ก้าวที่ 4 : ข้อมูลพื้นฐานในการลงทุน

ความพร้อมของการลงทุนในหุ้นนั้น นอกเหนือไปจากการรู้จักตลาดหลักทรัพย์ กระบวนการ ซื้อขาย รวมทั้งการได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือลูกค้าของบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์แล้ว สิ่งสำคัญ อีกสิ่งหนึ่ง คือ การทราบและเข้าใจถึงข้อมูลพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์






ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ



ข้อมูลพื้นฐานที่คุณจะต้องเข้าใจ และใช้ในการพิจารณาตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ ประกอบด้วยข้อมูลที่สำคัญในเบื้องต้น 2 ประการด้วยกันคือ



1. การพิจารณาจากภาพตลาดโดยรวม

การรับทราบข้อมูลและพิจารณาภาพหรือสภาวะโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งแรกที่คุณได้พบเห็นหรือได้ยินอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีหัวข้อที่สำคัญดังนี้

1.1 ดัชนีราคาหุ้น มีการคิดค้นกันมาหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดได้แก่ “ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” หรือ SET Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาหุ้นประเภทที่คำนวณถัวเฉลี่ยราคาหุ้นสามัญแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียน หมายความว่าหุ้นใหญ่หรือหุ้นที่มีหุ้นมาจดทะเบียนสูง หากมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index มากกว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของหุ้นเล็ก หรือหุ้นที่มีหุ้นมาจดทะเบียนต่ำหรือน้อยมาก

นอกจาก SET Index แล้ว ก็ยังมีดัชนีราคาหุ้นอื่น ๆ ที่มีการคิดค้นกันเพื่อใช้พิจารณาแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์อีก เช่น ดัชนี SET 50 Index, ดัชนีราคาหุ้นบุคคลัภย์ (Book Club Index), ดัชนีราคาหุ้นทิสโก้ (Tisco Price Index), ดัชนี CMRI (CMRI Index) รวมทั้งดัชนีหุ้นรายกลุ่ม (Sectorial Index) เพื่อใช้พิจารณาการเคลื่อนไหวของหุ้นแต่ละกลุ่มด้วยว่า เคลื่อนไหวขึ้นลง เป็นอย่างไรในช่วงนั้น ๆ

1.2 ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์

นอกจากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แล้ว ตัวเลขที่ผู้ลงทุนมักได้ยินควบคู่กันไปคือปริมาณการซื้อขาย ซึ่งแสดงให้ผู้ลงทุนได้ทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์มีการซื้อขายหนาแน่นหรือคึกคักเพียงใดถ้าภาวะตลาดดี ผู้ลงทุนก็จะเข้ามาซื้อขายกันอย่างคึกคัก ในทางตรงกันข้าม หากภาวะตลาดซบเซา ผู้ลงทุนก็จะเข้ามาซื้อขายกันน้อยลง ดังนั้นปริมาณการซื้อขายจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

1.3 จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดสูงขึ้น, ลดลงหรือเท่าเดิม

หากวันใดที่หุ้นส่วนใหญ่มีราคาปิดสูงขึ้น จะเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของสภาวะตลาดหลักทรัพย์ที่ดี ในทางตรงข้ามหากวันใดที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ติดลบ สภาพตลาดอาจไม่ดีนัก หรือถ้าหุ้นส่วนใหญ่มีราคาปิดค่อนข้างคงที่ แสดงว่าตลาดหลักทรัพย์น่าจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะพิจารณาทิศทางที่ปริมาณหุ้นเปลี่ยนแปลงไปในการวิเคราะห์ตลาดด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้อาจเป็นการมองภาพในระยะสั้น ๆ ผู้ลงทุนยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบด้วย



2. การพิจารณาคุณภาพหุ้นรายตัว

นอกเหนือจากการพิจารณาภาพตลาดหลักทรัพย์โดยรวมตามที่กล่าวมา คุณควรจะทราบด้วยว่าหุ้นที่ดีและน่าลงทุนนั้นสามารถดูได้จากอะไรได้บ้าง ซึ่งเราขออธิบายหลักการเบื้องต้นในการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของคุณ

2.1 ราคา (Price) โดยปกติผู้ลงทุนมักเห็นราคาของหุ้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงจากแรงซื้อแรงขายอยู่ตลอดเวลา และเมื่อตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการ ผู้ลงทุนมักดูราคาปิดของหุ้นที่ตนเองสนใจว่าเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และราคาก็หมายถึงจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนพิจารณาว่าเหมาะสมต่อการซื้อ-ขาย หรือถือหุ้นนั้น ๆ ไว้หรือไม่อย่างไร แต่ในการวิเคราะห์คุณภาพของหุ้นต่าง ๆ นั้น ราคาหุ้นจะต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับผลการดำเนินงานอันได้แก่ กำไรต่อหุ้น การจ่ายปันผล หรือข้อมูลอื่น ๆ อีกหลายประการ ดังนั้นราคาจึงเป็นเพียงตัวกำหนดเพื่อประกอบการตัดสินใจเบื้องต้นเท่านั้น

2.2 ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ration) เป็นเกณฑ์ที่คิดจากอัตราส่วน (Ratio) ราคาปิด (Close Price : P) เทียบกับกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share : E) ซึ่งสามารถแสดงคุณภาพในระดับพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น ๆ ได้

ค่า P/E Ratio คำนวณได้จากการเอาราคาปิดของหุ้น ณ วันทำการหนึ่ง ๆ หารด้วยมูลค่ากำไรต่อหุ้น ของหุ้นนั้น ๆ ดังมีสูตรดังนี้



P/E = ราคาปิด หรือราคาตลาดของหุ้น (P)

กำไรสุทธิต่อหุ้นประจำงวด 12 เดือนของหุ้น (E)



ตัวเลขที่ได้เท่ากับเป็นการบอกว่า ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนในหลักทรัพย์ตัวนั้นเป็นจำนวนเงิน เท่าไร เพื่อที่จะให้ได้รับผลตอบแทนหรือกำไรสุทธิในงวดระยะเวลา 12 เดือน กลับคืนมา 1 บาท

เช่น หุ้น ABC มีราคาปิด (Price : P) เท่ากับ 100 บาท และมีกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share : E) เท่ากับ 20 บาท ดังนั้นค่า P/E Ratio จึงเท่ากับ 100/20 หรือ 5 เท่า (ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อ(ลงทุนลงทุนในหุ้นตัวนี้ 5 บาท จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา 1 บาท ในระยะเวลา 1 ปี)

หุ้นตัวใดมีค่า P/E Ratio ต่ำ ย่อมมีคุณภาพที่จัดได้ว่าดีกว่าหุ้นที่มีค่า P/E Ratio สูง

ในทางกลับกัน สมมติว่าหุ้น DEF มีราคาปิดเท่ากับ 200 บาท และมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 บาท ดังนั้นค่า P/E Ratio ของหุ้นตัวนี้จึงเท่ากับ 200 หารด้วย 20 หรือ 10 เท่า (ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อผู้ลงทุนลงทุนในหุ้นตัวนี้ 10 บาท จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา 1 บาท ในระยะเวลา 1 ปี) เมื่อเปรียบเทียบหุ้น ABC กับหุ้น DEF เราก็พอจะสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า หุ้น ABC มีคุณภาพสูงกว่าหุ้น DEF กล่าวโดยสรุป หุ้นที่มีค่า P/E Ratio ที่ต่ำกว่า แสดงว่ามีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า หรือราคาหุ้นยังต่ำกว่าหุ้นที่มีค่า P/E Ratio ที่สูง เมื่อคิดจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรือผลกำไร

2.3 อัตราปันผลตอบแทน (Dividend Yield) หมายถึงอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากหุ้นตัวใดมี Dividend Yield สูง ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนมากกว่า เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากกว่า ซึ่งสามารถเปรียบเทียบระหว่างหุ้นแต่ละตัวได้ว่าตัวใดน่าสนใจในแง่นี้มากกว่ากัน

อัตราปันผลตอบแทนสามารถคำนวณได้จากสูตรดังนี้คือ



อัตราปันผลตอบแทน =



เช่นหุ้น ABC มีกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากัน 20 บาท ประกาศจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 2 บาทดังนั้น



อัตราปันผลตอบแทนหุ้น ABC = = 10%



2.4 ปริมาณการซื้อขาย ในการที่ผู้ลงทุนจะซื้อหรือขายหุ้นปริมาณการซื้อขายหุ้นหรือสภาพคล่องนับว่ามีส่วนสำคัญ กล่าวคือ หากหุ้นมีสภาพคล่องสูงหรือมีปริมาณหุ้นเข้ามาหมุนเวียนซื้อขายมาก การเข้าซื้อหรือขายออกย่อมทำได้ง่าย แต่หากมีสภาพคล่องต่ำ หรือมีปริมาณการซื้อขายน้อย การจะเข้าซื้อย่อมเป็นไปได้ยากเพราะขาดหุ้นที่มีผู้เสนอขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ลงทุนมีหุ้นต้องการจะขาย หากแต่ไม่มีผู้เสนอซื้อ หรือมีเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้การขายหลักทรัพย์นั้นเป็นได้ยาก ส่งผลเสียต่อผู้ลงทุนที่มีความเร่งรีบในการใช้เงิน ดังนั้นการพิจารณาปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงมีความจำเป็นด้วยเช่นกัน

2.5 การพิจารณาหุ้นในเชิงธุรกิจการเงิน

หมายความถึงการวิเคราะห์พิจารณาดูว่าหุ้นที่น่าสนใจลงทุนนั้นควรมีศักยภาพในการเจริญเติบโต มีความมั่นคง เข้มแข็งในทางการเงินและการบริหาร มีโอกาสที่จะตอบแทนผลกำไรที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุนหรือผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นนั้น ๆ ไว้ การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้อาจจะค่อนข้างละเอียดซับซ้อน ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนได้ทำความเข้าใจในการลงทุนเบื้องต้นดีพอแล้ว จึงค่อนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

ที่กล่าวมานี้คือการพิจารณาจากสภาพตลาดและตัวหลักทรัพย์อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดและราคาหุ้น ซึ่งสื่อต่าง ๆ ได้รายงานไว้เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบ โดยในหัวข้อต่อไปคุณจะได้ทราบว่ามีสื่ออะไรบ้างที่สามารถให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับคุณ ก่อนจะได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คุณพิจารณาตัดสินใจว่าควรจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือไม่เพียงใด หรือเมื่อใด






แหล่งข้อมูลและข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์



ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์มีความแพร่หลายมากขึ้น ผู้ลงทุนนับแสน ๆ รายติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์กันทุก ๆ วัน ดังนั้น สื่อสารมวลชนต่าง ๆ จึงมีรายงานสภาวะตลาดกันทุกแขนง ตลาดหลักทรัพย์ได้เผยแพร่และสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ลงทุนผ่านสถานีวิทยุทั้งภาค AM และ FM รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ โดยมีการรายงานการซื้อขายตลอดเวลาทำการ มีการแจ้งประกาศการจ่ายเงินปันผล เพิ่มทุน หรือรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงหลังจากตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการ ยังมีรายงานราคาปิดและภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ในด้านสื่อสิ่งพิมพ์นั้น หนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับก็จะมีรายงานสภาวะตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันภาคธุรกิจจะมีรายงานที่ค่อนข้างละเอียดนอกเหนือไปจากข่าวประกาศ และข่าวธุรกิจการเงินการลงทุนอื่น ๆ

นอกจากนี้ ข่าวสารข้อมูลและรายงานการซื้อขายยังมีพัฒนาการที่ทันมัย เผยแพร่โดยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งทาง Internet, CD-ROM และ Public SIMS ให้แก่ผู้ลงทุนที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งสถานที่และหน่วยงานที่สำคัญที่เปิดบริการให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการค้นคว้า ได้แก่

1. ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลและหนังสือเอกสารต่าง ๆ ที่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยห้องสมุดตั้งอยู่ ณ ชั้นที่ 1 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 62 ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพ และเปิดบริการระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดราชการ

2. ห้องสมุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งอยู่ ณ ชั้น 15 อาคารดีทแฮมท์ B เลขที่ 93/1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน ก.ล.ต.

บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ สำหรับผู้ที่มีความสนใจจะลงทุนแล้ว โบรกเกอร์คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่ง ผู้ลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียด และข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐานทั่วไป และโดยเฉพาะในเรื่องการซื้อขาย ซึ่งค่อนข้างซับซ้อน รวมทั้งปัจจัยและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เนื่องจากการให้ความรู้และข้อมูลแก่ลูกค้าย่อมเป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์เองโดยตรง






ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน



หลังจากที่คุณทราบแหล่งข้อมูลและวิธีการศึกษาข้อมูลสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นแล้ว ถึงจุดนี้เราอยากให้คุณได้ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งก็มีความสำคัญต่อทิศทางตลาดหลักทรัพย์ หรือมีผลต่อราคาหุ้นที่อยู่ในความสนใจของคุณด้วยเช่นกัน



ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นผลกระทบที่สำคัญที่สุด เนื่องจากหากเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ลงทุนมากที่สุด ตลาดหลักทรัพย์มักอยู่ในภาวะซบเซาเมื่อเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจดังต่อไปนี้



1. สภาพคล่องทางการเงิน เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งหมายความว่าธุรกิจหรือกิจการทั้งหลายขาดเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในการดำเนินงาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้

2. อัตราดอกเบี้ย เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอัตราดอกเบี้ยจะขยับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของกิจการหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากสภาพคล่องทางการเงินมีมาก อัตราดอกเบี้ยจะลดต่ำลง ผู้คนในสังคมจะมีกำลังซื้อมากขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัว ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ก็จะได้รับผลดีตามไปด้วย

3. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือค่าเงิน ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนอาจเกิดขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากหากค่าของเงินอ่อนลง ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการสั่งสินค้าเข้ามาผลิตหรือจำหน่ายสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับกิจการที่ส่งสินค้าหรือบริการที่รับเงินกลับเข้ามาในประเทศ อาจได้รับผลดีเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้สินค้าหรือบริการมีมูลค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่พึ่งพอการนำเข้า และมีภาระหนี้สินต่างประเทศค่อนข้างมาก ค่าของเงินบากที่อ่อนลงจะส่งผลทางลบที่รุนแรง

4. การผลิต ซึ่งภาพโดยกว้างอาจหมายรวมไปถึงตลาดการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันคือตลาดต่างประเทศ หากอุตสาหกรรมภาคการผลิตและบริการของเรา สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ตรงตามความต้องการของประเทศคู่ค้าได้ ทั้งยังมีราคาและคุณภาพเหมาะสมหรือดีกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่ง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากภาครัฐ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลให้สามารถนำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาเสริมสร้างสภาพคล่องได้มากขึ้น และกำลังซื้อก็จะกระจายไปยังกิจการอื่น ๆ ในประเทศได้

5. สภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเราดี ความต้องการของสินค้าย่อมมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายและเม็ดเงินที่กลับเข้ามา ในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าประสบปัญหา ก็จะทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ของเราลดลง อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม



ปัจจัยทางการเมือง เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นได้รวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะการเมืองในประเทศ เนื่องจากภาคการเมืองหรือรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่อาจมีผลเอื้อประโยชน์หรือขัดขวางต่อการลงทุนอย่างมากที่สุด นอกจากนี้ ภาคการเมืองยังมีความเกี่ยวข้องในด้านการกำหนดอัตราภาษี, การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการช่วยหาตลาดต่างประเทศที่สำคัญด้วย



ปัจจัยที่เกิดจากผลกระทบอื่น ๆ เช่น ปัจจัยจากธรรมชาติอันได้แก่ ฝนแล้ง, น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, หรือภัยพิบัติใด ๆ รวมทั้งความไม่สงบทั้งภายในและภายนอก เช่นบริเวณชายแดนหรือประเทศใกล้เคียงด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ



ปัจจัยของตลาดหลักทรัพย์หรือตัวหลักทรัพย์ เช่น การเกิดข่าวลือ การเก็งกำไรที่มากเกินไปจนปัจจัยพื้นฐานรองรับไม่ไหว, กฎระเบียบที่เข้มงวดหรือหย่อนยานจนเกินไป, อัตรามาร์จิน (Margin) และดอกเบี้ยที่ไม่เอื้อต่อผู้ลงทุน เหล่านี้คือปัจจัยทางลบของตลาด ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวหลักทรัพย์โดยตรงได้แก่ ผลกำไร, สถานะทางการเงิน ผู้บริหาร, รวมทั้งการประกาศเพิ่มทุน, จ่ายเงินปันผล ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ได้ทั้งสิ้น



ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยทางด้านพื้นฐาน ซึ่งก็ยังคงมีรายละเอียดอีกมากมาย เช่น บางครั้งเราอาจเคยได้ยินคำว่า “การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis)” ซึ่งอาจอธิบายสั้นๆ ในที่นี้ได้ว่า เป็นการวิเคราะห์หุ้นโดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของตลาดหลักทรัพย์ ที่แสดงออกโดยผ่านการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายหุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยเวลาหนึ่ง ๆ มาทำการคาดคะเนแนวโน้มของหุ้นในอนาคต การวิเคราะห์ในลักษณะนี้มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งและมีความซับซ้อนมาก ผู้ที่มีความสนใจสามารถศึกษาต่อเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว






สรุป



ข้อมูลพื้นฐานในการลงทุนอาจพิจารณาได้จาก

1. สภาพตลาดโดยรวม โดยดูทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหุ้น ปริมาณการซื้อขาย

2. พิจารณาคุณภาพหุ้นรายตัว โดยดูจากราคา อัตราส่วน P/E Ratio อัตราเงินปันผลตอบแทน ปริมาณหุ้นหมุนเวียน และคุณภาพในเชิงธุรกิจและการตลาด

แหล่งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย มีทั้งจากวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์ ห้องสมุด ก.ล.ต. และบริษัทโบรกเกอร์

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนคือ สภาพคล่องทางการเงิน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภาคการผลิต สภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ และปัจจัยทางการเมือง ส่วนที่เหลือคือปัจจัยของตลาดหลักทรัพย์ หรือตัวหลักทรัพย์นั้น ๆ เอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘