ก้าวที่ 3 : สัมผัสกับบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์

โบรกเกอร์ (Broker) หรือบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียน โดยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ และได้รับการคัดเลือกแล้ว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซึ่งความแตกต่างกันก็คือ บริษัทที่มีทั้งคำว่าเงินทุนและหลักทรัพย์ จะประกอบธุรกิจด้านระดมเงินทุนและธุรกิจค้าหลักทรัพย์ควบคู่กันไป ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ จะประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ คุณอาจเคยได้ยินคำว่าซับโบรกเกอร์ (Sub Broker) หรือบริษัทนายหน้าช่วง ซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากผู้ลงทุนที่จะซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับโบรกเกอร์ แต่เนื่องจากซับโบรกเกอร์ไม่ได้เป็นบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องส่งคำสั่งไปยังโบรกเกอร์ก่อน หลังจากนั้นโบรกเกอร์จะส่งคำสั่งไปยังกระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์อีกต่อหนี่ง






คุณสมบัติของโบรกเกอร์และซับโบรกเกอร์ที่ดี



เมื่อคุณตัดสินใจว่าจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คุณต้องเกี่ยวข้องกับบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ทันที ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์ก็ตาม เพราะมีกฎหมายบังคับไว้ชัดเจนว่า คุณไม่สามารถซื้อขายตราสารต่าง ๆ ได้โดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ แต่จะต้องซื้อผ่านนายหน้า คือโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์เท่านั้น ดังนั้นคุณต้องเลือกว่าจะใช้บริการของบริษัทใด

โบรกเกอร์จะเป็นคนกลางระหว่างคุณกับตลาดหลักทรัพย์ชนิดครบวงจรการซื้อขาย หรือรวมตลออดก่อนและหลังการซื้อขายก็ว่าได้ เพราะโบรกเกอร์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ชี้แนะช่องทางและให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ รวมทั้งส่งสัญญาณเตือนต่าง ๆ

โบรกเกอร์จะเป็นผู้รับคำสั่งซื้อขายของคุณถ่ายทอดสู่ตลาดหลักทรัพย์ และแจ้งผลเมื่อการซื้อขายจริงเกิดขึ้น อีกทั้งยังดูแลบัญชี ภาษีข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติแทนคุณในทุก ๆ รายละเอียด

แต่ทั้งหมดนี้ การตัดสินใจครั้งสุดท้ายย่อมอยู่ที่คุณ และผู้รับผลในการตัดสินใจก็คือคุณคนเดียว เพราะไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนโบรกเกอร์ไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบใด ๆ

ดังนั้นโบรกเกอร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกเป็นสมาชิกของโบรกเกอร์บริษัทใด คุณควรพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้าน เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาของคุณ เราจะแยกแยะบทบาทและคุณสมบัติของโบรกเกอร์ที่เหมาะสม ให้เห็นเป็นประเด็น ๆ ดังนี้



1. พี่เลี้ยงใจดีสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่

คุณไม่ต้องเกรงใจหรือเคอะเขินต่อการตั้งคำถามใดๆ ที่คุณไม่รู้และอยากรู้ โบรกเกอร์มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของคุณ สอนคุณให้รู้จักก้าวเดินทีละก้าว ตั้งแต่พื้นฐานเรื่อยไปจนถึงเทคนิคที่สูงขึ้น ๆ จนกว่าคุณจะคล่อง



2. บริการข้อมูลและข่าวสาร

เมื่อคุณคุ้นเคยกับตลาดหลักทรัพย์ดีแล้ว โบรกเกอร์ของคุณจะต้องมีความพร้อมทางด้านข้อมูลและข่าวสารที่รวดเร็วและถูกต้อง บอกคุณถึงความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เพื่อให้คุณใช้ประกอลบการตัดสินใจ เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ลงทุนระยะยาว ข้อมูลที่คุณควรได้รับจะเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจสังคม หรือภาวะต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบ ต่อท้ายด้วยกลุ่มธุรกิจที่น่าจะเติบโตในอนาคต แต่ถ้าคุณเป็นนักซื้อขายหลักทรัพย์รายวันหรือรายชั่วโมง คุณควรได้รับข่าวสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์วินาทีต่อวินาที อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย สภาวะทางการเมือง ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งโบรกเกอร์จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้คุณได้ทันต่อเหตุการณ์



3. สนองคำสั่งซื้อขายของคุณอย่างรวดเร็วและถูกต้อง

ความจริงแล้วโบรกเกอร์ทุกแห่งมีการแข่งขันกันในด้านการบริการข้อนี้อยู่แล้ว เนื่องจากหากสามารถปฏิบัติตามคำสั่งซื้อขายของลูกค้าได้ และยังมีส่วนทำให้การซื้อขายเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย ดังนั้น ในกรณีที่คุณเป็นผู้ลงทุนระยะสั้น มีการซื้อขายวันต่อวัน หรือวันละหลายครั้ง คุณควรเลือกโบรกเกอร์ที่มีเจ้าหน้าที่การตลาดที่มากเพียงพอ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับคำสั่งจาก ลูกค้าหลายรายจนเกินไป และมีโทรศัพท์มากเพียงพอในกรณีที่คุณใช้วิธีซื้อขายทางโทรศัพท์



4. มีฐานการเงินที่มั่นคงน่าเชื่อถือ

แต่เดิมมีบริษัทสมาชิกรวม 50 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยปี พ.ศ. 2540 บริษัทสมาชิกถูกปิดกิจการไปหลายแห่ง ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกและเสียหายได้ ดังนั้นการพิจารณาฐานะความมั่นคงของบริษัทโบรกเกอร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยศึกษาได้จากกลุ่มผู้ถือหุ้น ประวัติความเป็นมา ผลการดำเนินงานชื่อเสียงของทีมบริหาร เป็นต้น



5. สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย

โบรกเกอร์ที่ดีควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ เช่น หากคุณเป็นผู้ลงทุนที่มาสั่งซื้อขาย ณ ห้องค้าหลักทรัพย์ของโบรกเกอร์ คุณต้องการคอมพิวเตอร์ที่มากเพียงพอ มีบริการด้านข้อมูลอัตโนมัติ เช่น จอจากสำนักข่าวรอยเตอร์จากสำนักข่าวบิสนิวส์ หรือจอที่แสดงการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีทางเทคนิคต่าง ๆ ประกอบ และหากคุณเป็นผู้ลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนสูง คุณอาจต้องการความเป็นส่วนตัวด้วยห้องค้าหลักทรัพย์ส่วนตัว (VIP Room) หรือหากคุณเป็นผู้ลงทุนที่สั่งซื้อทางโทรศัพท์ คุณก็ต้องพิจารณาที่ระบบและประสิทธิภาพของระบบสื่อสารด้วย



6. ระบบเอกสารและบริการหลังการซื้อขาย

งานเอกสารนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเสมือนข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างคุณกับโบรกเกอร์ หรือคุณกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้กล่าวย้ำมาแล้วในบทที่ผ่านมา ส่วนบริการหลังการซื้อขาย ปัจจุบันโบรกเกอร์หลายแห่งเริ่มใช้ระบบการตัดและโอนบัญชี เอกสารต่าง ๆ ยิ่งต้องรัดกุม ควรจะไม่ซับซ้อน ง่ายในการทำความเข้าใจ ชัดเจนและตรวจสอบได้ตลอดเวลา



7. ทำเลที่ตั้ง

ข้อนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ลงทุนที่นิยมซื้อขายในห้องค้าหลักทรัพย์ คุณต้องพิจารณาระยะเวลาการเดินทาง สถานที่จอดรถยนต์ ความสะดวก ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่อาจต้องคำนึง อาทิ ค่าที่จอดรถ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธนาคารต่าง ๆ เป็นต้น



ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นอาจช่วยให้คุณใช้ประกอบการตัดสินใจได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ว่าจะเลือกโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์รายใดให้เป็นผู้ดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของคุณ






ข้อแตกต่างระหว่าโบรกเกอร์กับซับโบรกเกอร์



ต่อจากนี้เราจะลองมาดูข้อแตกต่างหรือจุดได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างการใช้บริการของโบรกเกอร์กับซับโบรกเกอร์

โบรกเกอร์ มีข้อได้เปรียบที่คำสั่งซื้อขายของคุณสามารถส่งต่อถึงตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรง จึงรวดเร็วกว่า

ซับโบรกเกอร์ ข้อดีคือมักมีลูกค้าน้อยรายกว่า การให้บริการ จึงอาจทั่วถึงกว่า มีความใกล้ชิดและเป็นกันเองได้มากกว่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะรักษาผลประโยชน์ให้คุณได้ดีกว่า

โดยทางปฏิบัติแล้วซับโบรกเกอร์ต้องส่งคำสั่งซื้อขายของคุณผ่านโบรกเกอร์ และซับโบรกเกอร์ 1 ราย สามารถส่งคำสั่งผ่านโบรกเกอร์ได้ถึง 3 แห่ง ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์ของโบรกเกอร์แห่งใดแห่งหนึ่งเสียหรือเกิดปัญหา ลูกค้าของโบรกเกอร์นั้นไม่สามารถส่งคำสั่งได้ แต่ลูกค้าของซับโบรกเกอร์กลับไม่มีปัญหา เพระายังมีโบรกเกอร์อีก 2 รายที่สามารถส่งคำสั่งผ่านได้อยู่

ในท้ายที่สุดเมื่อคุณเลือกโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์แล้วคุณยังต้องพิจารณาตัวบุคคลที่คุณต้องติดต่อด้วย นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่การตลาดผู้ที่จะดูแลบัญชีการลงทุนของคุณ ซึ่งในทางปฏิบัติจะใกล้ชิดกับคุณมากที่สุด บุคคลคนนี้จะเป็นผู้ให้ข้อมูล คำปรึกษา รับและส่งต่อคำสั่งซื้อขาย ติดตามและแจ้งผลการซื้อขายที่เกิดขึ้นให้คุณรับทราบด้วยเหตุนี้ ถ้าคุณได้เจ้าหน้าที่การตลาดที่รู้ใจกันดีและเชื่อถือได้ คุณจะเป็นผู้ลงทุนที่มีความสุข คลายความวิตกกังวลได้ไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงขอแนะนำรายละเอียดในการเลือกเจ้าหน้าที่การตลาดประจำตัวของคุณไว้ดังนี้

· ควรเป็นผู้มีสุขภาพและพลานามัยที่ดี ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่คนอ่อนแอ ลาป่วยบ่อย เพราะคุณจะเสียอารมณ์มากเวลาไม่สามารถตามตัวในยามคับขันได้

· ควรมีประสบการณ์ในอาชีพนี้อย่างน้อย 2 ปี ขึ้นไป

· เคยมีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีอายุ 27 ปี ขึ้นไปเพราะเป็นวัยที่วุฒิภาวะเพียงพอ

· ควรมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีและตรงสายงาน เช่น เรียนจบทางด้านการเงิน บัญชี เศรษฐศาสตร์ การตลาด เป็นต้น

· สามารถตอบคำถามหรือวิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดเจน มีเหตุผลน่าเชื่อถือ และมักจะถูกต้อง

· ไม่ควรมีลูกค้าในความดูแลมากเกินไป

· ผ่านการยอมรับจากกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ซึ่งคุณสามารถสอบถามจากเพื่อนนักลงทุนรอบข้างได้






สรุป



บริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ คือคนกลางระหว่างผู้ลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ในการรับคำสั่งซื้อขายและกระบวนการต่อเนื่องอื่น ๆ

บริษัทนายหน้าหรือซับโบรกเกอร์ ทำหน้าที่เหมือนโบรกเกอร์เพียงแต่เมื่อรับคำสั่งจากผู้ลงทุนแล้ว ต้องส่งคำสั่งผ่านโบรกเกอร์ไปยังตลาดหลักทรัพย์

คุณสมบัติของโบรกเกอร์ที่ดีคือ ให้บริการข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องพอเพียง บริการด้วยความซื่อสัตย์ รวดเร็ว และถูกต้อง มีฐานการเงินน่าเชื่อถือ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนและทันสมัย

เจ้าหน้าที่การตลาดที่ดี ควรมีประสบการณ์พอสมควร มีพื้นฐานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีพื้นฐานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีความสามารถในการให้บริการสามารถให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ลงทุน และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘