พาเรโต้ของนักลงทุน

หลักการของพาเรโต้ หรือ Pareto Principle นั้น ถูกค้นพบโดยนาย Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน เขาค้นพบกฎนี้โดยบังเอิญ จากการสำรวจรายได้ของประชากรซึ่งเขาพบว่า คนที่ทำรายได้สูงสุดจำนวนเพียง 20% สามารถสร้างรายได้ถึง 80% ในขณะที่คนที่เหลือ 80% มีรายได้รวมกันเพียง 20% ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด หลังจากนั้นเขาก็พบว่า ปรากฏการณ์ 20/80 นี้ เกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ อีกมากมายจนกลายเป็นกฎ ที่สามารถนำไปพยากรณ์เหตุการณ์อื่นๆ ได้มากมาย แต่กฎนี้เพิ่งจะโด่งดังจริงๆ ก็ตอนมีการนำมาใช้ ในการปรับปรุงคุณภาพการผลิตทางอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าปรับปรุงงานสำคัญที่สุด เพียงไม่กี่อย่างหรือ 10-20% ก็จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาลหรืออาจจะได้ถึง 80-90% เพราะฉะนั้น การเลือกปรับปรุงงานสำคัญๆ จะให้ผลตอบแทนที่สูงมาก กฎ 20/80 นั้น ผมลองมาคิดดูแล้วก็พบว่า มันมีความเป็นจริงอยู่มาก และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลในชีวิตของเรา สมัยที่ยังทำงานประจำอยู่ในสถาบันการเงินหลายแห่งนั้น ผมต้องทำงานประจำต่างๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมต่างๆ ที่ใช้เวลามหาศาล นอกจากนั้น ผมยังต้องอ่านเอกสารมากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับงานโดยตรง และงานของฝ่ายอื่น เมื่อลองทบทวนดู ผมพบว่าเวลาที่ผมใช้ไปในการทำงานส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่ได้ส่งผลอะไรกับองค์กรและตัวผมเอง มีงานเพียงน้อยนิด หรืออาจจะเรียกว่า 20% เท่านั้น ที่สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้พูดง่ายๆ ผมคิดว่างาน 80% ที่ผมทำนั้น เป็น "งานขยะ" อย่างไรก็ตาม การที่เป็นลูกจ้างนั้น เราเลือกทำเฉพาะงานสำคัญไม่ได้ ดังนั้น เท่ากับว่าผมต้องทำ "งานขยะ" เพื่อแลกกับเงิน
การออกจากการทำงานประจำที่เป็นลูกจ้างทำให้ผมมีอิสระที่จะเลือกทำเฉพาะงานสำคัญ หรืองานที่มีความหมายกับตนเองจริงๆ มากขึ้น แน่นอน งานสำคัญที่สุดก็ยังเป็นเรื่องของการลงทุน ซึ่งผมยังคงทำต่อเนื่อง และทำเพิ่มขึ้นจาก 20% ของเวลาอาจจะกลายเป็น 30% เวลาที่เหลือจำนวนมากถูกใช้ไปในงานสำคัญคือ การ "ตีกอล์ฟ" และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ที่ผมคิดว่าการตีกอล์ฟ และออกกำลังกายเป็นงานสำคัญ เพราะผมคิดว่ามันส่งผลต่อสุขภาพซึ่งเวลานี้ ผมคิดว่ามันคือ สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ผมยังใช้เวลาจำนวนมากไปกับ "งานขยะ" เช่น การส่งลูกไปเรียน การล้างถ้วยชาม เทขยะ จ่ายค่าน้ำไฟ ส่งจดหมาย ซ่อมแซมดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและผมไม่รู้ว่าจะเลิกทำได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การลาออกจากงานประจำทำให้ผมได้ทำงานสำคัญเพิ่มขึ้นจาก 20% กลายเป็น 40-50% ซึ่งผมคิดว่าส่งผลมหาศาลต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิต
พูดถึงเรื่องกฎ 20/80 ในเรื่องของการลงทุนเอง ผมคิดว่าน่าจะมีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อยในหลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอามูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุด 20% หรือประมาณเกือบ 100 บริษัทมารวมกัน เราก็จะพบว่ามันมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 4- 5 ล้านล้านบาท หรือ 80-90% ของตลาดหุ้น ในขณะที่อีก 80% หรือ 400 บริษัทที่เหลือมีมูลค่าตลาดรวมกันไม่เกิน 20% หรือเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น
ถ้าดูเรื่องผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน และผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นเอง ผมก็คิดว่าน่าจะมีพฤติกรรมแบบ 20/80 นั่นคือ มีบริษัทจดทะเบียนเพียงส่วนน้อยหรือเพียง 20% ที่สร้างผลงานโดดเด่น ในขณะที่บริษัทที่เหลืออีก 80% กลับไม่ได้สร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน และนี่ก็นำมาถึงเรื่องของการลงทุนส่วนตัวของนักลงทุน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีพฤติกรรมประเภท หุ้นน้อยตัวสร้างผลตอบแทนมหาศาล ในแบบที่เป็นการ "ตีแตก" ในขณะที่หุ้นจำนวนมากที่เราถืออยู่กลับนิ่งๆ หรือให้ผลตอบแทนน้อยมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ต่อเนื่องยาวนาน ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องได้หุ้นสุดยอดจำนวนไม่กี่ตัวที่จะสร้างผลตอบแทนมหาศาลชดเชยกับหุ้นจำนวนมากที่ซบเซา
สุดท้าย การที่จะประสบความสำเร็จทั้งในชีวิต และการลงทุนให้สูงกว่าที่จะเป็นโดยธรรมชาติ ผมคิดว่านักลงทุน จำเป็นที่จะต้องเพิ่มเวลาในการ "ทำงานสำคัญ" ในชีวิตจาก 20% โดยเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้น เรื่องการหาเวลานั้นไม่ยาก เพราะเรามีเวลาที่กำลังใช้ "ทำงานขยะ" อยู่ถึง 80% ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องกำหนดให้ได้ว่า อะไรคือ "งานสำคัญ" สำหรับเรา?

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘