มือที่มองไม่เห็น

เมื่อเร็วๆ นี้ มีคำพูดที่ฮือฮาในวงการเมือง นั่นก็คือ "มีมือที่มองไม่เห็นมาแทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาล" มาถึงวันนี้ก็คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า "มือที่มองเห็น" เป็นฝ่ายชนะ
เรื่องของการเมืองนั้น ผมก็เพิ่งได้ยินว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" มาจัดการเรื่องราวต่างๆ ด้วยก็ในครั้งนี้ แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจ หรือธุรกิจนั้น "มือที่มองไม่เห็น" เป็นคนที่จัดการเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ว่าที่จริง ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี เกือบทุกเรื่องจะต้องมี "มือที่มองไม่เห็น" มาจัดการ ได้แก่ เรื่องการตั้งราคาซื้อขายสินค้า ปริมาณการผลิตของโรงงานแต่ละโรง และเรื่องราวอื่นๆ อีกร้อยแปด ในขณะที่ "มือที่มองเห็น" ก็มักจะพยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ "มือที่มองไม่เห็น" เป็นประจำ
ในทางเศรษฐศาสตร์ "มือที่มองไม่เห็น" หรือ INVISIBLE HAND ที่บัญญัติขึ้นโดย อาดัม สมิทธิ์ นั้นก็คือ กลไกการทำงานของระบบตลาดเสรีที่เป็นผู้ที่จัดสรรการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อเศรษฐกิจ โดยอาศัยแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะทำกำไรสูงที่สุด
หลักการง่ายๆ ก็คือ สินค้า หรือบริการอะไรที่คนต้องการมาก แต่กำลังการผลิตไม่เพียงพอราคาก็จะขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตมีกำไรมากขึ้น ผู้ประกอบการก็จะขยายกำลังการผลิตเพิ่ม เพื่อที่จะทำกำไรเพิ่มโดยที่ไม่มีใครไปสั่งให้ทำ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าสินค้ามีมากเกินไป ราคาก็ลดต่ำลงผู้ประกอบการ ก็จะขาดทุน และลดการผลิตลงจนความต้องการ และการผลิตสมดุลและราคากลับมาที่จุดเหมาะสม โดยที่ไม่ต้องมีใครไปแทรกแซงหรือสั่งให้ทำ
ส่วน "มือที่มองเห็น" ในเรื่องเศรษฐกิจนั้น ก็คือ มือของข้าราชการ และนักการเมือง ที่มีอำนาจในการออกกฎ และบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในการควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ แนวความคิดก็คือ รัฐบาลควรเป็นผู้กำหนด หรือจัดสรรว่าใครควรจะทำ หรือผลิตอะไรเท่าไร และขายในราคาเท่าไร เพื่อที่จะทำให้ประชาชนสามารถซื้อหาสินค้ามาใช้ได้ตามอัตภาพหรือในราคาที่ "เป็นธรรม"
ในประเทศที่ใช้ระบบตลาดเสรีและเป็นทุนนิยมนั้น มือที่มองไม่เห็นจะเป็นคนจัดการเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องของการทำธุรกิจต่างๆ เป็นหลัก ในขณะที่ประเทศสังคมนิยม ก็มักจะมีการใช้มือที่มองเห็นมากกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ในทุกเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าในเกือบทุกเรื่อง จะต้องมีทั้งมือที่มองไม่เห็น และมือที่มองเห็นมาช่วย หรือมาแย่งกันจัดการเสมอ โดยที่ต่างฝ่ายก็จะอ้างว่าตนเองจัดการได้ดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ก็อย่างที่ทราบกัน โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของ โซเวียต รัสเซีย ที่ยึดหลักการสังคมนิยม และอาศัยมือที่มองเห็นเป็นคนจัดการระบบเศรษฐกิจว่า "มือที่มองเห็น" เป็นฝ่ายแพ้ เพราะจัดการแล้วระบบเศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า สินค้าขาดแคลน การผลิตไม่มีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ประเทศที่เปิดเสรีมากๆ ได้แก่ อเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ และเมื่อเร็วๆ นี้อย่างจีน ที่ใช้บริการของมือที่มองไม่เห็นสามารถพัฒนาประเทศไปได้ไกลกว่ามาก อย่างไรก็ตาม มือที่มองเห็นก็ไม่หมดไป และในบางประเทศก็ยังมีความพยายาม ที่จะนำมือที่มองเห็นกลับมาแย่งชิงอำนาจจัดการเสมอ และหนึ่งในประเทศเหล่านั้นน่าจะรวมถึงประเทศไทยอยู่ด้วย เหตุผลก็เพราะข้าราชการ และนักการเมืองที่มีอำนาจทางการเมืองนั้น ถ้ามีโอกาสก็อยากจะได้อำนาจในการจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ มาอยู่ในมือตัวเอง อาจจะด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายๆ อย่างดังต่อไปนี้
ข้อแรก ก็คือ การมีอำนาจจัดการทำให้เขาสามารถให้คุณให้โทษหรือให้ประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการ หรือคนบางกลุ่มได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะได้ผลกลับมาเป็นคะแนนเสียงจากผู้ลงคะแนนบางกลุ่ม เป็นเงินที่อาจจะได้ตอบแทนจากกิจการต่างๆ ซึ่งก็คือ เรื่องของการคอร์รัปชัน หรืออาจจะเป็นผลประโยชน์อื่นๆ ตามที่จะคิดกันได้
ข้อสอง ก็คือ เขาอาจจะเชื่อจริงๆ ว่าระบบมือที่มองไม่เห็นนั้น ทำงานไม่ได้ดี พ่อค้ารวมหัวกันทำกำไรเกินควร และทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ซึ่งจะมาต่อว่าเขาว่าไม่ดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ดังนั้นเขาต้องเข้ามาจัดการ
ข้อสาม ซึ่งคงไม่ใช่ข้อสุดท้าย ก็คือ เขาอาจจะมีความรู้ความเข้าใจในทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคของโลกาภิวัตน์ไม่ดีพอ จนทำให้วางนโยบายที่ผิดยุคสมัยไปได้ เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ พวกเขาคิดว่าหน้าที่ของพวกเขา ก็คือ การควบคุมและจัดการ ถ้าเข้ามาอยู่ในตำแหน่งแล้วไม่มาจัดการ ปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นมาจัดการ จะดิ้นรนทำงานหนัก หรือเสียเงินมากมายหาเสียงเพื่อเข้ามามีอำนาจไปทำไม?
ในฐานะของนักลงทุนในธุรกิจต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ "ถูกจัดการ" โดยมือที่มองไม่เห็นและมือที่มองเห็น เราต้องรู้และเข้าใจว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ โดยปกติแล้ว ผมชอบที่จะลงทุนในกิจการที่มีมือที่มองเห็นเข้ามาแทรกแซงน้อยที่สุด เพราะผมเห็นว่า มือที่มองเห็นนั้น ส่วนใหญ่ เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่กิจการ และทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งทางลับ และทางแจ้ง และมักจะคาดการณ์ได้ยาก อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอะเจอกับมือเหล่านั้น
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ในที่สุดมือที่มองไม่เห็นจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น ในการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีการปะทะกันระหว่างมือที่มองไม่เห็นกับมือที่มองเห็น ผมก็มักจะตั้งสมมติฐานว่า ในที่สุดมือที่มองไม่เห็นจะมีชัยแต่ "ต้นทุน" ของกิจการก็คงจะต้องเพิ่มขึ้นบ้าง ว่าที่จริง นี่คือ "ความจริงของชีวิต" ในประเทศไทยของเรา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘