หอเกียรติยศ

ในธรรมเนียมของฝรั่งนั้น คนที่มีฝีมือและประสบความสำเร็จสูงมากมักจะได้รับการยกย่อง ตัวอย่างเช่น นักกีฬาที่มีผลการแข่งขันน่าประทับใจเป็นเวลายาวนาน เขาก็จะจารึกชื่อไว้ใน Hall Of Fame หรือที่ภาษาไทยเราเรียกว่าหอเกียรติยศ ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด นักมวยแชมป์โลกชาวไทยคือ เขาทราย แกแลกซี่ ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการจารึกชื่อไว้ใน Hall Of Fame ของสภามวยโลก ในวงการนักลงทุน เราไม่มีหอเกียรติยศที่ยกย่องนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะการลงทุนนั้น ไม่มีการ "แข่งขัน" ระหว่างนักลงทุนด้วยกัน การวัดผลการลงทุนของแต่ละคนก็เปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะแต่ละคนมักจะเริ่มไม่พร้อมกันและก็ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
สถานการณ์แวดล้อมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่น อยู่กันคนละประเทศ เม็ดเงินที่ลงทุนก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น สำหรับการลงทุนแล้ว การวัดว่าใครประสบความสำเร็จจึงเป็นเรื่องที่เป็นอัตวิสัยค่อนข้างมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ไม่มีสมาคมหรือสภา "การลงทุน" อะไรที่จะมาคัดเลือกคนที่จะเข้ามาอยู่ใน Hall Of Fame ของการลงทุน
การที่ไม่มี Hall Of Fame ในการลงทุนนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รับรู้หรือไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นนักลงทุนที่มีผลงานยอดเยี่ยม อย่างน้อยคนที่เก่งจริงๆ อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปีเตอร์ ลินช์ บิล มิลเลอร์ หรือ จอห์น เนฟฟ์ ก็เป็นที่แน่นอนว่าต้องอยู่ในหอเกียรติยศ "ในใจ" ของคนในวงการลงทุนอย่างแน่นอน แต่ปัญหาก็คือ แล้วนักลงทุนคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีผลงานโดดเด่นแต่อาจจะมีเม็ดเงินลงทุนน้อยกว่า ซึ่งทำให้ไม่มีชื่อเสียงในสังคมพอที่จะทำให้ผู้คนรู้จัก คนเหล่านั้นไม่สมควรที่จะถูกจารึกชื่อให้เข้าไปอยู่ใน Hall Of Fame "ในใจ" บ้างหรือ?
ในการวัดความสำเร็จของการลงทุนที่จะทำให้เราบอกได้ว่า นักลงทุนคนไหนประสบความสำเร็จ และประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย มาตรวัดอันหนึ่งก็คือ ผลตอบแทนต่อปีของการลงทุน แต่จริงๆ แล้ว ผลตอบแทนการลงทุนนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นและบ่อยครั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าลองมาคิดดูว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่คนจำนวนมากคิดว่าเขาเป็น "มือหนึ่ง" ของการลงทุนของโลกนั้น ทำผลตอบแทนได้เพียงปีละ 20% ต้นๆ ในขณะที่หลายคน รวมถึงนักลงทุนไทยจำนวนมากทำผลตอบแทนได้ถึงปีละ 50% หรือ 100% ต่อปีก็มี
แต่ประทานโทษ เราทำผลตอบแทนได้ต่อกันเพียงไม่กี่ปีและด้วยเม็ดเงินเพียงไม่กี่แสนหรือล้านบาท ในขณะที่บัฟเฟตต์ทำมาเกือบ 50 ปี และด้วยเม็ดเงินเป็นแสนเป็นล้านล้านบาท ดังนั้น การวัดผลสำเร็จของการลงทุนต้องมีอะไรๆ มากกว่านั้น และต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมพยายามทำ โดยจะตั้งเป็นมาตรฐานสำหรับนักลงทุนไทยว่า ถ้าเราจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงมาก และสมควรจะติดอยู่ในรายชื่อ "หอเกียรติยศในใจ" เราควรที่จะมีคุณสมบัติและมีผลการลงทุนอย่างไร
เงื่อนไขที่จะทำให้นักลงทุนมีชื่ออยู่ใน Hall Of Fame การลงทุนของไทยได้นั้น ผมคิดว่ามีอยู่ 4-5 ข้อ ซึ่งถ้าใครผ่านได้ต้องถึงว่าเป็นคนที่มีฝีมือสุดยอด เงื่อนไขเหล่านี้จะตัดปัญหาเรื่องของการ "ลำเอียง" ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ไม่ว่าคุณจะมีเงินน้อยหรือมีเงินมากในช่วงเริ่มต้นลงทุน มันก็ผ่านเงื่อนไขได้ยากพอกัน เป็นต้น
เงื่อนไขข้อแรกก่อนที่นักลงทุนจะเข้าหอเกียรติยศได้ก็คือ คุณจะต้องมีเม็ดเงินลงทุนสุทธิ (นั่นคือหักหนี้ทั้งหมด) ในวันนั้นอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เงื่อนไขข้อนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในวันที่คุณประสบความสำเร็จในการลงทุน คุณควรที่จะมีอิสรภาพทางการเงินและเป็นเศรษฐี "เงินล้าน" ดอลลาร์สหรัฐ เงื่อนไขข้อนี้ผมคิดว่ามีเหตุผลและจำเป็น หลายคนอาจจะบอกว่า แบบนี้ "คนจน" ที่มีเงินเริ่มต้นน้อยก็ยากที่จะเข้าหอเกียรติยศได้ แต่ช้าก่อน ผมมีเงื่อนไขที่สองที่ทำให้คนรวยมีเงินมากก็ลำบากพอกันนั่นคือ
เงื่อนไขข้อสอง วันที่คุณจะเข้าหอได้นั้น เม็ดเงินในพอร์ตของคุณจะต้องโตเป็นอย่างน้อย 10 เท่าของเม็ดเงินที่คุณลงทุนลงไปไม่ว่าคุณจะลงไปตอนไหน เงื่อนไขข้อนี้ทำให้คนที่มีเงินลงทุนมากตั้งแต่เริ่มแรก หรือมีเงินลงทุนเติมเข้าไปเรื่อยๆ ทำได้ลำบาก เพราะยิ่งคุณมีเงินมากคุณก็ต้องสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 9 เท่า สิ่งนี้เป็นการบอกว่าคุณกำไรจริงๆ จากการลงทุน คุณไม่ได้มีพอร์ตใหญ่เพียงเพราะคุณเป็นเศรษฐีอยู่แล้วตั้งแต่วันแรกที่ลงทุนหรือคุณมีการเพิ่มเงินลงไปมากในตอนหลัง
เงื่อนไขข้อสาม ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นของเม็ดเงินก้อนแรก (หรือน่าจะเป็นปีแรกมากกว่า) ที่คุณลงทุนจนถึงวันที่คุณจะเข้าอยู่ใน Hall Of Fame ได้จะต้องไม่น้อยกว่า 15% ต่อปี การที่ผมกำหนดผลตอบแทนเฉพาะเงินก้อนแรกก็เพราะว่า นักลงทุนส่วนใหญ่นั้น น่าจะมีการลงทุนเพิ่มเมื่อมีเงินจากแหล่งอื่น เช่น เงินเดือนที่เข้ามาลงทุนเพิ่มตลอดเวลา การคำนวณเม็ดเงินทุกก้อนนั้น ในทางปฏิบัติจะค่อนข้างยุ่งยาก แต่เรื่องนี้หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ยุติธรรม เพราะบางคนลงทุนในปีแรกน้อย ดังนั้นอาจจะสามารถสร้างผลงานได้เป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา เมื่อเริ่มลงทุนมากกลับได้ผลตอบแทนน้อย แบบนี้จะไม่ลำเอียงหรือ? ผมคิดว่าอาจจะลำเอียงบ้าง แต่เงื่อนไขข้ออื่นน่าจะช่วยป้องกัน "ความลำเอียง" ข้อนี้ได้
เงื่อนไขข้อสี่ ระยะเวลาที่จะวัดผลสำเร็จในการลงทุนนั้น จะต้องมีช่วงเวลาอย่างน้อย 10 ปีติดต่อกัน เงื่อนไขข้อนี้ เพื่อที่จะป้องกันว่าความสำเร็จของเรานั้นมาจาก "ฝีมือ" จริงๆ ไม่ใช่เรื่องฟลุ้คหรือบังเอิญ การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว และ 10 ปีน่าจะเป็นขั้นต่ำ บางคนอาจจะบอกว่าถ้าเขาสามารถบรรลุเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อไปแล้วก็ไม่น่าจะจำเป็นที่จะต้องรอให้ครบ 10 ปี ถึงจะเข้า Hall Of Fame ข้อนี้ผมคิดว่า ถ้าเราบรรลุเร็วกว่ากำหนด แล้วเราอยากมีชื่อว่าสำเร็จก็ต้องย้ายเงินไปลงทุนในตราสารที่ปลอดภัยมากเพื่อที่ว่าเมื่อครบ 10 ปีแล้ว เราก็จะมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 เงื่อนไข และเป็น "เซียน" อย่างสมบูรณ์
ผมเองก็ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนั้นดีพอ และเพียงพอที่จะบอกได้ว่านักลงทุนประสบความสำเร็จสูงสุด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเกณฑ์ที่ค่อนข้าง "หิน" และสำหรับคนที่ลงทุนแบบมุ่งมั่น เอาจริง เอาจัง ส่วนใหญ่น่าจะนำไปใช้วัดความสำเร็จของตนเองได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘