เล่นกับฟองสบู่

ความคึกคักของตลาดหุ้นในช่วงนี้  ซึ่งเห็นได้จากดัชนีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง  บวกกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนทำให้คนเริ่มถามกัน มากว่าตลาดหุ้นตอนนี้เป็น Bubble หรือ “ฟองสบู่” หรือยัง

          ผมคงไม่ฟันธงว่าตลาดหุ้นในขณะนี้เป็นฟองสบู่หรือไม่  ข้อพิสูจน์นั้นจะมาในภายหลัง  ถ้าเวลาผ่านไป 2-3 ปี  ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก  เราก็บอกว่าตลาดในช่วงปี 2553 เป็น “ฟองสบู่”  แต่ถ้าดัชนียังสูงกว่าปัจจุบัน  นั่นก็หมายความว่าตลาดหุ้นในปี 2553 เป็นช่วงตลาดกระทิงที่มีเหตุผลมีพื้นฐานรองรับ   การคาดการณ์ว่าตลาดในขณะนี้เป็นฟองสบู่หรือไม่นั้น  ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ  ประสบการณ์ในอดีต  ทั้งของต่างประเทศและของไทยเองก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เซียนหรือนักวิชาการ ระดับโลกก็อาจจะทำนายผิดได้  ดังนั้น  ผมไม่คาดการณ์  แต่จะอธิบายจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของการเกิดฟองสบู่แต่ละ ครั้งว่าฟองสบู่หุ้นนั้น  มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

          ข้อแรกก็คือ  ฟองสบู่นั้น  มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับ  “ปฏิวัติ” ของเท็คโนโลยีของโลก  เช่น  การเกิดและเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจไฮเท็คและ “ดอทคอม” ในสหรัฐอเมริกา   หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ  “โครงสร้างการทำงานหรือธุรกรรมทางการเงิน” เช่นเรื่องของการบูมของการแปลงหนี้ผ่อนบ้านให้เป็นตราสารซับไพร์มในอเมริกา  หรือถ้าจะพูดให้ใกล้ตัวและเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ  การ “เปิดเสรีทางการเงิน” ของประเทศไทยในปี 2533 หรือเมื่อ 20 ปีก่อนที่ทำให้เงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและก่อให้เกิดฟองสบู่ ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงปลายปี 2536

          ข้อสอง  ฟองสบู่จะเกิดไม่ได้ถ้าตลาดเงิน “ตึงตัว”  นั่นก็คือ  อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงและเงินหายาก  ฟองสบู่นั้นมักเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดเงินมีสภาพคล่องสูงและอัตราดอกเบี้ยใน ตลาดต่ำมาก  การกู้เงินมักทำได้ง่าย  มีการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าโดยไม่เข้มงวดในด้านของความสามารถในการใช้หนี้ คืนและหลักประกันมากนัก  สถาบันการเงินมักจะแข่งขันกันปล่อยเงินกู้  ทำให้ยอดการปล่อยกู้เติบโตสูงกว่าปกติ การที่เงินหาง่ายนั้นทำให้นักเล่นหุ้นสามารถเพิ่มการซื้อหุ้นได้อย่าง “ไม่จำกัด” โดยการใช้หลักทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นหลักประกันในการขอกู้เพิ่มซึ่งก็กลับไปซื้อหุ้นต่อไปเรื่อย ๆ

          ข้อสาม  ฟองสบู่มักจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อฟองสบู่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีมาแล้วซึ่งเท่ากับ “หนึ่งชั่วอายุคน”  เหตุผลก็คือ  เมื่อฟองสบู่ครั้งล่าสุด  “แตก”  คนในรุ่นนั้นก็ขาดทุนกันหนักมากแทบจะล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัว  จำนวนมากออกจากตลาดหุ้นและสั่งสอนลูกหลานว่าตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่ “เลวร้าย” และไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นเลย  นักลงทุนที่ยังเหลืออยู่ก็จะระมัดระวังมากในการลงทุนและคิดว่าหุ้นมีความ เสี่ยงเสมอโดยเฉพาะเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไปมาก  ฟองสบู่ลูกใหม่ที่จะมามักจะเกิดขึ้นจากนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยประสบกับ เหตุการณ์ฟองสบู่แตกมาก่อน  พวกเขาไม่เคยประสบกับ “หายนะ” ของการลงทุน  ดังนั้น  เมื่อตลาดหุ้นบูมมายาวนานและการ “ปรับตัวลง” ของดัชนีหุ้นเป็นครั้งคราวในระยะเวลาสั้น ๆ  มักจะตามมาด้วยการ “ปรับตัวขึ้น”  อย่างรุนแรงและสูงกว่าเดิมอีก  ทำให้นักลงทุน “รุ่นใหม่”  เหล่านี้ “ฮึกเหิม”  จนนำไปสู่การเป็นฟองสบู่ในที่สุด

ข้อสุดท้าย  ฟองสบู่มักเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนละทิ้งวิธีการลงทุนที่คำนึงถึง “มูลค่าที่แท้จริง”  ของกิจการ  สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ตลาดถูก “ยึดครอง”  โดยนักลงทุนที่ขาดความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน  พวกเขาจำนวนมากเป็นคนที่อาจจะเรียกว่า  “หาเช้ากินค่ำ” แต่เข้ามาเล่นหุ้นโดยที่เห็นและคิดว่าการลงทุนซื้อขายหุ้นเป็นสิ่งที่ง่าย และสามารถทำเงินได้รวดเร็วกว่าการทำงานปกติของตนเอง

ไม่ว่าแหล่งหรือ สาเหตุของการเกิดฟองสบู่จะมาจากไหน  แต่ฟองสบู่ทุกครั้งจะเกิดขึ้นจากนักลงทุนที่ซื้อหุ้นเพียงเพราะหุ้นมัน “กำลังจะขึ้น”  กระบวนการนั้นทำให้คนโหมเข้าไปซื้อหุ้นอีกซึ่งทำให้หุ้นขึ้นไปอีก  กลายเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่  จนกระทั่ง “เชื้อเพลิง”  ซึ่งก็คือเม็ดเงินสดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ยืมหรือมาร์จินในการซื้อ ขายหุ้นหมด  ซึ่งก็คือจุดที่ฟองสบู่แตก  และทั้งหมดนั้นก็คือ  “วงจร”ของฟองสบู่ที่มักกินเวลาหลายปี

วิเคราะห์จากสถานการณ์ของตลาด หุ้นไทยในเวลานี้  ปัจจัยในการเกิดฟองสบู่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ผมเห็นว่ายังไม่ชัดเจนนัก  ไล่มาตั้งแต่ข้อหนึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ทางเท็คโนโลยีหรือการเงินอะไรมากนัก  ข้อสอง ในด้านของสภาพคล่องทางการเงินนั้น  ผมคิดว่าประเทศไทยในขณะนี้มีสภาพคล่องที่สูงมากและถือได้ว่าอาจจะเป็น ปัจจัยในการก่อให้เกิดฟองสบู่ได้แม้ว่าในขณะนี้การใช้เงินกู้ยังไม่สูงมาก  อย่างไรก็ตาม  เม็ดเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าของนักลงทุนเองก็มีเหลือล้นและและพยายามหาการลง ทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำมาก  ในข้อสามนั้น  ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้นวันนี้เป็นคนที่ไม่ได้สัมผัสกับ สภาวะฟองสบู่แตกในช่วงวิกฤติปี 2540  ดังนั้นมีโอกาสที่พวกเขาจะมองโลกในแง่ดีและก่อให้เกิดฟองสบู่ได้  สุดท้ายก็คือเรื่องของการมองในด้านของมูลค่าหุ้น ในข้อนี้ผมคิดว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงจุดที่คนไม่สนใจมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเห็นได้จากการที่ ค่า  PE ของตลาดก็ยังไม่สูงเกินไปที่ 14-15 เท่า  นอกจากนั้น  หุ้นที่ผลการดำเนินไม่ดีราคาหุ้นก็ยังไม่ปรับตัวขึ้นเท่าไรนัก  นอกจากนั้น  คนที่เข้าตลาดหุ้นเร็ว ๆ  นี้  ก็ยังไม่ใช่กลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ  แต่เป็นคนที่มีเงินพอสมควร

ข้อสรุปของผมก็คือ  มีปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดฟองสบู่อยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง  ดังนั้น  มีโอกาสที่หุ้นจะขึ้นต่อไปเป็น “กระทิงที่ยาวนาน”  ทำให้คนที่ไม่อยู่ในตลาดหุ้นหรือรีบออกจากตลาดเสียโอกาสไปมาก  เช่นเดียวกัน  มีโอกาสที่มันจะกลายเป็นฟองสบู่ที่ทำให้คนที่มีหุ้นอยู่เสียหายหนักเมื่อพบ ว่า “ฟองสบู่แตก”  และตนเองหนีไม่ทัน   คำแนะนำของผมก็คือ  ในภาวะแบบนี้  ควรถือหุ้นที่มีธุรกิจที่มั่นคงปลอดภัยมีกำไรดีเสมอแม้ว่าฟองสบู่จะแตก  หุ้นเหล่านี้แม้ว่าในช่วงที่ตลาดขึ้นแรงต่อไปจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดยอด  แต่ถ้าเกิดฟองสบู่แตก  มันจะฝ่าอุปสรรคไปได้  ความเสียหายจะไม่ถึงกับเป็นหายนะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘