เลขในใจ

คนที่คิดจะเป็นนักลงทุนอย่างจริงจังนั้น ในสมองควรจะหมั่นคิดอย่างสม่ำเสมอถึงเรื่องของไอเดียการลงทุน ไปไหนมาไหนก็ควรจะหมั่นสังเกตดูกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน นี่คือ การวิเคราะห์หุ้นในสไตล์ของ VALUE INVESTOR สมัครเล่นที่ไม่เสียเวลา ไม่ต้องใช้ความพยายาม และเป็นธรรมชาติ แต่ได้ผลดี ผมอยากเรียกมันว่า "การวิเคราะห์หุ้นในใจ" ในบางครั้ง เราต้องใช้ตัวเลขมาช่วยประกอบในการคิดหรือวิเคราะห์ แต่ตัวเลขทางการเงินนั้น ถ้าจะคิดกันอย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็อาจจะต้องนั่งโต๊ะ และใช้เครื่องคิดเลขทำเป็นเรื่องเป็นราวแถมต้องรู้จักทฤษฎี หรือสูตรคำนวณต่างๆ ที่ซับซ้อนจนอาจทำให้เราหลงไปกับตัวเลขได้ ดังนั้นบ่อยๆ ครั้งที่ผมคิดเรื่องการลงทุนในใจ ผมจึงมักใช้ตัวเลข "ประมาณ" ซึ่งทำให้คิดได้ในใจ และต่อไปนี้ คือตัวเลขในใจบางส่วนที่นักลงทุนอาจจะนำไปใช้ได้ โดยที่ความถูกต้องของมันเพียงพอสำหรับการลงทุนส่วนตัว
ตัวเลขแรกที่ผมคิดว่านักลงทุนควรจะต้องรู้ และใช้มันเรื่อยๆ ก็คือ 72 นี่คือตัวเลขมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้เรารู้ว่า เราจะมีเงินเป็นสองเท่าเมื่อไร ถ้าเรารู้หรือคาดได้ว่าเราจะได้ผลตอบแทนการลงทุนปีละกี่เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงิน 1 ล้านบาท และเราคิดว่าเราจะได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10% จากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เราก็เอาตัวเลข 72 หารด้วย 10% ซึ่งจะได้เท่ากับ 7.2 นี่ก็แสดงว่าเงิน 1 ล้านบาทจะเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 2 ล้านบาทในเวลา 7.2 ปี โดยที่ในระหว่างนั้น เราจะต้องไม่ถอนเงินมาใช้ และถ้ามีปันผลเราก็ต้องเอาปันผลไปซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มด้วย หรือสมมติว่าเราไม่ต้องการเสี่ยงลงทุนในหุ้น เราเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวซึ่งให้ดอกเบี้ยปีละ 5% แบบนี้เราก็คำนวณโดยการเอาเลข 72 ตั้งหารด้วย 5% ซึ่งจะได้เท่ากับ 14.4 ซึ่งก็แปลว่าเงิน 1 ล้านบาท ของเราจะกลายเป็น 2 ล้านบาท จะต้องใช้เวลา 14.4 ปี โดยที่ในระหว่างนั้น เราต้องไม่ถอนเงินมาใช้ และเมื่อได้ดอกเบี้ยมาก็ต้องเอาไปซื้อพันธบัตรเพิ่มด้วย
ความแตกต่างระหว่างการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นกับการลงทุนในพันธบัตรข้างต้นก็คือ การลงทุนในพันธบัตรนั้น เราค่อนข้างมั่นใจว่าภายใน 14.4 ปี เราจะมีเงินเป็นสองเท่าหรือ 2 ล้านค่อนข้างแน่นอนเพราะรัฐบาลให้ดอกเบี้ยแน่นอนปีละ 5% ไม่มีความเสี่ยง แต่ในการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นนั้น เราอาจจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าหรือสูงกว่า 10% ที่เราคาดก็ได้ แต่โอกาสที่เราจะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลาประมาณ 7 ปีนั้นก็มีค่อนข้างสูง เพราะสถิติผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นที่ผ่านมากว่า 30 ปีก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณปีละ 10% และโอกาสที่เงินต้นของเราจะลดลงเมื่อถือกองทุนติดต่อกัน 7 ปีก็มีค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก
การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยง ดังนั้นเราจึงไม่ควรลงทุนในหุ้นทั้งหมด ควรมีการกระจายการลงทุนไปในทรัพย์สินอย่างอื่นเช่น พันธบัตรด้วย ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า ถ้าเราอายุยังน้อย เราจะสามารถเสี่ยงได้มากกว่าคนอายุมาก เพราะถ้าเราพลาด เราก็ยังมีเวลาหาเงินเพิ่มเติมได้ สูตรหรือตัวเลขที่จะใช้เพื่อกำหนดเปอร์เซ็นต์การลงทุนในหุ้นแบบ "ประมาณ" นั้น บอกว่าให้เอา 80 ลบด้วยอายุปัจจุบันก็จะได้เปอร์เซ็นต์การลงทุนในหุ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอายุ 30 ปี เราก็เอา 80 ลบด้วย 30 ก็จะได้ 50 นั่นก็คือ เราควรลงทุนในหุ้นคิดเป็น 50% ของเงินทั้งหมดของเรา แต่ถ้าเราอายุ 50 ปีแล้ว เราก็ควรลงทุนโดยเอาตัวเลข 80-50 คือ 30% เท่านั้น และถ้าเราอายุ 80 ปีแล้ว เราก็เอา 80 ลบด้วย 80 ซึ่งก็คือ 0 นั่นคือ เราไม่ควรลงทุนในหุ้นเลย
สูตร 80 นี้ ดูๆ ก็เหมือนกับมีสมมติฐานว่าคนเราน่าจะมีอายุที่คาดหวังที่ 80 ปี คือ ตั้งไว้ว่าในวันที่เราตาย เราไม่ควรถือหุ้นเลย ดังนั้นจึงเอา 80 มาเป็นตัวตั้ง แต่เราอาจจะดัดแปลงให้เหมาะกับตัวเราได้ เช่น บางคนอาจจะกลัวความเสี่ยงมากกว่าปกติ อาจจะเอา 60 เป็นตัวตั้ง คือ คิดว่าเมื่อตัวเองเกษียณแล้วก็ไม่อยากจะถือหุ้นอีก ในกรณีนี้ ถ้าเขาอายุ 30 ปีในปัจจุบัน เขาก็จะเอา 60 ตั้งลบด้วย 30 ก็จะได้ว่าเขาจะลงทุนในหุ้นเพียง 30% เท่านั้น
ตัวเลขสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ตัวเลขที่จะดูว่าเราควรจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่ หรือดูว่าภาวะตลาดหุ้นโดยทั่วไปแพงหรือถูก นี่เป็นตัวเลขที่ดูเป็น "ไอเดีย" คือ ดูประกอบกับการวิเคราะห์อย่างอื่นด้วย สูตรนี้เขาบอกว่า ให้เอาค่า PE ของตลาดหุ้นโดยรวม บวกกับ อัตราเงินเฟ้อ ถ้าได้ตัวเลขเกิน 20 ก็ถือว่าหุ้นโดยทั่วไปราคาแพง ยิ่งสูงกว่ามากก็ยิ่งแพงมาก แต่ถ้าต่ำกว่าก็ถือว่าหุ้นถูก ยิ่งต่ำกว่ามากก็ถือว่าถูกมาก ซึ่งจะทำให้เรา "เข้าตลาด" ได้อย่างสบายใจขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงปัจจุบัน ค่า PE ของตลาดเท่ากับ 12 เท่า อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% รวมกันเท่ากับ 15 ก็แปลว่าหุ้นถูก แต่นี่ก็เช่นเดียวกับเรื่องของสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เราอาจจะอนุรักษนิยมกว่าปกติ ดังนั้น เราอาจจะตั้งว่า ค่า PE บวกอัตราเงินเฟ้อที่จะเรียกว่าหุ้นถูกนั้น จะต้องไม่เกิน 18 หรือ 15 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราอนุรักษนิยมแค่ไหน
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงตัวอย่างของตัวเลขที่ง่าย และดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง "มหัศจรรย์" แต่ผมเองคิดว่ามันช่วยให้การ "คิดในใจ" ของผมมีประสิทธิภาพขึ้นมาก และสำหรับผมแล้ว การ "คิดในใจ" เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการคิดบนกระดาษ หรือหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ถ้าพูดถึงการลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘