ก้าวที่ 5 : เตรียมพร้อมสำหรับรางวัลและความเสี่ยง

เตรียมความพร้อมก่อนการลงทุน



คุณควรตระหนักว่า คุณมีภาระทางการเงินที่จะต้องจัดการหรือ “ลงทุน” ให้เรียบร้อยสบายใจ ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เงินที่คุณจะนำมาลงทุนซื้อหลักทรัพย์ควรเป็นเงินที่เหลือ หลังจากที่คุณได้จัดการกับค่าใช้จ่าย หรือการลงทุนต่อไปนี้เรียบร้อยแล้ว ได้แก่



1. เงินสะสมสำรองเผื่อใช้ฉุกเฉิน ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเห็นพ้องต้องกันว่า คนเราจะมีเงินเก็บไว้ใช้สำรองในยามฉุกเฉินอย่างน้อยที่สุดเท่ากับค่าใช้จ่ายต่อเดือน รวมกัน 3 เดือน เพราะฉะนั้นสมมติว่าในชีวิตประจำวันของคุณและครอบครัว ต้องใช้จ่ายเงินเดือนละประมาณ 30,000 บาท คุณก็ควรมีเงินเก็บไว้สำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อยที่สุด 90,000 บาท เงินเก็บสำรองนี้น่าจะเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถเบิกใช้ได้ทันท่วงที เช่น การฝากในรูปบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารที่คุณเชื่อมั่น

2. เงินประกันชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ชีวิตไม่แน่ไม่นอนทรัพย์สินและสิ่งที่เราครอบครองหรือมีไว้ใช้ก็เช่นกัน ดังนั้น ก่อนที่จะนำเงินของคุณมาลงทุน คุณควรจัดการทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันความเจ็บป่วย ประกันภัย ประกันรถยนต์ ฯลฯ ทั้งแก่ตัวคุณเองแก่สมาชิกในครอบครัวให้เรียบร้อยเสียก่อน การลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการลงทุนในหลักทรัพย์ ไม่สามารถและไม่ควรจะถือเป็นหลักประกันใด ๆ ต่อสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับคุณ ดังเช่น ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินที่จำเป็นของคุณและคนที่คุณรัก

3. เงินสำหรับแผนการในอนาคต อีกส่วนหนึ่งของเงินของคุณควรเก็บไว้ใช้สำหรับแผนการสำคัญ ๆ ในอนาคตของคุณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิด ความหวัง สถานการณ์ และความจำเป็นของคุณ แผนการในอนาคตของคุณอาจหมายถึง การศึกษาของคุณเอง การศึกษาของบุตรหลายในระดังมหาวิทยาลัย การมีบ้านหลังใหม่ในอีกสามปีข้างหน้า การต่อเติมบ้าน การมีเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่างเพิ่มขึ้น ฯลฯ หากคุณมีแผนการที่ชัดเจนเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ควรที่จะวางแผนสะสมเงินเพื่อการนั้น ๆ โดยตรงเสียก่อน อย่าได้คิดจะใช้การลงทุนในหลักทรัพย์มาเป็นเครื่องมือหาเงินสำหรับแผนการที่สำคัญ ๆ เหล่านี้

เมื่อคุณมีความพร้อมพื้นฐานในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว คุณก็จะสามารถก้าวสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างมั่นใจและสบายใจ การตัดสินใจของคุณจะมีพื้นฐานที่ดี ไม่ต้องเครียดต้องกังวล ปลอดโปร่งแจ่มใสเลือกลงทุนได้อย่างสุขุมรอบคอบมากขึ้น



รู้เขารู้เรา แต่ก่อนอื่นรู้เราเสียก่อน



คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้มาแล้ว – “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คำกล่าวนี้มาจากตำราพิชัยสงครามนับแต่โบราณของซุนวู และยังคงเป็นจริงมาจนบัดนี้ ไม่เฉพาะในเรื่องของสงครามแต่แทบทุกเรื่องในชีวิตของคนเรา และแน่นอน รวมทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

แต่ก่อนที่เราจะรู้เขา หรือรู้ใครได้ อย่างแรกที่สุด เราจะต้องเริ่มจากรู้เราเสียก่อน พอรู้เราชัดเจนแล้ว การที่จะไปรู้เขาก็ง่ายขึ้น

อย่างแรก คุณจะต้องถามตัวเองก่อนว่า คุณต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อผลตอบแทนแบบไหน เมื่อไร เท่าไร ซึ่งเท่ากับเป็นการวางเป้าหมายที่ชัดเจนของคุณไว้ โดยคำนึงถึงรายได้และเงินออมของคุณเอง

ตรงนี้แหละ ที่จะทำให้คุณไม่เป็นพวก “แมลงเม่า บินเข้ากองไฟ” อย่างที่เขามักเปรียบเปรยกับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนไปตามสถานการณ์เต้นไปตามข่าวลือ เพราะถ้าคุณมีเป้าหมายที่แน่ชัดในตัวเอง รู้จักตัวเองว่าพร้อมจะลงทุนเท่าไร และต้องการผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด เมื่อใด คุณก็จะมีหลักการอย่างแจ่มชัด

อย่างที่สอง คุณจะต้องประเมินตัวเองว่า คุณจะมีเวลาใส่ใจกับการลงทุนในหลักทรัพย์มากน้อยเพียงใด ถ้าคุณมีเวลามาก คุณก็สามารถติดตามการขึ้นลงของราคาและการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ทำการซื้อขายด้บ่อยครั้ง แต่ถ้าคุณมีเวลาน้อย คุณก็ต้องมุ่งไปที่การลงทุนในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก และมุ่งผลในระยะยาวมากกว่า

อย่างที่สาม คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณพร้อมที่จะเสี่ยงได้อย่างสบายใจ มากน้อยแค่ไหน การที่คุณจะตอบคำถามข้อนี้ได้ ก็ต้องเริ่มที่ความพร้อมของคุณ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อน จากนั้นก็มาประเมินตัวเอง ว่าคุณพร้อมที่จะเสี่ยงในปริมาณเงินเท่าไร เป็นระยะเวลาเท่าใด



ในเรื่องนี้ อายุ วัย สถานะทางการงานและครอบครัวของคุณก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่พอสมควร เพราะถ้าคุณอายุยังน้อย ความรับผิดชอบไม่มาก คุณก็พอจะเสี่ยงได้มาก โดยอาศัยการลงทุนซื้อขายอย่างรวดเร็วในระยะสั้น แต่ถ้าคุณต้องการลงทุนเพราะเห็นว่า ตนเองมีอายุพอสมควรแล้ว และต้องการลงทุนเพื่อผลตอบแทนเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน ตรงนี้คุณก็ต้องวางแผนให้เสี่ยงแต่น้อย แต่จะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรู้จักตัวเองก็คือ คุณจะต้องให้โบรกเกอร์หรือเจ้าหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่คุณติดต่อเป็นลูกค้าด้วยนั้น รับทราบถึงเป้าหมายและความคาดหวังของคุณด้วย การบอกเล่าเก้าสิบให้ได้เข้าใจกันไว้ก่อน จะทำให้โบรกเกอร์ทราบได้ว่า เขาควรจะให้บริการคุณอย่างไร จึงจะเหมาะสม หรือหากคุณต้องการคำแนะนำเขาก็จะทราบได้ว่า ควรจะให้คำปรึกษาแก่คุณอย่างไร เพื่อที่จะให้คุณได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนในแบบที่คุณต้องการ






ผลตอบแทน



ครึ่งหนึ่งของการลงทุนเป็นเรื่องของเงิน อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของเวลา ที่เรากล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าในการลงทุนแต่ละครั้ง คุณจะต้องคำนึงเสอมว่า จะได้รับผลตอบแทนเท่าไร ในช่วงระยะเวลาเท่าไร

การลงทุนที่ประสบผลสำเร็จ ก็คือ การที่คุณได้รับผลตอบแทนที่คุณตั้งไว้ ในช่วงเวลาที่คุณตั้งใจว่าจะได้รับ

และการลงทุนของคุณจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อเป้าหมายที่คุณตั้งไว้นั้นสมเหตุสมผล ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เช่นถ้าคุณตั้งใจว่าคุณจะลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนขนาดซื้อคฤหาสน์ราคา 20 ล้านได้ภายในสองปี ทั้ง ๆ ที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 2 ล้านบาท อย่างนี้ถือว่าไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าด้วยเงินจำนวนเดียวกัน คุณตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 20 ปี จะต้องก่อให้เกิดผลตอบแทนอีกเท่าตัว อย่างนี้ก็ต่ำเกินไป ไม่สมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน เพราะเท่ากับว่าคุณได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละไม่ถึง 5% เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ในการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน คุณยังต้องคำนึงด้วยว่า เงินที่คุณมีอยู่ไม่ได้มีค่าคงตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว นับวันจะมีค่าลดลง ซึ่งเรียกเป็นศัพท์แสงว่า “เงินเฟ้อ” นั่นเอง เงินเฟ้ออาจจะอยู่ที่อัตรา 2-4% ต่อปี หรืออาจจะกว่านั้น โดยเฉพาะในยามเกิดภาวะวิกฤตขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ในการตั้งเป้าและคำนวณผลสำเร็จ คุณจะต้องคิดเผื่อและหักลบอัตราเงินเฟ้ออกด้วย ดังนั้นหากคุณได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 12% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงถึง 4% ในช่วงเดียวกัน ก็เป็นอันว่า คุณได้รับผลตอบแทนจริง ๆ เพียง 8% และเป็น 8% ที่จะต้องถูกนำไปคำนวณในภาษีเงินได้ของคุณเสียด้วย (ในเรื่องภาษี กรุณาดูรายละเอียดในบทแรกและภาคผนวก)

ถ้าจะว่ากันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ในยามปกติ ผู้ลงทุนควรจะคาดหวังผลตอบแทนไว้ประมาณ 12-15% ต่อปี และหากทำได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรทีเดียว

(คุณอาจจะสงสัยว่า ถ้าได้ผลตอบแทนประมาณนี้ สู้นำเงินจำนวนเดียวกันไปปล่อยกู้นอกระบบไม่ดีกว่าหรือ คำตอบก็คือ ในการทำเช่นนั้น คุณก็ต้องคิดถึงความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ว่ามากหรือน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และถ้าคุณยังสงสัยต่อไปอีกว่าอัตราเงินดอกเบี้ยเงินฝากประจำของสถาบันการเงินอาจต่ำกว่านี้ไม่มากนัก คำตอบก็คือ ในปัจจุบันคุณคงเห็นแล้วว่า สถาบันการเงินที่มุ่งแต่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการบริหารงานนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานที่ง่อนแง่นเพียงใด)

แต่ถ้าคุณตั้งเป้าไว้สูงกว่านี้ คุณก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจที่จะต้องทำการบ้านหาข้อมูลหนักหน่อย หมั่นซื้อหมั่นขาย และทำใจยอมรับความเสี่ยงที่จะมากขึ้นตามมา ผลตอบแทนที่สูง ๆ จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น คุณคงได้ยินมาบ้างแล้ว อาจสูงเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มี แต่เราขอบอกว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ก็เป็นตัวเลขยกเมฆ และโดยทั่วไป ผลตอบแทนที่สูงใกล้ 30% ต่อปี ก็นับว่าใกล้เคียงสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแล้ว

ในบรรดาผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีสิ่งที่คุณควรตำนึงถึงอยู่สามประการคือ รายได้, มูลค่าเพิ่มของทุน และความมั่นคง

รายได้ (Income) คือ ผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน ที่มีลักษณะสม่ำเสมอในระยะเวลาที่แน่นอน ซึ่งก็ได้แก่ ผลกำไรต่อหุ้นจากการประกอบการแต่ละช่วง และดอกเบี้ยที่จะได้รับจากการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่าง ๆ เป็นต้น

มูลค่าเพิ่มของทุน (Capital Appreciation) หมายถึง ความเติบโตของมูลค่าการลงทุนตามระยะเวลาจากเมื่อแรกที่คุณลงทุน ซึ่งหุ้นสามัญในกิจการที่กำลังเติบโตรุ่งเรืองจะให้ผลตอบแทนในลักษณะนี้ได้ค่อนข้างสูง และผลตอบแทนที่คุณได้รับก็คือส่วนต่างหรือกำไรจากการขายหุ้นนั้นออกไปนั่นเอง หุ้นสามัญยังอาจให้ผลตอบแทนแบบเดียวกับรายได้ในรูปของเงินปันผล แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีความแน่นอนนัก ขึ้นอยู่กับนโยบาย การดำเนินงาน และสภาวะการลงทุนของกิจการแต่ละประเภท

ความมั่นคง (Safety) ในการลงทุนทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องคำนึงเสมอว่า มีความไม่แน่นอนประกอบอยู่ด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ผลตอบแทนที่คุณได้รับ จะในรูปไหนก็ตาม จะต้องเผื่อที่ว่างสำหรับความไม่แน่นอนนี้ไว้ด้วย

ยิ่งมีความแน่นอนมากเท่าไร ก็เท่ากับว่าคุณจะสามารถประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่คุณได้ตั้งไว้มากเท่านั้น

เรื่องนี้ทำให้เราต้องกล่าวถึง ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งของการลงทุน เป็นอันดับต่อไป - ความเสี่ยง






ไม่มีอะไรเสี่ยงมากเท่ากับการไม่เข้าใจความเสี่ยง



ดังที่เรากล่าวไว้แต่บทแรกของหนังสือเล่มนี้ว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้คุณอาจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็คือ การที่คนเราทุกคนจะต้องหาวิธีใช้รายได้หรือการออมของตนในรูปที่จะก่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เท่าที่เราจะรับได้

หลักง่าย ๆ ของความเสี่ยงมีอยู่ว่า

“ผลตอบแทนยิ่งคาดไว้สูงเท่าไร ความเสี่ยงยิ่งสูงตามเท่านั้น”



นี่เป็นหลักสากล ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ก็ต้องใช้หลักนี้อยู่แล้วเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่คุณต้องเผชิญ ตรงนี้ไม่มีใครบอกคุณได้นอกจากตัวคุณเอง ก็อีกนั่นแหละ…… ย่อมขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่คุณตั้งเอาไว้สำหรับการกระทำหรือการลงทุนนั้น ๆ ของคุณ (จะเห็นได้ว่าเราจะเน้นเรื่องเป้าหมายอยู่เสมอ เพราะหากขาดข้อนี้ไปแล้ว คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คุณประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือคุณควรเสี่ยงมากน้อยเพียงใด)



การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องเกี่ยวข้องมากมาย แตกต่างกันไปตามการลงทุนแต่ละประเภทหรือหลักทรัพย์แต่ละแบบ ทำให้มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและคิดวิเคราะห์หลายขั้นหลายแง่ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้เราขอยกตัวอย่างประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงมาให้คุณลงคิดและตระหนักไว้ ดังนี้



· ไม่แน่ใจว่า การลงทุนที่ดูมั่นคงปลอดภัยในระยะยาวจะต้องจบลงด้วยผลตอบแทนตามที่คาดหวังเสมอไป ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะลงทุนในพันธบัตรหรือหลักทรัพย์กิจการที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย โดยเชื่อว่าในที่สุดเมื่อคิดรวม ๆ แล้ว ก็จะได้ผลตอบแทนพอสมควร แต่ความเป็นจริงก็บอกเราว่า เหตุการณ์ในระยะยาวห้าปี สิบปี หรือยี่สิบปี อาจทำให้ผลตอบแทนที่ว่าแทบจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจผันแปรได้ง่ายในโลกทุกวันนี้ นอกจากนี้ หากคำนวณภาวะเงินเฟ้อเข้าไปด้วยก็แทบจะ “กิน” ผลตอบแทนนั้นไปเกือบหมดเลยทีเดียว

· การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง อาจทำให้ดูเหมือนหมดเงินไปได้ในชั่วข้ามวันข้ามคืน แต่ก็ไม่แน่ว่า ในระยะยาว มันอาจจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยค่อนข้างสูง เช่น คุณอาจลงทุนในหุ้นสามัญของกิจการบางประเภท ซึ่งประสบความขาดทุนอย่างสาหัสในช่วงหนึ่ง แต่ในช่วงสามสี่ปีหลังจากนั้นกลับฟื้นตัวและสร้างผลตอบแทนให้คุณได้พอสมควรทีเดียว

· มีหุ้นหรือหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า “บลูซิป (Blue Chip)” หุ้นประเภทนี้ได้แก่ กิจการที่คาดกันว่าจะเติบโตหรือทำกำไรแน่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มากเท่ากับหุ้นที่มีความเสี่ยงหรือหวือหวาก็ตาม และหุ้นบลูซิปนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นเวลานานแล้ว นี่ก็ไม่แน่อีกเหมือนกัน มีหุ้นบลูซิปเป็นจำนวนมากที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอในช่วงห้าหรือสิบปีแรก แล้วกลับราคาตกลงฮวบฮาบในช่วงต่อมา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจหรือการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ไปจนถึงการบริหารงานที่ผิดพลาด



ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกลงทุนอย่างไร ต้องไม่ประมาทและไม่ทึกทักเอาว่า มีผลตอบแทนที่แน่นอนตายตัว ซึ่งไม่มีความเสี่ยงอยู่เลย ยิ่งถ้ามีใครมาบอกให้คุณลงทุนกับอะไร ที่จะให้ผลตอบแทนมหาศาลอย่างแน่นอนและรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อด้วยแล้ว ก็จงไม่เชื่อไว้ก่อน



เวลาคิดถึงความเสี่ยง เรามีวิธีคิดได้สองวิธี



วิธีที่หนึ่ง คือ การถามว่า เราจะได้หรือเราจะเสียมากน้อยแค่ไหน หากเราเสี่ยงลงทุนไป



วิธีที่สอง คือ การถามว่า อะไรจะเป็นผลลัพธ์ของการสูญเสีย หากเราเสี่ยงแล้วพลาด



ในการลงทุนทุกครั้ง คุณจะต้องสามารถตอบคำถามสองข้อนี้ให้ได้ ยิ่งถ้าคุณรู้สึกต้องเสี่ยงมาก ๆ แล้ว ก็ยิ่งต้องตอบคำถามในแบบที่สองให้ชัดเจน แล้วชั่งใจให้ดี เช่น ถ้าผลลัพธ์ของการสูญเสีย จะทำให้คุณเสียเงินลงทุนไปกว่าครึ่งของที่มีอยู่ คุณก็ควรจะทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุนของคุณเสียใหม่

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีคิดแบบแรกเป็นการประเมินอัตราความเสี่ยงตามเงื่อนไขตัวเลขการลงทุนและผลตอบแทนล้วน ๆ ในแต่ละกรณีแต่วิธีคิดแบบที่สองทำให้คุณต้องถามคำถามเกี่ยวพันไปถึงปัจจัยและสภาพการณ์อื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการลงทุนในกรณีนั้น ๆ



คุณเป็นคนกล้าได้กล้าเสียแค่ไหน



เรื่องของความเสี่ยง นอกจากจะทำความเข้าใจรวม ๆ แล้ว คุณยังต้องถามตัวเองด้วยว่า คุณเป็นคนประเภทไหน กล้าได้กล้าเสียเพียงใด นอกเหนือจากประเมินกำลังเงินและความพร้อมด้านต่าง ๆ ของคุณเองแล้ว ผู้ลงทุนที่ดียังรู้จักจิตวิทยาของตัวเองด้วย

คุณจะรู้ได้ว่าคุณกล้าเสี่ยงแค่ไหน ก็เพียงแค่ย้อนมองประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานและการเงินการทอง (คนบางคนกล้าขับรถความเร็วสูง แต่อาจลังเลไม่กล้าตัดสินใจในเรื่อองการเงินเลยก็ได้) ถ้าที่ผ่านมาคุณมักเปลี่ยนงานได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องชั่งใจว่าจะได้รับผลตอแบทนคุ้มกับที่ออกจากงานเก่าหรือเปล่า คุณก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับความเสี่ยงได้สูง แต่ถ้าคุณเป็นคนที่หากจะซื้อเสื้อสักตัว จะต้องลองสอบราคาร้านค้าสักสามสี่ร้านเป็นอย่างน้อย ก็แสดงว่าคุณค่อนข้างจะระมัดระวังในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สูงทีเดียว

เรื่องแบบนี้ นอกจากถามตัวเองแล้ว คุณอาจจะให้คนใกล้ชิดช่วยออกความเห็นร่วมด้วยก็ได้

การรู้จักว่าตัวเองกล้าเสี่ยงแค่ไหน สำคัญต่อการเลือกวิธีการลงทุนและการตัดสินใจ เพราะถ้าคุณรู้ตัวว่า คุณอาจกลายเป็นคนบ้าบิ่นได้ เมื่อมีความเสี่ยงและผลตอบแทนมหาศาลมาท้าทาย คุณก็จะต้องหาทางเตือนตัวเอง คิดทบทวนเสมอ ๆ และตั้งขีดจำกัดของความสูญเสียที่คุณยอมรัไบด้ไว้ให้ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องทิ้งส่วนดีในการกล้าได้กล้าเสียของคุณไป เพราะผู้ลงทุนที่กล้าเสี่ยงมักมีมุมมองที่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

ในทางตรงข้าม ถ้าคุณเป็นคนค่อนข้างรอบคอบจนแทบจะช่างวิตกกังวล กว่าจะลงทุนอะไรสักอย่าง ก็คิดแล้วคิดอีก สงวนท่าทีอยู่เป็นเวลานาน ในแง่ดีจะทำให้คุณไม่ประมาท แต่ในแง่เสีย ก็อาจทำให้คุณไม่ลองเปิดโอกาสให้กับทางเลือกใหม่ ๆ ในการลงทุนบ้างเช่นเดียวกัน คุณจะลองเสี่ยงมากขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่คุณจะต้องคิด วิเคราะห์ และทบทวนด้วยตนเอง และลองขยับเพดานของความเสี่ยงที่คุณพอจะยอมรับได้ให้สูงขึ้นบ้าง แต่ก็จะต้องกำหนดให้ชัดเจนแน่นอน

(สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ ทั้งผู้ที่เสี่ยงเกินกำลัง และผู้ที่ระมัดระวังเกินเหตุ มักจะไม่ได้ตั้งเพดานหรือขีดจำกัดความเสี่ยงหรือการสูญเสียในการลงทุนไว้ ทำให้ควบคุมการตัดสินใจและทางเลือกของการลงทุนไว้ไม่ค่อยได้)

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การตัดสินใจและผลลัพธ์ในที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน ถึงที่สุดแล้วผลตอบแทนและระยะเวลาที่คุณตั้งไว้อย่างสมเหตุสมผล จะเป็นเครื่องพิสูจน์

นอกจากนี้ คุณยังมีคุณภาพชีวิตอีกหลายด้านรอคุณอยู่ อย่าให้การลงทุนเหล่านี้มาทำให้คุณเป็นโรคกระเพาะหรือโรคนอนไม่หลับเลยเป็นอันขาด






พอร์ตการลงทุน



ผู้ลงทุนทุกคนต้องรู้จักกับว่าว่า “พอร์ตการลงทุน” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Portfolio Management) ซึ่งฟังดูออกจะเข้าใจยาก แต่แท้ที่จริงแล้วมีหลักการพื้นฐานสลับซับซ้อน แต่อย่างใด

ถ้าเปรียบว่าการลงทุนเป็นเหมือนการปลูกสวนหย่อมหรือสวนครัวสักแปลง คุณคงไม่อยากให้สวนของคุณมีแต่พืชพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งล้วน ๆ แต่น่าจะมีทั้งไม้ดอกไม้ผล ไว้ให้ได้ชมความสวยงามหรือเลือกเก็บมารับประทานได้หลากหลาย มีผลให้เก็บเกี่ยวหรือดูชมอย่างต่อเนื่อง

และเป็นความจริงที่ว่า สวนที่มีการปลูกอย่างผสมผสานเหมาะสมย่อมมีโอกาสเติบโตและเจริญงอกงาม มากกว่าสวนที่มีแต่พืชพันธุ์เพียงแบบเดียวหรือไม่กี่แบบ

หลักการนี้ก็เช่นเดียวกับการลงทุนของคุณ การลงทุนที่ดีจะต้องผสมผสานเพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างความหลากหลายของผลตอบแทน และคงทนต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

ประเภทของการลงทุน ชนิดของการลงทุน หลักทรัพย์หรือพันธบัตรที่คุณเลือกซื้อ ช่วงที่คุณจะได้รับผลตอบแทนในรูปรายได้หรือเงินปันผล ตลอดจนระยะเวลาที่คุณเก็บไว้ก่อนขาย ทั้งหมดนี้เมื่อนำมารวมกันก็เป็นเหมือนสวนหย่อมการลงทุนของคุณ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าพอร์ตการลงทุน หรือพอร์ตโฟลิโอ (portfolio)

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พอร์ตการลงทุนก็คือ แผนการและการลงทุนจริงที่คุณวางไว้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของคุณ โดยศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบความแตกต่างของผลตอบแทน ประเมินความเสี่ยง ของทางเลือกการลงทุนหลาย ๆ แบบหรือหลักทรัพย์หลาย ๆ ตัว จากนั้นจึงนำมาเลือกสรรตัดสินใจลงทุนตามความเหมาะสม



· พอร์ตการลงทุนที่ดี ควรได้สมดุล หลักพื้นฐานประการแรกของการลงทุนก็คือ การกระจายความเสี่ยง ซึ่งหมายความว่า คุณไม่ควรทุ่มเงินของคุณไปลงทุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งทั้งหมดเป็นอันขาด

· ขณะเดียวกัน พอร์ตการลงทุนของคุณก็ไม่ควรหลากหลายจนกลายเป็นการลงทุนแบบ “เบี้ยหัวแตก” กระจัดกระจายไปไหม เพราะจะทำให้คุณติดตามดูแลให้ทั่วถึงได้ยากและอาจต้องเสียค่าบริการซื้อขายมากเกินไป จากประสบการณ์ของผู้ลงทุนโดยทั่วไป พบว่าเฉพาะหลักทรัพย์ ควรจะอยู่ในราว 6 ถึง 12 ตัว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ

· พอร์ตการลงทุนที่ดี ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ตามเป้าหมายการลงทุนของคุณ โดยมีสมดุลย์ระหว่างการลงทุนที่คุณค่อนข้างมั่นใจว่ามีความเสี่ยงน้อย (ซึ่งมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนหรือสม่ำเสมอ หรือทั้งสองอย่าง) กับการลงทุนทีค่อนข้างมีความเสียงสูงในระดับทีคุณยอมรับได้ (ซึ่งให้ผลตอบแทนไม่แน่นอน แต่เวลาได้ก็ได้เป็นกอบเป็นกำ และช่วยให้คุณรู้สึกสนุกกับการลงทุน) สัดส่วนที่เหมาะสมนี้จะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครบอกได้ นอกจากตัวคุณเอง

· พอร์ตการลงทุนที่ดี ควรทำให้คุณมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ไม่ยาก เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป



เมื่อมองโดยภาพรวม การที่คุณหมั่นกระทำการตามแผน ติดตามผล และปรับเปลี่ยนการลงทุนตามสถานการณ์ เพื่อให้ตรงตามเป้าที่คุณได้วางไว้ (แบบเดียวกับที่คุณต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน เสริมปุ๋ย หรือเปลี่ยนพืชพันธุ์ให้เหมาะสมสำหรับสวนหย่อมของคุณนั่นแหละ) กระบวนการทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า “การบริหารพอร์ตการลงทุน” หรือ “Portfolio Management” นั่งเอง

นอกเหนือจากการวางแผนและลงทุนจริงแล้ว คุณยังอาจทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนขึ้นมาก่อนที่จะลงทุนจริง หรือก่อนที่คุณจะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของคุณ จากนั้น ก็ติดตามดูผลลัพธ์ของมันสักระยะหนึ่ง อาจเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการจริง การทดลองแบบนี้เรียกว่า “พอร์ตการลงทุนสมมติ” หรือ Hypothetical Portfolio






บันทึก หลักฐาน และเอกสาร เพื่อประโยชน์ของตัวคุณ



ก่อนเริ่มต้นลงทุน คุณควรเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ และที่ทางสำหรับการลงทุนของคุณให้เรียบร้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องหาห้องหับพิเศษ หรือจัดหาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มาไว้ประจำตัว

สิ่งที่เรากำลังพูดถึงก็คือ การรู้จัดจดบันทึก จัดเก็บข้อมูล และเก็บหลักฐานการลงทุน ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นระเบียบไม่สูญหาย พร้อมที่จะหยับมาใช้ได้ทุกเมื่อ ทั้งหมดนี้ถึงแม้ว่าคุณจะมีผู้ช่วยหรือโบรกเกอร์ที่คอยบริการคุณอย่างไรก็ตาม คุณก็จะต้องสามารถบอกได้ว่า อะไร อยู่ที่ไหน คุณได้สั่งซื้ออะไรไปเมื่อไร สั่งขายอะไรไปเป็นจำนวนเท่าใด หรือขณะที่คุณลงทุนซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง คุณตั้งใจจะถือมันไว้นานเท่าใด

ข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีใครติดตามให้คุณได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง

เงินของคุณ การลงทุนของคุณ หลักฐานของคุณ เอกสารของคุณ ข้อมูลของคุณ สิ่งเหล่านี้มีคุณเท่านั้นที่จะติดตามตรวจสอบได้ดีที่สุด และคุณอีกนั่นแหละที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด จากบันทึกข้อมูล หลักฐาน หรือเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้






คำแนะนำเบื้องต้นบางประการ



สูตรสำเร็จสำหรับการลงทุนนั้น ไม่มีในโลก เพราะถ้ามีจริงผู้ที่ค้นพบหรือรู้จริงก็คงไม่อยากบอกใคร ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาจะไม่อยากให้ใครรู้เท่านั้น แต่เป็นเพราะว่า ถ้าคนอื่นรู้ ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุน หันมาลงทุนในแบบที่เขาแนะนำ ซึ่งก็จะทำให้สูตรนั้นใช้ไม่ได้ไปโดยปริยาย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นผลมาจากการตัดสินใจและการกระทำของผู้ที่เข้ามาลงทุนด้วย

ฉะนั้น คำกล่าวที่ “ผู้รู้ไม่พูด ผู้พูดไม่รู้” จึงใช้ได้ดีสำหรับทางเลือกและการตัดสินใจลงทุนของคุณ

อีกประการหนึ่ง ดังที่เราเน้นย้ำมาโดยตลอด ผู้ลงทุนแต่ละคนมีความคาดหวัง ตั้งเป้าหมาย มีวิธีการลงทุน มีความชอบ มีอคติ มีทัศนคติต่อความเสี่ยง มีแนวคิด มีสภาวะอารมณ์ แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นสูตรหรือแนวทางการลงทุนที่ใช้ได้สำหรับคน ๆ หนึ่ง ก็อาจใช้ไม่ได้กับอีกคนเลย

นี่ไม่ต้องพูดถึงว่า สถานการณ์ทางการเงินของโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเข้มข้นเพียงใดในแต่ละวินาที

แต่ในที่นี้ เราก็อยากจะนำเสนอแนวทางหรือคำแนะนำเบื้องต้นบางประการ ให้คุณพิจารณาประกอบการลงทุนของคุณ คำแนะนำเหล่านี้เรารวบรวมจากประสบการณ์ของนักลงทุนขั้นนำหลายท่านมันอาจจะไม่ได้บอกคุณว่า คุณควรจะซื้อหรือขายอะไร เมื่อไร อย่างไร แต่มันจะบอกคุณได้ว่า พฤติกรรมการลงทุนอย่างไร ที่มีแนวโน้มนำคุณไปสู่ความสำเร็จ และพฤติกรรมการลงทุนอย่างไรที่คุณควรจะหลีกเลี่ยง



ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มักจะ



1. ตั้งเป้าหมาย ระยะเวลา แนวทางการลงทุน และวางเค้าโครงพอร์ตการลงทุนไว้อย่างชัดเจน

2. เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ใช่เพราะอัตตาของคน แต่เพราะมีคุณสมบัติตามข้อ 1 พร้อมมูล และยึดถือเป็นแนวทางในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

3. มีความอดทนพอที่จะตระหนักชัดด้วยตนเอง ว่าแนวทางการลงทุนหรือการตดสินใจของตนที่ได้วางไว้ ถูกหรือผิดอย่างไร

4. ยอมรับความถูกต้องและความผิดพลาดในการตัดสินใจของตนอย่างตรงไปตรงมา ไม่โยนความผิดให้ใคร

5. กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งใหม่ และพร้อมที่จะปรับทิศทาง หลังจากที่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว

6. มีเวลาให้กับการลงทุนของตนเพียงพอต่อลักษณะและวิธีการลงทุนที่ตัวเองเลือกใช้

7. มีแผนสองไว้เสมอ ว่าหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่วางไว้จะปรับเปลี่ยนการบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างไร

8. รู้จักอารมณ์ ความรู้สึก ความกล้าได้กล้าเสียของตน ไม่ปล่อยให้มันเป็นนาย แต่ก็ไม่เก็บกดมันไว้ หากเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์

9. มีความละเอียดรอบคอบในการบันทึก ติดตามข้อมูล เก็บรักษาเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ

10. คำนึงถึงการขาดทุน ความสูญเสีย ความผิดพลาด อันอาจเกิดจากการตัดสินใจแต่ละครั้ง พอ ๆ กับที่เห็นลู่ทางของผลตอบแทนและความสำเร็จ



และสิ่งที่ผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักจะหลีกเลี่ยง มีดังนี้



11. ไม่มีพฤติกรรมตื่นตูมตามข่าวลือ แม้ว่าข่าวลือจะถูกต้องเป็นครั้งเป็นคราวบ้างก็ตาม

12. หลีกเลี่ยงที่จะโอ้อวด บอกเล่าสาธยาย หรือเปิดเผยแผนการลงทุนของตนให้ผู้อื่นทราบ

13. ไม่เคยฝากการลงทุนของตนให้ใครทำแทน (ยกเว้นในกรณีที่ให้โบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ช่วยดูแลตามจำนวนเงิบลงทุนและระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้)

14. ไม่นำเอาอคติหรือความพอใจหรือไม่พอใจส่วนตัวใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุน มาประกอบการตัดสินใจ (เช่น เลือกถือหุ้นบางตัวไว้ เพราะบริษัทนั้นสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนชอบ)

15. ไม่มีวัน “ทุ่มสุดตัว” หรือ “เทหมดหน้าตัก” ให้กับแนวโน้มการลงทุนแบบใดแบบหนึ่ง หรือการตัดสินใจครั้งใดครั้งหนึ่ง

16. ขวนขวายรับรู้ แต่ไม่หลงเชื่อสูตรสำเร็จไม่ว่าจะมาจากมืออาชีพ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักโหราศาสตร์ก็ตาม

17. ไม่เคยคิดว่าการลงทุนแบบใด หรือหุ้นตัวใด เป็น “ของแน่” โดยเฉพาะในระยะเวลาที่ยาวนานออกไป

18. ไม่นำผลการลงทุนของตนไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ในลักษณะพิสูจน์ความเก่งกล้า หากคำนึงถึงเป้าหมายและแนวทางที่ตนเองตั้งไว้เป็นสำคัญ

19. ไม่ยึดติดกับรูปแบบการลงทุนหรือวิธีการที่ตนเองประจักษ์แล้วว่าก่อให้เกิดความผิดพลาดสูญเสีย

20. ไม่ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ และถ้าไม่เข้าใจ ก็พร้อมจะยอมรับความไม่รู้ และกล้าซักถามจนกว่าจะเข้าใจถ่องแท้




บทส่งท้าย



หากคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้ ก็เท่ากับได้ทราบหลักการพื้นฐานในระดับหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว และมีความเข้าใจในเบื้องต้นเพียงพอสำหรับก้าวแรกของคุณสู่การลงทุน

ในท้ายที่สุด มีคติพจน์อยู่บทหนึ่ง เป็นภาษาละติน สืบทอดมาแต่โบราณ ซึ่งผู้รู้และนักลงทุนชั้นนำในระดับสากลเป็นจำนวนมาก ถึงกับแนะนำให้เขียนติดไว้ในที่เก็บเอกสาร หรือที่ทำงานของผู้ลงทุนทั้งหลาย



Caveat emptor (Let the Buyer Beware)

เราอยากจะปิดท้ายด้วยการแปลคติพจน์นี้ มอบเป็นคำเตือนใจแบบไทยสำหรับคุณ



นักลงทุน จงอย่าประมาท

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘