"ผู้หญิง&ผู้ชาย" กับจุดอ่อนทางการเงิน

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เราต่างก็มีข้อบกพร่องอยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น แม้กระทั่งเรื่องของเงินๆ ทองๆ ทั้งหญิงและชายต่างก็มีจุดอ่อนด้วยกันทั้งสิ้น

ฝ่ายหญิงอาจเป็นโรคชอปปิงกะปริบกะปรอย แต่ฝ่ายชายก็ใช่ย่อย ไม่ซื้อหรอกทีละนิด แต่ถ้าจ่ายก็เล่นของหนักไปเลย

ฝ่ายหญิงเห็นป้าย "Sale" แล้วนั่งไม่ติด ฝ่ายชายชอบสังสรรค์นอกบ้านเป็นชีวิตจิตใจ

ยังมีนิสัยของทั้งหญิงและชายอีกหลายแบบ ที่เป็นจุดอ่อนทางการเงิน จึงขอรวบรวมบางจุดอ่อนจากมุมมองของคนในแวดวงเงินมานำเสนอ
@หญิงช้อปถี่-ชายจ่ายเงินเพื่อของชิ้นใหญ่

ถึงแม้จะเคยมีตัวเลข ทางสถิติระบุว่า ผู้หญิงหารายได้น้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงใช้จ่ายมากกว่าผู้ชาย ผู้ชายสิ้นเปลืองเงินไปกับการสังสรรค์มากกว่า

แต่ ในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีจุดอ่อนทางการเงินด้วยกันทั้งสิ้น ในสังคมที่ถูกกระแสวัตถุนิยมแผ่ปกคลุม ยิ่งเป็นแรงขับให้ "จุดอ่อน" ทางการเงิน ของชายและหญิงมากขึ้นทุกวัน และดูเหมือนไม่น้อยหน้ากัน จุดอ่อนเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ลองมาฟังนักการเงินเหล่านี้ดู เริ่มจากจุดอ่อนของฝ่ายหญิงกันก่อน
@โรคเสพติดการชอปปิงอย่างรุนแรง

"ดารบุษป์ ปภาพจน์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ จุดอ่อนทางการเงินของฝ่ายหญิงที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ โรคเสพติดการชอปปิงอย่างรุนแรง ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า Compulsive Shopping Disorder หรือ CSD ในสหรัฐมีผู้มีลักษณะเช่นนี้อยู่ประมาณ 8% ของประชากรโดยรวม ส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิง

โรคนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก มากขึ้นในประเทศเอเชียตามความเจริญด้านวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะสำคัญ คือ จะรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งกับการได้ซื้อข้าวของจำนวนมากเกินความจำเป็น และเริ่มรู้สึกเสียใจเมื่อซื้อของกลับบ้านมาแล้ว โดยทั่วไปคนเหล่านี้จะเก็บของเหล่านั้นไว้โดยแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย บางครั้งเก็บไว้ทั้งๆ ที่ยังติดป้ายราคาไว้ก็มี

"สำหรับผู้หญิงส่วน ใหญ่มักจะเป็นเสื้อผ้า และรองเท้า ในขณะที่ผู้ชายจะเป็นจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือหนังสือ ลักษณะเช่นนี้มักเกิดกับผู้ที่ซึมเศร้า ต้องการชอปปิงเพื่อคลายความเครียด เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่มีรายได้สูง และรายได้ต่ำ แต่ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ส่งผลให้ไม่มีเงินออมมาลงทุน และยังนำไปสู่การเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งในรูปบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วน บุคคลอีกด้วย" ดารบุษป์ให้ทัศนะ

"สหัทยา สรรค์ประสิทธิ์" ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.วรรณ มองว่า การชอปปิงของผู้ชายและผู้หญิงจะไม่ต่างกันในแง่ของหลักการ คือเน้น "ตามแฟชั่น" หรือความ "Intrend" ไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่พฤติกรรมความชอบที่แตกต่างกันทำให้รายละเอียดของการชอปปิงจะต่างกันมากที เดียวและวิธีคิดในการเลือกก็ไม่เหมือนกันเลย พฤติกรรมความชอบที่แตกต่างกันนี้เองทำ ให้เกิดจุดอ่อนของการชอปปิงของผู้หญิงและชายแตกต่างกัน

"ผู้หญิง ชอบของแต่งตัว ทำให้ต้องตามแฟชั่นบ่อยๆ และต้องซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ" ความเห็นของสหัทยา
@แพ้ป้ายลดราคาและของแถม

จุดอ่อนทางการเงินของผู้หญิงยังมีอีก หลายอย่าง ดารบุษป์บอกว่าจากประสบการณ์มีอยู่หลายข้อด้วยกัน เช่นแพ้ป้ายลดราคา คือ เห็นป้าย Sale สีแดงจะทนไม่ได้ต้องซื้อทันที ไม่ว่าของที่ลดราคานั้น จะเป็นการลดจากราคาที่เพิ่มขึ้นมาแล้วเพื่อลด หรือเป็นของที่ซื้อไปก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแพ้ของแถม คือ ต้องการได้ของแถม จนยอมซื้ออะไรก็ตาม แม้ไม่แน่ใจว่าจะมีประโยชน์กับตนเองหรือไม่ เพื่อให้ได้ของแถม ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าเดินทาง กล่องอเนกประสงค์ กระติกน้ำร้อน-เย็นในตัว เป็นต้น ซึ่งบางครั้งของแถมเหล่านี้ก็มิได้มีคุณภาพดี แถมบางครั้งมีไว้มากเกินจำเป็น จนเป็นภาระในการจัดเก็บอีกด้วย

อีก อย่างหนึ่งที่ผู้หญิงเห็นทีไรเป็นใจอ่อน คือ แพ้สินค้ารุ่นพิเศษ ผลิตในจำนวนจำกัด หรือไม่มีผลิตอีกแล้ว (Limited Edition) อันนี้เป็นทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ซึ่งต้องการเป็นเจ้าของสิ่งที่พิเศษแตกต่าง โดยบ้างก็คาดหวังว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากตามความจำกัดของสินค้า สำหรับผู้หญิงจะเป็นกระเป๋า น้ำหอม ในขณะที่ผู้ชายก็ไม่แพ้กัน แต่จะหนักไปในสินค้าที่คงทนกว่า เช่น นาฬิกา หรือ รถยนต์

สหัทยา มองสอดรับกับดารบุษป์ว่า ผู้หญิงชอบของลดราคา เพราะมีความรู้สึกว่าคุ้มค่ามากหากซื้อของตอนที่ลดราคา และจะกระหน่ำขนซื้อเก็บ เอาไว้เยอะๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบมาก จนบางครั้งเหมือนซื้อไปทิ้ง เพราะซื้อไปเยอะมากจนลืมว่าซื้ออะไรไปบ้าง แล้วไม่ได้หยิบมาใช้ หรือพอนึกขึ้นได้ว่าเคยซื้อมา ของที่ซื้อมานั้นก็เก่าจนเสื่อมคุณภาพไปแล้วก็มี นอกจากยังมีจุดอ่อนเรื่อง ชอบของแถม ผู้หญิงจะตัดสินใจซื้อของได้ง่ายขึ้นหากมีของแถมให้ ซึ่งร้านเครื่องสำอางต่างๆ ก็รู้ใจผู้หญิงดี เลยต้องทำโปรโมชั่นมีของแถมมาล่อใจตลอดทั้งปี บางครั้งผู้หญิงบางคนแค่ต้องการซื้อเครื่องสำอางแค่ชิ้นเดียว พอหลงเข้าไปซื้อก็จะโดนคนขายจูงใจให้ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าถ้ายอดซื้อเพิ่มขึ้นจะได้ของแถมที่ดีขึ้นไปอีก พอได้ยอดซื้อระดับหนึ่งก็จะจูงใจต่อว่าเอาอีกไหม ถ้าเอาจะขออันนี้เพิ่มให้อีก ซึ่งกลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลมากกับสุภาพสตรีทั้งหลาย ทำให้บางครั้งออกจากร้านมาจะได้สินค้าที่ตัวเองไม่ต้องการออกมาอีกเพียบ และก็เอามาเก็บไว้พร้อมกับความภูมิใจว่า "ซื้อแล้วคุ้ม" แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งซื้อไปแล้วก็แทบไม่ได้ใช้ก็มี "ผู้หญิงชอบซื้อของกระจุกกระจิก เพราะเห็นว่าราคาไม่แพง ตัดสินใจซื้อง่าย แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อซื้อบ่อยๆ เข้าก็คิดเป็นจำนวนเงินเยอะเหมือนกัน บางครั้งใช้ไม่กี่ครั้งก็เลิกใช้แล้ว" สหัทยาให้ความเห็น
@ แพ้แฟชั่น&ระยะเวลาจำกัด

จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งที่ดารบุษป์ บอกว่าเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นประจำคือ อาการแพ้แฟชั่น จริงๆแล้วเรื่องตามแฟชั่นเป็นเรื่องปกติ แต่บางคนก็ตามแฟชั่นจนเกินพอดี เช่น นักเรียนนักศึกษาหันมาดัดฟันแบบแฟชั่น ทั้งที่ตนเองไม่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันเลย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จุดอ่อนที่เกิดขึ้นบ่อยคือ แพ้ระยะเวลาจำกัด ประเภทสินค้าที่ต้องโทรมาเวลานี้จึงจะมีสิทธิซื้อ หลายคนซื้อของมาโดยยังไม่ได้เปรียบเทียบราคา หรือใคร่ครวญอย่างจริงจังว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซื้อหรือไม่
@ใช้อารมณ์ตัดสินใจมากกว่าเหตุผล

"วศิน รัตนกรกุล"ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง ให้ความเห็นว่า จุดอ่อนทางการเงินของผู้หญิงคือเป็นเพศที่ใช้อารมณ์เยอะกว่าเหตุผล เพราะฉะนั้นเวลามีสิ่งอะไรมากระตุ้นหรือยั่วยุ ก็ตัดสินใจที่จะซื้อหรือจ่ายได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่นักการตลาดมักจะหากลยุทธ์มาดึงดูดได้ง่าย เพราะตรงนี้เป็นจุดอ่อน
@ขี้กลัวจนปิดโอกาสลงทุน

อีกเรื่องหนึ่ง ที่วศินมองว่าเป็นจุดอ่อนของผู้หญิง คือมีความขี้กลัวและขี้กังวลมากกว่าฝ่ายชาย ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะพื้นฐานของผู้หญิงที่เป็นเพศที่รอบคอบ และมีความระมัดระวังสูง ตรงนี้มองอีกทีกลายจะเป็นจุดแข็ง แต่ถ้าเกินจุดที่พอดี มันก็จะกลายเป็นการที่ตัดสินใจช้า หรือตัดสินใจไม่ได้ กลายเป็นความขี้กลัวก็ปิดโอกาส

ฟังจุดอ่อนทางการเงินของฝ่ายหญิงกันไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูจุดอ่อนทางการเงินของฝ่ายชายกันบ้าง
@จ่ายเพื่อสร้างการยอมรับ

ดารบุษป์มองว่า สำหรับผู้ชายนั้น โดยทั่วไป แม้ดูเหมือนจะมีจุดอ่อนน้อยกว่า แต่หากพิจารณาในแง่จำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปนั้นก็ส่งผลให้ประสบปัญหาทางการ เงินได้ไม่แพ้กัน

จุดอ่อนของฝ่ายชาย โดยมากเป็นการจ่ายเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้หญิง เช่น อาสาจ่ายค่าอาหาร ออกค่าตั๋วหนัง หรือพาไปเที่ยว ซึ่งถ้าเป็นครั้งคราวอาจไม่กระทบกับกระแสเงินสดนัก แต่โดยทั่วไปในช่วงแรกของความสัมพันธ์ก็คงจะเกิดขึ้นบ่อย อาจเป็นทุกวัน เป็นระยะเวลานานเป็นปี ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยน เพราะสังคมไทยคาดหวังให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว สามารถดูแลเลี้ยงดูผู้หญิงได้ ดังนั้น ทางแก้คงต้องพยายามยอมรับความจริงกับคนรัก หากเริ่มรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกินกำลัง
@สังสรรค์&เพื่อเข้าสังคม

จุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งของฝ่ายชาย ที่ดารบุษป์มองเห็นคือ ฝ่ายชายมักจะติดนิสัยยังสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เข้าสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อครั้งมักจะค่อนข้างสูง และเป็นภาระตามความถี่ที่มากขึ้น

ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นว่า เรื่องของการเข้าสังคม การสังสรรค์ และเฮฮากับเพื่อนฝูงนั้น ฝ่ายชายจะมีในจุดนี้มากกว่า
@ซื้อความทันสมัย&ของไฮเทค

นอกจากนี้ ดารบุษป์ยังมองว่าฝ่ายชายยังมีจุดอ่อนที่ต้องการการยอมรับในหมู่เพื่อนฝูง ว่าใช้ของทันสมัยที่สุด เช่น โทรศัพท์มือถือที่บางเท่านามบัตร หรือมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่คนทั่วไปอาจไม่เคยจำเป็นต้องใช้เลยในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

"สำหรับทางแก้จุดอ่อนเหล่านี้ได้ เราต้องอาศัยการบริหารจิตใจให้เข้มแข็ง และเสริมด้วยการจัดทำบัญชีงบประมาณรับ-จ่ายเป็นประจำ เพื่อให้เห็นภาพการใช้จ่ายโดยรวม และที่สำคัญ คือ กลยุทธ์ Pay Yourself First โดยการตัดบัญชีเงินเดือนไปออมเงินอัตโนมัติผ่านกองทุนรวม ก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งก็จะช่วยให้แก้ปัญหาจุดอ่อนทางการเงินได้ในระดับหนึ่ง" ดารบุษป์ให้ข้อคิด

สอดรับกับ สหัทยามองว่า ผู้ชายมักจะชอบซื้อสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ต้องวิ่งตามซื้อเวลามีสินค้าใหม่ๆ ออกมา ทำให้สินค้าที่ซื้อมาราคาลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ทำให้คุณผู้ชายเสียเงินกับของเหล่านี้เยอะมาก
@หมดเงินกับของชิ้นใหญ่&ไม่ต่อราคา

สหัทยามองว่าจุดอ่อนที่ เกิดขึ้นกับผู้ชายอยู่เป็นประจำคือ ชื้อของไม่สืบราคาก่อน ชอบก็ซื้อเลย ทำให้โปรโมชั่นการลดราคาและของแถม ใช้ไม่ได้ผลมากกับผู้ชาย แพงแค่ไหนก็จะซื้อเลย ไม่ชอบรอให้ถึงเวลาลดราคา

นอกจากนี้ ยังชอบซื้อของชิ้นใหญ่ๆ ที่ต้องใช้การตัดสินใจและการวิเคราะห์มากๆ ทำให้เงินหมดไปกับของไม่กี่ชิ้นและดูเหมือนว่าทำงานมาตั้งนานแต่เงินที่สะสม มีไม่มาก เพราะหมดไปกับของชิ้นใหญ่ราคาแพง

"ผู้ชายเขาจะมียี่ห้อ สำหรับสินค้าแต่ละชนิดอยู่ในใจ ถ้านึกถึงสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งขึ้นมา ก็จะมียี่ห้อของตัวเองไว้ในใจ พอจะซื้อก็ตรงไปที่สินค้านั้นทันที เพราะถือว่าได้เลือกและลองมาแล้ว ดังนั้นจึงถือว่ามี Brand Royalty มากกว่าผู้หญิงที่ชอบทดสอบของใหม่ๆ" มุมมองของสหัทยา

วศินมองในแง่ มุมของการใช้จ่าย ว่าจริงอยู่ฝ่ายหญิงอาจจะมีพฤติกรรมการชอปปิงที่บ่อยและถี่กว่าฝ่ายชาย แต่ฝ่ายชายเวลาซื้อของก็ซื้อราคาแพงไปเลย ผู้ชายหลายคนยังมีอารมณ์ชอบซื้อของเหมือนเด็ก คือซื้อเพราะอยากได้ หรือ ซื้อเพราะสร้างความเพลิดเพลิน สนองไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งตรงนี้อาจจะต่างกับตอนที่ตัดสินใจลงทุน

"เรื่องการใช้จ่าย เดี๋ยวนี้ทั้งผู้หญิงผู้ชายใช้เงินเก่งพอๆ กัน ผู้หญิงอาจจะชอบชอปปิงตามห้าง ผู้ชายก็พร้อมจะจ่ายให้กับกิจกรรมที่พวกเขาชอบ กอล์ฟ ดำน้ำ จักรยาน ยิงปืน ซึ่งแพงทั้งนั้น"
@มั่นใจในความคิดของตัวเองมากเกินไป

วศินมองว่า จุดอ่อนของฝ่ายชายคือการที่บางทีมั่นใจในตัวเองมากเกินไป และตัดสินใจเร็วเกินไป ก็กลายเป็นว่าทำให้ในบางเรื่องถลำลึกจนถอนตัวไม่ขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ชายบางคนก็มีอีโก้สูง แต่โดยรวมๆ ผู้ชายมักตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่า

"ผมมองในแง่ของการลงทุน ที่บางทีความกลัวของผู้หญิงก็ปิดโอกาสให้ตัวเอง แต่ฝ่ายชายมักจะเป็นฝ่ายมองหาโอกาส ผู้ชายลงทุนอย่างผจญภัยมากกว่า กล้าได้กล้าเสีย มั่นใจ แต่ตรงนี้ก็เหมือนดาบสองคม" วศินให้แง่คิด
ทั้ง หมดนี้ เป็นจุดอ่อนทางการเงินของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ที่บอกได้เลยว่า ไม่น้อยหน้ากัน คุณล่ะ มีจุดอ่อนทางการเงินตรงไหนบ้าง ถ้ารู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง ก็พยายามกำจัดจุดอ่อนตรงนั้นซะ ท่องเข้าไว้ เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘