กองทุนรวมตราสารหนี้...หลากหลายประเภทเลือกลงทุนตามเหมาะสม

นักลงทุนหลายท่านคงพอทราบประเภทต่างๆ ของตราสารหนี้กันมาแล้ว จากที่ได้เคยนำเสนอไปคราวก่อน ครั้งนี้เรามาดูการแบ่งประเภทกองทุนตราสารหนี้กันบ้าง เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยประเภทของกองทุนตราสารหนี้ มีดังนี้

   1. กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) เป็น กองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น โดยจะไม่ลงทุนในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น รวมถึงตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยเพราะ ธรรมชาติของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนนั้นมักให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ที่มีความสม่ำเสมอ นอกจากนี้แม้ว่าราคาของตราสารหนี้เองอาจจะมีความผันผวนขึ้นลงได้ตามสภาวะ ตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้ก็ ยังผันผวนไม่มากเท่ากับตราสารทุน
     2. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็น กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือจะครบกำหนดชำระคืน หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น กองทุนรวมตลาดเงินมีลักษณะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ ความมั่นคงของเงินสูง และสภาพคล่องสูง เมื่อขายคืนสามารถรับเงินได้ภายใน 1 วัน เหมาะสำหรับเงินที่รอใช้จ่าย หรือรอลงทุนแทนการพักเงินในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีความปลอดภัยสูง และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง
     3. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปและเงินฝาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่เตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ และเป็นการสร้างหลักประกันอันมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษในการนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาสูงสุดถึง 15% และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกบข.แล้วไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และต้องลงทุนอย่างต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้รวมทั้งปี ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามความเหมาะสมของตนเองได้
     4. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ(Foreign Investment Fund-Fixed Income) วัตถุประสงค์ของกองทุนจะระดมเงิน ที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนประเภทนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการกระจายการลงทุนไป ยังต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตราสารหนี้ใหม่ๆ สำหรับลงทุนและเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามการลงทุนในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวน ของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะป้องกันความเสี่ยงโดยการทำสัญญาซื้อขายเงิน ตราต่างประเทศล่วงหน้า(Forward) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวไว้ ดังนั้นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม ผู้มีเงินออมเป็นอย่างมาก เช่น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกองทุนนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐของ ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น
     5. กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Capital Protected Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่บริษัทจัดการมีการวางแผนการลงทุน เพื่อให้คุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจะนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปและเงินฝากซึ่งมีความเสี่ยง ต่ำแต่จะมีการนำเงินส่วนน้อยอีกส่วนหนึ่งไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูง ขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเฉลี่ยกับเงินลงทุน ส่วนใหญ่แล้วมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นจึงมักจะมีข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาในการ ถือครองหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองเงินต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน โครงการ ซึ่งบริษัทจัดการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต. กำหนดไว้ในการจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานก.ล.ต. ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมประเภทนี้
     6. กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Index Fund-Fixed Income) มีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ ตัวอย่างดัชนีตราสารหนี้ เช่น ThaiBMA Government Bond Index สำหรับประเทศไทยนั้นกองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้มิได้มีให้เลือกลงทุน เนื่องจากการมีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำของตราสารหนี้ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ดังนั้นกองทุนรวมดัชนีที่มีให้นักลงทุนเลือกลงทุน จึงเป็นกองทุนรวมดัชนีตราสารทุนซึ่งมีการอ้างอิงการลงทุนตามดัชนี SET 50 หรือ SET 100 เป็นต้น
     7.กองทุนรวมอีทีเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้(Exchange Traded Fund-Fixed Income) มีการลงทุนในตราสารหนี้ตามสัดส่วนมูลค่าของตราสารหนี้แต่ละประเภทที่มีอยู่ ในตลาด เพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ แต่กองทุนรวมประเภทนี้มีลักษณะเด่นที่ต่างจากกองทุนรวมประเภทอื่น คือ กองทุนรวมประเภทนี้ถูกนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองทุนรวมประเภทนี้มีสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนมากกว่ากองทุนรวม อื่น
     8. กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Country Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะพิเศษ คือ กองทุนจะเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลที่มีภูมิลำเนานอกประเทศ เพื่อระดมเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย
     นอกจากการแบ่งประเภทของกองทุนตราสารหนี้ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้ว สมาคมบริษัทจัดการลงทุนยังมีแบ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ตามอายุ (Duration) การลงทุน คืออายุ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 2 ปี 5 ปี และแบบไม่กำหนดDuration ซึ่งการแบ่งประเภทกองทุนที่มีความละเอียดเช่นนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลง ทุนของผู้ลงทุนแต่ละท่านทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลผลการดำเนินงานของกอง ทุนตราสารหนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.aimc.or.th

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘