โศกนาฏกรรม

ข่าวนักธุรกิจฆ่าล้างครัวเพราะธุรกิจล้มเหลว และได้รับแรงกดดันจากเจ้าหนี้ที่เรียกร้องให้ใช้หนี้ โดยการข่มขู่ที่จะทำร้ายบุคคลในครอบครัว ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น เป็นเรื่องเศร้า ที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ผมเองอยากที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ได้ตั้งใจที่จะซ้ำเติม แต่อยากให้ความเห็นเพื่อที่จะเป็นบทเรียนสำหรับคนที่อาจจะเดินตามรอยที่อันตรายของกรณีนี้
บทเรียนแรกของกรณีนี้ก็คือ เรื่องของความไม่พอเพียงในการทำธุรกิจ นั่นก็คือ ธุรกิจมีการกู้เงินที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเงินลงทุนของเจ้าของ ผมลองวิเคราะห์ดูคร่าวๆ ก็พบว่ากิจการมีการกู้เงินประมาณเกือบหนึ่งพันล้านบาท แต่ดูแล้วเงินทุนในส่วนของเจ้าของ น่าจะมีประมาณหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการจัดโครงสร้างการเงินที่อันตรายมาก เพราะกิจการจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและทยอยคืนเงินต้นมหาศาล หากธุรกิจไม่สามารถสร้างรายได้ตามที่คาดไว้เพียงเล็กน้อย กิจการก็จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้น ถ้าเรามีเงินเพียงร้อยล้านบาท ก็จงลงทุนทำธุรกิจที่ต้องลงทุนอย่างมาก ก็สักสองร้อยล้านบาท ซึ่งจะทำให้เราทำธุรกิจได้อย่างสบายใจกว่า แม้ว่าในกรณีที่เกิดกำไร เราอาจจะไม่ได้กำไรมากเป็นมหาเศรษฐี แต่โอกาสล้มเหลวก็ลดลงไปมาก
บทเรียนที่สองที่ผมเห็นก็คือ เรื่องของความพอเพียงในการใช้ชีวิต ผมไม่รู้ว่าคนที่มีธุรกิจพันล้านบาท ที่นักข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ชอบเรียกว่าเศรษฐีพันล้านนั้น จริงๆ แล้วพวกเขาคิดว่าตนเองมีความมั่งคั่ง เป็นพันล้านด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าเขามีความรู้สึกอย่างนั้น การใช้ชีวิตของพวกเขาก็คงจะสามารถฟุ่มเฟือยได้อย่างเต็มที่ แต่ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีธุรกิจพันล้านอาจจะมีความมั่งคั่งที่เป็นของตนเองจริงๆ เพียงร้อยล้านก็ได้ เพราะส่วนที่เหลือนั้นเป็นเงินที่กู้มาจากธนาคาร ดังนั้น คนที่รู้จักความพอเพียงจะต้องรู้ว่าตนเองมีความมั่งคั่งที่แท้จริงเท่าไร และใช้จ่ายและใช้ชีวิตตามนั้น
ในกรณีของเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ข่าวบอกว่านักธุรกิจคนนี้มีบ้านที่ใหญ่โตสองหลังบนที่ดินถึงสองไร่และมีรถยนต์นับสิบคัน นอกจากนั้น ลูกสามคนต่างก็เรียนในโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การใช้ชีวิตในระดับนี้ ผมคิดว่าไม่มากเกินไปสำหรับคนที่มีความมั่งคั่งระดับพันล้าน แต่สำหรับคนที่มีความมั่งคั่งในระดับร้อยล้านต้นๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความไม่ค่อยพอเพียงนัก อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ถึงกับเกินตัวมากเหมือนกับเรื่องของการทำธุรกิจ
บทเรียนที่สามที่ผมเห็นก็คือ เมื่อเกิดปัญหาทางธุรกิจ ดูเหมือนว่าเขาจะพยายามหาทางหาเงินผ่านทางตลาดหุ้น โดยการเข้ามาเล่นหุ้นเก็งกำไร ผมเชื่อว่าภรรยาที่เป็นคนเล่นหุ้นคงไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนพอ เพราะฉะนั้น การเล่นหุ้นจึงน่าจะเป็นการ "เสี่ยงดวง" มากกว่าที่จะเป็นทางออกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าใครก็ตามที่มีปัญหาทางการเงินแล้วมาใช้ตลาดหุ้นเพื่อแก้ปัญหา โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะน้อยมาก และโอกาสที่จะทำให้ปัญหาเลวร้ายลงจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ
บทเรียนที่สำคัญต่อมาก็คือ เรื่องของการแก้ปัญหา ผมลองนึกดู ถ้าเป็นเรา เราจะแก้ปัญหาอย่างไร คำตอบก็คือ ผมคงขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเช่นรถยนต์จำนวนมาก บ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็น เครื่องเพชรและอะไรก็ตามที่ขายได้ เก็บเงินสดไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด เสร็จแล้วไปเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลที่น่าจะเป็นอันตรายต่อผม และบุคคลในครอบครัวโดยขอลดหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อตกลงกันได้แล้ว การเคลียร์เรื่องหนี้กับธนาคารนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะแบงก์เองนั้น ก็มักจะต้องยอมให้เราปรับโครงสร้างหนี้โดยการลดหนี้ เพื่อให้กิจการอยู่ได้มิฉะนั้นความเสียหาย จะเกิดกับธนาคารมาก แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้จริงๆ เราก็คงต้องปล่อยให้กิจการล้มละลายไป ซึ่งมักจะทำให้เราล้มละลายไปด้วย แต่ในปัจจุบันนั้น การล้มละลายก็ใช้เวลาแค่ 3 ปีเราก็สามารถฟื้นจากการเป็นคนล้มละลายได้แล้ว
ประเด็นสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจคนนั้นไม่ทำอย่างที่ควรทำในแนวทางที่ผมกล่าวนั้น ผมคิดว่ามาจากความเครียด และการยึดมั่นถือมั่นในฐานะและสถานะที่เป็นอยู่ ถ้าพูดกันอย่างชาวบ้านก็คือ "จมไม่ลง" ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจในแนวทางที่ผมรู้สึกว่า เป็นทางออกที่แย่มาก ในเรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่าคนที่ร่ำรวยทุกคน ไม่ว่าจะใช้ชีวิตที่หรูหราหรือไม่ จะต้องท่องจำไว้ในใจอยู่ตลอดเวลาว่า มันมีโอกาสที่เราอาจจะจนลง หรือประสบกับความยากลำบากเสมอ ไม่มีอะไรที่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งสำคัญก็คือ เราจะต้องไม่ประมาท และจะต้องพร้อมที่จะกลับมาเป็นคนที่ไม่รวยและใช้ชีวิตที่ควรเป็นกับอัตภาพนั้นเสมอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘