Saturday, January 26, 2008 การบริหาร Port style yoyo

นอกจาการเลือกหุ้นที่ดีในราคาที่ไม่แพง แล้ว การจัดจำนวนหุ้นใน port รวมถึงสัดส่วนใน port นี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน เรื่องของการจัดสัดส่วนใน port นี่ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้เห็นความสำคัญในการเขียนถึงซักเท่าไหร่เคยเขียนก็แค่ จำนวนหุ้นใน port ... แต่มาในช่วงหลังๆนี้ผมเจอเพื่อนๆคนรู้จักที่มีปัญหาในการลงทุนเนื่องมาจาก การบริหาร port เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเลือกหุ้นได้ดีแล้ว หรือบางทีเจอเพื่อนที่ให้แนะนำหุ้นลงทุนให้ ผมก็บอกไป 3-4 ตัว ... ตอนบอกไปก็คิดว่าเพื่อนมันจะไปซื้อตามทั้ง 3-4 ตัว ที่ไหนได้มันหยิบมาแค่ตัวเดียว แล้วซื้ออัดมันทั้ง port ผลที่ตามมาก็คือปีที่แล้วทั้งปีผลตอบแทนมันแทบจะไม่ไปไหนเลย บางคนอาจจะถอยหลังซะด้วยซ้ำ เพราะดันไปเลือกหุ้นที่ผมอาจจะวิเคราะห์ผิด หรือหุ้นนั้นมันดีจริงๆแหละ แต่ราคามันก็ลงเอาลงเอา ในขณะที่หุ้นตัวอื่นๆทีมันไม่ได้เลือก วิ่งเป็น 100% แบบสบายๆ

แต่ ก่อนผมเองก็เคยผ่านช่วงที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องการบริหาร port เท่าไหร่ เคยซื้อหุ้นมันตัวเดียวเกือบทั้ง port โชคดีที่หุ้นนั้นๆมันวิ่งขึ้นเยอะ ก็เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไรเท่าไหร่ แต่หลังจากลงทุนไปเรื่อยๆผมก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการจัด port มากขึ้น ซึ่ง Style การจัด port ของผมนั้นอาจจะแตกต่างจากหลักวิชาการ Portfolio Management ที่เด็ก Finance หรือ MBA ได้เรียนกันมาก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ผมเป็นพวกไม่ค่อยจะเชื่อหลักวิชาการเป๊ะๆเท่าไหร่อยู่แล้ว อาศัยประสบการณ์มั่วๆคิดขึ้นมาเอง :)

ลองทำตามกันดูง่ายๆนะครับ
- เริ่มต้นโดยผมเอาจำนวนหุ้น และราคาตลาดของหุ้นที่ผมถืออยู่ในไปใส่ในตาราง Excel ที่สร้างขึ้นมาเองง่ายๆ โดยมีช่อง ชื่อหุ้น จำนวนหุ้น ราคาตลาด และมูลค่าหุ้น (มูลค่าหุ้น = จำนวนหุ้น x ราคาตลาด)

- เพิ่ม Column มาอีก 1 ช่องให้เป็น "สัดส่วนใน port" โดยเอามูลค่าหุ้นตัวนั้นๆ หารด้วยผลรวมมูลค่าหุ้นทั้ง port แล้วคูณด้วย 100 จะได้ออกมาเป็นสัดส่วน %

- เพิ่ม Column อีก 2 ช่องให้ชื่อว่า "ราคาเป้าหมาย" และ "Upside Gain" ช่องแรกก็ตรงตัวครับ เราต้องคิดประมาณราคาเป้าหมายของหุ้นออกมาให้ได้แล้วใส่ลงไป ส่วนในช่อง Upside Gain เอาผลต่างของราคาเป้าหมายกับราคาตลาด หารด้วยราคาตลาดแล้วคูณ 100 ก็จะได้เป็นผลตอบแทนที่น่าจะได้รับ ณ ราคาตลาดเวลานั้นๆ ถ้าหุ้นมันขึ้นไปตามเป้าหมายจริงๆ

- เพิ่ม Colunm อีก 2 ช่องให้ชื่อว่า "ระดับความมั่นใจ" และ "ผลตอบแทนคาดหวัง" ระดับความมั่นใจที่เราใส่ลงไปจะต้องสอดคล้องกับราคาเป้าหมายที่เราใส่ไปก่อน หน้านะครับ เช่นผมคาดว่าหุ้น A ราคา 10 บาท มีเป้าหมาย 15 บาท และผมมั่นใจค่อนข้างมากว่ากำไรจะเป็นไปตามคาด ก็จะให้คะแนนเยอะๆ โดยมีตั้งแต่ 1-10 (ความมั่นใจจะมาจากข้อมูลที่เรามีในการวิเคราะห์ ความยากง่ายในการวิเคราะห์ ความผันผวนของกำไรของหุ้นนั้นๆ) ส่วนช่องผลตอบแทนคาดหวัง ก็เอา Upside Gain มาคูณกับระดับความมั่นใจแล้วหารด้วย 10 ค่าก็จะออกมาเป็น %

หลังจากเราสร้างตารางทั้งหมดเสร็จแล้วผมจะสอนต่อไปว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันยังไง
1. เราควรจะถือหุ้นอย่างน้อย 3 ตัว เพราะการปรับ Port จะทำได้ลำบากมาก ขณะเดียวกันก็อย่างถือเยอะจนเกินไปจนไม่มีเวลาติดตามพื้นฐานของหุ้นใน port จะให้ดีก็ประมาณ 4-6 ตัวนี้กำลังสวยเลย (ปัจจุบันผมมีประมาณ 4 ตัว)

2. ทีนี้ให้เราดูช่องสุดท้าย (ผลตอบแทนคาดหวัง) หุ้นตัวไหนมีค่ามากๆ เราก็ควรจะซื้อเป็นสัดส่วนมากๆใน Port เพราะฉะนั้นตรงช่อง "สัดส่วนใน port" กับ "ผลตอบแทนคาดหวัง" ก็ควรจะสอดคล้องกัน ตัวที่ผลตอบแทนคาดหวังต่ำๆ สัดส่วนใน Port ก็ควรจะน้อยตาม

3. เมื่อเราทำการซื้อขายหุ้นจนปรับสัดส่วนหุ้นใน Port ได้ตามข้อที่ 2 แล้วที่นี้เราก็นั่งสบายใจได้เลย แล้วปล่อยให้หุ้นมันทำงานหาเงินให้เราต่อไป

4. อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีข้อมูลของหุ้นนั้นเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแง่บวกหรือแง่ลบที่ส่งผลให้ราคาเป้าหมายของเรานั้น เปลี่ยนแปลงไป เราก็ต้องไปเปลี่ยนค่าราคาเป้าหมายใหม่ด้วย หรือบางทีการมีข้อมูลหุ้นเพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับความั่นใจของเรานั้นเพิ่ม ขึ้น เราก็ควรไปปรับระดับความมั่นใจของหุ้นด้วย ทีนี้พอค่าที่เราใส่ลงไปเปลี่ยน ระดับผลตอบแทนคาดหวังนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงตาม ถ้าค่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เราก็สามารถที่จะปรับสัดส่วนหุ้นใน Port ของเราใหม่ได้ โดยการขายหุ้นที่มั่นใจน้อยไปซื้อหุ้นที่มั่นใจมากขึ้นได้ อย่างปีนี้ผมก็มีการปรับ port ครั้งใหญ่ไป 1 ครั้ง เมื่อได้ข้อมูลหุ้น TR เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เป้าหมายหุ้น TR นั้นเพิ่มขึ้นและระดับความั่นใจก็เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนคาดหวังนั้นเพิ่มขึ้นจนมีค่ามากที่สุดใน Port ผมจึงตัดสินใจขายหุ้นตัวที่มีผลตอบแทนคาดหวังน้อยที่สุดออกไปแล้วเอาซื้อ TR เพิ่ม รวมทั้งยังขายหุ้นที่ผลตอบแทนคาดหวังรองๆลงมามาซื้อ TR เพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนหุ้น TR เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกัน

5. กรณีที่หุ้นแต่ละตัวมีราคาขึ้นลงที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้ช่องราคาตลาดของเรานั้นเปลี่ยนแปลง และก็ย่อมส่งผลถึงไอ้เจ้าผลตอบแทนคาดหวังของเราให้เปลี่ยนแปลงอีก โดยเฉพาะเมื่อมีหุ้นบางตัวราคาเพิ่มขึ้นมากๆ ในขณะที่หุ้นบางตัวราคาลดลงมากๆ ผลตอบแทนคาดหวังของหุ้นที่ขึ้นเยอะๆจะลดลง และผลตอบแทนคาดหวังของหุ้นที่ลงเยอะๆจะเพิ่มขึ้น หลายๆครั้งผมก็จะทำการปรับสัดส่วนหุ้นใน port ใหม่ให้สอดคล้องกับผลตอบแทนคาดหวัง

6. การปรับ Port ในข้อ 4 และ 5 นั้นไม่ควรจะปรับบ่อยครั้งจนเกินไป ควรจะทำเฉพาะกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจริงๆเท่านั้น ไม่งั้นคนที่จะรวยก็คือโบรกเกอร์ของเราครับ

ข้อดีของการบริหาร port แบบนี้
- เป็นการจัด Port โดยใช้หลักทางวิชาการมาช่วยตัดสินใจการซื้อขายหุ้นซึ่งถ้าเราไม่ได้คำนวณออก มาแบบนี้การจัดสัดส่วนจะทำไปตามสัญชาติญาณซึ่งหลายๆครั้งมันก็อาจจะผิดได้

- เป็นการหลีกเลี่ยงการถือหุ้นน้อยตัวใน port ซึ่งมีความเสี่ยงมากๆ ไม่ว่านักลงทุนท่านไหนจะเก่งซักแค่ไหน ผมเชื่อว่าก็มีโอกาสผิดพลาดบ้าง โดยที่นักลงทุนที่เก่งอาจจะเลือกหุ้นมา 10 ตัวอาจจะพลาดซัก 1-2 ตัว คงไม่มีใครที่เก่งขนาดเลือกหุ้นไม่เคยพลาดเลยในชีวิต แม้เราจะมั่นใจมากแค่ไหนถ้าเราลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียวทั้ง port แล้วมันดันเป็นไอ้เจ้า 1 ในสิบตัวที่เป็นตัวที่เราคิดผิด... อาจจะทำให้ผลตอบแทนของเรานั้นต่ำมาก หรืออย่างรุนแรงก็อาจจะขาดทุนอย่างหนัก

- การลงทุนในหุ้นตัวเดียวทั้ง port นั้นความยืดหยุ่นต่ำ เพราะบางครั้งแม้ว่าเราจะวิเคราะห์มาดีแล้ว ผลงานของบริษัทก็เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ทุกอย่าง แต่ในบางครั้งราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนออกมาในทันที คุณอาจจะต้องรอเป็นเวลา 1 ปี 2 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งถ้ามีหุ้นตัวเดียวที่ดีแล้วดันฟลุ๊คไปเจอหุ้นที่มันไม่สะท้อนราคาพื้น ฐานขึ้นมา ผลตอบแทนของ port เราจะอืดอาดไปถนัดตา แต่ถ้าเรามีหุ้นใน port ซัก 4 ตัว มันก็จะมีหุ้นบางตัวที่สะท้อนมูลค่าแล้วราคาวิ่งขึ้นไป บางตัวอาจจะไม่ไปไหนเลยทั้งๆที่ผลประกอบการออกมาดีมาก เราก็สามารถขายหุ้นที่ขึ้นเยอะๆ (ผลตอบแทนคาดหวังลดลง) ไปซื้อหุ้นที่ราคาไม่ไปไหนแต่ผลประกอบการออกมาดี (ผลตอบแทนคาดหวังอาจจเพิ่มขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง) ซึ่งจะทำให้ port เรานั้นมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และสามารถเดินหน้าทำผลตอบแทนให้เราได้ในทุกจังหวะเวลา

- สามารถทำกำไรได้ทั้งในตลาดขาลงและขาขึ้น ... อ้าวคงงงสิครับ ไอ้ขาขึ้นแล้วกำไรก็คงไม่แปลก ว่าแต่ไอ้ขาลงนี่จำกำไรได้ยังไง ผมยกตัวอย่างง่ายๆถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้นะครับ ที่ตลาดหุ้นนั้นไหลลงมาค่อนข้างลึกมาก ... ผมก็ใช้หลักการจัด port ง่ายๆแบบข้างต้น คือ หุ้นทั้งหมด 4 ตัวของผมนั้นก็ไหลลงทุกตัวเหมือนกัน ... แต่บางตัวก็ลงเยอะ บางตัวก็ลงน้อย ตัวที่ลงเยอะๆ ผลตอบแทนคาดหวังมันจะเพิ่มขึ้นเยอะกว่าตัวที่ลงน้อยๆ เพราะฉะนั้นผมก็อาจจะขายหุ้นที่ลงน้อยๆบางส่วน ไปซื้อหุ้นที่ลงเยอะๆแทน การทำแบบนี้ ไม่ได้ทำให้เราเห็นกำไรในทันที แต่จะเป็นทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของ port เรานั้นเพิ่มขึ้น เพราะเราสามารถขายหุ้นที่มี upside น้อยไปซื้อหุ้นที่มี upside เยอะแทน เมื่ออนาคตราคาหุ้นมันเป็นไปตามเป้าหมายที่เราคิดไว้ การปรับ port แบบนี้ก็จะทำให้ผลตอบแทนของเรานั้นดีกว่าการอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลย (ความเชื่อที่ผิดอย่างหนึ่งของ vi หลายๆคนคือ "ถ้าหุ้นไม่เปลียนแปลงพื้นฐาน เราไม่ควรจะขาย" คาดเชื่อนี้ถูกแค่ครึ่งเดียวครับ จริงๆแล้วเราควรจะขายหุ้นทิ้งด้วย เพื่อไปซื้อหุ้นอื่นๆที่มีอนาคตมากกว่า มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าครับ)

- กรณีขาขึ้นก็เช่นกันกับขาลง คือหุ้นบางตัวมันขึ้นเยอะ บางตัวมันขึ้นน้อย ถ้ามันขึ้นต่างกันมากผลตอบแทนคาดหวังของหุ้นมันจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างกัน มาก เราก็สามารถปรับ port ขายหุ้นที่ขึ้นเยอะมาซื้อหุ้นที่ขึ้นน้อยแทนได้เช่นกัน

ไม่ รู้ว่าเนื้อหาคราวนี้มันยากเกินไปรึเปล่านะครับ ผมเองก็นั่งเขียนตั้งนาน หาวิธีอธิบายให้เห็นภาพ นี่ถ้าเป็นเพื่อนกันพูดให้ฟังต่อหน้านี่พูดจบไปตั้งแต่ 5 นาทีแรกแล้วมั๊ง นี่เขียนอยู่เป็นชม. ยังไม่เสร็จเลย

ปล.1 เน้นนะครับ ว่าการปรับ port ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เพราะค่า com มันจะกินกำไรเราหมด ควรจะทำเมื่อมีการเปลี้ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น ปกติในเดือนนึงผมอาจจะมาคิดสัดส่วนซักครั้งว่าจะปรับ port อย่างไร นอกจากว่าจะเป็นช่วงที่หุ้นมันมีการเปลี่ยนแปลงราคาหรือพื้นฐานเยอะๆ เช่นช่วงที่ตลาดๆผันผวนแบบนี้ ช่วงที่มีการประกาศผลประกอบการ เพราะข้อมูลจะเยอะขึ้นทำให้ราคาเป้าหมาย และระดับความั่นใจนั้นเปลี่ยนแปลงได้มาก

ปล.2 จริงๆว่าจะเอาตารางของผมมาลงไว้ให้จะได้อธิบายได้ง่าย เห็นภาพชัดเจนกว่า แต่ไม่รู้วิธีเอาตารางมาลง ทำไม่เป็นครับ แฮะๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘