Asset Play

หุ้นประเภทที่มีทรัพย์สินมาก และมีมูลค่าหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดของมูลค่าทรัพย์สินมากนั้นมีจำนวนไม่น้อยครับ
ถ้าเป็นตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตลาดอย่างสหรัฐอเมริกานั้นหุ้นส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของรายย่อย หรือ free float สูง เพราะหลายบริษัทมีอายุยาวนานคือเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 2-3 แล้วและมีอาจจะมีการเพิ่มทุนจนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ลดลง มาเรื่อยๆ หุ้นตัวไหนที่มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงแต่มีการบริหารที่ไม่ดีและผลกำไรต่ำ จะมีกองทุนหรือบริษัทอื่นเข้าไป take over เพื่อบริหารกิจการแทน หรือเข้าไป take over แล้วชำแหละบริษัทนั้นๆ ออกขายแยกส่วนและได้กำไรในจำนวนมากกลับไป

อาจจะฟังดูเหมือนว่าไม่ดีว่าทำไมตลาดอย่างสหรัฐถึงปล่อยให้มีการ take over แบบที่เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทเดิมไม่เต็มใจ หรือที่เรียกว่า hostile takeover ซึ่งดูผิวเผินแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จริงๆ มันส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากครับเพราะมันช่วยให้การจัดการในสินทรัพย์ที่ เป็นปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น กล่าวคือ สินทรัพย์ที่ดีจะถูกเปลี่ยนมือหากเจ้าของสินทรัพย์นั้นใช้มันอย่างด้อย ประสิทธิภาพไปยังเจ้าของใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและ productivity ในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีที่ดินอยุ่แปลงหนึ่งมีสภาพที่ดินอุดมสมบูรณ์มาก แต่เจ้าของที่ดินกลับปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะซื้อเก็งกำไร หากมีใครมาขอซื้อแล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนและมีราคาสูง ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากที่ดินพื้นนั้นก็สูงขึ้นและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของ ประเทศ ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ของตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วแม้จะไม่สนับสนุนการทำ hostile takeover แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามหรือตั้งข้อจำกัดอะไรมากมาย
นอกจากนี้ ข้อดีของการปล่อยให้มีการทำ hostile takeover อีกอย่างก็คือเป็นการบังคับให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการให้ความสำคัญกับ ผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมไปถึงราคาหุ้น กิจการที่ดีและปล่อยให้ราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานนานๆ ซึงอาจจะเกิดจากนโยบายบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีกำไรสูงๆ แต่จ่ายปันผลต่ำและเก็บเงินสดในบริษัทไว้มากเกินความจำเป็น หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลกับนักลงทุนหรือสภาพคล่องการซื้อ ขายหุ้น หุ้นเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายการ take over ซึ่งหากผู้บริหารไม่อยากให้ถูก take over โดยง่าย ก็จะต้องพยายามให้หุ้นตัวเองสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงในระดับหนึ่ง และเป็นมิตรกับผู้ถือหุ้นรายย่อยเพราะเมื่อมีการ ทำ hostile take over เกิดขึ้นแล้วต้องมีการโหวดแข่งกัน เจ้าของที่เป็นมิตรกับรายย่อยและมีประวัติการบริหารที่ดีจะได้รับการสนับ สนุนจากผู้ถือหุ้นทั่วไปและทำให้การทำ hostile take over ไม่ประสบความสำเร็จได้
ตัวอย่างของลักษณะการ take over แล้วแยกสินทรัพย์ขายเป็นชิ้นๆ ผมแนะนำให้ดูหนังเรื่อง Pretty woman ครับเพราะบริษัทที่พระเอกคือ ริชาร์ด เกียร์ เป็นเจ้าของทำธุรกิจแบบนี้เลยครับ ในเรื่องเนื้อหาหลักคือพระเอกจะ take over บริษัทต่อเรือที่มีสินทรัพย์เป็นที่ดินจำนวนมากและกำลังจะได้ project ใหญ่จากรัฐบาลเพื่อแยกเป็นชิ้นส่วนขายครับ
แต่สำหรับเมืองไทย การเล่นหุ้นในลักษณะ asset play ก็มีความเสี่ยงมากพอสมควรเนื่องจากทางกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั้นไม่สนับสนุนการทำ hostile takeover มากนัก และหลายๆ บริษัทผู้บริหารถือหุ้นเกิน 51% รวมทั้งหากมีรายการไม่ชอบมาพากลเช่นการใช้เงินสดจำนวนมากในบริษัทไปในทางที่ ไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยกู้ในกับบริษัทในเครือ นำไปลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนต่ำ หรือการขายสินทรัพย์ออกไปในราคาถูก ผู้ถือหุ้นรายย่อยมักจะไม่สามารถคัดค้านได้
บางครั้งการมีเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากๆ หากธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือมีการบริหารที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เงินสดหรือสินทรัพย์นั้นอาจจะลดลงหรือเสื่อมมูลค่าไปได้ภายในระยะเวลาไม่นาน นัก อย่างในกรณีของหุ้น Singer ที่ต้องมีการตั้งสำรองจำนวนมาก หรือ SPSU ที่เคยมีเงินสดต่อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นในกระดานแต่ท้ายสุดแล้วเงินสดต่อหุ้น ก็ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ
ดังนั้น การลงทุนในหุ้นโดยมอง Asset play เป็นอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ คงจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ โดยเฉพาะจริยธรรม ความสามารถของผู้บริหารและแนวโน้มธุรกิจในอนาคตประกอบด้วยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘