อาวุธนักลงทุน

การลงทุน ก็เหมือนการต่อสู้ เราต้องมี "อาวุธ" ที่จะใช้ คนที่มีอาวุธที่เหนือกว่า มักจะได้เปรียบและสามารถเอาชนะคนที่มีอาวุธน้อยกว่า หรือด้อยกว่า ความสามารถในการใช้ "อาวุธ" ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน บางคนมีอาวุธดีแต่ใช้ไม่เป็น อาจจะแพ้คนที่มีอาวุธที่ด้อยกว่า แต่มีความชำนาญในการใช้สูงกว่า
"อาวุธ" นักลงทุนนั้น ผมคิดว่าเราสามารถแบ่งออกเป็น 4 อย่างที่สำคัญๆ ด้วยกัน ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ กับนักมวยไทยที่มีอาวุธหลักๆ 4 อย่าง นั่นคือ การเตะ ต่อย เข่า และศอก ส่วนของนักลงทุนนั้น มันคือ ข้อมูล การวิเคราะห์ ความรู้และสไตล์เกี่ยวกับการลงทุน และพฤติกรรมและอารมณ์ นักมวยนั้น ถ้าหากจะให้ดีหรือเก่งมาก ควรมีฝีมือครบเครื่องอย่างนายขนมต้มแต่ก็มักจะหาได้ยาก เช่นเดียวกัน นักลงทุนที่จะได้เปรียบสุดๆ ก็ควรจะมีครบเครื่อง แต่เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะเจอคนแบบนั้น
อาวุธชิ้นแรกคือ ข้อมูลของบริษัทหรือหุ้นที่เราจะลงทุน โดยทั่วไปคนที่มีความรู้ หรือมีอาวุธชิ้นนี้ดีที่สุดก็คือ "คนภายใน" หรือ INSIDER นี่คือ ผู้บริหารระดับสูง หรือคนที่คุมบัญชีและการเงินของบริษัท คนเหล่านี้จะรู้ว่า ฐานะและผลการดำเนินงานในระยะสั้นถึงกลางจะเป็นอย่างไร เขารู้ว่าจะมีข่าวดีเมื่อไร และที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ เขารู้กระบวนการดำเนินงานของบริษัทอย่างทะลุปรุโปร่ง และรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ หรือผลการดำเนินงานของกิจการ ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว ถ้าคนภายในเข้ามาเล่นหุ้นของบริษัทแล้ว พวกเขามักจะมีแต้มต่อนักลงทุนอื่น แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะบางทีอาวุธเพียงชิ้นเดียวคือข้อมูลนั้น อาจจะไม่เพียงพอ ทำให้บางครั้งพวกเขาก็ขาดทุนหรือ "ขายหมู" คือขายหุ้นเร็วเกินไปในราคาต่ำอยู่บ่อย ๆ
เรื่องของข้อมูลนั้น เป็นเรื่องของการทำงาน หรือความขยันของนักลงทุนเสียมาก นั่นก็คือ คนที่ขยันทุ่มเท ก็มักจะรู้ข้อมูลมากกว่าคนที่ขี้เกียจหรือไม่มีเวลา โชคดีที่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้การหาข้อมูล "พื้นฐาน" ของบริษัทเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
การหาข้อมูล "ภาคสนาม" นั่นก็คือ การหาข้อมูลโดยการพูดคุยกับฝ่ายบริหารหรือพนักงานบริษัท และการไปสังเกตการณ์การทำงานของธุรกิจจริงๆ ก็มีส่วนช่วยได้ค่อนข้างมาก เพราะข้อมูลภาคสนามนั้น จะให้ภาพที่ชัดเจน และเราจำและเข้าใจได้มากกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ถ้ารักจะเป็นนักลงทุนผู้มุ่งมั่น เราต้องขยันหาข้อมูล
อาวุธชิ้นที่สอง คือ การวิเคราะห์ นี่คือการเอาข้อมูลมา "ตีความ" ข้อมูลของคนสองคนอาจจะเหมือนกันหรือเท่าๆ กัน แต่การตีความอาจจะต่างกันมาก การวิเคราะห์นั้น ก็คือ กระบวนการในการนำข้อมูลจำนวนมากมาประกอบกันและพิจารณาว่า ธุรกิจน่าจะดำเนินไปอย่างไรในอนาคต
ธุรกิจจะดีขึ้นหรือเลวลง และด้วยความน่าจะเป็นเท่าไร ราคาของหุ้นในปัจจุบันสมเหตุสมผลหรือไม่ และมันควรจะขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหนเพราะอะไร? คนที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ การแข่งขัน การตลาด และอื่นๆ แล้ว ยังมักจะต้องอาศัยประสบการณ์อยู่ไม่น้อย
การวิเคราะห์เองนั้น ยังมีประเด็นที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มันควรจะสอดคล้องกับสไตล์และกลยุทธ์การลงทุนของเราด้วย เช่น ถ้าเราลงทุนแบบ "ก้นบุหรี่" คือลงทุนในบริษัทที่มีราคาถูกเป็นหลัก เราก็คงต้องมองไปที่ผลการดำเนินงานระยะสั้น หรือหาว่าอะไรจะเป็นแรงขับให้คนเข้ามาซื้อหุ้นและทำให้ราคาพุ่งขึ้นไป อย่างน้อยก็ "ชั่วคราว" ที่ทำให้เราขายได้กำไร แต่ถ้าเราเป็นคนที่ชอบลงทุนในหุ้นแบบซูเปอร์สต็อก หรือหุ้นที่เติบโตไปยาวนาน เราต้องวิเคราะห์หาหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องไปนานมาก
อาวุธชิ้นที่สาม คือ ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน นี่คือความรู้ทั่วๆ ไป เช่น เรื่องของการกระจายความเสี่ยง สถิติผลตอบแทนของตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุนแบบต่างๆ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถจะครอบคลุมได้หมดรวมถึงเรื่องที่เราอาจจะนึกไม่ออกว่าเกี่ยวข้องกับหุ้นอย่างไร
ดังนั้น อาวุธชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องที่บอกได้ยากว่าใครเหนือกว่าใคร ถ้าเราจะได้เปรียบในอาวุธชิ้นนี้ เราควรจะต้องเป็นคนที่รอบรู้มาก เป็นคนที่รู้เรื่องในวงการสำคัญๆ ที่หลากหลายมาก ว่าที่จริง ผมเองสังเกตเห็นว่า นักลงทุนระดับตำนานหรือโดดเด่นมากๆ ในโลกนั้น ล้วนแต่มีความรู้ความเข้าใจใน "โลก" สูง
พูดถึงความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ผมคงต้องเพิ่มเติมว่า กลุ่มนี้น่าจะรวมถึงการเลือกสไตล์ หรือกลยุทธ์การลงทุนของเราด้วย นั่นก็คือ อย่างน้อยเราควรจะต้องรู้ว่า กลยุทธ์อะไรที่ให้ผลตอบแทนสูงมองจากสถิติ หรือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เสร็จแล้วเราคงต้องดูว่าเรามีความเข้มแข็งตรงไหน และเราควรเลือกที่จะเป็นนักลงทุนแบบไหน
อาวุธชิ้นสุดท้าย คือ พฤติกรรมและอารมณ์ของเราเอง นี่เป็นอาวุธที่น่าจะเรียนรู้และปฏิบัติได้ยากที่สุด ข้อมูลนั้น เราอาจจะตามกันได้ทัน หรือบางทีก็สามารถจ้าง หรือขอจากคนอื่นได้ง่าย การวิเคราะห์เองนั้น ด้วยประสบการณ์ หรือเวลาก็อาจช่วยให้เราแหลมคมขึ้น ความรู้และสไตล์การลงทุนเองก็เป็นสิ่งที่ไขว่คว้าและตามกันไปได้ไม่ยาก แต่เรื่องของพฤติกรรมและอารมณ์ บางที บางคนอาจจะได้เปรียบคนอื่นได้ตลอดไป
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ แต่มันหมายความว่า คนบางคนสามารถจะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลกว่าคนอื่น เพราะเขาสามารถเรียนรู้ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยามวลชนได้ โดยที่เขาไม่เป็นส่วนหนึ่งของมัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่นั้นทำไม่ได้แม้ว่าพวกเขาจะฉลาดและรอบรู้ไม่แพ้กัน
ลองคิดดูครับว่า เรามีอาวุธครบเครื่องไหม? มีน้อยที่นักมวยจะชนะแบบฟลุ้ค การลงทุนก็เช่นเดียวกัน อย่ามีจุดอ่อนด้านใดมากเกินไป และพยายามใช้อาวุธที่ตนเองเก่งให้มากที่สุด ความสำเร็จจะตามมา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘