เปิดตัว "เซียนหุ้น..พันล้าน" เสี่ยอ้วน.."ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล"

"กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" เปิดตัว "เสี่ยอ้วน" ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล เซียนหุ้น..พันล้าน (อีกคน) ของตลาดหุ้นไทย ที่มีบุคลิก "โลว์ โฟรไฟล์" แต่ชอบทำกำไรแบบ "ไฮ โฟรฟิท" แม้จะ "จน" ชื่อเสียง แต่สุด "ร่ำรวย" คอนเนคชั่น..รู้จักเขาที่นี่ที่เดียวเท่านั้น

ด้วยอุปนิสัยที่ค่อนข้างเก็บตัว ทำให้หลายคนอาจรู้จัก "ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล" เพียงผิวเผิน...ในฐานะผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ "โรงพยาบาลวิภาวดี" แต่น้อยคนที่จะเข้าใจเหตุผลและวิธีการเล่นหุ้นระดับ "พันล้าน" ของเขา ที่แม้แต่ "เซียน" ยังต้องเรียก "พี่"

"ชัยสิทธิ์" เปิดเผยเทคนิคเริ่มแรกว่า ผมจะตั้งรูปแบบของพอร์ตหุ้นเสียก่อน โดยวางสัดส่วน 80% เป็นการลงทุนระยะยาว กับอีก 20% จะกันไว้เพื่อเล่นแบบซื้อเร็วขายเร็ว คือจะเล่นไปตามกระแส เมื่อมีข่าวว่าหุ้นตัวนั้นดี

ทีมข่าว กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ตรวจสอบหุ้นทุกตัวในพอร์ตของ "ชัยสิทธิ์" พบว่า พอร์ตของเซียนหุ้นรายนี้มีมูลค่าสูงกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า "ชัยสิทธิ์" อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับหุ้นเก็งกำไรในตลาดหุ้น...จนร่ำรวยขึ้นมา

โดยเฉพาะ "ไดนาสตี้ เซรามิค" (DCC) ถือเป็นตัวหลักประจำพอร์ต ที่มีมูลค่ากว่า 627 ล้านบาท

"กล้าพูดได้ว่าผมไม่เคยไปทำอะไรให้ชื่อตัวเองเสียหายในวงการตลาดหุ้น และคงไม่ใช่ทีเดียวหากจะบอกว่าผมเป็นนักเล่นหุ้นรายใหญ่ ก็อยากให้ไปดูพอร์ตหุ้นของผม จะเห็นได้ว่ามันไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว แต่เป็นเพราะผมชอบ...ซื้อสะสม"

ส่วนที่มาของหุ้น DCC นั้น มันเป็นหุ้นที่ผมถือมานานแล้ว เพราะไปซื้อตั้งแต่สมัยที่เข้าไปเทคโอเวอร์พร้อมๆ กับ "รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา" (ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และประธานบริษัท) และตอนนั้นซื้อมาแค่หุ้นละ 8 บาท

"เชื่อมั้ย!! ต้นทุนหุ้นของผมตัวนี้...ถูกมากๆ ตอนนั้นลงทุนไปแค่ 20 กว่าล้านบาท เพราะธุรกิจมันยังขาดทุนอยู่ แล้วเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี"

จนเมื่อเราก็เข้ามาปรับปรุงงาน เปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งต้องยกเครดิตส่วนใหญ่ให้คุณรุ่งโรจน์ ทำให้ตอนนี้มูลค่าหุ้น DCC เฉพาะพอร์ตของผม...มันขึ้นมาตั้งกว่า 600 ล้านบาท

"แล้วอย่างนี้ถามว่าเราไปปั่นหุ้นมั้ย! นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผม"

แม้มูลค่าหุ้นของผม รวมทั้งพอร์ตแล้วจะมากกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เอาแค่ DCC กับ VIBHA ก็ล่อไปเกือบพันล้านแล้ว ผมจะมีคติว่า...ถ้าหุ้นตัวไหนที่ผมไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร ผมก็จะไม่ใส่เงินลงทุนมากเกินไป

ส่วนเหตุผลในการเข้าไปลงทุนในหุ้นของ "ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม" (TFD) เป็นจำนวนถึง 20.38% ก็อย่างที่บอกสไตล์ทำงานของผม ถ้าเราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานหรือบริหาร...ผมก็จะถือหุ้นนั้นแต่ น้อย แต่นี่เพราะผมเป็นกรรมการบริษัท

แล้วการตั้งข้อสังเกตว่า นักวิเคราะห์ "ไม่แนะนำ" ให้ลงทุนใน TFD หลังจากปีก่อน (2548) ไปขายสินทรัพยดี (พร็อพเพอร์ตี้) ไปให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้บริษัทไม่น่าจะมีความสามารถทำกำไรได้มากเท่ากับปีก่อนๆ แล้วทำไมผมกลับเข้าไปลงทุน

"ก็ขอถามว่า? แล้วทำไมทุกคนต้องมีมุมมองหรือคล้อยไปตามกับคนวิเคราะห์ด้วย พวกนักวิเคราะห์ที่มันวิเคราะห์หุ้น...เจ๊งไปกี่บริษัทแล้ว" ชัยสิทธิ์ กล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า

ธุรกิจจำเป็นต้องมีการวางแผนลงทุน เพื่อขยายกิจการ การที่นักวิเคราะห์มองว่า TFD เอาสินทรัพย์ดี (พร็อพเพอร์ตี้) ไปขายให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์...ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะหยุดเพียง เท่านี้ ...ปี 2549 เราก็ยังจะมีโครงการอีกหลายโครงการที่จะซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อมาทำโครงการต่อ เราจะค่อยๆ สร้างสินค้าใหม่ขึ้นมา เอาเข้ามาในบริษัท เพื่อสร้างกำไร

"ที่ขายพร็อพเพอร์ตี้เดิมออกไปเพราะต้นทุนทางธุรกิจมันสูง แล้วเรายังได้สภาพคล่องเข้ามาอีกตั้งหลายร้อยล้าน หนี้สินก็ลดลง จะไปกู้เงินลงทุนเพิ่มก็สบาย ทุกอย่างมันลงล็อกหมด แล้วจะไม่ให้ผมมั่นใจได้ยังไง"

"ชัยสิทธิ์" ส่งสัญญาณอย่างเปิดเผยว่า เขาจะซื้อหุ้น TFD เพิ่มอีก...โดยจะมีการแจ้งตลาดเมื่อซื้อ

"เมื่อเราเข้าไปเหนื่อยแล้ว ก็จะใช้สมองของผมทำธุรกิจให้ดี จะทำให้มันมีคุณภาพด้วย และระยะยาว...ไม่ใช่ระยะสั้น"

โดยรับรองว่าต่อไป TFD จะต้องเป็นหุ้นคุณภาพ...มีข้อแม้ว่า "ถ้าผมยัง (บริหาร) อยู่นะ"

แต่วันใดที่ผมไม่อยู่...ก็ตัวใครตัวมัน เพราะถ้าผมออกมาหรือขายหุ้น นั่นเพราะผมไม่สามารถทำให้มันมีคุณภาพได้ตามต้องการ ถ้าของไม่ดีแล้วผมจะอยู่ทำไม

ส่วนที่มีชื่อเขาเข้าไปถือหุ้นใหญ่ (21.29%) ใน "บ.พีเออี (ประเทศไทย)" (PAE) ซึ่งอยู่ในหมวดฟื้นฟูกิจการนั้น "ชัยสิทธิ์" ยอมรับว่า เตรียมที่จะขายหุ้นตัวนี้ทั้งหมด (8.15 ล้านหุ้น) ด้วยสาเหตุเพราะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการแห่งนี้ได้

เซียนหุ้นรายนี้ยอมรับว่า ทุกเหตุผลในการลงทุนเกิดขึ้นจากเนื้อประสบการณ์ที่ได้จากการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเคยทำให้ "ขาดทุน" มาหลายร้อยล้าน

"ผมเริ่มเล่นหุ้นตั้งแต่สมัยที่ SET ไปอยู่ที่ระดับ 1,700 จุด หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติ ตอนนั้นเห็นเขาบอกกันว่า...เล่นหุ้นกำไรดี ผมก็เอาด้วย แต่ตอนนั้นกลับเจ๊งหุ้นไปกว่า 200 ล้านบาท ยอมรับว่าช่วงนั้นยังเล่นหุ้นไปค่อยเป็น โบรกเกอร์ให้ซื้ออะไรเราก็ซื้อตาม"

ในพอร์ตของ "ชัยสิทธิ์" วันนั้นมีตั้งแต่หุ้น "ฟินวัน" "ศรีมิตร" และ "ยูนิเวส" เป็นต้น

"กลุ่มนี้ผมมีหมดเลย แล้วก็เสียทุกตัว เพราะตอนนั้นมันปั่นกันหมด คนบริหารก็ไม่โปร่งใส ถึงวันนี้ผมยังเก็บใบหุ้นเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้เราสัญญากับตัวเองว่า เมื่อไรที่มีโอกาสเข้ามาถือหุ้นและได้บริหารงานในบริษัทใดก็ตาม ผมจะต้องไม่มีวันที่จะทำชั่วๆ อย่างนั้นเด็ดขาด และจะไม่ทำให้คนอื่นเขาต้องมารับความเสียหายไปกับเรา...รับรองได้"

แล้วบาดแผลของ "ชัยสิทธิ์" ก็เหมือนจะหายสนิท เพราะเงินที่เขาเสียไปตอนนั้น สามารถเอากลับคืนมาได้ทั้งหมด

"หลังเสีย 200 ล้านบาท ไปกับหุ้นปั่น ผมก็มาเอาคืนจากเนื้อธุรกิจที่เราทำจริงๆ ...แค่ DCC ตัวเดียววันนี้ผมได้มาตั้ง 500 กว่าล้านบาท แล้วยังมาได้ปันผลต่อปีอีกถึง 40 ล้านบาท"

และทุกวันนี้ผมยังมีเงินลงทุนในหุ้นไว้อีกจำนวนมากตั้งแต่ "บ.น้ำมันพืชไทย" (TVO) ซึ่งผมถืออยู่ตั้ง 3 ล้านหุ้น "บ.กุลธรเคอร์บี้" (KKC) ...ผมก็ถือ "โมเดิร์นฟอร์ม" (MODERN) ผมก็มี ...รวมถึง "บ.โรแยล ซีรามิค" (RCI) ก็เป็นหุ้นที่เรารู้จักตัวอุตสาหกรรมอย่างดี

หลายตัวผมก็ลงทุนแบบ "ซื้อลืม" ไปเลย อย่าง "ธ.เกียรตินาคิน" (KK) ผมก็มีประมาณล้านกว่าหุ้นแล้ว ก็ถือมาตั้งแต่สมัยที่ SET มันยังแตะอยู่แถวๆ 200 กว่าจุดนั่น จนตอนนี้ KK มันไป 36 บาทแล้ว

"หุ้นพวกนี้มันมีทั้งกำไรและเงินปันผล หลังจากรับปันผล ผมก็จะเอาเงินปันผลนั้นไปซื้อหุ้นเพิ่มอีก ไม่ได้มีการเทรดอะไรมากมาย แล้วอย่างผมนี่ไม่รู้จะเรียกว่าปั่นหุ้นได้อีกเหรอ แล้วพอร์ตของผมแต่ละปีแทบจะไม่มีการซื้อขาย แม้จะมีหุ้นเยอะก็จริง แต่มันก็กระจายๆ กัน"

ส่วนการเล่นแบบเก็งกำไร...ก็มีบ้าง แม้แต่ "หุ้นปิคนิค" (PICNI) ผมก็เคยซื้อ!!

"ตอนนั้นราคาสูงกว่า 10 บาท ผมก็ไปซื้อมา 2-3 ล้านหุ้น แต่ผม "หนีทัน"

เขาอธิบายเทคนิคทำกำไรจาก "หุ้นปิคนิค" ครั้งนั้นว่า ด้วยนิสัยเป็นคนชอบตัวเลข ตอนนั้นเห็นหุ้น "ปิคนิค" มันผิดธรรมชาติมาก จำได้ว่า "วอร์แรนท์" แทบไม่มีการซื้อขาย...คนกลับไปนิยมซื้อหุ้นแม่

ปกติซื้อวอร์แรนท์มันก็คือ "ซื้ออนาคต" ถ้าหุ้นในอนาคตของคุณจะเติบโต ราคาวอร์แรนท์จะต้อง "นำหน้า" หุ้นแม่

แต่ตัวนี้วอร์แรนท์มันกลับถอยลง...และเยอะด้วย

"ตอนนั้นราคาตัวแม่ (PICNI) เฉลี่ยอยู่หุ้นละ 17 บาท แต่ผมซื้อตัวลูก (PICNI-W1) เฉลี่ยที่ราคา 12 บาทกว่า ต่างกันตั้ง 4 บาทกว่า ลองไปถามนักวิเคราะห์ก็ตอบผมไม่ได้ เราก็ลุยซื้อตัวลูกอย่างเดียว เขาก็เตือนว่ามันไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ผมบอกไม่เป็นไร เพราะอีกไม่กี่วันผมก็จะแปลงเป็นตัวแม่แล้ว แล้วผมก็จะมีสภาพคล่องเอง

ผมก็ซื้อ หลังจากแปลงเป็นตัวแม่เสร็จ ผมขายเกลี้ยงเลย กำไรทันที"

นี่เพราะเราคลุกคลีกับมันจนรู้...คือ มันมีเซนส์ จนสามารถอ่านนิสัยมันถูกว่าต้องอย่างไหน รู้ก่อนแล้วว่าต้อง "หนีเร็ว" แต่ตอนที่ราคามันลงมา ผมก็ยังซื้ออีก ขึ้นไปหน่อยก็ขาย...ผมก็กำไรอีก

เขายืนยันว่า "ไม่มีอินไซด์ ผมเดาเอาเอง มันเป็นเซนส์"

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘