Great Company

ถ้าสังเกตดู ในระยะนี้ หุ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงมากในแง่ของสินค้าหรือบริการจะมีราคาสูงมาก ค่า PE ของหุ้นของบริษัทเหล่านั้น มักจะสูงลิ่ว บางตัวมีค่า PE ถึง 30 เท่าในขณะที่ค่าเฉลี่ยของตลาดเท่ากับประมาณ 10 เท่า เท่านั้น ในความเห็นของผม นี่คือ ช่วงเวลาทองของบริษัทที่ยิ่งใหญ่หรือเรียกว่า Great Company คนที่ลงทุนซื้อหุ้นบริษัทเหล่านั้น สามารถทำกำไรมหาศาลโดยเฉพาะถ้าได้ซื้อหุ้นในช่วงที่ราคายังไม่สูงมีค่า PE เพียงสิบกว่าเท่า
Great Company หรือบริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้น ไม่ได้หมายความว่าบริษัทมีขนาดใหญ่หรือมีสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด การจะบอกว่าบริษัทไหนยิ่งใหญ่นั้น แต่ละคนก็อาจจะมีความเห็นไม่เหมือนกัน จากมุมมองของนักลงทุนผมเองมีนิยามสำหรับคุณสมบัติที่มองเห็นจากภายนอกง่ายๆ ดังต่อไปนี้
ข้อแรก บริษัทที่ยิ่งใหญ่ควรจะต้องเป็นบริษัทที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับที่รองลงมามาก โดยเฉพาะในด้านของขนาด หรือยอดขายของกิจการ ภาษาอังกฤษอาจจะเรียกว่า Dominant Firm ตัวอย่างเช่น บริษัทมียอดขายถึง 50% ของตลาด ในขณะที่อันดับสองมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 20% อันดับ 3 เหลือเพียง 10% และอันดับ 4 อาจจะไม่รู้ว่าเป็นบริษัทไหน หรือในบางอุตสาหกรรมที่มีผู้ขายหรือให้บริการมาก บริษัทอาจมียอดขาย 5,000 ล้านบาท ในขณะที่อันดับสองเหลือเพียง 1-2,000 ล้านบาท แบบนี้ถือว่าบริษัทอันดับหนึ่งเป็น Dominant Firm ชัดเจน ในบางกรณี Dominant Firm อาจจะมี 2 บริษัทก็ได้เพราะอันดับ 1 และ 2 อาจจะมียอดขายสูงมากในขณะที่อันดับ 3 นั้นเล็กลงไปมากจนแทบไม่มีความสำคัญ
ข้อสอง Great Company ควรจะมีชื่อยี่ห้อที่เป็นอันดับหนึ่งในใจของลูกค้าใน Sector หรือในกลุ่มของตนเอง เช่น กลุ่มที่มีรายได้สูงหรือต่ำ หรือในกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือเป็นในทุกกลุ่ม ยี่ห้อนี้จะต้องโดดเด่นมากคือ คนเลือกที่จะซื้อหรือใช้แม้ว่าราคาอาจจะสูงกว่าหรือความสะดวกที่จะซื้อหรือใช้อาจจะด้อยกว่าคู่แข่งบ้าง สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียี่ห้ออันดับหนึ่งแต่ผู้บริโภคไม่ได้ติดยี่ห้อ ลักษณะแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับสินค้าบางอย่างที่เป็นโภคภัณฑ์เช่น น้ำดื่ม แบตเตอรี่รถยนต์ น้ำมัน สินค้าเหล่านี้ยี่ห้อจะมีความหมายไม่มากนัก และมักไม่ใช่บริษัทที่จะเป็น Great Company ได้
ข้อสาม บริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นควรจะต้องมี Durable Competitive Advantage หรือความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน นั่นคือ บริษัทจะต้องมีความได้เปรียบคู่แข่งในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น มีต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น มีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างหรือยี่ห้อที่โดดเด่น มีสัมปทานหรือสิทธิพิเศษ ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ ความได้เปรียบนี้จะต้องยั่งยืน คือ จะเป็นความได้เปรียบที่จะอยู่ต่อไปอีกนานเป็นสิบๆ ปี และโอกาสที่จะมีคนอื่นมาทำลายความได้เปรียบนี้ หรือพัฒนาศักยภาพของตนเอง จนทำให้ความได้เปรียบนั้นหมดไปจะต้องมีน้อยมาก
ข้อสี่ กิจการควรจะมีกำไรสูงซึ่งอาจจะวัดจาก Net Profit Margin หรือผลกำไรต่อยอดขาย เช่น กำไรต่อยอดขายสูงถึง 10% ในขณะที่คู่แข่งโดยทั่วไปนั้นได้แค่ 5% หรือบริษัทมีกำไรต่อผู้ถือหุ้นหรือ ROE สูงถึง 20% ขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอโดยที่บริษัทไม่ได้มีหนี้สินกับสถาบันการเงินมากกว่าปกติ
ข้อห้า ถ้าจะเข้าข่ายเป็น Great Company ได้ ผมคิดว่าบริษัทควรที่จะต้องเติบโตนั่นก็คือ เป็นบริษัทที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีหรือเกือบทุกปี ในอัตราอย่างน้อยสองเท่าของรายได้ประชาชาตินั่นก็คือ ถ้า GDP สูงขึ้นปีละ 5% บริษัทควรมีรายได้ และกำไรโตขึ้นอย่างน้อย 10% ในประเด็นนี้ หลาย ๆ คนอาจจะดูว่าเป็นเงื่อนไขที่ง่ายเกินไปเพราะเคยชินกับการโตเป็น 20-30% บางบริษัทโตเป็น 100% ในปีเดียว ข้อนี้ผมคิดว่าก็คงเป็นแบบเดียวกับเรื่องของกำไร หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น ที่คนเล่นหุ้นมักคิดว่าการทำกำไรหรือทำให้พอร์ตโตปีละ 20-30% ต่อปีเป็นเรื่องง่าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การโตเป็น 10 ปีติดต่อกันหรือกำไรโตเป็น 10 ปีติดต่อกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ถ้าบริษัทโตโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าค่อนข้างดีแล้ว
นอกจากคุณลักษณะ 5 ข้อข้างต้นแล้ว อาจจะมีคุณลักษณะอื่นๆ เช่นในเรื่องของผู้บริหาร หรือคุณสมบัติอย่างอื่นที่สำคัญมาก หรือเป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้บริษัทเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น การวิเคราะห์ในประเด็นว่า บริษัทไหนน่าจะเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องดูและศึกษาอย่างละเอียด ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราต้องพยายามมองหาหุ้นของกิจการที่ "กำลัง" จะกลายเป็น Great Company มากกว่าบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะเป็น Great Company ไปแล้วในสายตาของนักลงทุน เพราะหุ้นของบริษัทหลังจากนั้น ราคาขึ้นไปสูงลิ่วจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ในขณะเดียวกัน หุ้นของบริษัทที่กำลังจะเป็น Great Company หรือบริษัทที่เป็น Great Company แล้ว แต่นักลงทุนยังไม่ตระหนัก ทำให้ราคาหุ้นยังซื้อขายกันที่ PE เพียงสิบกว่าเท่านั้น ถ้าเราค้นพบและลงทุนซื้อเก็บไว้ ในอนาคตเมื่อนักลงทุนโดยทั่วไปยอมรับกัน และเข้ามาทุ่มซื้อหุ้น เราก็จะสามารถทำกำไรได้มหาศาล เพราะ Great Company นั้น จะให้ Great Value แก่เจ้าของเสมอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘