เทคนิคการบริหารเงินตามสไตล์สาวโสด

เมื่อก่อน คำว่า “สาวโสด” อาจจะเป็นเหมือนหนามทิ่มแทงใจสาวๆ หลายคน แต่วันนี้เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ความคิดของผู้หญิงก็เปลี่ยน จึงไม่แปลกที่สถานภาพ “สาวโสด” จะกลายเป็นเทรนด์ยอดฮิตของผู้หญิงปี 2010 ที่วันนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายอีกต่อไป...โดยในวันนี้สาวโสดของแวดวง การลงทุน อาสาพาบรรดาสาวโสดทั้งหลายไปรู้จักกับการบริหารการเงินตามสไตล์สาวโสด นอกเหนือไปจากการดูแลตัวเองให้ดูสวยเสมอ...
     
พรพรรณ ไพบูลย์วัฒนชัยผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) เป็นอีกหนึ่งสาวที่บอกว่า มีความสุขกับการเป็นโสด ซึ่งถ้าถามว่า ทำไมผู้หญิงเราถึงเป็นโสดมากขึ้น ส่วนตัวมองว่า ทุกคนเริ่มทำงานมากขึ้น หน้าที่การงานเติบโตมากขึ้น และสังคมก็เริ่มยอมรับผู้หญิงเป็นผู้นำมากขึ้น พอสังคมเปลี่ยน ผู้หญิงก็มีการศึกษามากขึ้น
     
จากเมื่อก่อนจบแค่ ปวส. ต่อมาก็ขยับมาจบปริญญาตรีมากขึ้น มาถึงตอนนี้เป็นปริญญาโทแล้ว และบางคนก็ต่อเนื่องไปถึงปริญญาเอก จะเห็นว่าผู้หญิงให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น เป็น value added ให้กับตัวเองและเมื่อผู้หญิงมีภารกิจทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียนมากขึ้น ก็จะแบ่งเวลาให้กับการหาคู่ครองน้อยลง
     
 “วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง เป็นเวลาทำงานไปแล้ว 18 ชั่วโมง พอเสาร์อาทิตย์ก็ให้น้ำหนักกับการเรียนมากกว่า ดังนั้น โอกาสที่จะมองหาผู้ชายก็เริ่มลดลงแล้ว ผู้หญิงก็จะเริ่มเป็นโสดมากขึ้น และจะมองหาผู้ชายอีกครั้งก็เมื่ออายุ 30 ไปแล้ว” เมื่อผู้หญิงเป็นโสดมากขึ้น ก็จะให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น เพราะเมื่อไม่มีผู้ชายให้พึ่งพา การวางแผนทางการเงินเพื่อดูแลตัวเองยามแก่ชราจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ ได้ สะท้อนให้เห็นได้จากการเติบโตของกองทุนรวมที่ปัจจุบันมีขนาด 2.5 ล้านล้านบาท แม้จะไม่ได้มีการแยกว่าเป็นหญิงหรือชายที่ลงทุนมากกว่ากัน แต่ตัวเลขดังกล่าวก็บ่งบอกได้ว่า คนให้ความสำคัญกับการหาลู่ทางการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนก็มีความหลากหลายมากขึ้น จากตราสารหนี้ ไปสู่การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ไปถึงทองคำ และน้ำมัน
     
และในฐานะที่ยังครองตัวเป็น “โสด” อย่างเหนียวแน่น  เพราะต้องทุ่มเทให้กับการเรียนในระดับปริญญาเอก เมื่อผสานกับการคร่ำหวอดในแวดวงการลงทุน
     
"พรพรรณ” จึงมีคำแนะนำสำหรับ “สาวโสดมือใหม่” ทั้งหลายว่า เธอเชื่อว่าระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มเก็บสะสมคือ เมื่ออายุ 25 ปี
     
 “จริงๆ แล้ว การออมหรือการบริหารเงิน มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สิ่งที่เป็นสูตรสำเร็จ คือ เมื่อคุณเกษียณอายุแล้ว คุณไม่มีรายได้ ต่ถ้าถามจากประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสกับคนมา จะพบว่า คนส่วนใหญ่เริ่มเก็บออมที่ระดับอายุประมาณ 28-30 ปีขึ้นไป ถามว่าทำไมไม่ต่ำกว่านี้ ก็เพราะถ้าเรามองย้อนไปจะเห็นว่า นักศึกษาเรียนจบปริญญาตรีมาตอนอายุ 21 ปี มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่า ในสภาพความเป็นจริง คงไม่มีใครลุกขึ้นมาเก็บออมทันทีที่มีรายได้เป็นของตัวเอง เพราะหาเงินได้มาปุ๊บ ก็ต้องเที่ยวต้องใช้จ่ายก่อน”

พรพรรณ ไพบูลย์วัฒนชัย

เธอบอกด้วยว่า จนเมื่ออายุ 25 ปี ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็เริ่มเข้าสู่การเรียนระดับปริญญาโทมากขึ้น ทำให้โอกาสในการออมน้อยลง เพราะต้องเอาไปใช้จ่ายกับการศึกษา จนกระทั่งเรียนจบระดับปริญญาโท
     
เมื่ออายุประมาณ 28 ปี จนถึงเวลาที่พร้อมแล้วทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ กับหน้าที่การงานที่เติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น จุดนั้นเป็นจุดที่ทำให้ผู้หญิงเริ่มแบ่งสัดส่วนการลงทุนมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าช่วงอายุที่เหมาะจะอยู่ที่ 25 ปี แต่ความเป็นจริง คือ ผู้หญิงพร้อมออมเมื่ออายุ 28 ปีขึ้นไปและจะให้น้ำหนักการออมอย่างจริงจัง เมื่ออายุประมาณ 35 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า จะมีเวลาเหลือก่อนเกษียณสำหรับการออมและการลงทุนอีกเพียง 25 ปี

พรพรรณ ให้คำแนะนำสำหรับ “สาวโสดหัดขับ” ด้วยว่า จุดเริ่มต้นที่ดี อยู่ที่การศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน ต้องศึกษาให้รอบคอบก่อน แล้วลองทำบทวิเคราะห์รู้จักตัวเอง โดยสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของ บลจ. หลายๆ แห่งจะมีให้เข้าไปลองค้นหาตัวเองว่า เหมาะกับการลงทุนแบบไหน สามารถรับระดับความเสี่ยงการลงทุนได้มากเพียงใด
     
 “ตรงนั้นจะทำให้เรารู้ว่าตัวเราเองจะเทน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์แบบ ไหนได้มากกว่ากัน แต่ถ้าใครที่ไม่เคยศึกษาเลย แล้วอยากจะลงทุนจริงๆ อยากให้เริ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากกว่า อย่างเช่นกองทุนตราสารหนี้ เมื่อคุณมีความคุ้นเคยกับมันมากขึ้น คุณก็เริ่มลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น กองทุนหุ้นหรือกองทุนทองคำ หรือกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวคุณ และเมื่อเชี่ยวชาญมากขึ้น คุณก็ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเริ่มไกลตัวออกไป”
     
     
เมื่อขยับไปลงทุนในต่างประเทศ ก็พิจารณาต่อไปว่า จะลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศหรือลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ถ้าเป็นหุ้นต่างประเทศจะลงทุนในจีนอย่างเดียว หรือจะลงทุนในเกรทเทอร์ ไชน่า หรือในตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือลงทุนโซนยุโรป หรืออเมริกา หรือลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการลงทุนขั้นสูงมากขึ้น เมื่อถึงเวลานักลงทุนจะได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นว่า จะให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ไหนมากกว่ากัน
      
เทคนิคคือ ลงทุนจากใกล้ตัวก่อน สัมผัสสิ่งที่ใกล้ตัวก่อนจะไปสู่การลงทุนที่ Advance มากขึ้น
     
สำหรับสไตล์การลงทุนของตัวเอง เธอบอกว่า จะแบ่งการลงทุนเป็น 2 ส่วน ที่เป็นการลงทุนหลัก ที่จะเน้นเงินฝาก ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้านและคอนโดมิเนียม ส่วนที่สอง จะเน้นการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งหมายรวมถึงหุ้นทั้งในและต่างประเทศ และการลงทุนในทองคำ โดยน้ำหนักการลงทุนจะแปรผันตามอายุที่เปลี่ยนไป
     
ส่วนเป้าหมายในชีวิตของ “พรพรรณ” นั้น ที่ใกล้ที่สุดคือ การคว้าปริญญาเอกให้สำเร็จ
     
 “อย่างที่บอกว่า เรื่องเรียนก็เป็นการลงทุนอีกด้านหนึ่ง เป็นการสร้าง value added ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะตำแหน่งหน้าที่การงาน การศึกษา มันเข้าตัวเองทั้งนั้นเลย ไม่ได้แบ่งใคร แล้วตัวนี้เป็นตัวที่ยึดติดกับเรา เป้าหมายก็คือเรียนให้จบก่อน ส่วนหน้าที่การงานก็ทำให้เต็มที่ เรื่องแต่งงาน..คงไม่คิด เพราะเราให้น้ำหนักกับสองเรื่องนั้นไปแล้ว”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘