ความผิดพลาดของการลงทุน

ความผิดพลาดของการลงทุนนั้น ถ้าจะพูด มี 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า การผิดพลาดที่เกิดจากการกระทำ นั่นก็คือ ผิดพลาดเพราะไปซื้อหุ้นผิดตัว ซื้อแล้วราคาหุ้นตกต่ำลงจากราคาที่เราซื้อ-- อย่างถาวร เราขาดทุนไม่ว่าจะขายทิ้งไปหรือไม่ ความผิดพลาดอีกแบบหนึ่งเรียกว่า ความผิดพลาดที่เกิดจากการไม่กระทำ นี่คือการที่เราไม่ซื้อหุ้นบางตัว ที่เราคิดว่าน่าซื้อแต่เราไม่ได้ทำเพราะอะไรบางอย่าง เรารีรอ แต่ระหว่างนั้นหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปและขึ้นไปเรื่อย ๆ - อย่างถาวร ราคาหุ้นขึ้นไปเกินราคาที่เราคิดว่าคุ้มค่าที่จะซื้อ เราเสียดาย แต่เราไม่ได้ขาดทุน เราเพียงแต่เสียโอกาสที่ควรได้ แน่นอน ความผิดพลาดแบบแรกนั้นร้ายแรงกว่าแบบที่สองมาก ความผิดพลาดในแบบแรกที่ Value Investor ควรระวังมีมากมาย และสิ่งที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิดเท่านั้น นักลงทุนแต่ละคนเองเมื่อลงทุน และประสบกับความผิดพลาด ก็ควรจะจดจำเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ผิดพลาดในครั้งต่อไป ประเด็นสำคัญมากก็คือ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จะต้องไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนที่เป็นทรัพย์สินตัวหลัก ที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ กับพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ดังนั้น การลงทุนที่เป็นรายการใหญ่ๆ ประเภท “ตีแตก” นั้น เราจะผิดพลาดไม่ได้
ความผิดพลาดจากการซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ผิดตัวนั้น บางทีเป็นเพราะเราไม่ได้ดูรายละเอียดของงบการเงินเพียงพอ เราดูแต่บรรทัดสุดท้ายซึ่งรายงานว่ากิจการของบริษัทมีกำไรที่ดีน่าประทับใจและเมื่อเทียบกับราคาหุ้นแล้วอาจจะดูว่าถูกมาก แต่จริง ๆ แล้ว กำไรที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นกำไรที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกิจการปกตินั้น น้อยกว่าที่เราคิดมาก เราซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูง แต่เมื่อความจริงปรากฏในภายหลังหุ้นก็ตกลงมา เราขาดทุน
บางครั้งเราซื้อหุ้นผิดตัวเพราะเราประมาณการปัจจัยความเสี่ยงบางอย่างของกิจการต่ำเกินไป หรือบางทีเราอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงบางอย่างเลย เนื่องจากเราไม่ได้ศึกษาละเอียดพอ เมื่อเราซื้อหุ้นแล้ว “โชคไม่ดี” สิ่งที่เป็นความเสี่ยงนั้น บังเอิญเกิดขึ้น หุ้นที่ซื้อมาตกลงมาหนักมาก พื้นฐานเปลี่ยนไปภายในชั่วข้ามคืน เราขาดทุนยับเยิน ตัวอย่างที่ผมคิดว่าใกล้เคียงกับตัวอย่างที่ผมพูดนี้ก็คือหุ้นของกิจการสัมปทานหลาย ๆ ตัวที่สัญญาของกิจการมีปัญหา และทำให้พื้นฐานการทำกำไรเปลี่ยนไปมาก ข้อคิดของผมก็คือ ถ้าความเป็นความตาย หรือผลการดำเนินงานหลักของบริษัทต้องพึ่งพิงกับสัญญาอะไรบางอย่าง เราต้องคิดว่าสัญญานั้นเป็นความเสี่ยง ไม่ว่าจะมีโอกาสที่จะมีการบอกเลิกมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น หุ้นที่มีความเสี่ยงแบบนี้ ผมจะไม่ “ตีแตก” แม้ว่าบางครั้งจะดูว่าราคาถูกมาก
การซื้อหุ้นที่มี “ราคาถูกมาก” บางครั้งก็เป็นความผิดพลาดเหมือนกัน เพราะราคาที่ถูกนั้น จริง ๆ แล้วอาจจะถูก เพราะกิจการกำลังอยู่ในช่วงที่กำลังถดถอย ผู้บริหารเองก็มักจะไม่ยอม “ปลดปล่อย” ทรัพย์สิน โดยเฉพาะเงินสดที่อาจจะมีมากมายในบริษัท ให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากต้องการกันเอาไว้ใช้ต่อสู้กับ “ความยากลำบาก” ที่จะตามมา ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจึงมักจะไม่ได้อะไรจากการถือหุ้นเหล่านี้ เพราะราคาหุ้นนิ่งอยู่นานและในที่สุดก็ลดลงจนทำให้เราขาดทุน
ความผิดพลาดในแบบที่สองนั้น ที่พบบ่อยมากที่สุดก็คือ เราพบหุ้นที่เข้าข่ายที่จะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพสูงทุกประการ แต่ราคาหุ้นในวันที่เราพบนั้นถึงจะคุ้มค่าที่จะซื้อแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูงในสายตาของเรา เราคิดว่า “หุ้นจะดีแค่ไหนก็ตาม มันก็ไม่คุ้มถ้ามีราคาที่สูงเกินไป” เราเฝ้าติดตามรอว่าถ้าเมื่อไรหุ้นตกลงมาจนมีค่า PE “ประมาณ 10” ซึ่งเป็นราคามาตรฐานที่เราลงทุนซื้อหุ้นโดยทั่ว ๆ ไป เราจะซื้อ แต่ยิ่งรอราคาหุ้นก็ยิ่งขึ้นไปสูงกว่าวันที่เริ่มมองมันมาก เราไม่ได้ซื้อหุ้นและเรารู้สึกเสียดายว่าทำไมเราไม่ซื้อตอนที่หุ้นมีราคา PE ที่ 15 ในวันแรกที่เราเริ่มสนใจ
มีเพื่อนมาแนะนำหุ้นให้เราตัวหนึ่ง เขาอธิบายให้เห็นว่าหุ้นตัวนั้นดีและคุ้มค่ามาก เหตุผลของเขาฟังดูดีทุกอย่าง ยกเว้นแต่ว่ากิจการนั้นเราดูแล้วไม่เห็นว่าจะมีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากและเราคิดว่า เมื่อคำนึงถึงความแน่นอนของผลการดำเนินงานแล้ว การซื้อหุ้นจะมีความเสี่ยงเกินไป เราไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนั้นแต่ก็จับตามองอยู่ และแล้วเราก็เห็นว่าหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นและปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนราคาสูงกว่าวันแรกที่เขาบอกเรามาก เรารู้สึกว่าเราอาจจะคิดผิดที่ไม่ได้ซื้อ แต่ถ้าถามว่าเสียดายไหม เราอาจจะเสียดายน้อย เพราะเราดูแล้วกิจการก็ยังไม่มีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนอยู่ดี ราคาหุ้นที่ขึ้นไปอาจจะไม่ยั่งยืนก็ได้ ถ้าคิดแบบนี้ ผมจะไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาดของการลงทุนแบบที่สอง เหตุผลก็คือ เราไม่ได้คิดจะซื้อมันตั้งแต่แรก เพราะเรายังไม่มั่นใจในคุณภาพของมันหรือเรายังไม่มั่นใจในเรื่องของความเสี่ยง
จากประสบการณ์ของผม ความผิดพลาดแบบที่หนึ่งของผมนั้นเกิดขึ้นน้อยและมักจะไม่ใช่การลงทุนที่สำคัญ แต่ความผิดพลาดในแบบที่สองจะมีมากกว่า เหตุผลก็คือ ผมมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นถ้าไม่แน่ใจเพียงพอ ผมคิดว่าผมยอมทำผิดแบบที่สองดีกว่าจะตัดสินใจพลาดซื้อหุ้นผิดตัวและทำให้มันกลายเป็นความผิดพลาดแบบที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ต้องขาดทุนจริง แทนที่จะเป็นเรื่องของการเสียโอกาส พูดง่ายๆ ผมคิดว่า เสียดายดีกว่าเสียใจ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘