Friday, April 13, 2007 Roadmap สำหรับ VI

การเดินทางของคนที่ต้องการจะเป็น Value Investort ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ผมเชื่อว่าควรจะมีการวางแผน ตั้งเป้าหมาย และติดตามผล .... ในวันนี้ผมจะลองวาดภาพ Roadmap ของตัวผมเองทั้งที่ผ่านมาแล้ว และยังไปไม่ถึงให้ดูกันนะครับ

ใน สมัยเริ่มต้นใหม่ๆ คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะรู้สึกว่าการลงทุนแบบ vi นั้นยากไม่ใช่เล่น เพราะต้องรู้เรื่องมันสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบัญชี ธุรกิจ การเงิน ฯลฯ การจะศึกษาหุ้นแต่ละตัวก็ใช้เวลาไม่น้อย หลายๆครั้งนั่งศึกษาหุ้นเป็น 10 ตัวก็ยังไม่เจอดีๆซักตัว ... อ่านงบการเงินก็ไม่ค่อยเป็น ข้อมูลจะหาจากไหน การเทรดหุ้นให้ดีจะทำอย่างไร ยิ่งคิดก็ยิ่งกลุ้ม ...

แต่ ผมก็พยายามที่จะศึกษาการลงทุนแบบ vi ต่อไป แม้จะมีเบื่อบ้าง ท้อบ้าง แต่พอมาถึงจุดนึงก็ได้รู้ว่า ที่เราลงทุนลงแรงไปมันคุ้มค่ามากเหลือเกิน ...

step การศึกษาของผมแบบคร่าวๆเป็นแบบนี้ครับ

1. เริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้ในแนวทางการลงทุนแบบ vi เพื่อให้เข้าใจแนวคิดและวิธีการคร่าวๆ ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ vi แทบทุกเล่มที่หาได้ ซึ่งหนังสือหลายๆเล่มผมก็ได้เขียนถึงไปบ้างแล้ว เช่น ตีแตก, one up on wallstreet, วาทะของวอเรนบัฟเฟตต์, The Warren Buffett Way ฯลฯ เมื่ออ่านหนังสือพวกนี้ไปมากจะจะเข้าใจแนวคิดในการลงทุนแบบ vi มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของผมในวันนั้นหลังจากอ่านหนังสือ vi ไปได้หลายเล่มก็คือ ผมยังขาดความสามารถในการอ่านงบการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในเป็น vi ที่ดีได้

2. เมื่อพบจุดอ่อนของตัวเองเรื่องของการอ่านงบการเงิน ผมก็เลยลอง load งบการเงินจากเวปไซต์ www.sec.or.th มาลองฝึกอ่านดู โดยช่วงแรกใช้หนังสือตีแตกของ ดร. นิเวศน์เป็นแนวทาง เพราะในหนังสือมีตัวอย่างการวิเคราะห์งบการเงินให้ดู จำได้ว่าตอนแรกผม load งบการเงินของบริษัทในกลุ่มหนังสือ สิ่งพิมพ์มาอ่าน เช่น se-ed aprint mati เพื่อที่จะได้ลองเอามาเปรียบเทียบได้ แต่กว่าที่ผมจะลองคำนวณอัตราส่วนต่างๆตามหนังสือตีแตกได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน เพราะแต่ละงบนี่กว่าจะทำเสร็จก็กินเวลาเป็นวันเหมือนกัน ผมเห็นท่าจะไม่ดี ก็เลยของไปหาหนังสือเล่มอื่นๆมาอ่านดู เผื่อจะได้ idea มากขึ้น ตอนนั้นก็เห็นหนังสือของ ดร. ภาพร (อ่านงบการเงินให้เป็น) วางอยู่ที่ se-ed ก็เลยลองซื้อมาอ่าน แรกๆก็อ่านเข้าใจยากอยู่บ้าง แต่ยิ่งพออ่านจบไปรอบนึงแล้วเรากลับมาดูงบการเงินใหม่ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสามารถทำความเข้าใจกับงบได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ให้ทะลุปรุโปร่งได้เท่าที่ควร

ผม ก็เลยไปหาซื้อหนังสือของดร. ภาพร เล่มอื่นๆมาอ่านเพิ่มเติมเรื่อยๆ (รู้สึกมีอยู่ 3-4 เล่ม) ยิ่งอ่านมาเท่าไหร่ ยิ่งทดลองแกะงบการเงินมากขึ้นเท่าไหร่ ความเร็วในการอ่านงบก็เร็วขึ้นเท่านั้น ระหว่างนี้ผมก็ยังหาความรู้เพิ่มเติมจากงานสัมมนาของตลาดหลักทรัพย์ ตอนนั้นไปเรียนกับอ. ธนเดช มหโภไคย ซึ่งสอนการอ่านงบได้เข้าใจง่ายดีมาก และยังสอนเรื่องการอ่านงบกระแสเงินสด (ซึ่งหาอ่านที่ไหนไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือสอนอ่านงบดุลกับงบกำไรขาดทุน)

หลัง จากผมเริ่มอ่านงบการเงินได้คล่องมากขึ้น ก็ทำให้ผมเลือกซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยได้สูงขึ้นจากการใช้งบการเงินช่วย ซึ่งงบการเงินที่ผมจะชอบดูนั้นก็คืองบย้อนหลังไป 3 ปี (ซึ่งใน 56-1 นั้นจะรวมตัวเลขย้อนหลังให้ 3 ปีอยู่แล้ว ก็ถือว่าสะดวกดี) เพื่อดูแนวโน้มของบริษัท นอกจากนี้ก็จะ load งบการเงินรายไตรมาสของปีล่าสุดทุกไตรมาสมาอ่านดู เพื่อดูแนวโน้มบริษัทในระยะสั้น (เพราะผมเคยเจ็บตัวมาแล้วกับหุ้นไก่ ซึ่งมีรายได้ลดลงทุกไตรมาส ผมดูแค่งบปีเลยคิดว่าดี เพราะรวมรายได้ทั้งปีมันยังพอใช้ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้ที่รายได้สูงๆน่ะมันตอนไตรมาสแรก พอไตรมาสต่อๆมารายได้มันลดลงเรื่อยๆ ก็พอจะบอกได้ว่าบริษัทอาจจะกำลังมีปัญหา)

3. พอเราซื้อหุ้นมาแล้ว หรือมีหุ้นที่เล็งจะซื้อไว้ในใจแล้ว บางครั้งเราซื้อหุ้นมาไม่นาน หุ้นมันวิ่งขึ้นไปก็ดีใจ คิดว่าตัวเองเก่งเลือกหุ้นได้ถูก แต่พอครั้งไหนซื้อหุ้นปุ๊บแล้วมันวิ่งลงปั๊บ ก็คิดว่าบริษัทอาจจะมีปัญหา พาลคิดไปเองว่าตัวเองเลือกหุ้นไม่ดี .... เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ สภาพจิตใจก็เริ่มแย่ อารมณ์ตัวเอง ถูกราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงรายวันพาให้แกว่งไปอยู่ตลอดเวลา คิดแล้วก็เลยว่าต้องหาที่พึ่งทางใจ ด้วยการกลับไปอ่านหนังสือ vi ในข้อ 1 ใหม่อีกรอบให้หมด ก็ได้ใจความว่า "เราไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นได้ราคาต่ำที่สุดเสมอไป ขอให้ซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าก็โอเคแล้ว" หรือคำพูดของ Buffett ที่บอกว่า "ถ้าไม่สามารถทนเห็นราคาหุ้นลดลงกว่า 50% ได้ ก็อ่านคิดที่จะเล่นหุ้น" ทำให้ผมคิดได้ว่าการที่ราคาหุ้นมันวิ่งขึ้นลงนั้น มันเป็นเรื่องของ demand (แรงซื้อหุ้น) และ supply (แรงขายหุ้น) ดังนั้นการขึ้นลงของหุ้นในระยะสั้นไม่ได้บอกว่าบริษัทนั้นมันดีหรือไม่ดี อย่างไร คิดได้แบบนี้ก็ทำให้สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้น เวลาหุ้นขึ้นก็ไม่หยิ่งผยองคิดว่าตัวเก่ง หรือเวลาหุ้นลงก็ไม่มานั่งกลุ้มใจ เอาเวลาไปศึกษาติดตามธุรกิจของหุ้นที่เราถือดีกว่าเอาเวลามานั่งดูราคาหุ้น รายวัน

หนังสือ ที่ช่วยให้ผมผ่านจุดนี้ไปได้อีกเล่มนอกจากหนังสือ vi ก็คือหนังสือ "จิดวิทยาการลงทุน" ช่วยทำให้เข้าใจแนวคิดของคนในการลงทุนได้มากขึ้น และเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ผมได้มาจากการผ่านพ้นกำแพงนี้ไปได้ก็คือ "จงลืมราคาต้นทุนที่เราซื้อหุ้นมาให้หมด (รวมถึงราคาในอดีตทั้งหมด)" เพราะตัวเลขราคาเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดกับดักทางจิตวิทยาได้ง่าย เช่น คนส่วนใหญ่ไม่ชอบขายหุ้นถ้าราคาหุ้นต่ำกว่าราคาทุน เพราะจะรู้สึกว่าตัวเองขาดทุน แต่สำหรับผมถ้าผมคิดว่าหุ้นตัวดังกล่าวไม่ดี และมีโอกาสที่ราคาจะต่ำลงไปอีกยังไงผมก็ขาย ราคาทุนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทั้งสิ้น ถ้าคิดได้แบบนี้แล้ว ผมว่าเส้นทาแห่งความสำเร็จก็เข้าใกล้มาอีกขั้น

(มีต่อ..... )

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘