หลายคำถามกับหุ้นคุณค่า

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับเชิญให้ไปออกรายการทีวีทาง Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์ หัวข้อสนทนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และเป็นการโปรโมทหนังสือเล่มล่าสุดของผมชื่อ "รวยหุ้นอย่างพอเพียง" ผมเห็นว่าคำถามที่พิธีกรตั้งให้นั้น เป็นคำถามที่คนมักจะสงสัยหรือถามผมอยู่เนืองๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับหุ้นคุณค่า ดังนั้นผมจึงคิดว่าคงจะมีประโยชน์ที่จะนำมาเขียนไว้ในที่นี้
คำถาม: หุ้นคุณค่าหมายถึงหุ้นแบบไหน มีหลักเกณฑ์ตายตัวไหมว่าหุ้นแบบไหนถึงเรียกว่าหุ้นคุณค่า
คำตอบ: หุ้นคุณค่าหมายถึง หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการ ซึ่งมูลค่าพื้นฐานนี้ จะต้องมีการคิดคำนวณอย่างละเอียดรอบคอบ นักลงทุนเน้นคุณค่าหรือ Value Investor ที่เชี่ยวชาญจะต้องคิดและคำนวณหามูลค่าพื้นฐานเป็น โดยทางทฤษฎี มูลค่าพื้นฐานของกิจการนั้น จะคิดมาจากกระแสเงินสดรับที่เราจะได้รับจากกิจการในอนาคต แต่โดยทั่วไป เวลาพูดถึงหุ้นคุณค่า เรามักจะพิจารณาว่าหุ้นที่มีราคาถูกเป็นหุ้นคุณค่าโดยไม่ค่อยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น ถ้าบริษัทมีกำไร ก็ดูว่าหุ้นต้องมีค่า PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมาก ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งดีเรียกว่าเป็นหุ้น Value มาก นอกจากค่า PE บางคนก็ดูค่า PB หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีด้วยโดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทขาดทุน นั่นก็คือ ยิ่งค่า PB ต่ำเทียบกับหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยก็ยิ่งถือว่าเป็นหุ้น Value มาก สรุปง่ายๆ หุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB ต่ำมักจะถือว่าเป็นหุ้นคุณค่า
คำถาม: นักลงทุนในหุ้นคุณค่ามีลักษณะแบบไหน แตกต่างกับนักลงทุนที่เน้นหุ้นปันผลหรือไม่
คำตอบ: นักลงทุนหุ้นคุณค่ามักจะเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เช่น ซื้อหุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB ต่ำถึงต่ำมาก ส่วนนักลงทุนที่เน้นหุ้นปันผลก็จะเน้นซื้อหุ้นที่ให้ปันผลสูงเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield สูงในความเป็นจริง หุ้นที่มีค่า PE ต่ำจำนวนมากมักจะมี Dividend Yield สูงด้วย และนักลงทุนเน้นคุณค่าจำนวนมาก ก็ชอบหุ้นที่ให้ปันผลตอบแทนสูงเหมือนกัน ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่านักลงทุนหุ้นปันผลก็เป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่ง ของนักลงทุนเน้นคุณค่า แต่นักลงทุนเน้นคุณค่าจำนวนมากก็ไม่ได้เน้นหุ้นที่ให้ปันผลสูง
คำถาม:ทำไม ดร.ถึงเลือกที่จะใช้วิธีลงทุนแบบ Value Investment ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นคุณค่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
คำตอบ: วิธีนี้เป็นการลงทุนที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนที่ดี ผลตอบแทนการลงทุนที่ผ่านมา 10 ปี สูงถึงประมาณ 38% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น แต่นั่นเป็นเพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงที่โอกาสการลงทุนสำหรับหุ้นคุณค่ามีมหาศาล และพอร์ตการลงทุนของผมยังเล็ก อนาคตต่อจากนี้ผมคิดว่าผมตั้งเป้าหมายผลตอบแทนได้อย่างมากก็ 15% ต่อปี
คำถาม: การลงทุนในหุ้นคุณค่าต้องเป็นการลงทุนระยะยาวเท่านั้นใช่หรือไม่ ซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ ได้หรือไม่
คำตอบ: ส่วนใหญ่คงต้องเป็นระยะยาว เพราะว่าราคาหุ้นมักจะต้องใช้เวลาที่จะปรับตัวให้เข้าหามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งมักจะมาจากผลประกอบการที่จะประกาศมาทุกๆ ไตรมาส ดังนั้น การซื้อๆ ขายๆ บ่อยๆ จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักการของ Value Investment น่าจะเป็นเรื่องของการเก็งกำไรมากกว่า
คำถาม: กฎของการจะเป็นนักลงทุนหุ้นคุณค่ามีอะไรบ้าง
คำตอบ: เยอะมาก แต่หัวใจสำคัญก็คือ เราจะต้องวิเคราะห์การลงทุนทุกครั้งเป็นอย่างดีโดยดูที่ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ และการเงินของบริษัท ไม่ใช่ดูจากการวิ่งขึ้นหรือลงของราคาหุ้น
คำถาม: ที่ผ่านมา ดร.นิเวศน์ เคยลงทุนแบบอื่นหรือไม่
คำตอบ: ก่อนลงทุนแบบ Value Investment ผมซื้อขายหุ้นแบบเก็งกำไร จะเรียกว่าเป็นการลงทุนคงไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดที่จะถือยาว และใช้เงิน "เสี่ยงโชค" เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คำว่า "การลงทุน" ควรมีความหมายและจริงจังมากกว่านั้น
คำถาม: "รวยหุ้นอย่างพอเพียง" คืออะไร ใช่การลงทุนหุ้นคุณค่าหรือไม่
คำตอบ: หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ห่วง คือ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน และมี 2 เงื่อนไขคือ ต้องมีความรู้และคุณธรรม ทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนั้นตรงกับเรื่องของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor ที่ดีนั้นจะต้องมีความรู้และยึดหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน เขาจะต้องใช้เหตุผลในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน มีความคาดหวังและใช้เงินลงทุนอย่างพอประมาณไม่โลภ และไม่รับความเสี่ยงมากเกินไป เช่น ไม่ใช้เงินกู้ในการซื้อหุ้น และสุดท้ายก็คือ ต้องมีภูมิคุ้มกันหรือเรียกว่าต้องมี Margin Of Safety เวลาตัดสินใจลงทุน
คำถาม: ลงทุนแบบเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้รวยได้หรือ
คำตอบ: คนจะรวยหรือไม่นั้น มีองค์ประกอบใหญ่ ๆ 4 เรื่อง หนึ่ง นิยามของความรวยของแต่ละคน สองเงินเริ่มต้นและ/หรือเงินลงทุนที่ใส่เพิ่มลงไป สามระยะเวลาในการลงทุน และสี่ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ทำได้ ผมคิดว่าถ้าคุณเป็น Value Investor พันธุ์แท้ที่จริงจัง คุณ "รวย" ได้อย่างแน่นอน เหตุผลก็เพราะว่า คุณจะมีเงินเริ่มต้นและเพิ่มเติมมากกว่าเพราะคุณจะออมมากกว่า คุณจะลงทุนยาวนานกว่า และไม่ถอนการลงทุนในยามที่ตลาดกำลังตกต่ำ ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยของคุณจะสูงกว่าและสุดท้ายก็คือ คุณจะรู้สึกว่าจำนวนเงินที่เรียกว่า "รวย" ของคุณนั้นมันจะต่ำกว่าคนอื่น ดังนั้น โอกาสที่คุณจะรวยได้นั้นสูงมาก แต่ถ้าคุณไม่รวย คุณก็จะไม่จนหรอก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘