โภคภัณฑ์ร้อนๆ

ในระยะนี้ สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือ สินค้าโภคภัณฑ์ ก่อนหน้านี้ก็เป็น สินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลิตขึ้นได้ เช่น พวกแร่ธาตุต่างๆ เช่น ทอง เหล็ก รวมถึงน้ำมันดิบและถ่านหิน หรือที่เรียกว่า Hard Commodities ต่อมาโดยเฉพาะในช่วงนี้ก็คือโภคภัณฑ์ที่มนุษย์สามารถผลิตขึ้นได้ คือ สินค้าเกษตรทั้งหลาย ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลืองน้ำตาล กาแฟ หรือที่เรียกกันว่า Soft Commodities
เหตุผลที่ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายมีราคาเพิ่มขึ้นมากนั้น มักจะมาจากเหตุผลเดียว นั่นคือ Demand กับ Supply ในตลาดโลกไม่สัมพันธ์กัน หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ ความต้องการในการบริโภคของสินค้ามีมากกว่ากำลังการผลิต หรือปริมาณการผลิตของโลก สิ่งนี้มักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เป็นวัฏจักร นั่นก็คือ ก่อนจะเกิดความขาดแคลนสินค้านั้นหลายปี ราคาของสินค้ามักจะตกต่ำมาก เพราะกำลังการผลิตมีมากเกินไป ดังนั้นผู้ผลิตจะหยุดขยายกำลังการผลิต แต่ความต้องการสินค้าก็ยังเพิ่มไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่ความต้องการเริ่มจะมากกว่ากำลังการผลิต ราคาสินค้าก็จะปรับตัวขึ้น
ในอดีตนั้น ราคาของโภคภัณฑ์แต่ละอย่าง มักจะปรับตัวไม่ค่อยจะพร้อมกัน อาจจะเพราะว่าความต้องการกับกำลังการผลิตของสินค้าแต่ละตัวมีความสมดุลต่างกัน แต่ในช่วงเวลานี้ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องมากขึ้น ก็คือ ในช่วงทศวรรษนี้ มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นที่ทำให้สมดุลของ Supply กับ Demand ผิดเพี้ยนไป
ความผิดเพี้ยนนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่มาจากจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นมหาศาล อันเป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกอย่างขาดแคลนลงในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เริ่มตั้งแต่น้ำมัน โลหะมีค่า เหล็ก และต่อมาในขณะนี้ ก็คือ อาหาร ในขณะที่กำลังการผลิตไม่สามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้ทัน ดังนั้นราคาสินค้าต่างๆ จึงปรับตัวขึ้นจนกว่าการผลิตใหม่ๆ จะเข้ามาลดความไม่สมดุลนั้น
ในฐานะของนักลงทุน การที่จะสามารถฉกฉวยโอกาสในการทำกำไรจากการปรับตัวขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น อยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะคาดการณ์ Demand และ Supply ของสินค้าโภคภัณฑ์ได้ถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่งก็คือ เราต้องสามารถกำหนดเป้าหมายการที่เราจะเข้าลงทุนได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นเรื่องของการขาดแคลนน้ำมัน คนที่ทำกำไรได้ก็คือ คนที่รู้ว่าความต้องการยังมีมากกว่ากำลังการผลิตน้ำมัน และกำลังการผลิตที่ขาดแคลนนั้นเกิดขึ้นทั้งในด้านของผู้ขุดหาน้ำมัน และโรงกลั่น แต่ปั๊มน้ำมันที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายน้ำมันนั้นไม่ได้ขาดแคลนไปด้วย ดังนั้น คนที่ลงทุนในหุ้นอย่าง ปตท. หรือ ปตท.สผ. จึงได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่คนซื้อหุ้นบริษัทที่ทำปั๊มเป็นหลักอาจจะไม่ได้กำไรอะไรเลย
เรื่องของ Hard Commodities นั้น ราคาสินค้าต่างก็เพิ่มขึ้นไปมาก และติดต่อกันมาหลายปี คนที่เข้าไปลงทุนต่างก็ได้กำไรกันมหาศาล คนที่คิดว่าสินค้าเหล่านั้น จะมีราคาเพิ่มขึ้นไปอีกมากน่าจะมีน้อยลงมาก โดยกลไกทางเศรษฐกิจเอง เมื่อราคาเพิ่มขึ้น คนก็จะต้องหาทางเพิ่มกำลังการผลิต หรือหาสินค้าที่มาทดแทน และนี่จะทำให้โภคภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้นไปมาก จะมีราคาลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้ำมัน นั่นก็คือ น้ำมันดิบนั้น เราไม่สามารถผลิตขึ้นได้ และการค้นหาก็ทำได้จำกัด แต่สินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรจำนวนมาก ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาแปรสภาพเป็นเอทานอล หรือสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อนำมาใช้ทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมได้ ดังนั้น ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรจึงมีเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่กำลังหรือปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นไม่ทัน ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภท Soft Commodities มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การขาดแคลนที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่ง "เริ่มต้น" ของโภคภัณฑ์การเกษตร ทำให้นักลงทุนหลายคน คิดถึงการที่จะทำกำไรจากสถานการณ์นี้ พวกเขาอาจจะคิดว่าราคาสินค้า จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ Hard Commodities และโดยส่วนตัวผมเองก็เชื่อว่า ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวก็น่าจะปรับตัวขึ้นไปได้อีก แต่ปัญหาของผมก็คือ การหาเป้าหมายในการลงทุน ดูเหมือนจะค่อนข้างยากหรือมีความเสี่ยงสูง
วิธีที่พอจะนึกได้ก่อนเลยก็คือ การซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดที่ว่ามีสินค้าโภคภัณฑ์เพียงไม่กี่ตัว ที่มีการซื้อขาย นอกจากนี้ การซื้อล่วงหน้า มีช่วงเวลาที่แน่นอนว่าเราจะซื้อล่วงหน้ากี่วัน ถ้าครบช่วงเวลาแล้วราคาไม่เพิ่มขึ้น หรือกลับลดลง เราอาจจะขาดทุนได้ เราไม่สามารถซื้อแล้วนั่งรอไปเรื่อยๆ จนกว่าราคาจะขึ้นเหมือนอย่างที่เราซื้อหุ้น
อีกวิธีหนึ่งที่จะทำกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Soft Commodities ก็คือ การซื้อกองทุนโภคภัณฑ์ที่มีขายในตลาดต่างประเทศ ผ่านกองทุนรวมในประเทศ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีการเสนอขายกันหรือยัง ซึ่งวิธีนี้ผมก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจกลไกการทำงาน ของกองทุนรวมจริงๆ สุดท้ายก็คือ การหาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของ Soft Commodities ซึ่งถ้าพบ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกที่สุดสำหรับนักลงทุน ว่าที่จริง หุ้นหลายตัวในกลุ่มการเกษตร และอาหารที่เป็นโภคภัณฑ์ ก็มีการปรับตัวขึ้นไปบ้างแล้วเหมือนกัน
ข้อที่ต้องระวังสำหรับการเล่น Soft Commodities ก็คือ สินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต หรือปริมาณการผลิตได้ค่อนข้างรวดเร็ว บางอย่างไม่ถึงปีก็สามารถผลิตหรือออกผลแล้ว ดังนั้น การคาดการณ์ระยะเวลาของวัฏจักรอาจผิดพลาดได้ง่าย และด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างดังกล่าว ผมเองจึงยังไม่สามารถและไม่กล้าที่จะเสี่ยง "เก็งกำไร" ในสินค้าโภคภัณฑ์ ผมคิดว่า อย่างมากที่ผมอาจจะทำก็คือ หาหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดีในระยะยาวและราคาค่อนข้างถูกอยู่แล้ว ที่อาจจะได้ประโยชน์จากการปรับราคาเพิ่มขึ้น ของสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘