ดัชนีการแกว่งตัว OSCILLATOR

ปกติในภาวะที่ตลาดอยู่ในแนวโน้มขึ้นหรือลงอย่างชัดเจนนั้น เครื่องมือการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคต่าง ๆ เช่น เส้นแนวโน้ม (TREND LINE), เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MOVING AVERAGE) ก็พอจะช่วยให้เราวิเคราะห์แนวโน้ม หรือทิศทางของตลาด หรือราคาของหลักทรัพย์แต่ละตัวได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะที่ตลาดหรือราคาของหลักทรัพย์เป็นไปแบบเรียบ ๆ หรือเหวี่ยงตัวอยู่ในช่วงแคบ ๆ เครื่องมือทางเทคนิคที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะชี้ทิศทางได้ไม่แน่นอนนัก จึงมีเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้ได้ดีขณะตลาดหรือหุ้นเหวี่ยงตัวอยู่ในช่วงแคบ ๆ (SIDEWAYS) เพราะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด และมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคามากขึ้นกว่าเดิม เรียกว่า  OSCILLATOR (อ็อดซิเลเตอร์)

            OSCILLATOR นั้น ยังแบ่งแยกออกเป็นอีกหลาย ๆ แบบ ตามความเหมาะสมว่าแต่ละรูปแบบนั้นเหมาะสม หรือสมควรจะใช้ในลักษณะใด แต่รูปแบบที่นำเสนอในที่นี้เป็นเพียงบางรูปแบบของ OSCILLATOR ที่คิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตลาดหุ้นไทยได้ดีพอสมควร

COMMODITY CHANNEL INDEX (CCI)

            CCI นั้นใช้ในการพิจารณาหาความแตกต่างของราคาหุ้นจากราคาเฉลี่ยในช่วงเวลาที่กำหนดขึ้น ว่ามีมากหรือน้อยเพียงไร ทั้งในขณะราคาเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลง ช่วงเวลาที่กำหนดขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะนิยมใช้คือ 10 วัน และ 14 วัน ดังนั้นเครื่องมือตัวนี้จึงเหมาะสมกับการวิเคราะห์ระยะกลางขึ้นไป แต่เทคนิคนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการวิเคราะห์ในระยะสั้น เช่น 5 วัน ได้เช่นกัน

หลักในการคำนวณ

            การคำนวณหาค่า CCI จะใช้สูตรดังต่อไปนี้

                                    CCIt   =   (TPt - MAt) / (.015 *MD)

MD       =   Mean Deviation  คือ  (MAt - P1) + (MAt - P2) + … (MAt - Pn) / n
n          =   ช่วงเวลา
TPt        =   (ราคาสูงสุด + ราคาต่ำสุด + ราคาปิด ณ วันปัจจุบัน) / 3
            MAt       =   ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ตามเวลาที่กำหนด เช่น 10 วัน ฯ
            Pi          =   ราคาปิดในวันย้อนหลัง i วัน


หลักการวิเคราะห์

            CCI เป็นเครื่องมือวัดการแกว่งของราคา โดยรูปแบบที่ออกมาจะเป็นกราฟที่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง -100 ถึง +100 (อาจปรับได้ตามความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น BISNEWS จะมีช่วงอยู่ระหว่าง -200 ถึง +200) โดยมีค่า 0 เป็นแกนกลาง หรือค่ากลางซึ่งสามารถอภิปรายได้ว่า ณ ระดับราคา 0 แสดงว่า ราคาปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาในช่วงเวลาที่กำหนดในอดีต แต่ ณ ระดับที่มีค่าเป็นบวกหรือลบ แสดงถึงราคาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือลดลง จากราคาในอดีตโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะถ้าการเปลี่ยนแปลงมีค่าเป็นบวก หรือลบมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเป็นเครื่องชี้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า หรือน้อยกว่าในอดีตโดยเฉลี่ยมากขึ้นเท่านั้น

การวิเคราะห์ในระยะสั้น

หากเส้นกราฟอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า +100 (+200) แสดงว่าระดับราคาได้เปลี่ยนแปลงสูงขึ้นมามากแล้วราคาจึงอาจจะมีการทรงตัว หรือระดับอาจจะลดลงได้ในช่วงต่อไป จึงเป็นสัญญาณให้ขาย
หากเส้นกราฟอยู่ในระดับที่ต่ำเกินกว่า -100 (-200) แสดงว่าระดับราคาได้เปลี่ยนแปลงลดลงมามากแล้ว ราคาจึงอาจจะมีการทรงตัว หรือระดับราคาอาจจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงต่อไปจึงเป็นสัญญาให้ซื้อ
หากเส้นกราฟตัดเส้นแกนกลางหรือค่ากลางที่เป็น 0 ขึ้นหรือลง อาจจะเป็นสัญญาณของราคาได้อีกด้วย โดยหากเส้นกราฟตัดเส้น 0 ขึ้นไป จะเป็นสัญญาณให้ซื้อ และหากเส้นกราฟตัดเส้น 0 ลงไป จะเป็นสัญญาให้ขาย


การวิเคราะห์ในระยะปานกลาง

หากเส้นกราฟอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า +100 แสดงว่าระดับราคาได้เริ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่ราคาจะสูงขึ้นต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่งจึงเป็นสัญญาณให้ซื้อ
หากเส้นกราฟอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า -100 แสดงว่าระดับราคาได้เริ่มต่ำลง และมีแนวโน้มที่ราคาจะลดลงต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นสัญญาณให้ขาย


ดัชนีการแกว่งตัวของการสะสม และการระบายหุ้น
ACCUMMULATION/DISTRIBUTION OSCILLATOR (ADO)

            ADO เป็นเครื่องมือวัดความแกว่งของราคาหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการวัดว่าในขณะใดขณะหนึ่งมีการสะสม หรือกระจายหลักทรัพย์ออกมามากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือประกอบกับเครื่องมือทางเทคนิคตัวอื่นในการตัดสินใจซื้อหรือขายได้อย่างทันท่วงที

หลักในการคำนวณ

            A/D OSCILLATOR  มีสูตรที่ใช้ในการคำนวณดังนี้

            ADO   =   (BP - SP) / (2* (HIGH-LOW)) *100

ADO     =   Accumulation / Distribution Oscillator

Bp        =   แรงซื้อ   =   ราคาสูงสุด - ราคาเปิด ณ วันปัจจุบัน
P          =   แรงขาย   =   ราคาปิด - ราคาต่ำสุด ณ วันปัจจุบัน
HIGH   =   ราคาสูงสุด
LOW =   ราคาต่ำสุด

หลักการวิเคราะห์

            รูปแบบของกราฟจะมีลักษณะเป็นแกว่งตัวอยู่ระหว่าง 0 - 100 หลักการวิเคราะห์แยกเป็น 2 กรณี คือ

กรณีที่ใช้ดูประกอบกับดัชนีฯ หรือราคาหลักทรัพย์

            กล่าวคือ การเคลื่อนที่ของเส้น ADO สามารถเตือนได้ว่า ดัชนีฯ หรือราคาหลักทรัพย์กำลังจะมีการเปลี่ยนแนวโน้ม เช่น เมื่อเส้นดัชนีฯ หรือราคาสามารถทำยอดสูงใหม่หรือต่ำใหม่ แต่เส้น ADO กลับไม่สามารถทำยอดสูงใหม่หรือต่ำใหม่ต่ำตามซึ่งลักษณะเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของการเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้าม (DIVERGENCE)


แบบที่ 1

            เส้นดัชนีฯ หรือราคาสามารถทำยอดสูงที่ B ซึ่งสูงกว่า A จึงเป็นยอดสูงใหม่ แต่เส้น ADO ในเวลาเดียวกันทำยอดสูง b แต่ต่ำกว่ายอดสูงกว่าที่ a ซึ่งเมื่อเกิดรูปแบบเช่นนี้ จะบอกว่าในไม่ช้า เส้นดัชนีฯ หรือราคาจะปรับตัวลง แต่เนื่องจากการเกิด DIVERGENCE เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าราคาจะปรับตัวเองทัน ดังนั้นเราจึงควรทยอยขาย


แบบที่ 2


            เส้นดัชนีฯ หรือราคาสามารถทำยอดต่ำที่ Y ที่ต่ำกว่ายอดต่ำเก่าที่ X จึงเป็นยอดต่ำใหม่ แต่เส้น ADO ไม่สามารถทำยอดต่ำใหม่ตามได้ในเวลาเดียวกัน ทำยอดต่ำ y ซึ่งสูงกว่ายอดต่ำเก่าที่ x ที่เป็นการบอกว่าในไม่ช้าเส้นดัชนีฯ หรือราคาจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงควรทยอยซื้อ


กรณีใช้ดูทิศทางจากตัวของ ADO เองจะแบ่งได้ดังนี้

            ถ้า ADO มีค่าสูงขึ้น แสดงว่ามีการสะสมหุ้นเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้นไปได้ และสามารถเป็นสัญญาณบอกให้ซื้อได้อีกด้วย ในกรณีทำยอดสูงใหม่สูงกว่า หรือใกล้เคียงยอดเดิม หรือในกรณีที่ตัดเส้นแกนกลาง (50) ขึ้นไป และหากเส้น ADO มีค่าถึงระดับ 100 แล้ว ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้จึงควรขายไปก่อน เพราะถือว่าได้มีการสะสมหุ้นมามากพอสมควรแล้ว

            ถ้า ADO มีค่าลดลง แสดงว่ามีการกระจายหุ้น หรือแจกจ่ายหุ้นเกิดขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือมีการขายหุ้นออกมานั้นเอง ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณบอกให้ขายได้ รวมถึงเส้น ADO ตัดเส้นแกนกลาง (50) ลงมา หรือทำฐานต่ำใหม่ต่ำกว่าฐานเดิม ก็เป็นสัญญาณบอกให้ขายได้ และหากเส้น ADO ลงมาถึงระดับ 0 ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ เพราะได้มีการกระจายหุ้นกันออกมา จนระดับราคาลดต่ำลง  จึงน่าเข้าไปซื้อขณะที่เส้น  ADO  อยู่ที่ระดับ 0 นี้


HIGH/LOW OSCILLATOR (HLO)

HLO เป็นเครื่องมือที่ใช้ดูถึงความสัมพันธ์ของราคาสูงสุด ณ วันปัจจุบันกับราคาปิดในอดีต โดยนำมาคำนวณเป็นอัตราส่วนตามผลรวมของช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อใช้ดูความเปลี่ยนแปลงของราคาในปัจจุบัน

หลักในการคำนวณ

HLO  มีสูตรในการคำนวณดังนี้

            HLO   =   HIGH - CLOSE t-1 *100
                                  MAX (A, B, C)

MAX (A,B,C)     =   ราคาที่มีค่ามากที่สุดเพียงตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น
A                      =   ราคาสูงสุดวันปัจจุบัน - ราคาปิดในอดีตย้อนหลัง 1 วัน
B                      =   ราคาสูงสุด - ราคาต่ำสุด ณ วันปัจจุบัน
C                      =   ราคาปิดในอดีตย้อนหลัง 1 วัน - ราคาต่ำสุด ณ วันปัจจุบัน

หลักการวิเคราะห์

รูปแบบของกราฟจะแกว่งตัวอยู่ระหว่าง -100 ถึง +100 โดยจะมีค่า 0 เป็นค่ากลาง เพื่อใช้วัดความแตกต่างของราคาสูงสุด ณ วันปัจจุบันกับราคาปิดในอดีตย้อนหลัง 1 วันว่ามีความแตกต่างเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร (ค่าที่อกมาจะคิดความเปลี่ยนแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์)  โดยมี
หลักการวิเคราะห์ดังนี้

1.  ถ้าเส้นกราฟราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเส้นกราฟในอดีตแสดงให้เห็นว่าราคาได้มีการเลปี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในทางบวก ยิ่งเพิ่มสูงมากเท่าใดยิ่งชี้ให้เห็นว่าราคามีแนวโน้มที่ดี แต่ถ้ากราฟขึ้นมาอยู่ในระดับ +100 แสดงว่าราคาได้เปลี่ยนแปลงขึ้นมามากแล้ว อาจจะมีการปรับตัวลดลงได้ในช่วงต่อ จึงเป็นสัญญาณให้ขาย

2.  ถ้าเส้นกราฟราคาลดลงต่ำกว่าเส้นกราฟราคาในอดีต แสดงให้เห็นว่าราคาได้มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ยิ่งลดลงมากเท่าใดยิ่งชี้ให้เห็นว่าราคาเริ่มมีแนวโน้มที่ไม่ดี ควรขายออกไปก่อน และถ้ากราฟตกมาจนถึงระดับ -100 แสดงว่าราคาได้เปลี่ยนแปลงลดลงมามากแล้ว อาจจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงต่อไปจึงเป็นสัญญาณให้ซื้อได้

3.  ถ้าเส้นกราฟราคาตัดเส้นแกน 0 ขึ้นหรือลงก็อาจบอกได้ว่าเป็นสัญญาณให้ซื้อหรือขาย กล่าวคือ ถ้ากราฟตัดเส้น 0 ขึ้นก็เป็นสัญญาณให้ซื้อ และถ้ากราฟตัดเส้น 0 ลงมาก็เป็นสัญญาณให้ขาย


เครื่องมือ OSCILLATOR ดังกล่าวข้างต้น ล้วนอาจก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษพอ ๆ กัน ดังนั้น วิธีการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและโทษน้อยที่สุดคือ จงมองเครื่องมือเหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ไม่โน้มเอียง เข้าข้างตัวเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียหายได้ และการใช้เครื่องมือมากตัวเข้ามาประกอบกัน ยิ่งมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นผลดีในการกลั่น กรอง เช่น การนำเครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มต่าง ๆ อันได้แก่ MOVING AVERAGE, TREND LINE เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องมากที่สุดต่อตัวนักลงทุนเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘