หมี

สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้น จะต้องเจอถ้าลงทุนมานานพอสมควร ก็คือภาวะ "ตลาดหมี" ที่ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนักอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ การที่ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงโดยทั่วไปนั้น มักจะไม่ใช่ตลาดหมีแต่เป็นภาวะที่ตลาดเกิดความผันผวนตามปกติ
นิยาม หรือคำเรียกภาวะที่ตลาดตกต่ำลง น่าจะแบ่งได้เป็นสามระดับดังนี้คือ ถ้าระดับการตกลงของตลาดหุ้นเท่ากับหรือต่ำกว่า 10% เรียกว่าหุ้นตกธรรมดา ถ้าหุ้นตกเกิน 10% แต่ไม่ถึง 20% เรียกว่าหุ้นปรับตัว หรือ Correction และถ้าตลาดหุ้นตกตั้งแต่ 20% ขึ้นไปก็เรียกว่าตลาดหมี หรือ Bear Market
ตามสถิติในตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหมีเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณหกปีต่อครั้ง ในตลาดหุ้นไทยนั้น เท่าที่ผมมองคร่าวๆ เราน่าจะเจอกับตลาดหมีไม่ต่ำกว่า 6 ครั้งในช่วง 33 ปี หรือก็คือ ประมาณทุกๆ 5-6 ปี เราก็จะเจอหมีสักปีหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ หมีบ้านเรามาถี่พอๆ กับหมีที่ตลาดหุ้นอเมริกาเหมือนกัน
สาเหตุของการเกิดตลาดหมี ในอดีตที่พบมากมีอยู่หลายเรื่อง ในช่วงต้นๆ ในยุคที่เรายังอิงอยู่กับมาตรฐานทองคำ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของเงินฝืด เพราะในยุคนั้น การพิมพ์แบงก์ หรือสร้างเงินขึ้นมาใช้ ค่อนข้างจะถูกจำกัดด้วยปริมาณทองคำที่มีอยู่ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสมดุลได้เป็นช่วงๆ และก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีขึ้น
สาเหตุอันดับต่อมาที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหุ้นหมีค่อนข้างมาก ก็คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะอิงไปถึงเรื่องเงินเฟ้อด้วยนั่น ก็คือ ตลาดหมี มักจะมากับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นสูงลิ่ว และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่นเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็มักจะสูงมากกว่าปกติมาก สาเหตุต่อมา ก็คือเรื่องของความถูกความแพงของหุ้นโดยทั่วไป นั่นก็คือ ตลาดหมี มักจะมาในตอนที่ค่า PE ของตลาดสูงลิ่วเช่นสูงถึง 25-30 เท่า
นอกจากเรื่องของภาวะทางการเงินที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว สิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะตลาดหมีบ่อยพอสมควรก็คือ เรื่องของภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศหรือในโลก ซึ่งมักจะลามไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย
ภาวะวิกฤติที่สำคัญอันดับแรกก็คือ ภาวะสงคราม นี่คือสงครามที่คนกลัวว่าจะลุกลามใหญ่โตและกระทบกับสังคมทั่วโลก ถ้าจะพูดถึงรายชื่อสงครามที่เราพอจะจำกันได้ก็น่าจะรวมถึง สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอ่าวหรือสงครามซัดดัมบุกคูเวต เป็นต้น
ถัดจากเรื่องสงคราม วิกฤติที่มักก่อให้เกิดตลาดหมีที่รุนแรงในระยะหลัง มักจะเกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งแล้วลามไปยังประเทศอื่นๆ เป็นลูกโซ่อันเป็นผลจากการที่ระบบการเงินของโลก มีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
ตัวอย่างน่าจะเริ่มจากวิกฤตการณ์ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำในช่วงปี 2538 ตามด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยของเราในปี 2540 และล่าสุดก็คือ วิกฤตการณ์ซับไพร์มและการล้มของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้
วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งคนคิดว่า เป็นสิ่งที่ทำให้หุ้นตก และเป็นตลาดหมีนั้น ผมเองกลับไม่ใคร่แน่ใจว่ามันเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน แน่นอน มันอาจจะทำให้หุ้นตกบ้าง แต่หลายๆ ครั้งมันก็ไม่ได้ตกมาก และหลายครั้งมันก็ไม่ได้ทำให้หุ้นตก แม้จะมีการรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติการเมืองสำคัญ ตัวอย่างเช่นในช่วง รสช. ในช่วงปี 2535 หุ้นก็ไม่ได้ตกมากมายอะไร
เช่นเดียวกับช่วงของ คมช. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ถูกกระทบเลย และแม้แต่ในช่วงนี้เอง ที่เราดูเหมือนจะมีวิกฤติการเมืองของกลุ่มพันธมิตร ที่ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่และคนพูดกันว่าหุ้นบ้านเราตก เพราะมีวิกฤติการเมือง แต่ถ้าดูกันจริงๆ แล้ว หุ้นที่ตกนั้น ก็ยังไม่ชัดว่าเกิดจากการเมืองในประเทศอย่างเดียว
ปัจจัยที่อาจจะมีผลมากกว่า ก็คือ วิกฤติการเงินที่เกิดจากสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ ว่าที่จริงการตกของหุ้นในบ้านเราขณะนี้ ยังน้อยกว่าตลาดหุ้นในย่านเอเชียอื่น ที่กำลังเจอกับตลาดหมีที่รุนแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้นไทยเสียอีก
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของสาเหตุของการเกิดตลาดหมี ที่มีการพูดถึง และเชื่อกันในหมู่นักวิชาการและนักลงทุนทั้งหลาย แต่ผมเองนั้น หลังจากที่นั่งมองกราฟดัชนีหุ้นที่ผ่านมายาวนาน ผมกลับมีความคิด หรือความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูไม่ใคร่จะมีเหตุผล แต่ผมก็คิดว่าเราควรที่จะตระหนักไว้บ้าง
นั่นก็คือ ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นนั้น ในระยะยาวเป็นสิบๆ ปีขึ้นไป จะให้ผลตอบแทนในระดับหนึ่งเช่นเฉลี่ยปีละ 10% แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนในแต่ละปี หรือแต่ละช่วงผลตอบแทนของตลาดกลับไม่แน่นอนเลย อาจจะมีช่วง 4-5 ปี ที่คนลงทุนไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย หรือขาดทุนด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกันในบางช่วงซึ่งอาจจะยาวเป็น 7-8 ปี ที่คนลงทุนได้ผลตอบแทนดีมากเช่นเป็น 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย ประเด็นก็คือ ทุกช่วงที่เราได้ผลตอบแทนดีผิดปกติ คือเกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมาก ก็มักจะมีวันหนึ่งที่ตลาดหุ้นจะต้องปรับตัวลงอย่างแรง เพื่อที่จะ "ดึง" ผลตอบแทนการลงทุนให้กลับลงมาอยู่ในระดับปกติ จะเป็นวันไหนนั้นบอกยาก แต่สุดท้ายก็มักจะเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ที่เป็นเหมือนชนวนที่จุดระเบิดให้หุ้นตกลงมา และกลายเป็นตลาดหมีอย่างที่เราเห็นอยู่
ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะตลาดหมีขึ้น ผมจึงรู้สึกเฉยๆ ผมไม่โทษอะไรทั้งนั้น เพราะผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดหลังจากที่ตลาดหุ้นไทย และหุ้นในเอเชียและในโลก ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก เกินกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมายาวนานหลายปี
มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าหุ้นตกลงมามากและทำให้ผลตอบแทนระยะยาวลดลงต่ำกว่าปกติ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า ตลาดก็อาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว เพื่อที่จะชดเชยกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา
ด้วยความเชื่อแบบนี้ ผมจึงคิดว่า ถ้าเรามีเงินสดอยู่ในยามที่หุ้นตกลงมามาก กลยุทธ์ที่ดีก็คือ เราควรซื้อหุ้นและเก็บไว้จนตลาดปรับตัวขึ้นไปมากกว่าปกติ สิ่งนี้อาจจะ "พูดง่ายทำยาก" แต่ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุน เราต้องทำได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘