อังคารทมิฬ

ขณะที่ผมกำลังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ตามดอยที่เชียงใหม่ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นสบายนั้น โบรกเกอร์ผมก็โทรศัพท์มาหา เธอรายงานว่าตลาดหุ้นกำลังตกหนักมากและกำลังแตะระดับที่ติดลบถึง 10% ซึ่งจะต้องหยุดพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราว ผมถามว่าเกิดอะไรขึ้น เธอพยายามที่จะอธิบาย ผมจับความไม่ได้แน่ชัด รู้แต่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ออกเกณฑ์ที่จะควบคุมการไหลเข้า ของเงินลงทุนของต่างชาติ เธอไม่ได้ถามผมว่าจะขายห รือจะซื้อหุ้นอะไร เพราะเธอรู้ว่าในสถานการณ์ที่หุ้นตกหนักอย่างนี้ ผมมักไม่ทำอะไร ว่าที่จริง การที่เธอโทรหาผมตอน 11.00 น. ก็อาจเป็นเพราะว่า เธอกำลังยุ่งอยู่กับการรับคำสั่งซื้อขาย มือเป็นระวิง และคงไม่มีเวลาที่จะโทรหาผมในช่วงตลาดเปิด
ผมโทรเช็คข้อมูลกับเพื่อนบางคนที่เชี่ยวชาญ และคลุกคลีอยู่ในตลาดหุ้นก็พอทราบว่า มาตรการที่ออกมานั้นมีความรุนแรงจริง และก็ไม่สงสัยว่าทำไมตลาดหุ้นจึงตกหนักขนาดเกือบ 20% ในช่วงหนึ่ง ในระหว่างนั้น ผมนึกถึงเรื่องราวของตลาดหุ้นอเมริกา ที่ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีเคนเนดี้ ออกคำสั่งควบคุมราคาเหล็ก และทำให้ตลาดหุ้นตกหนัก มากยิ่งกว่าวันที่อเมริกา ยื่นคำขาดให้โซเวียต รัสเซียถอนหัวรบนิวเคลียร์ออกจากคิวบา และก่อให้เกิดความเสี่ยง ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์มากมาย และนี่ก็เป็นการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นไทยว่า สิ่งที่ตลาดหุ้นกลัวมากที่สุดก็คือ นโยบายของรัฐที่กระทบต่อความเป็นตลาดเสรีของเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดหุ้น
ปิดตลาดหุ้นวันนั้น ดัชนีตกลงไปถึง 108 จุด หรือประมาณเกือบ 15% ทำลายสถิติการตกแรงที่สุดครั้งก่อนๆ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8% เท่านั้น ผมตรวจสอบหุ้นในพอร์ตจากอินเทอร์เน็ตเมื่อเข้าไปเที่ยวที่ไนท์ พลาซ่า เชียงใหม่ก็พบว่าหุ้นในพอร์ตลดลงไปประมาณ 8-9% อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้ข่าวว่าแบงก์ชาติยอมยกเว้นมาตรการควบคุมเงิน ในส่วนของการลงทุนในหุ้นแล้ว จากเพื่อนที่โทรมาบอกในช่วงค่ำของวันนั้น ความรู้สึกของผมในช่วงนั้นก็คือ ผมรู้สึกสบายใจขึ้น ไม่ใช่เพราะคิดว่าหุ้น จะดีดกลับในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น แต่เพราะผมคิดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังเห็นความสำคัญของตลาดหุ้นอยู่ และครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้ทางการระมัดระวังมากขึ้น ก่อนที่จะเสนอมาตรการอะไร ที่จะมีผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะพูดตรงๆ ก็คือ ผมรู้สึกว่า ความเสี่ยงทางด้านการเมืองหรือนโยบายที่เลวร้ายต่อตลาดหุ้นที่ผมเกรงมาตลอดตั้งแต่มีรัฐบาลนี้นั้นน่าจะลดลง อย่างน้อยก็ในช่วงอีกหนึ่งปีที่เหลือ
หุ้นปรับตัวขึ้นในวันรุ่งขึ้น และจนถึงวันศุกร์ ที่ 22 ธันวาคม 2549 อยู่ที่ 680 จุด ต่ำกว่าวันจันทร์ก่อนหน้าวัน "อังคารทมิฬ" ประมาณ 6.9% พอร์ต ของผมซึ่งไม่ได้ทำอะไรเลยปรับตัวขึ้นเช่นกันเหลือติดลบประมาณ 3% ซึ่งบังเอิญเป็นมูลค่าของพอร์ต เท่ากับเมื่อต้นเดือนธันวาคม สรุปก็คือ เดือนธันวาคมนี้ พอร์ตของผมน่าจะประมาณเท่าทุน ไม่ได้ไม่เสีย ผมนั่งคิดก็เกิดความรู้สึกว่า เราคงเป็นเหมือนเต่า เมื่อเกิด "แผ่นดินไหวโลกถล่ม" พวกกระต่ายและสัตว์ทั้งหลาย ต่างก็วิ่งหนีเอาตัวรวด สัตว์บางตัวก็ฉวยโอกาสแย่งชิงเก็บเกี่ยวอาหารในยามที่เกิดโกลาหล แต่เต่านั้นไม่วิ่งไปไหน ที่จริงมันก็คงวิ่งไม่ทันชาวบ้าน ดังนั้น สิ่งที่มันทำก็คือ หดหัวเข้าไปในกระดอง นอนราบและอยู่นิ่งที่สุด เมื่อเหตุการณ์สงบลง สัตว์หลายตัวล้มตาย สัตว์บางตัวกลับมั่งคั่งขึ้น แต่เต่าก็ยังเป็นเต่า มันโผล่หัวมาดูเพื่อนสัตว์ที่ "ร่วมชะตากรรม" อย่างปลงอนิจจังพลางคิดว่า "คราวนี้คนโชคดีคือคนที่ไม่กลัวแต่คราวหน้าใครจะรู้"
ความหมายของผมก็คือ ในวันอังคารทมิฬนั้น มีนักลงทุนจำนวนมากที่กล้าเข้าไปช้อนซื้อในยามที่หุ้นตกอย่างหนัก โดยคิดว่าหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นเมื่อตกลงไปแรง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็โชคดีมากที่แบงก์ชาติปรับเปลี่ยนกฎอย่างรวดเร็ว ทำให้หุ้นในวันรุ่งขึ้นดีดตัวขึ้นมามาก และทำให้พวกเขาได้กำไรมากมายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากว่าแบงก์ชาติไม่ปรับกฎ อะไรจะเกิดขึ้น? ผมคิดว่าหุ้นจะตกต่อไป เพราะคำสั่งขายจากนักลงทุนต่างประเทศยังเหลืออีกมาก และหากมองระยะยาวออกไป ตลาดหุ้นก็จะมีปัญหาการไหลออกของเม็ดเงินตลอดเวลา ขณะที่จะไม่มีเงินใหม่เข้าเลย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ ผมเชื่อว่าการลดลงของตลาดหุ้นน่าจะมากกว่า 15 หรือ 20% ที่เกิดขึ้นในวันแรก
ผมแล้ว ผมคิดอยู่เสมอว่า การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น นอกจากความเสี่ยงสารพัดแล้ว นักลงทุนยังต้องเสี่ยงกับการเมือง และนโยบายของรัฐตลอดเวลา คติของผมก็คือ การเมืองนั้นไม่สามารถที่จะช่วยตลาดหุ้นได้ แต่การเมืองนั้น สามารถทำลายตลาดหุ้นได้ ที่พูดนี้ รวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ ด้วย และก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นการทำลายตลาดหุ้นโดยตรง แต่รวมถึงการทำลายตลาดหุ้นทางอ้อมด้วย คุณลักษณะโดยทั่วไปก็คือ รัฐบาลที่ "ปิด" รัฐบาลที่เน้น "สังคมนิยม" รัฐบาลที่เน้น "ประชานิยม" เหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น มากกว่ารัฐบาลที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ที่เน้นการปกครอง ที่มีกฎเกณฑ์แบบสากล ถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือ รัฐบาลที่ "ยุ่มย่าม" กับธุรกิจมากจะมีความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น มากกว่ารัฐบาลที่ปล่อยให้ธุรกิจมีการดำเนินการอย่างเสรีและมีการแข่งขันที่ยุติธรรม และในการลงทุนนั้น เราต้องประเมินความเสี่ยงนี้ด้วยเสมอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘