เซียน- ลิง- เด็ก

 เวลาที่ผมเจอหนังสือหรือการสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนที่มีหัวข้อทำนอง "กลยุทธ์การลงทุนอย่างเซียน" ผมมักจะอดคิดไม่ได้ว่า การลงทุน "แบบเซียน" นั้นดีจริงหรือ? เพราะผมรู้ว่ามีคนเคยศึกษาและทดลองแล้วพบว่า การลงทุน "แบบเซียน" นั้น มักจะแพ้การลงทุน "แบบลิง" และการลงทุน "แบบเด็ก"
การลงทุนแบบเซียนนั้น ในความคิดของผมก็คือ การลงทุนในแบบของมืออาชีพที่บริหารเงินลงทุนของคนอื่น เช่น ผู้บริหารกองทุนรวมต่างๆ นักลงทุนกลุ่มนี้ เท่าที่ผมเห็น มักจะเป็นคนที่มีความรู้ทางการเงินสูง จำนวนมากจบ MBA ทางการเงิน พวกเขามีความสามารถในด้านของการคำนวณตัวเลข การวิเคราะห์ทางด้านการเงินที่จะหา "มูลค่าที่แท้จริง" ของหุ้นหรือหลักทรัพย์ของกิจการที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง พวกเขามักจะมองอนาคตของกิจการในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งถึงสองปี
เซียนนั้น เนื่องจากต้องทำงานค่อนข้างหนัก บ่อยครั้ง พวกเขาต้องไปพบผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนเพื่ออัพเดทข้อมูล เวลาจำนวนมากต้องใช้ไปกับการอ่านรายงานการวิเคราะห์จำนวนมากจากนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ เวลาที่เหลือเขาอาจจะต้องเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ดังนั้นเซียนจึงมักจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะไปดู หรือทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในท้องตลาด เช่นเดียวกัน เซียนไม่ค่อยจะมีเวลาที่จะพินิจพิจารณาประสิทธิภาพ ของการปฏิบัติงานของพนักงานและผู้บริหารของบริษัท ว่าที่จริง เซียนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เท่าไรนัก เพราะเซียนไม่ใช่แม่บ้านที่จะต้องซื้อสินค้าเหล่านั้นมาใช้
การลงทุนแบบลิงนั้น ก็คือ การลงทุนแบบที่คนลงทุนวิเคราะห์อะไรไม่เป็น เป็นการลงทุนแบบสุ่ม เปรียบเหมือนกับการให้ลิงปาลูกดอกเข้าเป้าที่มีรายชื่อหุ้นเต็มไปหมด ลูกดอกโดนหุ้นตัวไหนก็ซื้อหุ้นตัวนั้น การลงทุนแบบนี้ดูไปแล้วน่าจะเป็นการลงทุนที่สุ่มเสี่ยงเต็มที่ โอกาสที่จะลงทุนหุ้นได้ถูกต้องดูเหมือนจะใกล้ศูนย์ เป็นไปได้อย่างไรที่จะให้ลิงมาเลือกหุ้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่สลับซับซ้อนมากที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความสามารถ และไอคิวสูงมากบางทีก็ยังพลาด แต่ความเป็นจริงก็คือ การลงทุนแบบลิงนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว กลับให้ผลตอบแทนไม่แพ้การลงทุนแบบเซียน และถ้าเราต้องเสียเงินจ้างเซียนมาช่วยเราลงทุนด้วยแล้วละก็ การลงทุนแบบลิง จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยที่สถิติการลงทุนแบบลิงนั้น เราพอจะคาดได้ว่าน่าจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย ปีละประมาณ 10% ในระยะยาว และที่สำคัญก็คือ โอกาสที่เงินต้นจะหดหายนั้นมีน้อยมาก
การลงทุนแบบเด็กนั้น คือ การลงทุนที่คนลงทุนมีความรู้และความสามารถทางด้านการเงินน้อย พวกเขาไม่เข้าใจอัตราส่วนทางการเงินที่ซับซ้อน ไม่ต้องพูดถึงการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น สิ่งที่เด็กเข้าใจมากกว่าก็คือ เขารู้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทไหนดี และเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะของเด็ก เขาเป็นผู้ที่จะเห็นเทรนด์ หรือแนวโน้มของสินค้าก่อนคนอื่น เขาอาจจะไม่เข้าใจความถูก- ความแพง ของหุ้น แต่เขาเข้าใจยี่ห้อ และคุณสมบัติของสินค้าของบริษัทเป็นอย่างดี เขาซื้อหุ้นโดยไม่ได้สนใจว่าราคาหุ้นในขณะนั้น กำลังร้อนแรงหรือไม่ แต่เขาซื้อหุ้นเพราะสินค้าของบริษัทกำลังร้อนแรง
ปีเตอร์ ลินช์ เคยเขียนไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง Beating the Street เล่าเรื่องของเด็กชั้นประถมปีที่ 7 ที่ครูให้ทดลองลงทุน โดยจัดเด็กเป็นกลุ่มๆ แล้วให้เล่นเกมซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลที่ได้นั้น น่าประทับใจมาก กล่าวคือ สามารถเอาชนะผลตอบแทนของตลาดหุ้นได้ถึง 40% ในเวลา 2 ปี ในขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้บริหารกองทุนรวมนั้นกลับมีผลตอบแทนแพ้ผลตอบแทนของตลาดหุ้น
อุทาหรณ์จากเหตุดังกล่าวนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า กลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดใน 3 กลยุทธ์ก็คือ การลงทุนแบบเด็ก ที่เน้นการมองศักยภาพของสินค้า หรือบริการของบริษัท กลยุทธ์รองลงมาก็คือ การลงทุนแบบลิงที่ลงทุนแบบสุ่ม ไม่ต้องสนใจวิเคราะห์ว่าบริษัทดีหรือไม่ ราคาหุ้นเป็นอย่างไร รวมถึงการไม่สนใจว่าหุ้นตัวนั้นกำลังขึ้นหรือลง นี่คือแนวการลงทุนอิงดัชนีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นๆ อีกหลายอย่าง และการลงทุนที่แย่ที่สุดก็คือ การลงทุนแบบเซียน ที่เน้นดูข้อมูลที่เป็นตัวเลขมากมายและติดตามราคาหุ้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวสินค้าหรือบริการของบริษัทเท่าที่ควร
ทั้งหมดนั้นไม่ได้หมายความว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบเด็กคือ กลยุทธ์ที่เราควรเลือกใช้ เพราะกลยุทธ์การลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนแบบเด็กก็คือ กลยุทธ์ที่ผสมผสานการลงทุนแบบเด็ก กับการลงทุนแบบเซียน นั่นก็คือ เราควรที่จะต้องวิเคราะห์ทั้งทางด้านของตัวเลข และข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดเพื่อที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่จะต้องเลือกเนื่องจากอาจจะมีความรู้ทางด้านการเงินไม่เพียงพอ การลงทุนแบบเด็กน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และถ้าคิดว่าตนเองนั้นก็ยังไม่มีคุณสมบัติหรือเวลาพอที่จะทำแบบเด็ก การลงทุนแบบลิงก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการต้องฝากเงินส่วนใหญ่ ไว้ในบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงิน ที่ดอกเบี้ยถอยลงไปเรื่อยๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘