เซียนหุ้นพันล้าน..ทวีฉัตร จุฬางกูร Low Profile High Profit

เป็นหลานชาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป" และเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้น "หลายพันล้านบาท" .."ทวีฉัตร จุฬางกูร"
เซียนหุ้นวัย 37 ปี วันนี้ขอ "โกอินเตอร์"  
ถ้าเอ่ยถึงนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ขณะนี้ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ทวีฉัตร จุฬางกูร ทายาทอาณาจักรหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป" หลายชายแท้ๆ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย
การเป็นหลานชายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และเป็นบุตรชาย สรรเสริญ จุฬางกูร ประธานกรรมการ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) กิจการของครอบครัวชินวัตร ทำให้ทวีฉัตรเลือกที่จะเก็บตัวเองมาตลอด  ชื่อของทวีฉัตร "แจ้งเกิด" เมื่อปลายปี 2544 ตอนที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม และถูกโจมตีในสภากรณีที่หลานชายได้รับจัดสรรหุ้น ปตท. 2.2 ล้านหุ้น มูลค่า 77 ล้านบาท ขณะที่หุ้น ปตท.ถูกจองหมดภายในเวลาเพียง 1.07 นาที
"รู้สึกเฉยๆ เวลามีชื่อผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารพัดข่าว คนดังก็แบบนี้ล่ะ (หัวเราะ) ถ้ามานั่งกังวลคงไม่เป็นอันทำอะไร การที่มีข่าวทั้งในแง่ดีและไม่ดี เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ต้องการเปิดเผยหน้าตาผ่านสื่อ แม้ทุกวันนี้จะมีคนรู้จักผมและครอบครัวมากขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ต้องการรู้จักใครเพิ่มเติม เพราะถ้ามีข่าวอะไรไม่ดีก็โดนก่อนเป็นคนแรก" ทวีฉัตร บอกเหตุผลที่ไม่อยากให้สื่อนำรูปไปลงหนังสือพิมพ์
ก่อนหน้านี้ทวีฉัตรเคยเปิดเผยว่า การลงทุนหลายครั้งเป็นการลงทุนให้กับครอบครัว เนื่องจากตัวเองมีประสบการณ์ในตลาดหุ้นมานาน เริ่มเข้ามาลงทุนตั้งแต่อายุ 18 ปี จากการนำหุ้นไอพีโอที่พ่อแม่ได้มาไปซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ และก็ได้กำไรจากการลงทุนครั้งนั้นพอสมควร จึงเริ่มลงทุนอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“พอร์ตการลงทุนไม่ได้มีเฉพาะของผมคนเดียว แต่มีของครอบครัวด้วย ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้จัดการกองทุนของครอบครัว เพราะถ้ากรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมา ผมไม่อยากให้คนในครอบครัวต้องเสียชื่อเสียงไปด้วย อีกอย่างผมมีประสบการณ์ในตลาดหุ้นมานาน และคนในครอบครัวก็ไว้ใจกัน”
ด้านประวัติส่วนตัว ทวีฉัตร จุฬางกูร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นปี 2535 และจบปริญญาโท สาขา Finance จากมหาวิทยาลัย Webster University  ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามใน บมจ.ไทยสตีลเคเบิล (TSC) และเป็นกรรมการบริษัทในเครือซัมมิทกรุ๊ปอีกกว่าสิบบริษัท
ด้านประวัติครอบครัว ทวีฉัตรเป็นบุตรของ สรรเสริญ และ หทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ก่อตั้งอาณาจักรหมื่นล้าน "ซัมมิทกรุ๊ป" โดย สรรเสริญ จุฬางกูร เป็นพี่น้องกับ ดร.พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (เสียชีวิตแล้ว) สามี สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของกลุ่มบริษัท "ไทยซัมมิทกรุ๊ป"  ทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันสรรเสริญก็เป็นพี่ชาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น
ทวีฉัตรมีพี่น้องด้วยกัน 6 คน ได้แก่ อภิชาติ พี่ชายคนโต ทวีฉัตร เป็นคนที่สอง ตามมาด้วย กรกรช, วุฒิภูมิ, ณัฐพล และ อัครพล โดยทวีฉัตรและณัฐพลหันมาเอาดีในการเล่นหุ้น ขณะที่ วุฒิภูมิ จุฬางกูร น้องชายไปเอาดีทางด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
จากการสำรวจพอร์ตลงทุนของ ทวีฉัตร จุฬางกูร ในปี 2552 พบว่า ทวีฉัตร มีเงินลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า 20 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,300 ล้านบาท (ดูจากตาราง) โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท  อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) มูลค่าประมาณ 390 ล้านบาท และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) มูลค่าประมาณ 270 ล้านบาท
สำหรับหุ้นที่ถือมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ยังประกอบไปด้วย สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) สามารถเทลคอม (SAMTEL) และแอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON) ซึ่งทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีตระกูลวิไลลักษณ์ถือหุ้นใหญ่ นอกจากนี้ก็มี  อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ไทยสตีลเคเบิล (TSC) ธุรกิจของครอบครัวจุฬางกูร และ บล.กิมเอ็ง (KEST) เป็นต้น
จากการพบกันครั้งล่าสุดทวีฉัตรเล่าให้ฟังว่า ผลตอบแทนการลงทุนในปี 2552 ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาได้กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นมากพอสมควร แต่จะกี่เปอร์เซ็นต์จำไม่ได้จริงๆ แต่เอาเป็นว่าตรงกันข้ามกับปี 2551 อย่างสิ้นเชิง เพราะปีก่อน "เจ็บตัวเยอะ"
ทวีฉัตรบอกว่า ปีนี้ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน "เทรดหุ้นน้อยลง และถือยาวมากขึ้น" ทำให้มีกำไรจากการลงทุนมากกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะกังวลเรื่องการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี นอกจากนี้ยังหันไปซื้อขายหุ้นในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันลงทุนอยู่ใน 3 ประเทศ คือ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
"แม้ว่าหุ้นบางตัวผมจะไม่ค่อยรู้จักธุรกิจของเขาอย่างลึกซึ้งก็ตาม แต่เป็นเพราะหุ้นเมืองนอกให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนดีที่สุด และไม่มีเรื่องการเมืองให้ต้องกังวลใจ ตรงกันข้ามตลาดหุ้นบ้านเรามีความเสี่ยงสูงเกือบทุกเรื่อง แต่มูลค่าพอร์ตลงทุนต่างประเทศยังน้อยกว่าลงทุนในประเทศ"
ทายาทอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านบาท กล่าวต่อว่า หุ้นส่วนใหญ่ที่ลงทุนในต่างประเทศอยู่ในกลุ่มรถยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มอาหาร และกลุ่มเสื้อผ้า ส่วนตัวมองว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหุ้นเหล่านี้จะมาก่อนเพื่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะฟื้นตัวในไม่ช้านี้ ส่วนการลงทุนที่ผ่านมาไม่ได้ให้น้ำหนักที่หุ้นพี/อีต่ำ หรือหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี แต่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเข้าใจในธุรกิจนั้นเป็นอย่างดี
ล่าสุดทวีฉัตรบอกว่า หุ้นในพอร์ตของเขามีอยู่ประมาณ 50 บริษัท แต่ที่ "แอ็คทีฟ" จริงๆ มีเพียง 10 บริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม "พลังงาน" และ "ธนาคารพาณิชย์" โดยปัจจุบันซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์หลักๆ 4 แห่ง จากที่เปิดพอร์ตไว้ทั้งหมด 7-8 แห่ง โดยซื้อขายผ่าน "บล.ไอร่า" มากที่สุด
จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น บล.ไอร่า พบว่ากลุ่มจุฬางกูรถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 20.71% ประกอบด้วย อภิชาติ จุฬางกูร (พี่ชายทวีฉัตร) สัดส่วน 9.15% บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด 5.78% และ บริษัท ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟแอนด์คันทรีคลับ จำกัด 5.78% โดยมี "ปลัดไก่" ศ.ดร.ศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ขณะที่ทวีฉัตรยังมีบทบาทในฐานะที่ปรึกษา บล.ไอร่า ด้วย
นักลงทุนหนุ่มวัย 37 ปีเจ้าของพอร์ตลงทุนมูลค่าหลายพันล้านบาท ย้อนเล่าว่า ในช่วงที่ SET Index อยู่ที่ระดับ 720 จุด ได้ตัดสินใจขายหุ้นออกไปจำนวนมาก และพักการลงทุนชั่วคราว หลังเริ่มเห็นสัญญาณทางการเมืองช่วงนั้นไม่ค่อยดี ช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม 2552 ที่มีข่าวลืออัปมงคลและตลาดหุ้นตกหนักจึงไม่ได้รับผลกระทบและไม่เชื่อข่าว นั้น ต่อมาได้กลับมาซื้อหุ้นคืนในตัวที่ขายไปบ้างในกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ เพราะมองว่าหุ้นสองกลุ่มนี้ยังน่าลงทุน
ถามว่าทวีฉัตรชื่นชอบหุ้นประเภทไหนเป็นพิเศษ เขาบอกว่า ส่วนตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้หุ้น "เทิร์นอะราวด์" โดยในปีนี้พบว่าทวีฉัตรเข้าไปเก็บหุ้น อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ไว้จำนวนมากถึง 46.31 ล้านหุ้น สัดส่วน 4.34% ขณะที่ "น้องชาย" ณัฐพล จุฬางกูร ก็เก็บหุ้น AMATA ไว้มากถึง 26.82 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.51% ปัจจุบันสองพี่น้องมีเงินลงทุนในหุ้น AMATA รวมกันกว่า 610 ล้านบาท
หุ้นเทิร์นอะราวด์อีกตัวที่ทวีฉัตรและน้องชายเข้าไปเก็บช่วงที่ราคาหุ้น ปรับตัวลงมามากคือหุ้น อาปิโก ไฮเทค (AH) ทวีฉัตรซื้อไว้ 12 ล้านหุ้น สัดส่วน 5% ขณะที่ ณัฐพล จุฬางกูร ถือมากกว่าจำนวน 20.28 ล้านหุ้น สัดส่วน 8.45% เท่ากับว่าสองพี่น้องถือหุ้น AH รวมกันมากถึง 13.45% มูลค่าล่าสุดกว่า 260 ล้านบาท
หุ้นเทิร์นอะราวด์อีกหลายตัวที่ "งอกเพิ่ม" มาจากปี 2551 ได้แก่ หุ้น เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ของ "เสี่ยตา" ปัญญา นิรันดร์กุล ที่ฟอร์มตกหนักในปี 2551-2552 แต่ทวีฉัตรเห็นโอกาสเข้าไปเก็บไว้แล้ว 2.12 ล้านหุ้น หุ้น บล.กิมเอ็ง (KEST) ที่ยังรักษาแชมป์เอาไว้ได้ซื้อเก็บไว้ 8.42 ล้านหุ้น และหุ้น บล.บัวหลวง (BLS) ซื้อไว้ 1.6 ล้านหุ้น โดยเป็นการสลับตัวเล่นกับ บล.เอเซีย พลัส (ASP) ที่ไม่พบการถือหุ้นแล้ว
"ดูง่ายๆ อย่างหุ้น เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) เหตุผลที่ผมตัดสินใจซื้อ 2.88 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.70% และน้องชายณัฐพล จุฬางกูร ซื้อจำนวน 1.8 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.06% เพราะมองว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะมีบทบาทในสังคมไทยอย่างมาก ฉะนั้นบริษัทดังกล่าวจะได้รับผลดีอย่างแน่นอน"
ทายาทซัมมิทกรุ๊ปขยายความหลักการลงทุนในตลาดหุ้นของตนเองว่า ไม่ได้แตกต่างไปจากนักลงทุนทั่วไปในการวิเคราะห์หุ้น ประการแรก ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และมีนโยบายในการบริหารงานที่ดี ดูว่าผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีประวัติน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน มีความโปร่งใสหรือไม่ ประการต่อมา พิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่สนใจว่าแข็งแกร่งมากขนาดไหน และประการสุดท้าย จะดูกราฟทางเทคนิคในการลงทุน
"แต่การดูกราฟทางเทคนิคผมจะทำกับหุ้นบางตัวเท่านั้น เพราะไม่ถนัดที่จะทำแบบนี้กับหุ้นทุกตัว"
ถามถึงการจัดน้ำหนักพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ทวีฉัตร กล่าวว่าขึ้นอยู่ที่ความพึงพอใจ และสถานการณ์ต่างๆ มากกว่า ไม่เคยกำหนดเป็นหลักการ และก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีกำไรเท่าไรถึงจะ "ขาย" ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น
"บางครั้งได้กำไรแค่ 10% ผมก็ "โกย" แล้ว เรื่องพวกนี้บอก (สอน) กันไม่ได้จริงๆ เพราะทุกคนก็มีเทคนิคการลงทุนเป็นของตัวเอง หลายคนอาจจะเก่งกว่าผมด้วยซ้ำ"
ทวีฉัตรปิดท้ายบทสนทนาก่อนจะเดินไปต้อนรับแขกในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 3 ปี บล.ไอร่า ว่า วันนี้ผมค่อนข้างกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้ต่างประเทศเขาแก้ปัญหากันไปหมดแล้ว บ้านเรายังไปไม่ถึงไหนเลย และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทวีฉัตรบอกว่า ได้ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และโกตลาดหุ้นอินเตอร์ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘