นักลงทุนขาโจ๋

ในช่วงนี้เรามักได้ยินหรือพบเห็นนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนที่มีอายุน้อย แต่มีพอร์ตหุ้นใหญ่โตเป็นนักลงทุนที่ Aggressive หรือ "ดุดัน" "กล้าได้กล้าเสีย" บางคนอาจจะใกล้เป็น "ขาใหญ่" หรือ "นักปั่น" ส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวก็ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จสูงมาก และบางคนร่ำรวยอย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญ เขาเหล่านั้นมักไม่ได้ทำงานประจำที่เป็นลูกจ้างแต่ยึดอาชีพการลงทุนเป็นหลัก ตั้งแต่อายุอาจจะไม่ถึง 30 ปี ในแวดวงของนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุน คนเหล่านี้อาจจะเป็นฮีโร่หรือเป็นแบบอย่างที่คนอยากเป็น อยากเลียนแบบ และมักเป็นที่อิจฉาของนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนอื่นที่ยัง "ไม่ประสบความสำเร็จ" คำถามก็คือ การลงทุนซื้อขายหุ้นนั้นเป็นศาสตร์หรือศิลป์ที่เราควรเริ่มต้นทำตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่? และเราควรเป็นนักลงทุน "มืออาชีพ" คือลงทุนเป็นหลักตั้งแต่เรียนจบหรืออายุยังไม่ถึง 30 ปีหรือไม่? การลงทุนจะเหมือนกับการเล่นกีฬาหรือการเป็นศิลปินอื่นหรือเปล่าที่คนที่จะประสบความสำเร็จจะต้องเริ่มตั้งแต่อายุน้อย ยิ่งน้อยเท่าไรก็ยิ่งดีหรือเปล่า?
คำตอบของผมก็คือ ประการแรก คนที่จะสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นนักลงทุนอาชีพ ตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย หรือตั้งแต่อายุไม่ครบ 30 ปีนั้น ผมคิดว่าทางบ้านจะต้องค่อนข้างมีฐานะดี และพร้อมที่จะเอาเงินมาให้เราลงทุน อย่างน้อยต้องเป็นหลักล้านหรือหลายล้านบาทได้ ความเห็นของผมก็คือ ทางบ้านจะต้อง "รวย" คือน่าจะมีเงินเป็นหลัก 20-30 ล้านบาทขึ้นไปอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะได้สิทธิที่จะลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะผมคิดว่า ถ้าคุณมีเงินลงทุนไม่พอในตอนแรก ผลตอบแทนการลงทุนที่ได้นั้น แม้ว่าจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงมาก แต่โอกาสที่เม็ดเงินจะมากพอให้คุณอยู่ได้และร่ำรวยเพิ่มขึ้นนั้นค่อนข้างจะยากมาก ดังนั้นการทำงานกินเงินเดือน น่าจะได้เงินมากกว่าการที่จะให้เงินที่มีอยู่น้อยไป "ทำงาน" แทนเรา ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะเป็นนักลงทุนอาชีพตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น น่าจะเป็นเรื่องของคนที่มีพ่อแม่ค่อนข้างรวยหรือรวยมาก ไม่ใช่เรื่องของคนที่มีพ่อแม่เป็นคนจน หรือคนชั้นกลางที่มีเงินแค่พอกินพอใช้
เรื่องที่สองก็คือ การลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือไม่เพื่อที่จะเก่งและประสบความสำเร็จ? ข้อนี้เราต้องมาดูว่าการลงทุนนั้นต้องอาศัยทักษะอะไรและมันคล้ายๆ กับกีฬาหรือดนตรี หรืองานศิลป์อย่างอื่น ที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือไม่? คำตอบของผมก็คือ การลงทุนนั้น มันอาจจะเป็นศิลปะสัก 70% และอาจจะเป็นวิทยาศาสตร์สัก 30% แต่คำว่าศิลปะนั้นไม่ใช่ศิลปะของการใช้ร่างกายที่จะต้องฝึกฝนตั้งแต่อายุยังน้อยมาก แต่มันเป็นเรื่องของศิลปะในการใช้ศาสตร์ต่างๆ เกือบทั้งหมดในโลกนี้โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนและเศรษฐกิจมาประกอบกัน ดังนั้นศิลปะของการลงทุนเองจริงๆ นั้นไม่มีหรือมีน้อยมาก ด้วยเหตุดังกล่าว ผมเชื่อว่า ถ้าเราเข้าห้องค้าหุ้นตั้งแต่อายุน้อยมาก และวันๆ เอาแต่ "ศึกษา"จากการซื้อขายหุ้น เราจะไม่มีหรือไม่ได้ "ศิลปะในการลงทุน" ซึ่งอันนี้จะแตกต่างจากเด็กที่เข้าห้อง และซ้อมเปียโนทั้งวันหรืออยู่ในสนามกอล์ฟมาแทบจะชั่วชีวิตในวัยเด็ก
ผมคิดว่า การเรียนรู้เรื่องการลงทุนนั้น แน่นอน ยิ่งเรียนรู้เร็วก็ยิ่งมีทักษะมากขึ้น แต่ทักษะการลงทุนนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เราก็เรียนในห้องเรียนอยู่แล้ว มันคือวิชาการที่เรียกว่า Liberal Arts ซึ่งก็คือวิชาที่เรารู้สึก "น่าเบื่อ" ทั้งหลาย เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคม จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์ อะไรเหล่านี้ ประเด็นของผมก็คือ การเรียนรู้เรื่องของการลงทุนนั้น เราควรเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยเหตุผลสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนทางการเงิน แต่เป็นเรื่องของการที่เราจะได้มี "แกน" ที่จะทำให้เราศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างมีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน นั่นก็คือ ถ้าเราไม่ลงทุนเลย เราก็อาจจะไม่รู้ว่าจะศึกษาประวัติศาสตร์ไปทำไม หรือเศรษฐศาสตร์มันเกี่ยวข้องอะไรกับหุ้น การที่เราลงทุน มีการได้เสียอยู่จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราอ่าน คิด และศึกษา เรื่องราวต่างๆ ในสังคม และนี่จะเป็นประโยชน์ และสร้างทักษะการลงทุนโดยที่เราไม่รู้ตัว
ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงสนับสนุนให้เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุน้อย สำหรับคนที่ทางบ้านไม่รวย ผมคิดว่าควรเริ่มการลงทุนเมื่อเรียนจบ และมีงานทำมีรายได้ของตนเองแล้ว การใช้เงินของทางบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะถ้าเกิดความเสียหาย จะทำให้ภาพของการเป็นนักลงทุนเสียหายตั้งแต่แรก สำหรับคนที่ทางบ้านร่ำรวย ผมเองคิดว่าการลงทุนตั้งแต่ยังเรียน ก็น่าจะทำได้ แต่ไม่ควรเริ่มก่อนประมาณปีสามหรือปีสี่ในมหาวิทยาลัย และเป็นการใช้เงินจำนวนน้อยเป็นหลักแสนบาทเท่านั้น เพื่อเรียนรู้กระบวนการในการซื้อขายและตลาดหุ้น การลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวควรจะเป็นหลังจากเรียนจบแล้ว
ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าที่บ้านรวยพอ เราควรเป็น "นักลงทุนอาชีพ" ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่ค่อนข้างยากที่จะตอบ คนที่ทางบ้านรวยมากบางคนอาจจะคิดว่าการทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนเดือนละหมื่นสองหมื่นบาทนั้น ดูไปแล้วแทบไม่มีความหมายเลย เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่เขาอาจจะได้เป็นแสนเป็นล้านบาทในเวลาอันสั้น จากเม็ดเงินที่ทางบ้านให้มาและเขาพร้อมที่จะเล่นอย่าง "ดุดัน" เพราะสำหรับเขาแล้ว เขาเสี่ยงได้ ถ้าพลาดก็ขอใหม่ หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด เขาก็ไปหางานอะไรก็ได้ทำแม้ว่างานนั้นจะไม่ท้าทายหรือสนุกเหมือนกับการลงทุนหรือเล่นหุ้น ในกรณีแบบนี้ ผมเองไม่เห็นด้วย เพราะดูเหมือนว่าการลงทุนจะกลายเป็นข้ออ้างของคนที่ขี้เกียจทำงาน และโอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จก็มักจะน้อย
คนที่จะเป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัวตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น ผมคิดว่าเขาควรพิสูจน์ว่าตนเองมีความสามารถในการลงทุนเพียงพอ และมีเม็ดเงินที่มากพอทำให้เขามีอิสระทางการเงินแล้ว คำว่ามีความสามารถเพียงพอนั้น หมายความว่า ผลตอบแทนในการลงทุนของเขาสูงพอ อย่างน้อยปีละ 15% ทบต้นอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยที่เม็ดเงินที่ใช้ลงทุนมากพอ อย่างน้อยอาจจะต้องเป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป และการลงทุนของเขามีการป้องกันความเสี่ยง เช่น มีการกระจายการลงทุนเพียงพอ นอกจากนั้น ผลตอบแทนการลงทุนปีต่อปีก็ควรจะไม่ผันผวนเกินไป ประเภทกำไรบางปีเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บางปีขาดทุน 40-50% แบบนี้ก็แสดงว่าผลตอบแทนอาจจะเกิดจากความบังเอิญมากกว่าฝีมือ ถ้าทำได้แบบนี้ ผมคิดว่า การเป็นนักลงทุนอาชีพก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม
โดยสรุปแล้ว นอกเหนือจากเงื่อนไขเฉพาะสำหรับบางคน ผมคิดว่า เราไม่ควรเป็นนักลงทุนอาชีพตั้งแต่อายุน้อย ความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาวิชาการลงทุนนั้นมีน้อย นั่นคือ เราศึกษาการลงทุนได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักลงทุนอาชีพ วิธีที่ดีกว่าสำหรับคนทั่วไปก็คือ เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุน้อย และศึกษาการลงทุนพร้อมๆ กับการทำงานประจำอื่นๆ จนถึงวันที่เรามีเงินมากพอและเรามั่นใจในความสามารถของเราแล้ว ถึงวันนั้นเราอาจจะอยากเป็นนักลงทุนอาชีพ ที่ชีวิตมีอิสรเสรี และมีความสุขกว่าการทำงานประจำที่เราไม่ชอบ การเป็นนักลงทุนอาชีพ "ขาโจ๋" ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้เราเก่งกว่าคนอื่น ที่เริ่มอาชีพการลงทุนทีหลังหลังจากเป็นนักลงทุน "สมัครเล่น" มานาน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘