ปั่นหุ้นคุณค่า

ในระยะหลังๆ นี้ หุ้น "คุณค่า" หลายๆ ตัว วิ่งเหมือนติดจรวดจนดูคล้ายกับเป็น "หุ้นปั่น" หุ้นเหล่านั้น จะถูกปั่นจริงหรือไม่ คงจะบอกได้ยาก แต่ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการปั่นหุ้น "Value" คำตอบของผมก็คือ ลองฟังคำสารภาพของ Jesse Livermore นักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงปี 1923 ก่อนที่จะมีกฎหมาย ก.ล.ต. ที่ห้ามการปั่นหุ้น คำบอกเล่าของเขาปรากฏอยู่ในหนังสือคลาสสิกเรื่อง Reminiscences of a Stock Operator หรือ "บันทึกความทรงจำของนักเล่นหุ้น" และต่อไปนี้ คือเรื่องราวและเทคนิคที่เขาใช้ในการปั่นหุ้นคุณค่า หุ้นที่พูดถึงคือหุ้น Imperial Steel (IS) ซึ่งเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาด มีการทำ IPO โดยการขายหุ้นให้กับประชาชนคิดเป็น 30% ของหุ้นทั้งหมด เจ้าของกิจการเป็นคนที่มีชื่อเสียงดีและหุ้นมีราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าเทรดแล้ว หุ้นก็เงียบเหงา และแม้ว่าโบรกเกอร์ผู้จัดจำหน่ายหุ้นจะบอกว่า กำไรของบริษัทจะดีกว่าที่คาด และแนวโน้มน่าจะดีแต่มันก็ไม่หวือหวา ความน่าสนใจในแง่ของการเก็งกำไรยังไม่มี ในด้านของนักลงทุนเอง ก็ยังไม่แน่ใจในด้านของความแน่นอนของกำไรและเงินปันผลเพราะเป็นหุ้นใหม่ ราคาหุ้นจึงค่อนข้างนิ่ง ไม่ขึ้นและไม่ลง ที่สำคัญกว่าคือ แทบไม่มีการซื้อขาย เรียกว่าเป็นหุ้นตาย คุณซื้อแล้วก็เหมือนเก็บศพ ขายไม่ได้ เพราะราคาจะตกมาก
วันหนึ่งเจ้าของมาติดต่อ Livermore ขอให้ช่วยทำตลาดให้หุ้นมีการซื้อขายคึกคัก และมีราคาสูงขึ้น เพื่อที่ว่ากลุ่มเจ้าของเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 70% จะได้สามารถขายหุ้นได้ในราคาที่ดีขึ้น หลังจากตรวจดู ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการอย่างละเอียด และพบว่ากิจการมีคุณค่าคุ้มกับราคาหุ้นในขณะนั้น Livermore ก็ตอบตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า ข้อแรก เขาจะได้รับสิทธิที่จะซื้อหุ้น IS 100,000 หุ้นที่ราคา 70-100 ดอลลาร์ ซึ่งเขาคิดว่าถึงจะเป็นค่าจ้างที่ดูเหมือนจะมาก แต่ถ้าเจ้าของจะขายเองในตลาดคงจะขายมากขนาดนั้นไม่ได้ อย่างมากก็ขายได้แค่ 50,000 หุ้นที่ 70 ดอลลาร์ ข้อสอง เจ้าของหุ้นทั้งหมดจะต้องนำหุ้นมาเก็บไว้ในทรัสต์ เพื่อกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งแอบขายหุ้นในระหว่างที่เขาจะ "ปั่น" เจ้าของหุ้นตอบตกลง
สิ่งที่ Livermore จะต้องทำก็คือ เขาจะต้องทำตลาดให้หุ้นมีการซื้อขายคล่องและมีราคาที่สูงกว่า 70 ดอลลาร์ เพื่อที่เขาจะได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น 100,000 และขายทำกำไรในตลาดได้ เขาต้องตรวจสอบดูว่า จะมีหุ้นออกมาขายมากน้อยเท่าไรจากโบรกเกอร์ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นคนที่จะรู้ออเดอร์ที่อยู่ในมือ เมื่อเขาพบว่ามีไม่มาก เขาก็กวาดซื้อไล่ราคาที่เริ่มจาก 70 ดอลลาร์ เขารู้ว่าการที่หุ้นวิ่งอย่างถูกต้องจะนำให้มีออเดอร์ซื้อหุ้นตามมา เช่นเดียวกับออเดอร์ขาย ที่จะเข้ามาเหมือนกัน
Livermore ไม่ได้ปล่อยข่าวอะไรเลยเกี่ยวกับหุ้น IS แต่เขารู้ว่าเขาจะต้องสร้างกระแสโดยวิธีการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพื่อ "โฆษณา" ราคาหุ้น เขาคิดว่าข้อมูลที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือจะต้องถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่เขาไม่ต้องทำเอง ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปจะทำหน้าที่นั้นเอง นั่นคือ เมื่อหุ้นวิ่ง คนก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หนังสือพิมพ์ก็จะต้องวิ่งไปหาข้อมูล เพื่อจะอธิบายว่าทำไมหุ้นขึ้น ดังนั้น คนปั่นหุ้นจริงๆ แล้ว ไม่ต้องพูดหรือทำอะไร หนังสือพิมพ์จะเป็นคนเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งข่าวลือต่างๆ Livermore ไม่ต้องพูดเอง แต่ถ้ามีใครมาถาม เขาก็จะแสดงความเห็นสนับสนุน
เมื่อ หุ้น IS วิ่งขึ้นก็มีคนเริ่มซื้อตาม Livermore จะขายหุ้นเพื่อดูแลให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างมีจังหวะจะโคน หลักการก็คือ การดูความต้องการซื้อและขายให้สัมพันธ์กันตลอดเวลา เพื่อสร้างแนวโน้มให้เห็นว่าหุ้นกำลังเป็นกระทิง เมื่อหุ้นขึ้นไปถึงจุดหนึ่งมันก็จะหยุดโดยเฉพาะเมื่อเขาหยุดซื้อและนี่ทำให้ คนที่เข้ามาเล่นผิดหวังและเริ่มขายซึ่งทำให้ราคาเริ่มตกลง เมื่อราคาตกลงถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะเริ่มเข้าไปไล่ซื้อใหม่เพื่อลากราคาขึ้นมาโดยการทำซ้ำแบบเดิมอีก การทำราคาในรอบหลังนั้น เขาจะลากราคาให้สูงกว่าการขึ้นในรอบก่อนหน้าเสมอ การไล่ราคานั้นในบางครั้งเมื่อไม่มีออเดอร์ขายเหลือ เขาก็จะ "กระชาก" ราคาให้หุ้นวิ่งไปแรงมาก เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับหุ้น ซึ่งเขาคิดว่านี่เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม
ในการทำดังกล่าว เขาได้สร้างตลาดให้กับหุ้น IS ทำให้หุ้นมีสภาพคล่องที่ทำให้คนมั่นใจที่จะเข้ามาเล่น เพราะหุ้นนั้นซื้อง่ายขายคล่อง คนไม่กลัวว่าซื้อแล้วจะติดหุ้นขายไม่ได้ ถึงจุดนี้ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเป็น 100 ดอลลาร์ และคนก็เชื่อว่ามีแนวโน้มว่าจะขึ้นไปได้อีก 30% อย่างไม่ยากเย็น ก็ทำไมจะไม่ได้ "มันเป็นหุ้นดี" คนจำนวนมากคิดอย่างนั้น และการที่จะขายหุ้นสัก 100,000 หุ้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหา Livermore ทำสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนี้ หุ้นเริ่มติดตลาด นักลงทุนสถาบันบางรายต้องการหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุน ดังนั้น แทนที่จะขายในตลาด เขาก็ใช้สิทธิซื้อหุ้นราคาต่ำ 100,000 หุ้น และขายให้กับนักลงทุนสถาบันแทน เขาทำกำไรมหาศาลโดยใช้เงินเข้าไปเสี่ยงปั่นหุ้นเพียงเล็กน้อย นั่นคือ เขาซื้อหุ้นไปเพียง 7,000 หุ้น ในราคาเฉลี่ย 85 ดอลลาร์
ทั้งหมดนั้น ก็คือการปั่นหุ้นของเซียนคนหนึ่งในตลาดหุ้นอเมริกันเมื่อกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ เท่าที่ผมดูมีอะไรหลายอย่างใกล้เคียงกับตลาดอเมริกันในวันนั้น และแม้ว่าในวันนี้ของเราจะมี ก.ล.ต. และมีกฎหมายห้ามปั่นหุ้น แต่ผมเชื่อว่ามีหุ้นหลายตัวที่อาจจะมีการปั่นในลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่ การปั่น "หุ้นคุณค่า" อาจจะดูว่าไม่น่ากลัวมองจากสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว ความเสียหายก็อาจจะหนักไม่แพ้การปั่นหุ้นเน่า เหตุผลก็คือ คนมักจะไม่ตระหนักว่าหุ้นนั้นมีการปั่น และคนเข้าไปลงทุนอาจจะไม่ได้ระวัง ในขณะที่หุ้นเน่านั้น คนที่เข้าไปเล่นต่างก็ระวังตัวกันมาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘