่าหุ้นที่ดีจะต้องประกอบไปด้วย 3 ประการหลัก คือ 1. บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี 2. บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี 3. บริษัทมีผู้บริหารที่ดี ทักษะในข้อที่ 4 จะสามารถตอบโจทย์ข้อ 1 และ 2 ได้ แต่การที่จะตอบคำถามเรื่องผู้บริหารนั้นผมว่าจำเป็นที่จะต้องอ่านคนออก ..... สิ่งที่ผมต้องการสำหรับผู้บริหารคือความเก่ง ขยันและซื่อสัตย์ ซึ่งการตั้งคำถาม การพูดคุย หลายๆครั้งจะทำให้เราพอที่จะสามารถตีความได้จากบุคคลิก ลักษณะ และการตอบคำถาม

แรกๆ เซ้นในการอ่านคนของเราอาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่ยิ่งเรามีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆคน บ่อยๆ เราจะเริ่มจับทาง และมีเซ้นในการอ่านคนที่ดีขึ้นได้ ผู้บริหารคนจะชอบโม้เกินจริง บางคนจะชอบพูดแบบ conservative ไว้ก่อน ผู้บริหารชอบปิดบังสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ในใจไม่ยอมพูด บางคนนี่ก็เชื่อคำพุดเค้าไม่ได้เลย เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะของผู้บริหารแต่ละคน ..... หลายครั้งเราก็ต้องตั้งคำถามให้เห็นขึ้นวิสัยทัศน์ วิธีการแก้ปัญหา .. แผนการดำเนินการในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ว่าผู้บริหารนั้นเก่ง หรือขยันหรือไม่อย่างไร ...

การเสริมความรู้ในทักษะด้านการอ่านผม สามารถพัฒนาได้ด้วยการพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆท่าน และติดตามผลงานของเค้าว่าเป็นอย่างที่พูดหรือไม่ ฝึกตั้งคำถามที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความสามารถ หรือความซื่อสัตย์ เช่น ผมมักจะชอบถามผู้บริหารว่าเค้ามีปัจจัยอะไรที่เป็นเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับ ธุรกิจอยู่บ้างหรือว่า หรือมีอะไรที่ห่วงทำให้นอนไม่หลับ ... ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์จะมักจะตอบตรงๆถึงสิ่งที่เค้าเป็นกังวลอยู่ ในขณะที่ผู้บริหารที่ไม่ค่อยซื่อเท่าไหร่ แม้มีเรื่องอยู่ ก็มักจะปิดบังเอาไว้ไม่ยอมพูด อาจจะตอบว่าไม่มี หรือไม่ก็เฉไฉไปเรื่องอื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบพูดในเรื่องร้ายๆ ต่อธุรกิจตัวเอง มักจะพูดแต่เรื่องดีๆ (ไม่ได้ใช้ได้ 100% นะครับ แต่เท่าที่ลองๆดู การใช้คำถามนี้ถามผู้บริหารก็จะได้คำตอบที่อ่านผู้บริหารได้พอสมควร) นอกจากนี้บางครั้งผู้บริหารที่ตอบถึงปัญหาแบบตรงๆ บางครั้งผมก็จะเจอผู้บริหารที่บอกถึงปัญหาที่กังวล ข่าวร้าย แต่ในขณะเดียวกันก็บอกถึงทางแก้ไข หรือแผนการที่จะป้องกันไว้ด้วย ... พวกนี้ผมว่ามักจะเป็นผู้บริหารที่จะมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ คือเก่ง ขยัน และซื่อสัตย์ ...

นอกจากการพูดคุยกับผู้บริหารบ่อยๆ แล้วผมยังชอบที่จะหาหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการอ่านอยู่เรื่อยๆ ลองไปหาหนังสือของ เดวิด เจไลเบอร์แมนมาอ่านดูนะครับ .. เห็นเขียนไว้หลายเล่ม อ่านๆไปผ่านๆ บางครั้งเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ที่ได้มาใช้โดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ......

โดยสรุป ทักษะหรือความรู้ ที่ใช้ในการลงทุนที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญหลักๆมีอยู่ 5 อย่างดังนี้
1. ความรู้ในแนวคิดและหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
2. ทักษะในการวิเคราะห์ตัวเลข งบดุล งบการเงิน งบกระแสเงินสด
3. จิตยาในการลงทุน
4. ความสามารถในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ภายใน และความเข้าใจในอุตสาหกรรม
5. ความสามารถในการอ่านคน

ทางเดินของการเป็น vi นั้นอาจจะดูแล้วยาวนานและยากซะเหลือ ... แต่เชื่อผมเถอะครับ .. ลงทุนในความรู้ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังหรอกครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘