แผนภูมิแบบแท่ง BAR CHART

ป็นตัวแสดงการเคลื่อนไหวของระดับราคาของหุ้น ที่มีลักษณะเป็นแท่งในแนวดิ่ง ที่ประกอบไปด้วยราคาสูงสุด ต่ำสุด ราคาเปิด และราคาปิด แผนภูมิแบบแท่งสามารถให้เห็นถึงความต้องการซื้อ (DEMAND) และความต้องการขาย (SUPPLY) ที่เกิดขึ้นจากการสังเกตที่ราคา ถ้าปิดค่อนข้างไปทางสูงของแท่งราคา แสดงว่าวันนั้นมีความต้องการซื้อมาก แต่ถ้าราคาปิดค่อนข้างไปทางต่ำของแท่งราคา แสดงว่าวันนั้นมีความต้องการขายมาก

เมื่อเราสังเกตราคาจากแผนภูมิแบบแท่งในอดีต ทำให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่า ราคาหุ้นตัวนี้จะมีแนวโน้มไปทางไหน

การวิเคราะห์รูปแบบของราคา (PRICE PATTERN) จากแผนภูมิแท่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

* รูปแบบของราคาที่บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางใหม่ (REVERSAL TREND)

* รูปแบบของราคาที่บอกถึงทิศทางต่อเนื่อง (CONTINUATION TREND)

* รูปแบบของราคาที่จะไปได้ทางใดทางหนึ่ง (SIDEWAYS PATTERN)


รูปแบบของราคาที่บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางใหม่
(REVERSAL TREND)



เมื่อมีรูปแบบนี้เกิดขึ้น แผนภูมิแบบแท่งจะบอกถึงสัญญาณเตือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มของราคา โดยมีรูปแบบที่สำคัญ ๆ อยู่ 7 แบบ ดังนี้

* รูปแบบตัววี (V FORMATION)

* รูปแบบหัวกับไหล่ (HEAD & SHOULDERS)

* รูปแบบสองหัวหรือสามหัวที่จุดต่ำ และสองหัวหรือสามหัวที่จุดยอด (DOUBLE/TRIPLE BOTTOMS & DOUBLE/TRIPLE TOPS)

* รูปแบบจาน (THE ROUNDING TURN)

* รูปแบบสามเหลี่ยมแบบปลายกว้าง (BROADENING TRIANGLE)

* รูปแบบช่องว่าง (GAP)

* รูปแบบเกาะ (ISLAND)





รูปแบบตัววี (V FORMATION)



เกิดจากการเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในลักษณะขึ้นหรือลงเป็นเส้นชัน โดยมีรูปคล้ายกับตัว V ในหุ้นขาลง (V-Bottom) โดยจะบอกถึงการเปลี่ยนแนวโน้มจากลงเป็นขึ้น และตัว V กลับหัวในหุ้นขาขึ้น (V-Top) โดยจะบอกถึงการเปลี่ยนแนวโน้มของหุ้นจากขึ้นเป็นลง อย่างไรก็ดี รูปแบบตัว V นี้ควรจะเกิดพร้อมกับรูปแบบ KEY REVERSAL DAY กล่าวคือ สำหรับหุ้นขาลง ในวันที่ราคาหุ้นลงต่ำสุด ราคาปิดจะสูงกว่าราคาสูงสุดของวันก่อนหน้า ในทางตรงกันข้าม สำหรับหุ้นขาขึ้นในวันที่ราคาหุ้นขึ้นสูงสุดราคาปิดจะต่ำกว่าราคาต่ำสุดของวันก่อนหน้า โดยทั้งสองกรณี จะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา

หรือรูปแบบตัว V นี้ควรจะเกิดพร้อมกับรูปแบบเกาะ (ISLAND) ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในหัวเรื่องของ รูปแบบเกาะ (ISLAND)





รูปแบบหัวกับไหล่ (HEAD & SHOULDERS)



แบ่งเป็น



หัวกับไหล่ที่จุดยอด (HEAD & SHOULDERS TOP)



บอกถึงการเปลี่ยนทิศทางของราคาหุ้นจากแนวโน้มขึ้นเป็นลง ประกอบด้วย 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดจะเรียกว่า หัว (HEAD) ส่วนยอดที่ต่ำลงมาจะเรียกว่า ไหล่หรือบ่า (SHOULDERS) โดยปริมาณการซื้อขายในแต่ละยอดจะลดลงตามลำดับ และมีเส้นเชื่อมตรงฐานเรียกว่า เส้นคอ (NECKLINE) และเส้นนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวนอนเสมอไป แต่ไม่ควรจะเป็นเส้นที่ชันมากเกินไปเช่นกัน เมื่อราคาหุ้นตกทะลุผ่านเส้นคอ (NECKLINE) พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าราคาจะมีแนวโน้มไปในทางลง จึงควรขาย ณ จุดนี้





หัวกับไหล่ที่จุดต่ำ (HEAD & SHOULDER BOTTOMS)



มีลักษณะเหมือน HEAD & SHOULDER TOPS แต่กลับหัว และเมื่อราคาหุ้นทะลุผ่านเส้นคอ (NECKLINE) พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น แสดงถึงแนวโน้มของราคาหุ้นกำลังจะขึ้น จึงควรซื้อ ณ จุดนี้





หัวกับไหล่แบบซ้ำซ้อน (COMPLEX HEAD & SHOULDERS)



เป็นรูปแบบที่ซับซ้อนซึ่งอาจจะมียอดอยู่ที่ไหล่ 2 ยอด ในแต่ละข้างหรืออาจจะมีหัวคล้ายกัน 2 หัว การดูแนวโน้มของราคาจะเหมือนกับ HEAD & SHOULDERS ทั้ง 2 แบบข้างต้น คือ ถ้าเกิดตอนขาขึ้นและเป็นหัวตั้งให้ขาย เมื่อราคาทะลุเส้นคอ (NECKLINE) ลงมา ในทางตรงกันข้ามถ้าเกิดตอนขาลงและเป็นหัวกลับ ให้ซื้อเมื่อราคาทะลุเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นไป





ข้อสังเกต หุ้นที่ทะลุผ่านเส้นคอ อาจจะทะลุขึ้นหรือลงไปได้ระยะทางอย่างน้อยเท่ากับระยะห่างจากส่วนหัวถึงเส้นคอ



รูปแบบ สองหัวหรือสามหัวที่จุดต่ำ และสองหัวหรือสามหัวที่จุดยอด (DOUBLE/TRIPLE BOTTOMS & DOUBLE/TRIPLE TOPS)



กรณีสองหัว (DOUBLE TOPS)



รูปแบบของราคาจะมีลักษณะคล้ายตัว M โดยจะมียอด 2 ยอดปริมาณการซื้อขายหุ้นในยอดแรก จะมากกว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในยอดที่ 2 หลังจากนั้นราคาจะลดลงและทะลุผ่านเส้นคอลงไป ซึ่งถือว่าเป็นจุดให้ขาย โดยระยะทางที่จะลงไปได้นั้นอาจจะลงไปได้อย่างน้อยเท่ากับระยะห่างระหว่างยอดถึงเส้นคอ





กรณีสามหัวที่จุดยอด (TRIPLE TOPS)



รูปแบบนี้จะมียอดอยู่ 3 ยอด โดยปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงในแต่ละยอดตามลำดับ โดยยอดแรกจะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมากที่สุด และในยอดที่ 3 ขณะที่ราคากำลังลดลงและตัดเส้นคอ ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเปลี่ยนแนวโน้มเป็นลง และควรขาย ณ จุดที่ราคาตัดเส้นคอลงมา





กรณีสองหัวที่จุดต่ำ (DOUBLE BOTTOMS)



รูปแบบคล้ายตัว W มีลักษณะในทางกลับกันกับกรณีสองหัวที่จุดยอด (DOUBLE TOPS) โดยกรณีสองหัวที่จุดต่ำ (DOUBLE BOTTOMS) จะบอกถึงตลาดกำลังจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขึ้น จึงควรซื้อ ณ จุดที่ราคาตัดเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นมา





กรณีสามหัวที่จุดต่ำ (TRIPLE BOTTOMS)



มีลักษณะในทางกลับกันกับกรณีสามหัวที่จุดยอด (TRIPLE TOPS) โดยให้ซื้อเมื่อราคาตัดเส้นคอ (NECKLINE) ขึ้นมา





รูปแบบจาน (THE ROUNDING TURN)



ราคาหุ้นจะก่อตัวคล้ายรูปจานโดยแบ่งเป็น



รูปแบบจานหงาย (ROUNDING BOTTOM)



มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลง แล้วจะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่ขึ้น บอกถึงแนวโน้มที่จะขึ้น





รูปแบบจานคว่ำ (ROUNDING Top)



มีลักษณะคล้ายจานคว่ำ บอกให้ทราบถึงว่าราคามีแนวโน้มจะลดลง โดยมีลักษณะที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะสูงขึ้นเมื่อราคาลดต่ำลง





รูปแบบสามเหลี่ยมแบบปลายกว้าง (BROADENING TRIANGLE)



มีลักษณะประกอบด้วยยอดสูง 3 ยอด โดยแต่ละยอดจะสูงกว่ายอดเดิม ในขณะที่เส้นเชื่อมของฐาน 2 ฐาน มีลักษณะเอียงลง โดยรูปแบบของราคามีการเริ่มต้นเป็นไปอย่างแคบ ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายตัวออกไป รูปแบบนี้จึงบอกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นจะรุนแรงมาก ถ้าทะลุออกนอกเส้นสามเหลี่ยม ทางด้านบนหรือด้านล่าง แต่ส่วนมากจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลงมากกว่า





รูปแบบช่องว่าง (GAP)



เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อหรือขายหุ้นโดยเกิดช่องว่างระหว่างราคาในลักษณะที่มีการกระโดดขึ้นหรือลง โดยในช่วงแนวโน้มขาขึ้น (UPTREND) ช่องว่างจะเกิดขึ้นถ้าราคาต่ำสุดของวันปัจจุบันสูงกว่าราคาสูงสุด ของ เมื่อวานในทางตรงกันข้าม ช่วงแนวโน้มขาลง (DOWNTREND) จะเกิดเมื่อราคาสูงสุดของวันปัจจุบันต่ำกว่าราคาต่ำสุดของวันก่อนหน้า โดยรูปแบ่งช่องว่าง แบ่งเป็น



COMMON GAP



เกิดขึ้นในหุ้นที่ซื้อขายกันน้อยหรือขาดสภาพคล่อง ช่องว่างชนิดนี้ไม่มีความสำคัญ เพราะไม่สามารถบอกทิศทางของราคาหุ้น



BREAKAWAY GAP



เกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นทะลุออกจากรูปแบบที่ก่อตัวมาครั้งก่อน เช่น การทะลุผ่านเส้นคอของรูปแบบ HEAD & SHOULDERS โดยรูปแบบ BREAKAWAY GAP นี้เป็นการเริ่มต้นวิ่งของแนวโน้มใหม่ และควรจะเกิดพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูง



CONTINUATION/RUNAWAY GAP



เมื่อราคาวิ่งมาระดับหนึ่ง (โดยส่วนใหญ่จะประมาณครึ่งทางของแนวโน้มทั้งหมด) แล้วเกิดการกระโดดห่างออกจนเป็นช่องว่างจากราคาเดิม โดยมีปริมารการซื้อขายปานกลาง จะเรียกว่า CONTINUATION GAP ดังนั้น เมื่อเห็น GAP ชนิดนี้เกิดขึ้น เราอาจสันนิษฐานได้ว่าหลังจากนั้นราคาจะสามารถวิ่งต่อไปได้อีกเท่ากับระยะทางที่วิ่งมาแล้ว



EXHAUSTION GAP



เป็นการกระโดยขึ้นหรือลงของราคาครั้งสุดท้าย หลังจากนั้น ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลงหรือขึ้นจนมีระดับต่ำกว่าหรือสูงกว่า GAP ครั้งก่อน (เป็นการปิด GAP) โดยปริมาณการซื้อขายหุ้นจะมีเข้ามาสูงมาก และอาจเกิดรูปแบบคล้ายคลึงกับเกาะ (ISLAND) โดยการปิด GAP นี้นั้นจะเกิด GAP ใหม่ขึ้นมา หลังจากนั้นราคาจะเปลี่ยนแนวโน้มไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว ซึ่ง GAP ชนิดนี้หากเกิดภายหลังจาก BREAKAWAY GAP และ CONTINUTION GAP จะช่วยให้การวิเคราะห์น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น



หมายเหตุ การจ่ายปันผล (XD) และการให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XR) ที่อาจก่อให้เกิด GAP จะไม่นำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้ม





รูปแบบเกาะ (ISLAND)



อาจเกิดขึ้นตรงจุดสูงสุดของรูปตัว V กลับหัว (ISLAND TOP) โดยมีลักษณะที่ราคาหุ้นจะขึ้นติดต่อกันเป็นระยะ จนถึงจุดสูงสุด หลังจากนั้นราคาก็จะตกลงอย่างรุนแรง จนมีลักษณะแบบ BREAKAWAY GAP ซึ่งรูปแบบนี้ปกติจะเกิดขึ้นต่อจาก EXHAUSTION GAP



ในทางกลับกันอาจเกิดขึ้นตรงจุดต่ำสุดของรูปตัว V (ISLAND BOTTOMS) โดยมีลักษณะที่ราคาหุ้นจะลงติดต่อกันเป็นระยะ จนถึงจุดต่ำสุด หลังจากนั้นราคาจะขึ้นอย่างรุนแรง






รูปแบบของราคาที่บอกถึงทิศทางต่อเนื่อง
(CONTINUATION TREND)



เป็นการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นมากอ่นหน้านี้ มี 2 รูปแบบ คือ FLAG และ PENNANT



รูปแบบธง (FLAG)



แบ่งเป็น 2 แบบ คือ BULLISH FLAG และ BEARISH FLAG



รูปแบบธงของแนวโน้มขึ้น (BULLISH FLAG)



เกิดขึ้นเมื่อราคาวิ่งขึ้นมาในลักษณะที่ชันมากแล้วปรับตัวเคลื่อนไหวในช่วงแคบ โดยที่การขึ้นครั้งที่ 2 จะต่ำกว่ายอดแรก และฐานที่ 2 จะต่ำกว่าฐานแรก โดยในช่วงนี้ปริมาณการซื้อขายจะลดต่ำลงด้วย และเมื่อใดการขึ้นสามารถทะลุผ่านจุดสูงในยอดเก่าได้ พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงเด่นขึ้น จะบอกแนวโน้มว่าหุ้นจะขึ้นต่อ





รูปแบบธงของแนวโน้มลง (BEARISH FLAG)



เกิดขึ้นเมื่อราคาวิ่งลงมาในลักษณะที่ชันมาก แล้วปรับตัวเคลื่อนไหวในลักษณะตรงข้ามกับรูปแบบธงของแนวโน้มขึ้น และเมื่อราคาทะลุผ่านฐานต่ำเก่าลงไป จะบอกแนวโน้มว่าหุ้นจะลงต่อ





รูปแบบธงปลายแหลม (PENNANT)



ช่วงแรกของการเคลื่อนไหวเป็นแบบช่วงกว้าง ๆ หลังจากนั้นก็จะแคบลงจนมีลักษณะคล้ายปลายแหลม จะเกิดการทะลุผ่านปลายแหลมของเส้นธงด้านบน หรือด้านล่าง แล้วดำเนินตามแนวโน้มเก่าที่เกิดขึ้นมาก่อนการสร้างรูปแบบธงปลายแหลมนี้





หมายเหตุ

· ในการวิ่งขึ้นหรือลงนี้ อาจจะไปได้ไกลเท่ากับระยะที่วิ่งขึ้นหรือลงมาครั้งแรก

· ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดน้อยลงในระหว่างการก่อตัว และเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการทะลุผ่าน

· การก่อตัวไม่ควรเกิน 3 สัปดาห์ ถ้านานกว่านั้น ผู้ลงทุนควรใช้ความระมัดระวัง

· ทั้ง FLAG AND PENNANT ใช้กับการวิเคราะห์ในแนวโน้มขึ้นมากกว่าในแนวโน้มลง


รูปแบบของราคาที่จะไปได้ทางใดทางหนึ่ง
(SIDEWAYS PATTERN)

มี 2 ลักษณะคือ RECTANGLE หรือ TRIANGLE

รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (RECTANGLE)



เกิดจากการเคลื่อนไหวของราคาไปทางด้านข้าง (SIDEWAYS) ทำให้เกิดเส้นหนุน (SUPPORT LINE) และเส้นต้าน (RESISTANCE LINE) ในลักษณะเส้นขนานในแนวนอน ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงตามลำดับ และในช่วงต่อมาราคาสามารถทะลุผ่านเส้นขนานทางด้านบนหรือด้านล่างด้วยปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นไปตามแนวโน้มที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้





รูปสามเหลี่ยม (TRIANGLE)

SYMMETRICAL TRIANGLE



เกิดจากราคาหุ้นเคลื่อนไหวแบบ SIDEWAYS แล้วแคบลง เมื่อลากเส้นเชื่อมจุดยอดอย่างน้อย 2 จุด และเชื่อมจุดฐานอย่างน้อย 2 จุด จะมาพบกันเป็นมุมแหลม จากนั้นโดยส่วนใหญ่ราคาจะทะลุผ่านขึ้น หรือลงจากยอดปลายแหลมตามแนวโน้มที่มาก่อนหน้านี้ โดยที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงขณะที่มีการก่อตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม และจะมากขึ้นเมื่อทะลุผ่านเส้นปลายแหลมไปได้





THE RIGHT-ANGLE TRIANGLE



เป็นรูปแบบที่น่าเชื่อถือกว่า SYMMETRICAL TRIANGLE มีสองรูปแบบ คือ


ASCENDING TRIANGLE



เป็นรูปสามเหลี่ยมที่สร้างจากเส้นที่ลากต่อกันระหว่างจุดยอดกับจุดยอดในแนวราบ และเส้นที่ลากระหว่างฐานกับฐานจะเอียงขึ้น เมื่อราคาหุ้นวิ่งทะลุผ่านเส้นแนวต้านทางด้านบนขึ้นได้ จะเป็นสัญญาณให้ซื้อ แต่ถ้าทะลุเส้นแนวรับลงมาข้างล่าง จะไม่มีความหมายสำหรับการวิเคราะห์





DESCENDING Triangle



เป็นรูปสามเหลี่ยมที่สร้างจากเส้นที่ลากต่อกันระหว่างจุดยอดกับจุดยอด ในลักษณะเอียงลง และเส้นลากระหว่างฐานกับฐาน จะเป็นไปในแนวราบ เมื่อราคาหุ้นวิ่งทะลุผ่านเส้นแนวรับลงมาทางด้านล่างได้ จะเป็นสัญญาณให้ขาย แต่ถ้าทะลุเส้นแนวต้านขึ้นไป จะไม่มีความหมายสำหรับการวิเคราะห์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘