Chinese Price

ใครที่เคยไปเมืองจีนโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นอย่างคุนหมิ ง คงได้เจอประสบการณ์ในการซื้อของที่ระลึก แบบที่ผมเจอมาบ้าง
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ ในขณะที่ลูกทัวร์ซึ่งรวมผมอยู่ด้วยกำลังนั่งอยู่ในรถบัสรอลูกทัวร์คนอื่นทยอยขึ้นรถ เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นนั้น คนขายของที่ระลึกที่เป็นขิมจีนทำด้วยไม้ก็ขึ้นมาบนรถ และเสนอราคาขายที่ตัวละ 200 หยวนหรือประมาณ 1,000 บาทไทย นักท่องเที่ยวที่อยู่ด้านหน้าของรถสนใจจะซื้อแต่ก็รู้ว่าที่เมืองจีนนั้น ราคาสินค้าที่เรียกจะสูงกว่าราคาจริงมาก จึงต่อราคาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือ 100 หยวน คนขายอิดออดเล็กน้อยแต่ก็ยอมขายให้
คนขายขิมเดินต่อมาก็พบกับลูกค้าอีกคนหนึ่งซึ่งสนใจแต่เห็นว่าน่าจะต่อรองราคาขิมลงได้อีก จึงเสนอราคา "เผื่อต่อรอง" ไปที่ 50 หยวน คนขายไม่ยอมรับราคา และเจรจาอยู่สักครู่ก็ตกลงซื้อขายกันที่ 60 หยวน ซึ่งทำให้คนซื้อรู้สึกพอใจ แต่คนซื้อคนแรกรู้สึกเจ็บใจที่ตนเองต้องซื้อของราคาแพงเนื่องจากต่อรองราคาน้อยเกินไปในตอนแรก
พ่อค้าขิม "ตัวแสบ" เดินต่อไปที่ท้ายรถ และก็เสนอขายขิมอีกในราคาที่ตกลงกับคนซื้อรายที่สามที่ 30 หยวน ซึ่งทำให้ลูกค้าทั้งรายที่หนึ่ง และสองรู้สึกเจ็บปวดหนักที่รู้สึกว่าตัวเองเหมือนถูกหลอกให้ซื้อของที่แพงเกินไปมาก อย่างไรก็ตามพ่อค้าขิมก็ยังเดินต่อไป และเสนอราคาขายขิมในราคาที่ต่ำลงอีกเหลือเพียง 15 หยวน สำหรับลูกค้ารายที่สี่ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ลูกค้าทั้งสามรายที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ก็แทบคลั่งที่นึกว่าตนเองซื้อของถูกแล้ว แต่กลับมีราคาที่ถูกกว่า
ถึงตอนนี้หัวหน้าทัวร์ก็ประกาศว่ารถกำลังจะออกแล้ว ลูกทัวร์ที่นั่งอยู่ท้ายรถคนหนึ่งรู้สึกสนุกกับ "ความเขลา" ของผู้ซื้อขิมทั้งหลาย และเพื่อที่จะเล่นสนุกกับพ่อค้าขิมเจ้าเล่ห์จึง "แกล้ง" ต่อรองราคาขิมเหลือเพียง 5 หยวน เพราะคิดว่าอย่างไรเสียพ่อค้าขิมก็คงไม่ขายให้ เพราะราคา 5 หยวนนั้น น่าจะต่ำกว่าต้นทุนของขิม เขาเข้าใจผิด พ่อค้าขายขิมให้เขา และรีบลงจากรถที่กำลังเคลื่อนตัวออก เขาส่งยิ้มแสดงความขอบคุณให้ทุกคนที่ซื้อขิมเขา เพราะรายได้จากการขายขิม 5 ตัวคือ 220 หยวน ต้นทุนของขิมคือตัวละ 4 หยวน 5 ตัวเท่ากับ 20 หยวน กำไรของเขาก็คือ 200 หยวน ซึ่งเขาใช้เวลาขายเพียง 15 นาที
พ่อค้าขิมขายสินค้าของเขาได้ในราคาสูงลิ่ว เพราะขิมจีนทำด้วยไม้แบบที่เขาขายนั้นเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์ในตัว ที่คนซื้อที่ไม่มีประสบการณ์ จะไม่สามารถรู้ได้ว่าราคาควรจะเป็นเท่าไร แต่การตั้งราคาเริ่มต้นที่ 200 หยวนนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นราคาที่ "สมเหตุผล" สำหรับของที่ระลึกที่ดูมีค่าอย่างขิมจีน และที่สำคัญ มันเหมาะกับกระเป๋านักท่องเที่ยวชาวไทย และเมื่อเขากำหนดราคา "พื้นฐาน" ที่เป็นราคาเริ่มต้นได้แล้ว เขาสามารถที่จะ "ขายทำกำไร" ได้ในเกือบจะทุกราคาโดยที่คนซื้อพร้อมที่จะเข้ามาซื้อต่อเนื่อง เพราะคิดว่า "ของมันถูก" และไม่น่าจะ "ถูกกว่านี้"
ในตลาดหุ้นไทยนั้น ผมคิดว่ามีหุ้นที่มีลักษณะของการซื้อขายโดยมีราคาในลักษณะที่ผมจะเรียกให้เท่ๆ ว่า Chinese price หรือ "ราคาเมืองจีน" ดังที่กล่าวข้างต้นอยู่ไม่น้อย
แนวความคิดก็คือ มี "พ่อค้าหุ้น" ที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในมือจำนวนมาก คำว่าราคาถูกก็คือ เช่น ต้นทุนหุ้นละ 1 บาท สิ่งที่พ่อค้าหุ้นทำก็คือ การพยายาม "เปิดราคา" นั่นคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้หุ้นมีการซื้อขายที่ราคาสูงที่สุดที่จะทำได้ เช่น ราคาหุ้นละ 10 บาท การทำให้หุ้นมีราคา 10 บาทได้นั้นก็ต้องพยายามทำให้คนเชื่อว่าราคา 10 บาทเป็นราคาที่ "สมเหตุผล" เหมือนกับ "ราคาเปิด" ของขิมในตัวอย่าง และก็เช่นเดียวกับขิมจีน ราคาหุ้นนั้น บางทีก็สามารถจะวิเคราะห์คำนวณให้มันวิ่งอยู่ระหว่าง 1-10 บาทได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างเงื่อนไขหรือสมมติฐานอย่างไร ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นการสร้างกำไรที่ดูโดดเด่นมากๆ ให้กับบริษัทสัก 1-2 ปี เพื่อทำให้บริษัทดูดี มีการเจริญเติบโตสูงมาก ซึ่งจะทำให้นักวิเคราะห์มาตีราคาหุ้นที่น่าจะมีราคา 1 บาท ให้เป็น 10 บาทได้ หลังจากเปิดราคาแล้ว หน้าที่ของพ่อค้าหุ้นก็คือ พยายาม "ประคอง" ราคาหุ้น ให้เหมือนกับการประคองราคาของขิมจีน และทยอยขายหุ้นจนหมด และยังกำไรจากการขายล็อตสุดท้าย
หุ้นที่จะทำ Chinese Price ที่ผมเห็นว่าทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูงน่าจะมาจากหุ้นที่ยังไม่มีสถิติของราคา หรือสถิติเดิมล้าสมัยแล้วและนักลงทุนไม่รู้หรือไม่สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับกรณีของขิมจีน ซึ่งในตลาดหุ้นที่ผมนึกออกอย่างน้อยน่าจะมีหุ้น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือ หุ้นของกิจการที่กำลังออกจากการฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO เพราะหุ้น 2 กลุ่มนี้คนยังไม่รู้ราคาที่เหมาะสม ดังนั้น มันจึงสามารถถูกกำหนดราคาให้สูงลิ่วได้ทั้งๆ ที่มูลค่าที่แท้จริงอาจจะน้อยมาก
ในฐานะของ Value Investor ผมเองมักจะไม่เข้าซื้อหุ้นที่มีราคาตกลงไปอย่างต่อเนื่องมหาศาล ผมไม่คิดว่ามันเป็นโอกาส ของการซื้อหุ้นถูก เพราะว่า บ่อยครั้ง ราคาของหุ้นเหล่านั้น กลายเป็นราคาแบบ Chinese Price คือตกลงไปจนหาฐานไม่เจอ แต่คนขายที่มีต้นทุนต่ำก็ยังได้กำไรอยู่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘