ผลตอบแทนที่คาดหวัง

เวลาที่เราซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลงทุนระยะยาว สิ่งที่เราควรคาดหวังก็คือ เราจะได้รับผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี การคาดหวังนี้ แน่นอน ควรจะต้องสมเหตุสมผลไม่เล็งผลเลิศเกินไป สถิติของผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ระยะยาว โดยเฉลี่ยคือ ประมาณ 10% ต่อปี
ดังนั้นในฐานะของนักลงทุนที่มุ่งมั่น และมีความสามารถพอตัว VALUE INVESTOR ที่มีประสบการณ์ จึงมักตั้งความคาดหวังจากการลงทุนในหุ้น มากกว่าปีละ 10% แต่ถ้าตั้งค่าความคาดหวังสูงถึง 20% ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการตั้งเป้าสูงเกินไป เพราะนั่นจะเป็นการตั้งความหวังสูงพอๆ กับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยตั้งไว้สมัยที่รับบริหารเงินของคนอื่นทีเดียว และแม้ว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะสามารถทำได้ทะลุเป้าคือ ได้ถึงเกือบ 25% แต่นั่นคือ สถิติโลกที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีตลาดหุ้นที่เป็นมิตร และมีหุ้นชั้นนำระดับโลกที่มีหุ้นให้เลือกได้แทบจะไม่จำกัด
ในตลาดหุ้นไทยโดยทั่วไป ผมคิดว่า การตั้งความหวังผลตอบแทนประมาณ 10-15% น่าจะดูสมเหตุสมผลมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่เงินลงทุนยังน้อย และเรายังสามารถเสี่ยงถือหุ้นน้อยตัวมากๆ และพร้อมจะขาดทุนหนักได้โดยไม่เดือดร้อน เราอาจจะตั้งค่าความคาดหวังได้มากหน่อย อาจจะเป็นปีละ 20-25% ในช่วงปีแรกๆ ได้
นักลงทุนบางคนอาจจะบอกว่าตนเองทำได้เป็น 50 หรือ 100% ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ดังนั้นการตั้งความหวังแค่ 20-25% เป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก แต่นี่เป็นความเข้าใจผิดระหว่างการตั้งความคาดหวังกับความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเป็นเรื่องปกติที่ในบางครั้ง หรือบางปีสิ่งที่เกิดขึ้น จะดีกว่าที่คาดมากแต่ในบางครั้ง หรือบางปีสิ่งที่เกิดขึ้นก็เลวร้ายกว่าปกติมากได้เช่นกัน สิ่งที่จะบอกว่าการตั้งค่าความคาดหวังเหมาะสมหรือไม่ ก็คือ ในระยะยาวหลายๆ ปี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับสิ่งที่คาดหวัง
นั่นคือ ภาพใหญ่ของพอร์ตการลงทุนในหุ้นของเรา แต่เวลาปฏิบัติในการซื้อหุ้นแต่ละตัวเรา จะตั้งค่าความคาดหวังอย่างไร? พูดง่ายๆ ถ้าเราซื้อหุ้นตัวหนึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราน่าจะได้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปีในระยะยาว?
ในการตอบคำถามนี้ ผมจะขอใช้สูตรการหาผลตอบแทนที่คาดหวังของ GORDON หรือที่เรียกกันว่า GORDON GROWTH MODEL ซึ่งบอกว่า ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวจะเท่ากับ ผลตอบแทนปันผลที่กำลังจะได้รับในงวดหน้า บวกกับการเติบโตของเงินปันผลในอนาคตระยะยาว(ตลอดไป)
ตัวอย่าง เช่น เราพบหุ้นตัวหนึ่งที่จะจ่ายปันผลปีละ 5 บาท ในงวดที่กำลังจะถึง บริษัทเป็นกิจการที่มีการเจริญเติบโตดีเป็น GROWTH COMPANY น่าจะสามารถเติบโตโดยเฉลี่ยถึงปีละ 10% ในระยะยาวอย่างน้อยเป็นสิบปีขึ้นไป โดยที่การเจริญเติบโตนี้บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนที่จะทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ซึ่งจะทำให้กำไร และปันผลน่าจะโตขึ้นได้ปีละ 10% โดยเฉลี่ยเหมือนกัน จากนั้นเราก็ไปดูราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่พบว่า หุ้นมีราคาเท่ากับ 100 บาท ถ้าเป็นแบบนี้ ตามสูตรของกอร์ดอน ผลตอบแทนเงินปันผลคือ 5 หารด้วย 100 คือ 5% การเติบโตคือ 10% รวมกันจะได้ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นตัวนี้คาดว่าจะเท่ากับ 15% ต่อปี ถ้าเราถือเก็บไว้ระยะยาว
หุ้นอีกตัวหนึ่งอาจจะเป็น "หุ้นปันผล" เพราะให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงถึง 10% ต่อปี แต่อยู่ในอุตสาหกรรม "ตะวันตกดิน" คือ เราคาดว่าธุรกิจไม่โตเลย ดังนั้นการเจริญเติบโตเท่ากับ 0 แบบนี้ผลตอบแทนที่คาดก็จะเท่ากับ 10+0 เท่ากับ 10% และถ้าเราตั้งเป้าให้พอร์ตลงทุนโดยรวมโตปีละ 15% เราก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนี้
การคาดการณ์ของเราในเรื่องของปันผลที่จะได้รับในงวดหน้านั้น โดยทั่วไปก็มักจะทำได้ใกล้เคียง เพราะเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และบริษัททั่วไปมักจะพยายามรักษานโยบายการจ่ายปันผลที่ได้ประกาศไว้ แต่การเจริญเติบโตของบริษัทนั้น เป็นสิ่งที่ยากจะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ดังนั้น การประมาณค่านี้จะต้องอนุรักษนิยมมาก และถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยังจะผิดอยู่ดี
ดังนั้น การซื้อหุ้นลงทุนหลายๆ ตัวที่เราคำนวณแล้วได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเป้าที่เราตั้งไว้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง ของการผิดพลาดลงได้ เพราะความจริงที่มักจะเกิดขึ้น ก็คือ หุ้นบางตัวจะโตเร็วกว่าที่เราคาด ในขณะที่บางตัวก็จะโตช้ากว่าที่เราคิดไว้ แต่โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์จะใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ และนี่ก็คือ วิธีการหาค่าผลตอบแทน ที่คาดหวังจากการลงทุนในหุ้นอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำได้ง่ายๆ และสำหรับหลายๆ คนน่าจะสามารถคิดในใจได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘