ลงทุนเท่าไรดี

การตัดสินใจในการลงทุนข้อหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ จะลงทุนเท่าไรดี? เช่น จะลงทุนในหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ของพอร์ตเงินลงทุนรวม หรือสำหรับคนที่ลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ จะลงทุนในหุ้น A กี่เปอร์เซ็นต์ หุ้น B กี่เปอร์เซ็นต์ และทั้งหมดจะลงทุนในหุ้นกี่ตัวที่เป็นตัวหลักๆ
คำตอบก็คือ จะลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งหรือหุ้นที่เราจะลงว่า 1) โอกาสที่จะทำกำไรมีมากน้อยแค่ไหน และถ้ากำไร จะได้กำไรเท่าไร และ 2) โอกาสที่จะขาดทุนมีเท่าไร และถ้าขาดทุน จะขาดทุนแค่ไหน พูดสั้นๆ ก็คือ การลงทุนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้และผลตอบแทนที่จะได้รับ
ถ้าเราพบหุ้นตัวหนึ่งที่เราดูแล้วมีพื้นฐานทางธุรกิจดีมาก โอกาสที่บริษัทจะทำกำไรเพิ่มมีสูงมาก ในขณะที่ราคาหุ้น ต่ำกว่าพื้นฐานมากมีค่า PE เพียง 8 เท่า ความเสี่ยงที่ยอดขายและกำไรจะตกต่ำลงมีน้อยมาก แบบนี้ เราควรจะลงทุนคิดเป็นสัดส่วนของพอร์ตโฟลิโอสูงมาก หรือที่ผมเรียกว่า "ตีแตก" ในทางตรงกันข้าม ถ้าโอกาสขาดทุนมีสูง และการขาดทุนอาจทำให้เราเสียหายหนัก เราก็จะไม่ลงทุน หรือในกรณีที่เราพบหุ้นที่น่าสนใจ แต่โอกาสที่จะได้กำไรมากๆ ก็ยังเห็นไม่ชัด แบบนี้เราอาจจะลงทุนบ้าง แต่คิดเป็นสัดส่วนของเม็ดเงินทั้งหมดก็ไม่มากนัก
เขียนแบบข้างต้นนั้น ก็เป็นการคิดแบบ "ศิลปิน" ไม่มีมาตรฐานว่าอะไรแปลว่ามากหรือน้อย สำหรับคนที่ต้องการตัวเลข (อย่างน้อยก็คร่าวๆ) ว่าเราควรลงทุนเท่าไรในหุ้นโดยส่วนรวมหรือหุ้นแต่ละตัว ผมคิดว่า สูตรของเคลลี่ หรือ Kelly Formula น่าจะพอนำมาประยุกต์ใช้ได้แม้ว่าสูตรนี้จะเหมาะมากกับการพนันที่เราสามารถหา Probability หรือความน่าจะเป็นและผลตอบแทนที่จะได้หรือเสียอย่างถูกต้อง ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้น เราจะต้องคิดคำนวณความน่าจะเป็นและผลตอบแทนที่จะได้รับเอง
สูตรของเคลลี่บอกว่า ถ้าจะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดกับพอร์ตของเรา เราควรลงทุนในหุ้นแต่ละตัวคิดเป็นสัดส่วนของพอร์ต (F) เท่ากับ Edge หารด้วย Odds โดยที่ Edge นั้นเท่ากับผลรวมของความน่าจะเป็นคูณด้วยผลตอบแทนที่จะได้รับหรือเสีย ส่วน Odds นั้นก็คือผลตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับถ้าเราชนะ ตัวอย่างเช่น:
หุ้น ก. เราคาดว่าน่าจะมีโอกาสที่จะขึ้น 60% และถ้าขึ้นน่าจะให้ผลตอบแทน 15% ส่วนโอกาสที่จะลงนั้นมี 40% และถ้าลงก็น่าจะลงไปเพียง 10% แบบนี้ Edge ก็จะเท่ากับ 0.6 คูณด้วย 15 บวกกับ 0.4 คูณด้วยลบ 10 เท่ากับ 5 ส่วน Odds เท่ากับ 15 เอา 5 ตั้ง หารด้วย 15 เท่ากับ 0.33 หรือก็คือ เราควรลงทุนซื้อหุ้น ก. คิดเป็นเม็ดเงินเท่ากับ 33% ของพอร์ตของเรา
หุ้น ข. เป็นหุ้นที่มีโอกาส 20% ที่จะทำกำไรได้ถึง 80% มีโอกาส 50% ที่จะกำไรเพียง 10% และ มีโอกาส 30% ที่จะขาดทุน 20% แบบนี้ Edge จะเท่ากับ 0.2*80 + 0.5*10 - 0.3*20 เท่ากับ 15 และ Odds คือ 80 ดังนั้น F หรือสัดส่วนที่ควรลงทุนคือ 15 หารด้วย 80 เท่ากับ 0.1875 หรือประมาณ 19% ของพอร์ต
ลองมาดูว่าถ้าไม่ใช่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งแต่เป็นการหาดูว่าเราควรจะถือหุ้นโดยรวมหรือซื้อหน่วยลงทุนในหุ้น คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของเม็ดเงินทั้งหมด ในกรณีนี้สมมติว่าเราคาดว่าโอกาสที่ดัชนีจะปรับขึ้นมี 65% และถ้าปรับขึ้นจะขึ้นจาก 720 จุดเป็น 864 จุด หรือเท่ากับ 20% และโอกาสที่หุ้นจะปรับตัวลงมี 35% และถึงปรับลงก็น่าจะลงไม่เกินมาที่ 648 จุด หรือไม่เกิน 10% แบบนี้ คำนวณค่า Edge เท่ากับ 0.65*20 - 0.35*10 เท่ากับ 9.5 ส่วน Odds เท่ากับ 20 ดังนั้นค่า F เท่ากับ 9.5 หารด้วย 20 เท่ากับ .475 หรือเท่ากับ 47.5% พูดง่ายๆ ก็คือถ้าเราดูว่าสถานการณ์น่าจะเป็นอย่างนั้น เราก็เอาเงินลงในหุ้นประมาณ 50% ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้เป็นเงินฝากหรือตราสารหนี้อื่น
สูตรของเคลลี่นั้น เมื่อเอามาใช้กับการลงทุนในหุ้น ความถูกต้องจะน้อยลงไปมาก เพราะโอกาสที่เราจะกำหนดความน่าจะเป็น อาจจะผิด หรือการคาดการณ์ผลตอบแทนก็มักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราควรลดสัดส่วนลงเวลาจะลงทุน เช่น ถ้าคำนวณว่าเราควรจะลงทุนเท่ากับ 40% ของพอร์ตตามสูตรของเคลลี่ เราก็อาจจะลงเพียงครึ่งเดียวหรือ 20% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้พอร์ตของเรามีหุ้นเป็น "เบี้ยหัวแตก" ถ้าหุ้นตัวไหนเมื่อลดสัดส่วนลงมาเหลือครึ่งเดียวของค่าตามสูตรแล้วเหลือสัดส่วนไม่ถึง 10% เราก็อาจจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวนั้นเลย ถ้าทำแบบนี้ ในที่สุด เราก็จะมีพอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วยหุ้นอาจจะประมาณ 5- 6 ตัวใหญ่ ๆ ที่มีโอกาสทำผลตอบแทนที่น่าประทับใจและมีความเสี่ยงที่เหมาะสม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘