ชีวิตที่พอเพียง

เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เราอย่าพูดถึงเลย เพราะมันอาจจะไม่เกี่ยวกับตัวเราเท่าไร มาดูว่าเราจะใช้ชีวิตที่พอเพียงกันอย่างไรจะดีกว่า ผมเชื่อว่า Value Investor ส่วนใหญ่นั้น มักจะใช้ชีวิตที่ "พอเพียง" เพราะหลักการส่วนใหญ่ของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น จริงๆ แล้วก็เป็นหลักการของความพอเพียง แต่ความพอเพียงนั้น ก็มีความเข้าใจที่ไม่น่าจะถูกต้องอยู่ไม่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หลายคนมองว่าคำว่าพอเพียงแปลว่าไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องทำงานมาก ไม่หวังรวยเอาแค่พออยู่พอกิน ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ความรวยคือ ความไม่พอเพียง และที่ร้ายหนักที่สุดก็คือ การรวยจากตลาดหุ้นอาจจะเป็นการรวยของคนที่ไม่มีความพอเพียงมากที่สุด ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง ผมมีความคิดในเรื่องของความพอเพียงในบางเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตดังต่อไปนี้
ในเรื่องของการทำงาน ถ้าเราทำงาน 110% ของกำลังปกติของเราผมคิดว่านั่นคือ การทำงานที่เกินตัว ไม่ใช่การทำงานแบบพอเพียง ผมคิดว่าการทำงานอย่างพอเพียงคือ การทำงานเต็มกำลังที่เรามีอยู่โดยที่เราไม่รู้สึกว่าเหนื่อย หลังจากจบการทำงานแต่ละวัน ดูง่ายๆ ก็คือ เมื่อจบการทำงานในแต่ละวันแล้ว เรายังมีกำลังไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อย่างมีความสุข ไม่รู้สึกเมื่อยล้า การทำงานเพียง 80% ของพลังของเราผมกลับถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่พอเพียง เป็นการทำงานของคนที่เกียจคร้าน และไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตดีหรือมีความสุขมากขึ้น การทำงานเต็ม 100% นั้นจะเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และให้ชีวิตที่มีคุณค่า และมีความสุขมากที่สุด การเป็นคน "บ้างาน" นั้น อาจดูเหมือนว่าจะสร้างผลงานได้สูง แต่ผมเชื่อว่าจะได้แต่ปริมาณมากกว่าคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
เมื่อมีรายได้จากการทำงานหรืออะไรก็ตาม การใช้จ่ายที่เกินกว่ารายได้เช่นจ่าย 110% ของรายได้ โดยส่วนขาดนั้นอาจจะมาจากการกู้หนี้ยืมสินหรือได้มาจากคนอื่น แบบนี้ผมถือว่าเป็นการใช้จ่ายอย่างไม่พอเพียง เป็นการใช้จ่ายเกินตัว และในที่สุดก็อาจจะเกิดปัญหา การใช้จ่ายที่พอเพียงผมคิดว่าน่าจะใช้จ่ายเพียงประมาณ 80-90% ของรายได้โดยเฉลี่ย เพราะผมคิดว่าคนเรามีเวลาทำงานจำกัด ดังนั้น จึงต้องเก็บเงินสะสมไว้ และลงทุนเพื่อเอาไว้ใช้ในตอนแก่ หรือเพื่อที่จะสามารถมีอิสรภาพทางการเงินที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตตามที่ตนเองเลือกอย่างสบายใจ
อาจจะมีประเด็นว่า เราควรประหยัดมากๆ ใช้เงิน อาจจะเพียง 30-40% ของรายได้ และออมเงินอย่างกระเหม็ดกระแหม่ไหม? และนี่จะเป็นการใช้เงินอย่างพอเพียงไหม? ผมคิดว่าเราไม่ควรประหยัดจนทำให้คุณภาพชีวิตเราด้อยลงเกินกว่าสถานะที่ควรเป็น การจะออมกี่เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญเท่ากับว่าเราได้ใช้ชีวิตที่มีคุณภาพสมกับที่ควรเป็นหรือไม่ หลักการก็คือ เราควรใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพตามสถานะที่ควรเป็นและก็ควรมีเงินเหลืออย่างน้อยประมาณ 10-20% ถ้าทำแบบนี้ได้ก็น่าจะถือว่าพอเพียง ส่วนคนที่ทำแล้วยังมีเงินเหลือเก็บมากมายถึง 60-70% ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้จ่ายที่พอเพียง และต้องถือว่าเป็นคนที่โชคดี และจะมีโอกาสประสบความสำเร็จทางด้านการเงินได้เร็วกว่าคนอื่น
เมื่อมีเงินสะสมแล้วก็ต้องลงทุน คนที่ไม่ลงทุนอะไรเลยยกเว้นการฝากเงินกับแบงก์ แบบนี้ในความเห็นของผมก็คือ เป็นการลงทุนเหมือนกันเพราะเงินจะงอกเงยจากดอกเบี้ย แต่มันเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก และจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่เราคิด เพราะในระยะยาวแล้ว เงินเฟ้อจะทำให้ค่าเงินลดลง ดังนั้น การฝากเงิน 100% จึงเป็นการลงทุนที่ไม่พอเพียง การลงทุนที่พอเพียงนั้น เราควรได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่ในระยะยาวแล้ว มีความเสี่ยงต่ำที่ต้นเงินจะหดหาย หรือค่าของเงินจะลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ
การลงทุนที่พอเพียงในความเห็นของผมก็คือ เราควรได้ผลตอบแทนอย่างน้อยปีละ 7-8 % ทบต้น ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องลงทุนในหลายสิ่งหลายอย่างกระจายออกไป ซึ่งแน่นอนจะต้องมีหุ้นเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยอย่างน้อยผมคิดว่า ไม่ควรต่ำกว่า 30-40% ขึ้นไป จะมากเท่าไรขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของเรา ซึ่งบางคนอาจจะถือหุ้นได้ถึง 100% ก็ยังเป็นการลงทุนที่พอเพียงได้
หลักการใหญ่สำหรับเรื่องของการลงทุน ก็คือ เราลงทุนไปแล้วเราต้องไม่เครียด ถ้าเกิดความเครียดอาจแปลว่า เราลงทุนอย่างไม่พอเพียง ดังนั้น ถ้าหุ้นหรือทรัพย์สินตัวไหนทำให้เราเครียด เราควรขายมันออกไป หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทไหนที่ถือไว้แล้ว ทำให้เรากังวล เราควรลดมันลงจนเราไม่เครียด ซึ่งในที่สุดเราจะพบพอร์ตโฟลิโอที่มีหลักทรัพย์และทรัพย์สินทางการเงินหลายๆ อย่างที่เราถือรวมกันแล้วสบายใจ ไม่มีความเครียด ขณะเดียวกันให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจซึ่งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าปีละ 7-8% และก็เช่นเดียวกัน คนที่สามารถทำผลตอบแทนสูงเป็นสิบๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีได้โดยไม่รู้สึกเครียด แบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของฝีมือ หรือความโชคดีของเขาที่ยังถือว่าเป็นการลงทุนที่พอเพียงเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของการมีชีวิตที่พอเพียงในแบบของ Value Investor ที่มีหลักการก็คือ ทำดีที่สุด เต็มกำลัง ใช้จ่ายอย่างประหยัดแต่มีประสิทธิภาพ ลงทุนอย่างปลอดภัย ไม่ตั้งความหวังที่สูงเกินกว่าที่น่าจะเป็น แต่ยินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม ทั้งหมดนั้น ทำไปโดยปราศจากความเครียดและความกังวล ด้วยการใช้ชีวิตที่พอเพียงแบบนี้ ผมคิดว่าชีวิตเราจะมีความสุข

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘