เข็มทิศลงทุน

เข็มทิศช่วยให้นักเดินเรือในสมัยโบราณ ไม่หลงทางท่ามกลางทะเลที่เวิ้งว้าง การมีเข็มทิศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและหมายถึงความเป็นความตาย เดินทางผิด ผู้เดินทางอาจหลงทางหรือในบางครั้งอาจต้องตายกลางทะเล เดินทางถูก เป้าหมายก็อยู่แค่เอื้อม
การลงทุนในตลาดหุ้น เราจำเป็นต้องมี "เข็มทิศ" ที่จะช่วยชี้นำให้เรา "เดินทาง" สู่เป้าหมาย นั่นก็คือ สู่ความมั่งคั่ง มีอิสรภาพทางการเงิน "เข็มทิศลงทุน" ที่เราควรจะต้องใช้ในการนำเราไปสู่เป้าหมาย มีหลายข้อดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ซื้อหุ้นให้ทำเหมือนกับว่า เรากำลังลงทุนทำธุรกิจหรือเข้าหุ้นทำธุรกิจกับเพื่อน นี่เป็น "เข็มทิศ" ที่สำคัญที่สุด หุ้นไม่ใช่กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ เบื้องหลังของหุ้นนั้นมีโรงงาน มีสำนักงาน มีร้านค้า มีพนักงาน มียี่ห้อ มีระบบการบริหาร มีลูกค้า และมีสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างกำไร และจ่ายปันผลให้เราซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ถ้าเรายึดแนวทางนี้อย่างมั่นคง การลงทุนของเราก็จะ "ไม่หลง" โอกาสผิดพลาดมีน้อย
ข้อ 2 ถ้าบริษัททำผลงานได้ดี หุ้นจะดีตามเสมอ แม้ราคาหุ้นอาจจะไม่ตามผลการดำเนินงานในทันทีทันใด แต่ในที่สุดแล้วมันก็จะต้องปรับตัวตามผลงานของบริษัท
ดังนั้นเมื่อซื้อหุ้นแล้ว สิ่งที่จะบอกว่าเราซื้อถูกต้อง ก็คือ ผลงานของบริษัทดีขึ้นเรื่อยๆ และเราได้รับปันผลมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอน ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นตามกันไป
ข้อ 3 หาหุ้นของกิจการที่เข้าใจได้ง่าย และเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อย่าซื้อหุ้นที่เราไม่รู้จักว่า บริษัทผลิตและขายสินค้าอะไร และความสำเร็จ หรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับอะไร ด้วยเข็มทิศอันนี้ เราจึงไม่ควรซื้อหุ้นของกิจการจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเรามักจะไม่รู้จักธุรกิจจำนวนมาก ที่อาจจะสลับซับซ้อนเกินไป และเกินความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้
ข้อ 4 การลงทุนที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดี และมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งในระยะยาว จะทำให้เรารวยได้ก็คือ การซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม การซื้อหุ้นของกิจการที่เลวในราคาถูกไม่ทำให้เรารวย เช่นเดียวกัน การซื้อหุ้นของกิจการที่ดีในราคาแพง ไม่ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดี
ข้อ 5 กระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นจำนวนพอสมควรประมาณ 5-10 ตัว แต่อย่ากระจายมากเกินไป เพราะจะทำให้ผลตอบแทนลดลงจนไม่สามารถจะทำผลงานที่ดีได้ เกณฑ์คร่าวๆ ก็คือ อย่าซื้อหุ้นถ้าเราไม่พร้อมที่จะถือถึง 5% ของพอร์ต ในอีกด้านหนึ่ง อย่าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินกว่า 50% ของพอร์ต
ข้อ 6 ถือพอร์ตหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามวิกฤติ เหตุเพราะว่าในยามนั้น ราคาหุ้นมักจะตกต่ำลงมากมาก่อนแล้ว จงจำไว้ว่าดัชนีหุ้น เป็นดัชนี "ชี้นำ" ไม่ใช่ดัชนี "ตาม" ของภาวะเศรษฐกิจ
นั่นหมายความว่า เราจะเอาภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน มาเป็นเครื่องชี้ว่า เราควรจะถือหุ้นหรือไม่ไม่ได้ แน่นอน ถ้าเรารู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในอีกหนึ่งปีข้างหน้า เราสามารถนำมาใช้ในการลงทุนได้ แต่ข้อเท็จจริง ก็คือ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำพอ
ดังนั้น อย่าสนใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ถือพอร์ตของหุ้นที่จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
ข้อ 7 อย่าซื้อๆ ขายๆ หุ้นโดยอิงจากภาวะตลาด หรือราคาของหุ้นรายวัน หรือรายเดือน พิจารณาปรับพอร์ตจากข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของกิจการ ปัจจัยภายนอกที่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาการถือหุ้นแต่ละตัวไม่ควรจะต่ำกว่า 2- 3 ปี
ข้อ 8 ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่จำเป็นต้องดีขึ้นทุกปี ในบางปีผลการดำเนินงาน อาจจะถดถอยลงได้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกบางอย่าง เช่น ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
สิ่งสำคัญ ก็คือ ความแข็งแกร่งของบริษัทควรจะต้องรักษาไว้ได้ แต่ถ้าความแข็งแกร่งของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นในยามที่ผลการดำเนินงานลดลง สถานการณ์แบบนี้เราควรจะยินดีและถือว่าเป็นความ "ก้าวหน้า" ไม่ใช่ความถดถอยของบริษัท
เหตุผลเพราะว่า หลังจากความถดถอยของกำไรแล้ว กิจการจะเติบโตและทำกำไรดีขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคต เนื่องจากคู่แข่งอาจจะล้มหายหรืออ่อนเปลี้ยลง ในขณะที่กิจการของบริษัทจะเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ข้อ 9 ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัททั้งจาก "ในสนาม" คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และจากสื่อสารมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจ อย่าตื่นเต้นกับประเด็นต่างๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญ "ในเชิงยุทธศาสตร์"
นั่นก็คือ มันไม่ได้เป็นข้อมูลที่จะเปลี่ยนสาระสำคัญ ของความสามารถของกิจการ "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" ที่ปรากฏในสื่อนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ "เกิด" แล้วก็ "ดับ" ไป โดยที่ไม่ได้มีผลในระยะยาวกับบริษัทเลย แต่บางครั้งมันทำให้ราคาหุ้นขึ้นลง "ชั่วคราว" และมันอาจเป็นโอกาสที่เราจะฉกฉวยประโยชน์ได้
ข้อ 10 เป้าหมายสูงสุดจริงๆ ของการลงทุน ก็คือ ปันผลของพอร์ตหุ้นของเรา ความสำเร็จของการลงทุนอย่างจริงจัง ก็คือ การที่เราเห็นปันผลของเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีแล้วปีเล่า เพราะถ้ามันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดเราก็จะพบว่า ปันผลที่เราได้รับแต่ละปี เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตเราได้โดยไม่ต้องหารายได้จากแหล่งอื่น และนั่นก็คือ ความเป็นอิสระทางการเงิน ที่จะทำให้เราสามารถ เลือกที่จะใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ
ดังนั้นนักลงทุนที่มุ่งมั่นทุกคนควรจะต้องจดบันทึกเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี ทุกปีที่เรารวบรวมรายรับจากปันผลเสร็จ ลองตรวจดูว่ามันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าหรือไม่ ถ้ามันยังเพิ่มขึ้นก็อย่าได้กังวล แม้มูลค่าพอร์ตลงทุนจะลดลง เพราะปันผลเป็น "ของแท้" แต่ราคาหุ้นเป็นของ "ชั่วคราว" ถ้าปันผลยังดีอยู่ ในที่สุดราคาหุ้นก็จะตามมา
ทั้งหมดก็คือ "เข็มทิศลงทุน" ซึ่งถ้าเราเดินตามอย่างมั่นคง มันจะพาเราไปที่ "ทิศเหนือ" สู่ความมั่งคั่งและความสำเร็จ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘