การวิเคราะห์ทางเทคนิค

คนที่ติดตามเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นแทบทุกคน คงต้องเคยได้ยินการวิเคราะห์หุ้น "ทางเทคนิค" ซึ่งเป็นการวิเคราะห์หุ้น โดยอาศัยเส้นกราฟที่นักวิเคราะห์สามารถที่จะเรียกขึ้นมาดูได้ทันทีจากจอคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์สามารถที่จะตอบได้ทันทีว่า หุ้น หรือดัชนีน่าจะไปที่ราคาเท่าไร และราคาหุ้นหรือดัชนีจะมี "แนวรับ" หรือ "แนวต้าน" ซึ่งจะเป็นราคาที่หุ้น หรือดัชนี จะไม่ตกลงมาต่ำกว่า หรือวิ่งขึ้นไปเกินจุดนั้น แต่ถ้าตกหรือวิ่งเกินแนวรับหรือแนวต้าน ราคาหุ้นหรือดัชนีก็จะวิ่งไปที่จุดไหน
การวิเคราะห์ทางเทคนิคคืออะไร? มันมีเหตุผลไหม? และที่สำคัญมันบอกว่าหุ้นจะไปทางไหน และไปที่ราคาเท่าไร ได้แม่นยำพอที่จะทำให้เราทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้จริงไหม? นี่คือ สิ่งที่ผมจะพยายามอธิบายอย่างคนที่ไม่เชื่อ ไม่ได้ปฏิบัติ และแน่นอน ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ได้ศึกษามาบ้างในฐานะของนักวิชาการ
นักวิเคราะห์ทางเทคนิค จะศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ผ่านมาในอดีต เพื่อที่จะดูว่าทิศทางและราคาหุ้นในอนาคตจะไปทางไหน พวกเขาเชื่อว่าในตลาดหุ้นนั้น ความมีเหตุมีผลมีเพียง 10-20% ราคาหุ้นส่วนใหญ่ 80-90% เป็นเรื่องของจิตวิทยา
ดังนั้น เกมของหุ้น คือ เกมที่เราจะต้องคาดว่า คนอื่นจะคิด และทำอย่างไร และกราฟข้อมูลราคาหุ้นที่ผ่านมานั้น เป็นตัวบอกที่ดีที่สุดว่าคนอื่นได้ทำอะไร นักเทคนิคหวังว่าการศึกษาอย่างรอบคอบของสิ่งที่คนอื่นได้ทำ จะเป็นสิ่งที่บอกว่าฝูงชนเหล่านั้น น่าจะทำอย่างไรในอนาคต
นักเทคนิคพันธุ์แท้ จะไม่สนใจว่าพื้นฐานของกิจการเป็นอย่างไร บริษัทขายสินค้าอะไร กำไรที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเข้มแข็งของธุรกิจอยู่ตรงไหน ผู้บริหารเป็นอย่างไร ว่าที่จริงเขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าบริษัทชื่ออะไร แต่นี่ไม่ได้หมายความว่านักเทคนิคไม่เชื่อว่าพื้นฐานของกิจการเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดราคาหุ้น เพียงแต่พวกเขาเชื่อว่า ราคาหุ้นได้รวมพื้นฐาน และข้อมูลทั้งหมดของกิจการเอาไว้แล้ว ดังนั้นแค่เขาดูราคาหุ้นที่ผ่านมาก็พอแล้ว และนี่ก็นำไปสู่หลักการใหญ่สองข้อของการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นคือ
ข้อแรก ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับกำไร ปันผล และผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นของบริษัทหมดแล้ว ถ้ากิจการแย่ราคาก็ลง กิจการดี ราคาก็ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นจากกราฟราคาและปริมาณการซื้อขายที่ผ่านมาในอดีต
ข้อสอง ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม หุ้นที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง จะมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อไป หุ้นที่กำลังลงต่อเนื่องก็จะลงต่อไป และหุ้นที่นิ่งๆ ก็จะนิ่งต่อ หุ้นจะเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มจนกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นที่จะเปลี่ยนสมดุลของแรงซื้อ และแรงขายของหุ้นตัวนั้น
หน้าที่ของนักวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็คือ การมองหาแนวโน้มจากเส้นกราฟของราคาที่ผ่านมาย้อนหลังซึ่งอาจจะเป็นร้อยๆ วันหรือไม่กี่วัน แนวโน้มที่มีชื่อ และเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายว่าสามารถทำนายทิศทางหุ้นได้ชัดเจน ก็เช่น รูปแบบที่เรียกว่า HEAD-AND-SHOULDERS หรือหัวและไหล่ นอกจากรูปแบบนี้ซึ่งมีมาเก่าแก่แล้วก็ยังมีรูปแบบมากมาย ที่นักเทคนิคจะสามารถคิดค้นขึ้นได้ และตั้งชื่อให้เก๋ไก๋ เช่น แบบแท่งเทียน ผมก็เคยได้ยิน
เหตุผลที่นักเทคนิคให้ว่า ทำไมการวิเคราะห์แบบนี้จึงใช้ได้นั้น อยู่ที่เรื่องของจิตวิทยา และเรื่องของนิสัยหรือพฤติกรรมของคน เช่น เมื่อนักลงทุนเห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปต่อเนื่อง เขาก็เข้าไปซื้อเพราะไม่อยาก "ตกรถ" ดังนั้นทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปต่อทำให้ราคาหุ้นขึ้นแบบเป็นแนวโน้ม หรืออย่างในกรณีของแนวรับแนวต้านนั้น ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของคน
ตัวอย่าง เช่น หุ้นตัวหนึ่งราคาอยู่ที่ 5 บาทมานาน และมีคนที่ซื้อในราคานี้จำนวนมาก และสมมติว่าราคาตกลงมาเหลือ 4 บาท ซึ่งทำให้คนติดหุ้นจำนวนมาก และอยากขายเอาทุนคืน ดังนั้น เมื่อราคาวิ่งกลับมาที่ 5 บาทคนเหล่านี้ ก็จะขายหุ้นซึ่งทำให้ราคาขึ้นไปเกิน 5 บาทยาก และนี่ก็คือ "แนวต้าน"
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นอยู่ที่ราคาค่อนข้างต่ำมานานแล้ววิ่งขึ้นไประยะหนึ่งแล้วกลับตกลงมาใกล้จุดเดิม คนที่ขายหุ้นไปก่อนในราคาสูง และคนที่รู้สึกว่าได้พลาด "ตกรถ" ที่ไม่ได้ซื้อในช่วงก่อนก็ถือโอกาสเข้ามาช้อนซื้อ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำลงกว่าจุดเดิมก่อนหุ้นขึ้น และนี่ก็คือ "แนวรับ" ทั้งแนวต้านและแนวรับนั้น นักเทคนิคยังให้เหตุผลต่อว่า ถ้าราคาหุ้นไม่ผ่านหลายๆ ครั้ง มันก็จะเป็นแนวต้าน และแนวรับที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ข้างต้นนั้นก็เป็นเรื่องที่สามารถอธิบายไปได้ แต่ถ้าถามนักเทคนิคว่า มันเป็นเรื่องจริง หรือที่คนทำอย่างนั้น เขาก็มักจะตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน เขาเพียงแต่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์มันมักซ้ำรอย ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ด้วยราคาหุ้นในอดีตสามารถบอกอนาคตได้
จากการศึกษาของนักวิชาการในต่างประเทศที่ตลาดทุนก้าวหน้ามายาวนาน ข้อสรุปนั้นชัดเจนว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคไม่สามารถที่จะทำกำไรให้กับผู้ใช้ได้ พูดง่ายๆ ข้อมูลของราคาหุ้นในอดีต ไม่สามารถบอกราคาในอนาคตได้ และคนที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคในการซื้อขายหุ้นมักจะขาดทุนมาก เนื่องมาจากค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายมากกว่าปกติ เพราะการซื้อขายหุ้นด้วยเทคนิคนั้นทำให้ต้องซื้อๆ ขายๆ บ่อย
ว่าที่จริงระยะหลังๆ นี้ แทบจะไม่มีคนสนใจเทคนิคนี้แล้ว แต่ในเมืองไทย การเล่นหุ้นโดยอาศัยการวิเคราะห์แบบเทคนิค ยังน่าจะอยู่กับเราอีกนาน ผมเองคิดว่า VALUE INVESTOR ไม่ควรสนใจการใช้การวิเคราะห์แบบเทคนิค ในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น แม้ว่าจะเป็นแค่ปัจจัยประกอบ เพราะผมคิดว่า มันอาจจะทำให้เราไขว้เขวจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการ และการลงทุนระยะยาว ที่เรายึดถืออย่างมั่นคงที่น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในการลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘