กำเนิดกระทิง

ดูเหมือนว่า กระทิงกำลังมา นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นกำลังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 22.4% ไม่นับรวมปันผลอีก 3-4% นับว่าเป็นครึ่งปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจมาก เฉพาะสัปดาห์ที่แล้วเพียงสัปดาห์เดียว ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 7% พร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมหาศาล กระทิงรอบนี้เป็นของจริงหรือไม่ อะไรจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดตลาดกระทิง ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงสิ้นปีดัชนีตลาดจะปรับตัวขึ้นไปอีก จนทำให้กำไรจากการลงทุนในตลาดมากถึง 30-40% ขึ้นไป ที่จะทำให้ปีนี้เป็นปีของกระทิงดุอีกปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย?
จากการศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดตลาดกระทิงในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ผมมีข้อสรุปคร่าวๆ ว่า ตลาดกระทิงมักจะเกิดขึ้น เนื่องจากเหตุผลสำคัญประมาณ 5 อย่างด้วยกัน โดยที่บางครั้งก็เกิดจากเหตุผลเดียว แต่หลายๆ ครั้งก็มักจะมาจากปัจจัยหลายข้อประกอบกัน
ปัจจัยข้อแรกก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญ ในสภาวะแวดล้อมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจของอเมริกามหาศาล และนี่ก่อให้เกิดตลาดกระทิงที่ใหญ่มากในตลาดหุ้นของสหรัฐในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
ในตลาดหุ้นไทยเอง ผมคิดว่าเราได้ประสบกับตลาดกระทิงครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินที่สำคัญในปี 2534 ที่เราเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งทำให้เงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก และก่อให้เกิดตลาดกระทิงครั้งใหญ่ในปี 2536 ซึ่งดัชนีปรับตัวขึ้นถึง 88% หลังจากที่เติบโต 16% และ 26% มาก่อนในปี 2534 และ 2535
ปัจจัยข้อสอง ก็คือ สภาพคล่องทางการเงินที่ผ่อนคลายมาก นั่นก็คือ อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง และลงมาอยู่ในอัตราที่ต่ำเป็นเวลานาน นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่มักจะชักนำหรือก่อให้เกิดตลาดกระทิงในสหรัฐ เหตุผลนั้นชัดเจน เนื่องจากในช่วงที่ดอกเบี้ยลดลง เม็ดเงินที่ลงทุนในตลาดพันธบัตร จะไหลมาสู่ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น นี่ยังไม่นับว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก่อให้เกิดการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู และทำให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรมากขึ้น ทำให้หุ้นมีความน่าสนใจมากกว่าพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนคงที่
ในตลาดหุ้นไทยเอง ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อนั้น ยังไม่ค่อยได้ส่งผลถึงตลาดหุ้นมากอย่างที่ควรจะเป็น เหตุผลอาจจะเป็นว่า ตลาดหุ้นกับตลาดพันธบัตร หรือตลาดของเงินฝากยังไม่ต่อเชื่อมกันเท่าใดนัก นั่นก็คือ คนที่ฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรลงทุน มักจะไม่สนใจลงทุนในหุ้นแม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลง จนให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเงินปันผล หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น เหตุผลอาจจะเป็นเพราะคนเหล่านั้น กลัวความเสี่ยง กลัวว่าหุ้นจะตก ดังนั้น ถึงแม้ว่า สภาพคล่องทางการเงินจะสูง และได้ดอกเบี้ยน้อยลง พวกเขาก็มักจะไม่ย้ายเงินมาลงทุนในหุ้น ดังนั้น ในหลายช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำมากและดอกเบี้ยเหลือเพียง 2-3% กระทิงก็ไม่ได้มา
ปัจจัยข้อสามเป็นเรื่องที่ผมจะเรียกว่าเทคนิคอล นี่ก็คือ การที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงมากโดยมีเหตุผลเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ ดัชนีหุ้นตกลงมามากด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในสภาวการณ์อย่างนั้น ก็อาจจะมีคนที่เห็นว่าเป็นโอกาส ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นที่เขาเห็นว่ามีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน หรือเขาอาจจะคิดว่า อะไรที่ตก "มากเกินไป" มันก็จะต้องปรับตัวขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นเป็นกระทิง เนื่องจากสาเหตุนี้ ก็มักจะมีปริมาณการซื้อขายไม่มากเท่ากับกระทิงที่มาจากสาเหตุอื่น
ในตลาดหุ้นไทย ผมคิดว่ากระทิงที่น่าจะบอกได้ว่า เกิดจากปัจจัยทางด้านเทคนิคน่าจะเกิดขึ้นในปี 2542 ซึ่งดัชนีตลาดปรับตัวขึ้น 35% นี่เป็นการปรับตัวขึ้น หลังจากที่ดัชนีตกต่ำลงมาต่อเนื่อง อันเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ จากดัชนีกว่า 1000 จุด ลงมาเหลือเพียงประมาณ 350 จุดในปี 2541
ปัจจัยข้อที่สี่ก็คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญและมักก่อให้เกิดตลาดกระทิงที่ใหญ่และยั่งยืน เพราะกฎของการลงทุนข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ราคาหุ้นนั้น ในระยะยาวจะต้องปรับตัวตามกำไรของบริษัทเสมอ ข้อนี้ ผมคิดว่าเป็นเหตุผลชัดเจน ที่ก่อให้เกิดตลาดกระทิงในปี 2546 ที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นถึง 117% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมา 13% และ 17% สองปีก่อนหน้านั้น ทั้งนี้เพราะในปี 2546 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรเติบโตขึ้นถึงเกือบ 50% หลังจากฟื้นตัวต่อเนื่องในปีก่อนหน้าจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
ปัจจัยข้อสุดท้ายที่ทำให้เกิดภาวะตลาดกระทิงได้ ก็คือ เรื่องของจิตวิทยาที่เปลี่ยนไป พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเรื่องของอารมณ์ของนักลงทุน ถ้านักลงทุนขาดความมั่นใจมาก ตลาดหุ้นอาจจะตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน ในภาวะที่นักลงทุนมีอารมณ์ดี มีความมั่นใจ และไม่กลัว พวกเขาก็จะเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้มาก บางทีมากกว่าปัจจัยอื่นทั้งหมด และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมบางทีตลาดซึ่งมีค่า PE เฉลี่ย ประมาณ 10-12 เท่า บางครั้งจึงลดเหลือเพียง 8 เท่า และในบางครั้งขึ้นเป็น 15 เท่าหรือแม้แต่ 30 เท่า
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงประมาณก่อนหน้านี้ 2-3 สัปดาห์ อารมณ์ของนักลงทุนไทยไม่ดี เนื่องจากปัญหาทางการเมืองและอื่นๆ สารพัดในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย มีอารมณ์ค่อนข้างดี และไม่ใคร่กังวลกับปัญหาภายในของประเทศไทยนัก แต่ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ดูเหมือนว่า คนไทยก็เริ่มจะอารมณ์ดีขึ้นผิดตา ผมเองสังเกตเห็นจากงานสัมมนาที่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็พบว่า นักลงทุนที่เข้าฟังสัมมนา มีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญนักลงทุนต่างก็มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ดังนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ โอกาสที่ดัชนีหุ้นของปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจนกลายเป็นกระทิงนั้น น่าจะมีอยู่ไม่น้อย เพราะทั้ง "ฝรั่ง" และไทยอาจจะเริ่มอารมณ์ดีพร้อมกันแล้ว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘