จังหวะชีวิตกับการลงทุน เปลี่ยนปุ๊บ..ปรับปั๊บ

“พอแต่งงานไปได้พักใหญ่ ก็เริ่มมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เห็นทีต้องเปลี่ยนบ้านหลังใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม” ไม่ว่าช่วงจังหวะไหนของชีวิตก็ย่อมต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
 เช่นเดียวกับในโลกการลงทุน ที่ผู้ลงทุนควรหมั่นปรับรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงชีวิตของตัวเอง เรียกได้ว่าพออายุเปลี่ยนปุ๊บ เงื่อนไขในชีวิตเปลี่ยนปั๊บ แผนการลงทุนก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับจังหวะชีวิต ณ ขณะนั้น
 หากจะจำแนกแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม โดยเริ่มตั้งต้นจากช่วงอายุต่างๆ อาจแบ่งเป็น 4 ช่วงอายุดังนี้
 รุ่นใหม่ไฟแรง อายุระหว่าง 21-30 ปี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน ใช้ชีวิตอิสระ กล้าได้กล้าเสีย หากคิดจะลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนแบบเสี่ยงมากได้ เช่น ลงทุนในหุ้นที่ถึงแม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนก็สูงเช่นกัน และถ้าเกิดผิดพลาด เช่น หุ้นตก ขาดทุน ก็ยังเหลือเวลามากพอที่จะแก้มือได้ใหม่
 รุ่นก่อร่างสร้างตัว อายุระหว่าง 31-40 ปี คนส่วนใหญ่ในช่วงวัยนี้มักไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ถึงแม้จะเริ่มมีหน้าที่การงานมั่นคง แต่รายจ่ายก็มักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อความรับผิดชอบครอบครัวก็เยอะ รายจ่ายก็แยะ การลงทุนที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้จึงควรลดปริมาณหุ้นที่เสี่ยงลง หันมาเพิ่มการลงทุนที่เสี่ยงต่ำให้มากขึ้น เช่น ลงทุนพวกตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ที่ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่แน่นอน เป็นต้น
 รุ่นก่อนเกษียณ อายุระหว่าง 41-55 ปี ถือเป็นช่วงที่มีความมั่นคงสูงในหน้าที่การงานและรายได้สูง ขณะที่หนี้สินบางอย่างก็เริ่มลดลง แต่เนื่องจากเวลาการทำงานเริ่มลดน้อยถอยลง คนในช่วงวัยนี้จึงคิดเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณมากขึ้น จึงไม่ค่อยอยากเสี่ยงกับการลงทุน การเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำเน้นความปลอดภัยของเงินต้น ที่แม้จะได้ผลตอบแทนไม่มากแต่ได้ชัวร์ จึงดูจะเหมาะกับคนในช่วงวัยนี้
 รุ่นนับถอยหลังสู่วันเกษียณ อายุ 55 ปีขึ้นไป เหลือเวลาอีกไม่นานแล้วกับการหารายได้ การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงอายุนี้จึงน่าจะพุ่งเป้าไปที่ความปลอดภัยของเงิน ต้นให้มากที่สุด โดยอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ที่เงินต้นอยู่ชัวร์แถมได้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝาก
 เลือกลงทุนที่ใช่ พอใจในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พร้อมปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้สอดรับกับจังหวะชีวิตอยู่เสมอ แล้วโอกาสบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม และสำหรับสมาชิก กบข. เตรียมพบกับโครงการแผนการลงทุนกับ กบข.ปลายปีนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘