ภาพใหญ่-ภาพเล็ก

เวลามองหรือคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ผมชอบเริ่มจาก "ภาพใหญ่" หรือภาพรวมทั้งหมดของสิ่งนั้นก่อน ถ้าดูแล้วน่าสนใจ ผมถึงจะมองต่อไปถึงรายละเอียดหรือ "ภาพเล็ก" ที่อยู่ในภาพใหญ่นั้น เช่นเดียวกัน การคิดที่จะหาหรือ กำหนดแนวทางในเรื่องต่างๆ ผมก็จะเริ่มจากยุทธศาสตร์ใหญ่ก่อน ส่วนกลยุทธ์ย่อยๆ นั้นจะตามมาภายหลัง เหตุผลของผมก็คือ ผมเชื่อว่าถ้า "ภาพใหญ่" ถูกมองหรือกำหนดถูกต้องแล้ว "ภาพเล็ก" หรือกลยุทธ์ย่อยอาจจะผิดพลาดบ้าง ผมก็ยังจะได้รับผลดีอยู่แม้จะน้อยไปบ้าง ตรงกันข้าม ถ้า "ภาพใหญ่" ผิดเสียแล้ว ถึงเราจะดูหรือทำ "ภาพเล็ก" ถูกต้องสมบูรณ์แบบ ผลลัพธ์ก็จะยังไม่ดีพออยู่ดี บางทีการมองที่ "ภาพใหญ่" นั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่อาจจะยากกว่าก็คือ อะไรคือ "ภาพใหญ่"
อย่างเรื่องปัจจัยของความสำเร็จในอนาคตของคนหนุ่มสาวอายุ 25-30 ปีที่ยังไม่ได้แต่งงานนั้น คุณคิดว่าภาพใหญ่คืออะไร คนทั่วไปอาจจะคิดว่า การทุ่มเททำงานหนักเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น เขาจึงทุ่มเทให้กับการทำงานมากมายจนลืมไปว่า แท้ที่จริงภาพที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะของผู้หญิง ก็คือ การมีชีวิตคู่ หรือครอบครัวที่ดี ดังนั้นถ้าเราเชื่อว่าชีวิตคู่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความสุขในอนาคตมากกว่าเรื่องงาน เราก็ต้องทุ่มเทให้ความสำคัญกับการหาคู่เท่าๆ กับหรือมากกว่าการทำงานเป็นบ้าเป็นหลังจนลืมไปว่า มันอาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุขมากกว่าถ้าเราได้คู่ที่เหมาะสม บางทีการได้แต่งงานกับคนที่ถูกต้องเพียงครั้งเดียวอาจจะทำให้คนๆ หนึ่งสบายไปทั้งชาติได้ แม้ว่าเขาหรือเธอจะทำเรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยได้เข้าท่าเลย เหตุผลก็เพราะว่า เรื่องอื่นๆ นั้นเป็น "ภาพเล็ก" แต่การแต่งงานนั้น เป็น "ภาพใหญ่"
ในเรื่องของการลงทุนนั้น ผมคิดว่าเรามีประเด็นของ "ภาพใหญ่" มากมายหลายเรื่อง และถ้าเรากำหนดได้ว่า อะไรเป็นภาพใหญ่ได้ชัดเจนและถูกต้อง โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนก็จะมีสูง เพราะการปฏิบัติของเราจะอยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ลองมาดูว่าภาพใหญ่บางส่วนที่ผมคิดมีอะไรบ้าง
เรื่องแรกก็คือ เราต้องคิดว่าภาพใหญ่ในการลงทุนของเราคืออะไร สำหรับผมแล้ว การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น มันคือการเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของธุรกิจ ผมไม่เคยมีเป้าหมายว่าซื้อหุ้นแล้วจะขายเมื่อไร หรือจะกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาสั้นๆ การคิดว่าเรากำลังเป็นเจ้าของหรือทำธุรกิจในหุ้นที่เราซื้อลงทุนนั้น ช่วยให้ผมคิดถึงสินค้าที่บริษัทผมจะขาย ยอดขาย กำไร และปันผลที่ผมจะได้รับ ความเข้มแข็งของบริษัทและการเจริญเติบโตของธุรกิจ ผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ฯลฯ ผมคิดว่าเหล่านี้คือภาพใหญ่ ในขณะที่ราคาหุ้นจะขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์และการที่บริษัทจะมีข่าวดี หรือกำไรจะเพิ่มขึ้นในไตรมาศหรือปีหน้าเท่าไร เหล่านี้เป็น "ภาพเล็ก" ที่เราไม่ควรเริ่มต้นมองและหมกมุ่นกับมันมากเกินไปก่อนที่จะดูที่ "ภาพใหญ่" ว่า นี่คือธุรกิจที่เราต้องการเป็นเจ้าของหรือไม่
"ภาพใหญ่" เรื่องที่สองก็คือ เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการลงทุนของเราคืออะไร ในความคิดผมก็คือ การลงทุนของเราน่าจะเพื่อให้เม็ดเงินของเราเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงโดยที่ความเสี่ยงในการที่เงินต้นจะลดลงมีน้อยมาก เป้าหมายหลักก็คือการสร้างความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงินในระยะยาวของเรา เพราะด้วยวัตถุประสงค์หลักแบบนี้ จะทำให้เราเพิ่มพอร์ตโฟลิโอของหุ้นตลอดเวลาในขณะที่จะมีการกระจายการถือครองหุ้นอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่นเดียวกับการเลือกถือหุ้นที่มีความเสี่ยงในการลดค่าลงต่ำ ตรงกันข้ามถ้าเราไม่มี "ภาพใหญ่" ของวัตถุประสงค์ของการลงทุน เราก็อาจจะเข้ามาซื้อขายหุ้นลงทุนเป็นครั้งคราวและพยายามทำกำไรเป็น "ค่าขนม" หรือเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในลักษณะของการเก็งกำไรเป็นช่วงๆ ซึ่งลักษณะนี้เป็นเรื่องของการมอง "ภาพเล็ก" ของภาวะตลาดหุ้นและการซื้อขายในช่วงสั้นๆ ซึ่งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะมีน้อย
ภาพใหญ่เรื่องที่สามก็คือเรื่องของความเชื่อและการปฏิบัติตามที่ควรจะเป็น ตัวอย่างของความเชื่อมีมากมาย เช่น ภาพใหญ่ของผมก็คือ ผมไม่เชื่อการคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้น ดังนั้นผมไม่ศึกษาวิธีการที่จะหาจังหวะเข้าออกจากตลาด เพราะนี่คือ "ภาพเล็ก" หรือความเชื่อที่ว่าการลงทุนในตลาดหุ้น ผลตอบแทนในระยะยาวสำหรับพอร์ตที่มีขนาดใหญ่พอสมควร จะไม่สามารถทำได้เกินปีละ 20-25% โดยเฉลี่ย นี่ก็คือภาพใหญ่สำหรับผม ดังนั้นถ้าผมลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนปีละ 15-20% ผมจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จสูงมาก ว่าที่จริง 10-15% ต่อปีผมก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนแล้ว ผมจะไม่พยายามฝืน "ภาพใหญ่" โดยการพยายามหาหุ้นที่อาจจะกระโดดทีเดียวหลายเท่าแต่มีความเสี่ยงสูงเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าที่ผมจะทำไหว
ภาพใหญ่เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ เรื่องของสไตล์ในการลงทุน ผมคิดว่าตัวเราเองก็ควรจะมี "ภาพใหญ่" นั่นหมายความว่า เมื่อมองตัวเราเองจากภายนอก ควรจะรู้หรือบอกได้ว่าเราเป็นนักลงทุนแบบไหน พูดอย่างหยาบๆ ก็คือ เรามีสไตล์การลงทุนแบบไหน ชอบลงทุนในหุ้นซูเปอร์สต็อกหรือแบบก้นบุหรี่ที่ชอบหุ้นที่มีราคาถูกมาก หรือเราชอบหุ้นประเภทวัฏจักรหรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัว
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของสไตล์การกระจายการถือครองหุ้นและอื่นๆ อีกร้อยแปด ประเด็นก็คือ ถ้าเรามีสไตล์ชัดเจน การลงทุนของเรา ก็มักจะสามารถคาดการณ์ได้ ตัวอย่างเช่น ผมเองนั้นจะไม่สนใจหุ้นหลายๆ บริษัทที่มีผลการดำเนินงานไม่แน่นอนในอดีตที่ผ่านมา 4-5 ปี แม้ว่าในช่วงปัจจุบันบริษัทจะมีกำไรดี และดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ในช่วงปีหรือสองปีข้างหน้า และหุ้นวิ่งขึ้นมาอย่างโดดเด่นมากและ "น่าจะ" โดดเด่นต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยเป็นปี สาเหตุก็เพราะมันไม่ใช่สไตล์ของผม มันเป็น "ภาพเล็ก" ที่แม้ว่าผมอาจจะทำกำไรได้ แต่มันก็จะไม่เปลี่ยน "ภาพใหญ่" ในเรื่องการลงทุนและผลตอบแทนของพอร์ตของผม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘