ใครๆ ก็อยากเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์

ชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในหมู่ของนักลงทุนนั้นดูเหมือนจะเป็น "ตำนาน" ที่ยังมีชีวิต หลายๆ คนอยากจะเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" แม้ว่าจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เหตุผลที่ทำให้เขาคิดนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า เขาอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ "คล้ายๆ" กับวอร์เรน บัฟเฟตต์ เฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือ ข้อแรก เขาลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ผ่านมาดีเลิศแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ ว่าที่จริงดีกว่าบัฟเฟตต์มาก และเขาคิดว่าเขาก็จะลงทุนไปเรื่อยๆ จนร่ำรวยมหาศาล แม้จะมีไม่เท่าบัฟเฟตต์ แต่น่าจะเพียงพอสำหรับการเป็น "บัฟเฟตต์ เมืองไทย"
ข้อสอง ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวกับข้อแรก ก็คือ เขามีพอร์ตการลงทุนจำนวนมาก คิดแล้วเป็นพันๆ ล้านบาท แม้ว่าบางกรณีเงินลงทุนนี้อาจจะเป็นเงินของบริษัทที่เขาบริหารอยู่ การมีเงินลงทุนจำนวนมากนั้น ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเหมือน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่รวยมากจากการซื้อหุ้นลงทุนไม่ได้มาจากการทำธุรกิจ
ที่จริงคนที่อยากเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์" นั้นไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย ในต่างประเทศเกือบจะทั่วโลกที่มีตลาดหุ้นที่คึกคัก ก็จะมีคนอยากเป็นแบบเดียวกัน ที่เมืองจีนเมื่อหลายปีก่อน ก็มีการขนานนามนักลงทุนที่บริหารกองทุนรวมบางแห่งว่าเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองจีน" เหตุเพราะว่าสามารถบริหารแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมจน "น่าทึ่ง" และทำให้ผู้คนต่างโจษจันและซื้อหุ้นตาม ผมไม่ได้ตามว่านักลงทุนคนนี้ยัง "ดัง" และยังเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองจีน" อยู่หรือไม่ แต่มาคิดดูแล้ว นักลงทุนคนนี้แทบไม่มีอะไรเหมือน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เลย นอกจากการที่สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างมหัศจรรย์ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รับประกันว่าจะดีต่อไปอีกนานแค่ไหน
ส่วนในเรื่องอื่นๆ แล้ว เขาก็เป็น Value Investor อีกคนหนึ่งที่ไม่ได้มีสไตล์การลงทุนที่ใกล้เคียงกับ บัฟเฟตต์ เลย ไม่ต้องพูดถึงการใช้ชีวิตหรือเรื่องอื่นๆ
ในการที่จะเรียกว่าเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" หรือเมืองไหนก็ตาม ผมคิดว่าคนคนนั้นควรที่จะมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่คล้ายๆ กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกเหนือจากผลตอบแทนการลงทุน หรือขนาดของพอร์ต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นเงื่อนไข ต่อไปนี้คือคุณสมบัติ ที่ผมคิดว่าเป็นตัวตนของบัฟเฟตต์ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และคนที่มีลักษณะคล้ายๆ แบบนั้นหลายๆ ข้อก็อาจจะถือว่าเขาเข้าข่ายที่จะเป็นบัฟเฟตต์เมืองไทยได้
ข้อแรก เขาจะต้องสามารถพิสูจน์ได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่า เป็นนักลงทุนที่มีความสามารถสูงมาก นั่นหมายความว่า เขาควรได้ผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวสูงมาก อย่างน้อยควรจะได้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้น 20% ขึ้นไปในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี การได้ผลตอบแทนเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่พันเปอร์เซ็นต์ แต่ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปีนั้น ยังบอกอะไรไม่ได้ และมักจะไม่ใช่การลงทุนจริงๆ แต่เป็นการเก็งกำไรมากกว่า ซึ่งไม่ใช่สไตล์ของบัฟเฟตต์เลย
ข้อสอง พอร์ตการลงทุนจะต้องใหญ่มากในระดับต้นๆ ของประเทศ นี่นับเฉพาะคนที่ลงทุนด้วยกัน หรือมาจากการลงทุนไม่ใช่ไปเปรียบเทียบกับ "เจ้าของบริษัท" หรือผู้ประกอบการที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีความมั่งคั่งสูงกว่านักลงทุนมาก นี่อาจจะไม่เหมือน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตัวจริงที่บังเอิญร่ำรวยกว่าคนที่รวย จากการประกอบการและรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลกจากการลงทุน
ในขณะที่เมืองไทยนั้น เราคงหวังแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ และนักลงทุนอาชีพ เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน นักลงทุนที่มีพอร์ตเป็นพันๆ ล้านบาท ก็ถือว่า อยู่ในกลุ่มที่รวยระดับต้นๆ แล้ว ในขณะที่เจ้าของบริษัทนั้น รวยเป็นแสนล้านบาท
ข้อสาม เขาต้องเป็น Value Investor นี่เป็นเงื่อนไข ที่จะแยกระหว่างนักเก็งกำไร หรือนักปั่นหุ้นกับนักลงทุนที่เป็น IDOL หรือสัญลักษณ์ของนักลงทุนเน้นคุณค่า ซึ่งก็คือบัฟเฟตต์ บางคนอาจจะมองว่าเงื่อนไขข้อนี้ไม่น่าจะจำเป็น เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่แยกได้ยากว่า อะไรเป็นการลงทุนอะไรเป็นการเก็งกำไร หรือแม้แต่การปั่นหุ้น
ข้อนี้ผมคิดว่าน่า จะมีความสำคัญ เพราะเราจะรับได้อย่างไรว่าเราเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" ถ้าแม้แต่หลักการสำคัญ หรือหัวใจการลงทุนก็แตกต่างกันแล้ว ว่าที่จริงผมเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมจึงไม่มีคนที่อยากเป็น "จอร์จ โซรอส เมืองไทย" ในฐานะที่เป็นนักเก็งกำไรสุดยอดบ้าง
ข้อสี่ เขาเป็นคนที่ยึดแนวการลงทุนแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างเคร่งครัด นั่นก็คือ ลงทุนในหุ้นแบบซูเปอร์สต็อกเป็นหลัก ลงทุนในหุ้นน้อยตัวแบบที่เรียกว่าลงทุนแบบ Focus และลงทุนถือหุ้นระยะยาวมาก เงื่อนไขข้อนี้ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัวแต่เป็นสิ่งที่ถ้าเขาทำ เขาก็มี ความเหมือนกับ บัฟเฟตต์ อีกข้อหนึ่ง แต่ถ้าเขามีสไตล์ของตนเอง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" ไม่ได้ เพราะการลงทุนในสไตล์แบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักในเมืองไทยก็ได้
ดังนั้น นักลงทุนระดับเซียนในเมืองไทยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สไตล์นี้ เช่นเดียวกัน ถ้าบัฟเฟตต์มาลงทุนในเมืองไทย เขาก็อาจจะไม่ใช้สไตล์ ที่เขาใช้อยู่ในอเมริกาก็ได้
ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ เขาเป็นคนที่มีมุมมองทางความคิดและการใช้ชีวิตที่สมถะและไม่ติดยึดคล้ายคลึงกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นี่อาจจะไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่ผมคิดว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งที่เป็นตัวตนของบัฟเฟตต์และทำให้เขาเป็น "ตำนาน" ของนักลงทุนทั่วโลก
จากคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวถึง เท่าที่ผมมองดู ก็ยังไม่มีใครที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" แม้ว่าหลายคนอาจจะมีคุณสมบัติตรงในบางข้อ ว่าที่จริง แม้แต่ในระดับโลกเองผมก็คิดว่า ยังหาคนที่เรียกว่าเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมือง..." ที่เหมาะสมไม่ได้ ซึ่งผมเองก็ไม่ประหลาดใจอะไร ผมคิดว่า การเป็นอะไร.. "คนต่อไป" นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และคนที่พยายามทำมักจะล้มเหลว เพราะเป็นเรื่องยากที่คนสองคน จะมีความสามารถใกล้เคียงกัน เกิดในสถานะใกล้เคียงกัน อยู่และทำงานในประเทศที่ใกล้เคียงกัน ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และตลาดทุนที่ใกล้เคียงกัน และมีช่วงเวลาลงทุนพอๆ กัน
ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดก็คือ นักลงทุนทุกคนนั้น เพื่อที่จะประสบความสำเร็จสูงสุดสำหรับตนเอง เราจะต้องเรียนรู้จากบัฟเฟตต์และนักลงทุนระดับตำนานคนอื่นๆ ให้มากที่สุด แต่การดำเนินชีวิตการลงทุนนั้น เราต้องเป็นตัวของตัวเอง เราต้องไม่หวังเป็น "วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย" แต่เราต้องเป็นตัวเราเองที่ไม่เหมือนใครในตำนานเลย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘