Sunday, October 24, 2010 กลยุทธ์เอาตัวรอดในตลาดหุ้น

นานๆทีผมจะ comment สภาพตลาด บทความนี้ผมเขียนไว้เมื่อ 27 กันยายน 2010

กลยุทธ์เอาตัวรอดในตลาดหุ้น

นัก ลงทุนจำนวนมากคิดว่าการจะลงทุนในตลาดหุ้นให้ได้กำไร จำเป็นที่จะต้องคาดเดาแนวโน้มของตลาดได้แม่นยำระดับหนึ่ง คนที่ติดตามข่าวสารมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสในการคาดเดาดัชนีได้มากขึ้น เท่านั้น ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดแบบนี้เช่นกัน ส่วนตัวผมเองก็ชอบลองทายการขึ้นลงของดัชนีบ้างเป็นบางครั้ง แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ก็จะผิดบ้างถูกบ้าง (ส่วนใหญ่จะผิด) เอาแน่เอานอนไมได้ แต่พอร์ตการลงทุนของผมก็ยังคงทำผลตอบแทนได้อย่างดีตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนั้นก็เลยทำให้ผมเลิกความเชื่อดังกล่าว

การลงทุนแนว Value Investing ให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่จำเป็นต้องคาดการณ์ดัชนีว่ามันจะขึ้นหรือลง ตราบใดการตามที่เราสามารถหาหุ้นคุณภาพดีและมีราคาถูกอยู่ในตลาด เราก็ควรที่จะลงทุนต่อไปเรื่อยๆ จำนวนเงินที่จะลงทุน จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นราคาถูกที่เราเจอ ระดับความถูกว่าถูกมากหรือน้อย เพราะความเชื่อของการลงทุนแนวนี้อยู่ที่ว่า ราคาหุ้นนั้นจะสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นในระยะยาวเสมอ การขึ้นลงของดัชนีก็ไม่ควรจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการตัดสินใจลงทุนของเรา เพราะเมื่อเราซื้อหุ้น เราซื้อกิจการของบริษัทนั้นๆ เราซื้ออนาคตของหุ้นนั้นๆ เราไม่ได้ไปซื้อดัชนี

ตั้งแต่ผมลงทุนมา ตั้งแต่ปีแรกผมก็ใส่เงินอยู่ในหุ้นอยู่ 100% ตลอดเวลา (บางช่วงอาจจะเกิน 100% บ้างเพราะใช้ Margin) เพราะผมยังสามารถหาหุ้นดีๆราคาถูกลงทุนได้อยู่เสมอ แต่มาวันนี้สถานการณ์มันเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ช่วงนี้เป็นครั้งแรกที่ หาหุ้นลงทุนได้น้อยมากๆ เจอบริษัทที่ยังเห็นว่าราคาถูกอยู่เพียงไม่กี่บริษัท แล้วแต่ละบริษัทนั้นก็ไม่ได้มีราคาถูกมากจนน่าตื่นเต้น ผมเลยตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนมาถือเงินสด โดยลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นเหลือประมาณ 80-90% ของเงินทั้งหมดที่มี และถ้าราคาหุ้นยังคงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ผมก็คงจะทยอยลดพอร์ตลงเรื่อยๆ ตามแต่ระดับความถูกแพงที่ผมประเมินในช่วงเวลาๆนั้น กลยุทธ์ตอนนี้ของไม่ใช่การลงทุนให้ได้กำไรสูงที่สุด แต่เป็นการลงทุนให้ระดับที่พอเหมาะกับความเสี่ยง ซึ่งแนวคิดนี้ผมก็เรียนรู้มาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำ ธุรกิจอย่างยาวนานหลายบริษัท ผมจะยกตัวอย่างให้ดูนิดหน่อยละกัน

PSL เป็นทำธุรกิจเรือเทกองที่มีความสามารถในการทำกำไรระดับต้นๆของโลก ธุรกิจนี้จัดเป็น Cycle ที่ขึ้นลงค่อนข้างรุนแรงและเป็นเวลานาน ในช่วงที่อุตสาหกรรมดีบริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ก็จะกำไรกันเป็นกอบเป็นกำ ในช่วงที่อุตสาหกรรมแย่บริษัทจำนวนมากก็ขาดทุนล้มหายตายจากไปก็เยอะ PSL นั้นสามารถเติบโตผ่าน Cycle ทั้งขึ้นและลงมาหลายรอบและสามารถทำผลกำไรได้ดีมากมาโดยตลอด กลยุทธ์ของ PSL นั้นฟังดูเหมือนกลยุทธ์ทั่วๆไปของการเล่นหุ้น คือ “ซื้อถูก ขายแพง”

ใน ช่วงที่ค่าระวางเรือเป็นขาขึ้น บริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ก็จะมีกำไรที่ดี กระแสเงินสดก็จะสูง คู่แข่งจำนวนหนึ่งที่ก็จะรีบต่อเรือเพิ่ม หรือไปซื้อเรือมือสองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดนหวังว่าจะได้รีบมาปล่อยเช่าเพื่อกินค่าเช่าระดับสูงๆได้ แต่ PSL นั้นกลับทำตรงข้ามกับคนอื่น เมื่อค่าระวางเรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งที่ผู้บริหารคิดว่าอยู่ในระดับที่ดี แล้ว PSL ก็จะทำสัญญาเช่าเรือล่วงหน้ากับลูกค้าเพื่อ Fix ค่าระวางเรือเอาไว้ ในช่วงแรกอาจจะทำไว้ 25% ของเรือทั้งหมด และเมื่อค่าระวางเรือยังคงเพิ่มขึ้นต่อ บริษัทก็อาจจะ Fix ค่าระวางเรือเอาไว้อีกซัก 25% แล้วถ้าค่าระวางยังคงขึ้นต่อไปไม่หยุด บริษัทก็จะทำสัญญาเช่าล่วงหน้าไปทั้งหมด 100% ในะขณะที่ก็จะทยอยขายเรือเก่าที่มีอายุออกบางส่วนในราคาตลาดที่สูง ในภาวะที่ค่าระวางเรือยังคงขึ้นต่อไปไม่หยุดแบบนี้ PSL อาจจะดูเป็นบริษัทที่ไม่ฉลาดนัก เพราะในช่วงขาขึ้นที่คนอื่นๆเค้าทำกำไรกันได้สูงเพราะจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้น PSL อาจจะมีกำไรที่ต่ำกว่าเพราะจำนวนเรือก็ไม่เพิ่มแถมยังไป Fix ค่าเช่าออกไปเป็นจำนวนมาก

ในธุรกิจวัฎจักรนั้น เมื่อมีขาขึ้นแล้วก็ต้องมีขาลง ในช่วงที่ค่าระวางเรือลดลงเรื่อยๆนั้น บริษัทที่ไปต่อเรือเพิ่ม หรือซื้อเรือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้นก็จะเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะการซื้อเรือในช่วงขาขึ้นนั้นมีราคาที่สูง รายได้จากค่าเช่าที่ได้รับก็อาจจะไม่มากเท่าที่เคยคิด เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องบริษัทเหล่านี้ถ้าไม่ขายเรือออกไปบ้าง (ซึ่งจะต้องขายออกในราคาถูก) ก็อาจจะต้องปิดกิจการลงเพราะไม่มีเงินสดพอในการดำเนินธุรกิจ
ในช่วงนี้ PSL ก็จะกลายเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่ดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่วนใหญ่ เพราะบริษัทได้ขายเรือออกไปในราคาแพงจำนวนหนึ่ง และยังได้ Fix ค่าระวางเรือไปส่วนใหญ่แล้ว และเวลานี้ก็จะเป็นเวลาที่ PSL เริ่มทยอยซื้อเรือของบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องในราคาต่ำมากๆ จำนวนเรือของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสเงินสดที่บริษัทสามารถสร้างได้

และเมื่อเวลาเลวร้ายผ่านไป ค่าระวางเรือกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ PSL ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น กำไรเพิ่มมากขึ้น แล้ววงจรธุรกิจก็จะยังคงวนเวียนเป็นขาขึ้นขาลงสลับกันไป คู่แข่งหลายรายล้มหายตายจากไป มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาบ้าง ในขณะที่ PSL ก็จะมีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นว่ากลยุทธ์ซื้อถูกขายแพงของ PSL นั้นไม่ได้เป็นการซื้อที่ถูกที่สุด หรือขายที่แพงที่สุด แต่เป็นการทยอยซื้อเมื่อค่าระวางเรืออยู่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และทยอยขายเมื่อค่าระวางเรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะแม้แต่ผู้บริหาร PSL ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดินเรือมาอย่างยาวนานนั้น เค้าก็ไม่สามารถคาดการณ์ดัชนีค่าระวางเรือในระยะสั้นได้

บริษัทที่ ใช้กลยุทธ์คล้ายๆ กันนี้ก็มีอยู่หลายบริษัทอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ เช่น IRP และ IVL (ซึ่งตอนนี้ควบรวมกันแล้ว) ในช่วงขาขึ้นบริษัทก็จะ Focus ไปกับควบคุมประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ ในขณะที่คู่แข่งก็จะ Focus ไปกับการขยายโรงงานเพื่อให้ทันกับขาขึ้นของวัฎจักร และในช่วงขาลงคู่แข่งก็จะมีกำไรที่ลดลงหรือขาดทุน บางรายถึงกับขาดแคลนเงินสดจนต้องปิดตัวลงหรือขายธุรกิจบางส่วนของตัวเองออก ตอนนี้ IRP และ IVL อาจจะมีกำไรน้อยลงไปบ้าง แต่กระแสเงินสดยังคงดีอยู่ ก็จะเริ่มซื้อโรงงานของคู่แข่งที่มีปัญหาในราคาถูก กู้เงินสร้างโรงงานใหม่ในช่วงที่วัฎรจักรยังดูไม่ดีเท่าไหร่ แล้วสุดท้ายเมื่อเวลาเลวร้ายผ่านพ้นไป บริษัทจะยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ IRP IVL จากที่เคยเป็นบริษัทที่มีกำลังการผลิตและผลกำไรไม่มากนักก็เติบโตขึ้น เรื่อยๆ จนปัจจุบัน บริษัทอาจจะกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมด้วยกลยุทธ์ “ซื้อถูกขายแพง” ในระยะเวลาอีกไม่นานนี้

การลงทุนในหุ้นก็เป็นเช่น เดียวกัน เราไม่จำเป็นต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเพื่อที่จะประสบผลสำเร็จในการลงทุน แต่เราควรที่จะขายเมื่อเรารู้สึกว่าราคาหุ้นมันเกินกว่าที่ควรจะเป็น ยิ่งขึ้นมาก็ต้องยิ่งต้องขายมาก เพื่อที่จะสร้างกระแสเงินสดเก็บไว้กับตัวเอง เพื่อรอเวลาที่ตลาดจะกลับมาอยู่ในขาลง และมีโอกาสกลับไปซื้อหุ้นในยามที่มันถูกกว่าที่ควรจะเป็น ในช่วงภาวะแบบนี้ Value Investor ที่ระมัดระวังอาจจะดูโง่ที่ขายหุ้นออกในช่วงที่หุ้นอยู่ในขาขึ้น เหมือนกับที่ PSL ทำในช่วงค่าระวางขาขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่ตลาดกลับมาเป็นขาลง Value Investor ที่ระมัดระวังก็จะเป็นคนที่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวเสมอ

คำสอนของ Warren Buffett ที่บอกว่า “โลภเมื่อคนอื่นกลัว และ กลัวเมื่อคนอื่นโลภ” ยังคงใช้ได้ดีอยู่เสมอ ทั้งในการลงทุน หรือแม้แต่การดำเนินธุรกิจ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘