นักธุรกิจร้อยล้าน

ความฝันของคนจำนวนมากมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การได้เป็น “เจ้าของธุรกิจ” เพราะนั่นคือหนทางที่สำคัญ และอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาร่ำรวย มีชื่อเสียง และได้รับการนับหน้าถือตา คนหนุ่มสาวอายุยังไม่ครบสามสิบปีถ้าสามารถมีธุรกิจขนาด “ร้อยล้านบาท” ก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาสามารถนำไปเขียนเป็นเรื่องราวของความสำเร็จที่น่าทึ่งและน่ายกย่องได้ นักธุรกิจ “พันล้าน” เวลามีเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายหรือเรื่องซุบซิบในสังคมก็จะเป็นข่าวใหญ่มีคนติดตามกันมาก
สถานะของการเป็นเจ้าของธุรกิจ “ร้อยล้าน” หรือ “พันล้าน” บาทในสังคมไทยนั้น ดูสูงส่งจน “คนธรรมดา” ไม่อาจเอื้อมถึง คนกินเงินเดือนที่ไม่ใช่ผู้บริหารชั้นสูงและไม่ใช่คนที่มีทรัพย์มรดกมากมายนั้น มักจะไม่กล้าแม้แต่จะฝันที่จะเป็นนักธุรกิจ “ร้อยล้าน” แต่สำหรับผมแล้ว นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด “เรา” ผมหมายถึงคนที่สนใจในการลงทุนแบบ Value Investment ต้องเปลี่ยนความรู้สึกแบบนี้ เราต้องกล้าฝันที่จะเป็นนักธุรกิจ “ร้อยล้าน” หรือแม้แต่ “พันล้าน”
คำว่านักธุรกิจ “ร้อยล้าน” หรือ “พันล้าน” บาทที่นักข่าวหรือนักเขียนบทความพูดถึงในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารนั้น ถ้าจับความให้ดีก็จะพบว่ามันคือ ยอดขายสินค้าของธุรกิจ และถ้ามองลึกลงไปอีกก็จะพบว่า บ่อยครั้งมีการ “ปัดเศษ” นั่นคือ ถ้ายอดขายประมาณปีละ 60-70 ล้านบาท ก็ตีว่าเป็นร้อยล้านบาท ถ้ายอดขายตั้งแต่ 500-600 ล้านบาท ก็เรียกว่าเป็นนักธุรกิจพันล้านได้แล้ว มันไม่เคยมีความหมายเลยว่านักธุรกิจคนนั้นมีเงินของตนเอง หรือมีทรัพย์สินที่เป็นส่วนของเจ้าของบริษัท ที่ถือว่าเป็นความมั่งคั่งส่วนตัวเป็นร้อยหรือพันล้านบาทจริงๆ ยอดขายของบริษัทหรือธุรกิจปีละร้อยหรือพันล้านบาทนั้น บอกอะไรเกี่ยวกับความมั่งคั่งน้อยมาก
เช่นเดียวกัน มันไม่ได้บอกถึงความสามารถของเจ้าของกิจการอะไรนัก มันอาจจะเป็นแต่เพียงความ “เท่” ที่ “กิน” ไม่ได้ ว่าที่จริงในหลายๆ กรณี มันเป็นความกลัดกลุ้ม โดยเฉพาะถ้าธุรกิจนั้นกำลังประสบปัญหาและมีหนี้สินล้นพ้นตัวที่เจ้าของจะต้องรับผิดชอบด้วย
วิธีที่จะเป็นเศรษฐีหรือนักธุรกิจ “ร้อยล้าน” ของผมก็คือ แทนที่เราจะเริ่มต้น “สร้าง” ธุรกิจเองซึ่งต้องอาศัยสิ่งต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ความรู้ความสามารถ ทักษะในการบริหารงาน และเงินทุนก้อนใหญ่ เราสามารถ “ซื้อ” ธุรกิจได้ และที่ที่เราจะไปซื้อกิจการก็คือ ตลาดหุ้น แน่นอน เราไม่ได้ซื้อทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จริงเราอาจจะซื้อแค่ไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันหุ้นซึ่งไม่ถึง .0001% ด้วยซ้ำ
นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะธุรกิจที่เรา “ทำ” นั้นใหญ่มาก ยอดขายปีละเป็นแสนหรือหลายแสนล้านบาท เราจะเป็นเจ้าของคนเดียวได้อย่างไร แต่ไม่ว่าเราจะซื้อเท่าไร เราก็ถือว่าเราเป็นเจ้าของอยู่ดี ส่วนของยอดขายของบริษัทนั้น บางส่วนก็ต้องเป็นของเรา กำไรของบริษัทบางส่วนก็ต้องเป็นของเรา ว่าที่จริง ทุกอย่างของบริษัทนั้น เรามีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากับสัดส่วนการถือหุ้นของเรา
ดังนั้น ถ้าบริษัท ก. มีหุ้นทั้งหมดเท่ากับ 100 ล้านหุ้น และเราถือหุ้นบริษัทนี้จำนวน 1 ล้านหุ้นหรือ 1% ของบริษัท ในราคาที่เราซื้อหุ้นละ 1 บาท ซึ่งเท่ากับว่าเราลงทุนไป 1 ล้านบาท แต่บริษัทมียอดขายปีละ 500 ล้านบาท สัดส่วนของเรา 1% ก็เท่ากับว่าธุรกิจนี้ที่เรา “ทำ” มียอดขายในส่วนของเราเท่ากับ 5 ล้านบาท และนั่นเป็นหุ้นเพียงตัวเดียว แต่ถ้าเราสะสมหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เรามีเงินเพิ่มไม่ว่าจะมาจากเงินเดือน โบนัส เงินปันผล หรือแม้แต่เงินที่ได้จากการขายหุ้นตัวหนึ่งแล้วมาลงทุนซื้อหุ้นอีกตัวหนึ่ง เราก็จะมีหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นพอร์ตโฟลิโอ
ในวันแรกๆ ที่เราเริ่มลงทุนนั้น เราอาจจะเป็น “นักธุรกิจขนาดย่อม” เป็นนักธุรกิจเงินแสน แต่ถ้าเรามีความมุมานะ มีความตั้งใจที่จะ “สร้างธุรกิจ” ให้เติบใหญ่ขึ้น เป้าหมายของเราอาจจะตั้งไว้ปีละ 10-15% ซึ่งดูไม่มากและไม่เกินกำลัง แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจกับภาวะตลาดหุ้น วันหนึ่งเราก็อาจจะพบว่า “ยอดขาย” ของธุรกิจหลายๆ อย่างของเรารวมกันมีมูลค่าถึง 60-70 ล้านบาท และนั่นเราก็สามารถพูดได้ว่าเราเป็น “นักธุรกิจร้อยล้าน” บาทแล้ว แน่นอน มูลค่าของพอร์ตหุ้นของเราอาจจะมีค่าเพียงแค่ 15-20 ล้านบาท แต่นั่นก็ไม่ได้แตกต่างจาก “นักธุรกิจร้อยล้าน” ที่ทำธุรกิจเดียว ถือหุ้นอยู่ตัวเดียว และเป็นผู้บริหารเอง
การเป็น “นักธุรกิจร้อยล้าน” ในตลาดหุ้นนั้น ก็เช่นเดียวกับ “นักธุรกิจร้อยล้าน” นอกตลาดหุ้น นั่นคือ มูลค่าของความมั่งคั่งส่วนตัวจริงๆ อาจจะเป็น 100 ล้านบาทหรืออาจจะเป็นแค่ 10-20 ล้านบาทก็ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำธุรกิจอะไร ธุรกิจนั้นมีกำไรดีมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ธุรกิจที่ทำนั้นมีศักยภาพในการที่จะเติบโตและทำกำไรมากน้อยแค่ไหนในอนาคต เพราะนั่นจะเป็นตัวที่ชี้ว่า ในอนาคต คุณจะมีโอกาสเลื่อนอันดับจากเศรษฐีหรือนักธุรกิจจากสิบ เป็นร้อย จากร้อยเป็นพันล้านบาทได้หรือไม่
เขียนถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง Value Investor หนุ่มสาวหลายคนที่ผมรู้จัก คนเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการทำ “ธุรกิจขนาดย่อม” ในตลาดหุ้น เดี๋ยวนี้หลายคนกลายเป็น “นักธุรกิจร้อยล้าน” ไปแล้วทั้งที่อายุยังไม่ครบสามสิบปี แน่นอน นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นนักธุรกิจขนาดย่อมอยู่ บางคนก็โตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นนักธุรกิจขนาดกลาง หลายคนก็ประสบปัญหา “ล้มหายตายจาก” ก็มี ความสามารถและโชคคงมีส่วนไม่น้อยต่อความสำเร็จและล้มเหลวเช่นเดียวกับนักธุรกิจนอกตลาดหุ้น ไม่มีใครรู้ว่า ระหว่างนักธุรกิจนอกตลาดกับนักธุรกิจในตลาดหุ้น ใครประสบความสำเร็จมากกว่ากัน
ในความคิดผมก็คือ ถ้าคุณเป็น “นักปฏิบัติ” โอกาสสำเร็จในการเป็นนักธุรกิจนอกตลาดจะสูงกว่า แต่ถ้าคุณเป็น “นักคิด” การเป็นนักธุรกิจในตลาดน่าจะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่า ไม่ว่าจะกรณีใด การเป็นนักธุรกิจในตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่าจะทำได้ง่ายและความเสี่ยงน่าจะต่ำกว่าธุรกิจนอกตลาดหุ้น เหตุผลก็คือ ในการทำธุรกิจนอกตลาดหุ้นนั้น เรามักต้องทุ่มทุกอย่างแม้แต่จิตวิญญาณลงไปในธุรกิจ และการถอยหนีมักจะหมายถึงหายนะ
ขณะที่การทำธุรกิจในตลาดหุ้น เรามีทางเลือกมากมายและมีการกระจายธุรกิจไปในหลายๆ อย่าง ทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เราซื้อหุ้นในตลาดเพื่อเป็นการลงทุน “ทำธุรกิจ” ไม่ใช่การ “เล่นหุ้น”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘