อัตราส่วนทางการเงิน P/E ROA ROE และ P/BV

สวัสดีครับ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้ามาอัพเดต blog เท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งเนื่องจากภาระหน้าที่การงาน ส่วนอีกเหตุผลก็คือไม่รู้จะมาเขียนอะไรดี เพราะพองานเยอะก็ไม่ค่อยได้มีเวลาศึกษาเพิ่มเติม เพราะอย่างที่เคยบอกไว้แต่แรกว่าผมก็ไม่ใช่เซียนหุ้นมาจากไหน แต่มีความสนใจในการเก็งกำไรและการลงทุน blog นี้ก็เหมือนสมุดโน้ตที่ผมใช้จดในสิ่งที่ได้อ่านหรือศึกษามา ถ้าผู้อ่านท่านใดอยากจะแชร์ความรู้หรือเขียนอะไรลงใน blog ผมก็ติดต่อเข้ามาได้นะครับ ถือว่าเป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านท่านอื่นๆด้วย

วันนี้ก็จะขอยกเรื่องอัตราส่วนทางการเงินขึ้นมาทบทวนอีกสักครั้ง หลังจากได้เคยนำบทความเรื่อง การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) มาลงไว้ เพราะตัวผมเองก็ยังสับสนกับอัตราส่วนพวกนี้อยู่บ่อยๆ ถ้าผมเขียนหรือเข้าใจอะไรผิดไปก็รบกวนช่วยแนะนำโดยการคอมเม็นต์ไว้ก็ได้ครับ

หลังจากคราวที่แล้วได้แนะนำหนังสือ คัมภีร์สุดยอดนักลงทุน (THE LITTLE BOOK that BEATS the MARKET) ที่นำเสนอสูตรสำเร็จการลงทุนซึ่งใช้อัตราส่วนทางการเงิน 2 ตัวคือ P/E และ ROA ในที่นี้จะขอทบทวนอีกครั้งว่าอัตราส่วนทั้ง 2 ตัวนี้มีความหมายอย่างไร

P/E (Price/Earning per Share) หรืออัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น ถ้าสมมติให้กำไรของบริษัทคงที่ตลอดหรือไม่มีการเติบโตเลย ค่า P/E จะหมายถึงระยะเวลาที่ใช้ในการคืนทุน เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นราคา 10 บาท โดยหุ้นนั้นมีค่า P/E อยู่ที่ 5 เท่า หมายความว่ากำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท เมื่อเราถือหุ้นนี้ไป 5 ปี กำไรต่อหุ้นจะเท่ากับ 2 x 5 คือ 10 บาท ซึ่งเท่ากับราคาต้นทุนที่เราซื้อนั่นเอง ค่า P/E นี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ เพราะผู้ลงทุนสามารถคืนทุนได้เร็ว

ROA (Return On Assets) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ของบริษัท โดยคำนวณจาก Net Income/Total Assets โดยสินทรัพย์สุทธิ (Total Assets) ของบริษัทนั้นประกอบด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและส่วนของหนี้สิน ค่า ROA นี้ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ ที่ลงทุน หากค่า ROA ของบริษัทต่ำกว่า 5% นักลงทุนมืออาชีพมักจะไม่ให้ความสนใจกับบริษัทนั้น

นอกจากอัตราส่วนสองตัวที่กล่าวถึงในหนังสือคัมภีร์สุดยอดนักลงทุนแล้ว ลองมาดูอัตราส่วนตัวอื่นที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่านิยมใช้ในการเลือกหุ้นกัน

ROE (Return on Equity) เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นไปทำ ให้งอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งคำนวณจาก Net Income/Equity ค่า ROE นี้ยิ่งสูงยิ่งดี โดยนักลงทุนมืออาชีพจะมองหาหุ้นที่มีค่า ROE สูงกว่า 12-15% อย่างต่อเนื่องหลายๆปี

หากนำค่า ROA และ ROE มาพิจารณาแล้วจะพบว่าอัตราส่วนทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันคือเป็นตัวบ่งบอก ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท จุดแตกต่างกันที่สำคัญของอัตราส่วนทั้งสองจะอยู่ที่หนี้สินของบริษัท เนื่องจาก Assets = Equity + Liabilities ดังนั้นจากสูตรการหาค่า ROA และ ROE จะเห็นว่าถ้าบริษัทไม่มีหนี้สินค่าหรือ Liabilities มีค่าเท่ากับ 0 เราจะคำนวณค่า ROA ได้เท่ากับ ROE แต่หากบริษัทมีหนี้สินเยอะอาจทำให้ค่า ROA ที่ได้มีค่าต่ำในขณะที่ ROE มีค่าเท่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรระวังหากพิจารณาเฉพาะค่า ROE ที่สูงๆโดยไม่พิจารณาถึงหนี้สินของบริษัท

อัตราส่วนอีกตัวที่นิยมนำมาใช้ในการเลือกหุ้นคุณค่าและจะพูดถึงเป็นตัวสุดท้ายในวันนี้ก็คือ

P/BV (Price/Book Value) โดย Book Value คิดมาจาก Equity/Number of Shares โดยทั่วๆไปแล้วค่า P/BV นี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท

หลังจากได้ทบทวนอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนหุ้นคุณค่านิยมใช้ในการ พิจารณาเลือกหุ้นที่จะซื้อกันแล้ว คราวหน้าหากมีโอกาสเราลองมาดูความสัมพันธ์ของอัตราส่วนพวกนี้กันดูครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘