ยุทธศาสตร์แห่งการออมเงิน

ยุคสมัยนี้ดูเหมือนว่าเงินจะกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับใครหลายคนไปแล้ว ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองด้วยแล้ว หากใช้จ่ายเงินอย่างไม่ยั้งคิด ลืมนึกถึงวันข้างหน้า อนาคตคงต้องเจอกับความลำบากแน่ๆ ถึงแม้ว่าเงินจะไม่ใช่สิ่งที่ซื้อได้ทุกอย่างเสมอไป แต่ต้องยอมรับเถอะว่า เงินสามารถเป็นตัวสร้างสิ่งที่ต้องการทุกอย่างให้เราได้
ผู้มีรายได้ไม่ว่าจะเป็น ราชการ ลูกจ้าง พนักงานเงินเดือนทั้งหลาย หลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียงแค่ให้ผ่านพ้นไปได้ในแต่ละเดือนๆ ก็ยากแล้ว สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ ทั้งภาระหนี้สิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิต จะให้ออมเงินเก็บไว้อีก คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณ ระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการออมเงินของคนไทยให้ฟังว่า จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องการออมของคนไทยในปี พ.ศ. 2551 พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่มีงานทำ ยังไม่ได้คำนึงถึงการวางแผนการดำเนินชีวิตและการใช้เงินในอนาคต เนื่องจาก บางคนมีรายได้น้อย บางคนมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และมีบางส่วนที่มีรายได้สูงแต่ก็ใช้จ่ายมากเช่นกัน ทำให้ไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บได้
“ในจำนวนคนทำงาน 100 คน อายุ 15 ปี ขึ้นไป มีคนที่เก็บเงินได้อยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีเงินพอที่จะออมได้แต่ไม่ออม มีประมาณร้อยละ 3 ส่วนที่ไม่สามารถออมได้ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแต่ไม่ถึงกับมีปัญหาต้องกู้ยืม มีประมาณร้อยละ 26 และผู้ที่มีเงินไม่พอใช้และต้องกู้ยืม มีประมาณร้อยละ 9 จากข้อมูลบอกได้ว่า มีคนอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถออมเงินได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีปัญหาในเรื่องของการออมเงิน”
ประเด็นในบ้านเราเวลาพูดถึงเรื่องการออม ถ้าดูจากโครงสร้างของคนที่มีงานทำ ประมาณ 1 ใน 3 คือ กลุ่มคนที่ทำงานในระบบ เป็นลูกจ้างและราชการที่มีรายได้ประจำ กับคนอีกกลุ่มคน คือ 2 ใน 3 จะเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีหลายประเภท เช่น เจ้าของกิจการ คนขับแท็กซี่ คนรับจ้างทั่วไป คนหาบของขาย เกษตรกร
โดยกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำในระบบ จะมีการบังคับออม คือ จะถูกรัฐบังคับให้ออมเงินทำให้มีหลักประกัน อย่าง ราชการจะอยู่ในรูปของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ส่วนลูกจ้าง พนักงาน เอกชน ก็จะมีกองทุนประกันสังคม ซึ่งไม่ว่าเงินเดือนจะมากหรือน้อยแต่จะมีเงินออมกันทุกคน
แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีอาชีพหลากหลาย ทำให้รายได้มีความหลากหลายตามไปด้วย โดยมีทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำและมีรายได้เป็นครั้งเป็นคราว คนกลุ่มนี้จะต้องพึ่งตัวเอง ถ้ามีก็ออม ถ้าไม่มีก็ออมยาก ทำให้เห็นลักษณะการออมที่แตกต่างกันระหว่างคน 2 กลุ่ม
“เมื่อมองภาพรวมการออมของคนไทย พบว่า คนไทยนิยมออมเงินในรูปแบบของเงินฝากธนาคาร ฝากเงินแบบออมทรัพย์ และอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ถือเงินสดไว้กับตัวเอง โดยอาจจะเก็บไว้ที่บ้านใส่เซฟไว้ ซึ่งการเก็บเงินอย่างนี้ผลตอบแทนจะต่ำแต่มีสภาพคล่องสูง หากมองว่า เป็นการเก็บออมที่จะเอาไว้ใช้ในยามแก่ตัวลงไปก็เป็นวิธีการออมที่ไม่ค่อยถูก ต้องนัก แต่ว่าถ้าเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเพราะจะได้ถอนเงินมาใช้ ได้ง่าย อย่างนี้ก็ไม่ผิด ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเรามองการออมในมุมใด
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ไม่ค่อยออมเงินในระยะยาว เช่น การซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ที่รัฐบาลสร้างแรงจูงใจโดยการลดหย่อนภาษี เวลา สิ้นปีให้ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ เป็นการออมระยะยาวเพื่อที่จะเอาไว้ใช้ยามแก่เฒ่า ได้ผลตอบแทนสูงแต่คนไทยไม่นิยมทำกัน”
เหตุที่เป็นเช่นนี้ มาจากการมีรายได้ที่ไม่แน่นอนหรือไม่มีรายได้ประจำที่จะนำ เงินมาจ่ายได้ตลอด อีกทั้งเรื่องของระดับรายได้ กลุ่มที่มีรายได้ไม่มากพอมักจะลำบากถ้า จะต้องออมในรูปแบบนี้ ประกอบกับเรื่องของความรู้ เกี่ยวกับวางแผนทางการเงินยังมีไม่เพียงพอ ทำให้วิธีการออมจึงจำกัดอยู่แต่รูปแบบเดิม ๆ
มีคนที่มักกล่าวว่า “ไม่เคยเก็บเงินได้เลย ในชีวิตไม่เคยมีเงินเก็บเลย” รศ.ดร. วรเวศม์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องการใช้เงิน โดยจะเป็นกลุ่มผู้มีงานทำ มีรายได้ แต่มักใช้เงินซื้อของตามสมัย ซึ่งบางอย่างไม่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตมากมายนัก เช่น อะไรที่ออกมาใหม่ก็จะอยากได้ อยากซื้อ บางอย่างเป็นของฟุ่มเฟือย หรือบางครั้งใช้ชีวิตตามเทคโน โลยี อย่าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องดิจิทัล โดยพบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง ใช้ชีวิตตามเทคโนโลยี เน้นความ ทันสมัย
อีกกลุ่มหนึ่ง คือ มี เงินออมแต่วิธีการออมมีปัญหา มาจากวิธีคิดเกี่ยวกับการออมที่ไม่ถูกต้อง อย่าง เช่น มีรายได้ใช้เท่าไรที่เหลือคือ เงินออม ถ้าถามว่าถ้าคิดแบบนี้จะออมได้หรือไม่ คำตอบคือได้แต่ไม่แน่นอนเสมอไป
ปัญหาที่เป็นลักษณะเด่นของคนไทย คือ ไม่ชอบการวางแผนล่วงหน้า ชอบคิดว่า ไปคิดทำไมให้ปวดหัว เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ควรทำโดยเฉพาะด้านการเงิน เพราะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีรายได้เกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร
“ยิ่งในปัจจุบันยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะสังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมสูงวัย หากไม่เริ่มออมเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่วันนี้จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แต่ละครอบครัว ยังมีบุตรน้อยลงทำให้ลูกหลานที่จะดูแลในยามชราลดลงตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น”
วิธีคิดเกี่ยวกับการออม เริ่มต้นจากรายได้ทั้งหมดมีเท่าไร ต้องกันไว้เพื่อออมจำนวนหนึ่ง ที่เหลือจึงเอาไปใช้ เช่น รายได้ 100 บาท กันไว้ 20 บาท ที่เหลือก็เอาใช้ไป 80 บาท
ในส่วนของการเก็บออมนั้น จะต้องออม 20 บาท 30 บาท หรือ 40 บาท ตรงนี้ต้องตั้งธงไว้ว่าในอนาคตจะเอาเงินที่ออมไว้ไปทำอะไร จากนั้นก็ต้องมาคำนวณว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร ต้องเก็บเดือนละเท่าไรถึงจะพอ นับจากวันนี้ไป การมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เงินออมกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งธงไว้ควรเก็บประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
จากนั้น ต้องรู้จักการบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้เกิดดอกออกผลให้สูงสุด โดยอาจจะนำเงินบางส่วนไปออมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีผลตอบแทนสูง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับรายได้ ฐานะทางการเงิน รวมทั้งการยอมรับในการเสี่ยงว่าได้มากน้อยแค่ไหน
โดยถ้า อายุไม่ถึง 30 ปี อาจจะต้องยอมเสี่ยงโดยเอาเงินออมไปซื้อหน่วยลงทุนในรูปแบบของกองทุน รวมทั้ง หุ้นหรือตราสารหนี้ด้วยก็ได้
ช่วงวัย 30 ปี ขึ้นไป เมื่อต้องมีภาระที่เห็นชัดขึ้น ไม่ควรลงทุนกับผลิตภัณฑ์ ที่มีการเสี่ยงมากนัก โดยซื้อหน่วยลงทุนในรูปแบบของกองทุน รวมทั้งหุ้นหรือตราสารหนี้ด้วยก็ได้ แต่ถ้า อายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไปการนำเงินไปลงหุ้นก็ไม่ควร
60 ปี ขึ้นไป ควรจะไปเน้นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงน้อยลง รายได้ที่ได้จากผลิต ภัณฑ์ทางการเงินควรจะเป็นรายได้ที่แน่นอนและปลอดภัย อย่าง พันธบัตร หรือ เงินฝากธนาคาร
รศ.ดร.วรเวศม์ ทิ้งท้ายเรื่องการออมว่า การออมเงิน จะช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในชีวิต มีความเสี่ยงที่เข้ามาหาเราโดยปัจจุบัน ทันด่วน อย่าง วิกฤติเศรษฐกิจ อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ รวมทั้งถ้ามีค่าใช้จ่ายที่แน่นอน เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ ตั้งไว้ได้โดยใช้การออมเป็นเครื่องมือในการช่วยวางแผนว่าจะทำอะไรในอนาคตได้
อีกทั้ง เงินออม เป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อไปยังลูกหลานให้ได้ใช้ต่อไป จะได้ไม่ลำบาก เป็นการกระจายทรัพยากรระหว่างรุ่น โดยมีการสอน ให้รู้ค่าของเงินควบคู่ไปด้วย มิฉะนั้นอาจเป็นดาบ 2 คม ให้กับลูกหลานได้
การออมเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต จะได้มีชีวิตที่อุ่นใจ มีความมั่นคงในยามชรา ควรรีบออมเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแต่ขอให้ออม โดยทำอย่างนี้เป็นประจำทุกเดือน อย่างน้อยควรจะเก็บประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งจะทำให้มีหลักประกันที่แน่นอน การออมจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกคนในยุค ปัจจุบัน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘