เล็กดี รสโต

หุ้นตัวเล็กที่วัดด้วยขนาดของมูลค่าตลาดของหุ้น หรือ Market Cap. ของบริษัทไม่เกินประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือถ้าจะให้ชัดเจนขึ้นอีกก็คือมีขนาดไม่เกิน 2,000-3,000 ล้านบาทนั้น หลายๆ คน โดยเฉพาะที่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนที่มีความคิดอนุรักษนิยม มักมองว่าเป็นหุ้น “เก็งกำไร” พวกเขาอาจจะมีความคิดว่า นักลงทุนที่ระมัดระวังไม่ควรลงทุนในหุ้นเหล่านี้ แต่ควรลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ประเภทที่เรียกว่าบลูชิพ ที่มีความมั่นคงสูงและเสี่ยงน้อยกว่า
ความคิดดังกล่าวนั้น แน่นอน มีความเป็นจริงอยู่มาก แต่บางส่วนก็มาจากข่าวคราวเกี่ยวกับ “หุ้นปั่น” ที่เป็นข่าวประจำวันในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ซึ่งรวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนที่เข้าไปเล่นหุ้นปั่นตัวเล็กๆ เหล่านั้น แต่สิ่งที่คนจำนวนมากอาจไม่ทราบก็คือ ในบรรดาหุ้นตัวเล็กจำนวนมากนั้น ยังมีหุ้นตัวเล็กหลายๆ ตัวที่เป็นหุ้นดี มีความมั่นคง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นหุ้นที่เติบโตเร็วและราคาหุ้นไม่แพง พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เป็นหุ้นคุณค่าที่น่าลงทุนมากกว่าหุ้นตัวใหญ่ๆ มาก
เหตุผลที่หุ้นตัวเล็กมีความน่าสนใจและมีคุณค่าเมื่อเทียบกับราคานั้น อาจจะเป็นเพราะหุ้นตัวเล็กมีคนรู้จัก และติดตามวิเคราะห์โดยนักวิเคราะห์น้อยกว่าหุ้นตัวใหญ่ ทำให้ราคาหุ้นแตกต่างจากมูลค่ามาก นั่นคือ ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และเป็นโอกาสของ Value Investor ที่จะทำกำไรจากการลงทุนถือหุ้นเหล่านี้
เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ หุ้นตัวเล็กนั้น มักมีความผันผวนของราคาสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ พูดในแง่ของวิชาการก็คือ หุ้นตัวเล็กมีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ แต่นี่คือการมองหุ้นตัวเล็กแบบเป็นกลุ่ม ไม่ได้แยกแยะเป็นรายตัวว่า หุ้นตัวไหนดีหรือไม่ดี อย่างไรก็ตาม ถ้ามองโดยเฉลี่ยแล้ว หุ้นตัวเล็กเองก็ยังทำได้ดีกว่าหุ้นตัวใหญ่ในแง่ของผลตอบแทน อย่างน้อยสถิติของตลาดหุ้นอเมริกาเองก็บอกว่า ในระยะยาว 20-30 ปีแล้ว หุ้นตัวเล็กให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นตัวใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลข ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือ หุ้นตัวเล็กจะให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นตัวใหญ่ไม่ต่ำกว่าปีละ 3% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น
สำหรับผมเองนั้น มองย้อนหลังไปเป็นสิบปี ผมเคยลงทุนในหุ้นตัวใหญ่น้อยมาก เหตุผลก็คือ ผมมองหา Value หรือคุณค่าในหุ้นตัวใหญ่ได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับหุ้นตัวเล็ก หุ้นตัวใหญ่พอมีอะไรดีๆ นักวิเคราะห์ที่ติดตามหุ้นกันเป็นสิบๆ คนหรืออาจเป็นร้อย รวมทั้งนักวิเคราะห์จากต่างประเทศที่มีความสามารถสูงมาก ก็จะออกบทวิเคราะห์แนะนำ จนทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วและทำให้ความน่าสนใจของหุ้นลดลง ถ้าผมเล่นหุ้นตัวใหญ่ผมต้องแข่งขันกับเด็กหนุ่มๆ ที่มีทั้งเวลา ข้อมูลข่าวสาร และความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้น โอกาสที่ผมจะชนะในการแข่งขันลงทุน คงจะลดลงไปมาก ในขณะที่ในหุ้นตัวเล็กๆ นั้น ผมแทบจะไม่ต้องแข่งขันกับใคร นอกจาก Value Investor รุ่นใหม่ๆ ที่ยังมีจำนวนไม่มากนัก และถึงจะมีอยู่บ้าง แต่เม็ดเงินที่ลงทุนก็อาจจะยังไม่มากพอที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหากำไรไม่ได้
แรงดึงดูดที่ทำให้ผมชอบลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้น ยังมาจากการที่หุ้นตัวเล็กมักจะมีการเติบโตที่เร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่มาก ลองจินตนาการว่าถ้าหุ้น ปตท.จะโตเป็น 2 เท่านั้น ก็หมายความว่าบริษัทจะมีมูลค่าตลาดถึงประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าทุกวันนี้ ทุกคนในประเทศก็ใช้สินค้าของ ปตท. เกือบจะเต็มที่กันอยู่แล้ว ในขณะที่หุ้นของกิจการที่มีขนาด 1,000 ล้านบาท ถ้าดูแล้วว่าโอกาสที่จะขายสินค้าเพิ่มยังมีอีกมหาศาล โอกาสที่ขนาดของกิจการจะเพิ่มเป็น 2,000 หรือ 3,000 ล้านบาท ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
การลงทุนในหุ้นตัวเล็กนั้น บางทีก็ให้ผลในแง่ของจิตใจและการเข้าถึงข้อมูลด้วยเช่นกัน เรื่องเหล่านี้ ผมเริ่มรับรู้โดยบังเอิญเมื่อการถือหุ้นของผมในบางบริษัทมากกว่า 0.5% ซึ่งในเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลกลายเป็น “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ทั้งๆ ที่ถ้านับเป็นเม็ดเงินที่ลงทุนแล้ว เป็นจำนวนที่น้อยมาก เช่น กิจการมีมูลค่าตลาดทั้งบริษัทเท่ากับ 200 ล้านบาท เรามีหุ้นคิดเป็นเงินเพียง 1 ล้านบาท ก็ถูกจัดให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว และสำหรับบางบริษัทที่มีการดูแลผู้ถือหุ้นดี บางทีเราก็อาจจะได้รับการเอาใจใส่มากขึ้นเป็นพิเศษ การได้รับข้อมูลของบริษัทก็อาจจะสะดวกขึ้น สำหรับนักลงทุนที่โดยปกติจะมีชีวิตของตนเองโดยไม่มีคนที่จะมาเอาอกเอาใจ หรือได้รับการสรรเสริญ เมื่อประสบความสำเร็จอย่างผู้บริหารของกิจการแล้ว การ “ได้รับเกียรติ” ให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทมหาชน ก็เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการติดอันดับเป็นครั้งแรก
ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนในหุ้นบริษัทเล็กจะต้องดีเสมอไป ว่าที่จริงถ้าเราลงทุนอย่างไม่มีการวิเคราะห์ที่ดี หรือมีการลงทุนอย่างสุ่มเสี่ยงเกินไป เช่น ลงทุนในหุ้นน้อยตัวเกินไปโดยที่ความรู้ความเข้าใจของเรายังไม่ดีพอ การลงทุนนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายและอันตรายมากยิ่งกว่าการลงทุนในหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเป็น Value Investor ที่มีประสบการณ์เพียงพอแล้ว และมีความมุ่งมั่นกับการลงทุนในระยะยาว ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เป็นหนทางที่สั้นที่สุดในการที่เราจะประสบความสำเร็จทางการเงิน ถ้าจะให้ผมสรุปเป็นคำขวัญสำหรับเรื่องนี้ ก็คงต้องยกโฆษณาซึ่งผมจำไม่ได้ว่าเป็นโฆษณาของสินค้าใดก็คือ ผมชอบหุ้นประเภท “เล็กดี รสโต”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘