ถาด 3 ใบ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นคนที่ชอบอุปมา อุปไมย และมักจะมีอารมณ์ขันเวลาที่พูดเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุน แต่คำพูดต่างๆ เหล่านั้น มักจะซ่อนแนวความคิด และปรัชญาที่ลึกซึ้ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ คำพูดเปรียบเปรยเรื่องหนึ่ง ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่น เพราะมันเป็นหัวใจของการวิเคราะห์หุ้นที่นักลงทุนมักทำผิดพลาดอยู่เสมอ
บัฟเฟตต์ บอกว่า เขาได้รับรายงานการวิเคราะห์หุ้นจำนวนมาก เขาจะอ่านมัน และเมื่ออ่านจบ เขาจะวางลงบนถาดใบใดใบหนึ่งใน 3 ใบ ที่อยู่บนโต๊ะทำงานเขา หุ้นตัวที่เขาดูว่ามีคุณภาพดี ราคาถูกเหมาะสมที่จะพิจารณาลงทุน เขาจะวางบนถาดที่เขียนว่า "In" หุ้นตัวที่เขาดูแล้วไม่คุ้มค่าเลย และไม่น่าสนใจลงทุน เขาจะวางในถาด "Out" ส่วนหุ้นที่เขาอ่านแล้วรู้สึกงง หรือหาข้อสรุปไม่ได้ว่าดีหรือไม่ เขาจะวางบนถาดที่เขียนว่า "Too Hard" หรือ "ยากเกินไป"
ในประสบการณ์ของเขา บัฟเฟตต์บอกว่า หุ้นที่ดี หรือที่อยู่ในถาด "IN" มีน้อยมาก หุ้นที่ไม่คุ้มค่าที่อยู่ในถาด "OUT" นั้นมีมากพอสมควร แต่หุ้นที่อยู่ในถาด "Too Hard" นั้น มีเต็มไปหมดจนล้นถาด และนี่คือความเห็นของเซียนหุ้นมือหนึ่งของโลกที่อยู่กับการลงทุนมาตลอดชีวิต ซึ่งก็เป็นการบอกให้นักลงทุนรู้ว่า หุ้นส่วนใหญ่ที่เราพบเจอนั้น จริงๆ แล้วมันเป็นธุรกิจหรือเป็นหุ้นที่ "ยากเกินไป" สำหรับเรา ความรู้ของเรานั้นมีจำกัดอยู่ใน "วง" วงหนึ่ง ที่บัฟเฟตต์เรียกว่า "Circle of Competence" เมื่อไรที่เราออกนอกวงนี้ เราก็มักจะวิเคราะห์ผิดพลาด วิธีที่ดีก็คือ พยายามหาหุ้นที่เราสามารถเข้าใจได้ง่ายพอที่จะให้ความเห็นได้ถูกต้องว่ามันเป็นหุ้นที่ดีหรือไม่ดี ส่วนหุ้นที่เราไม่เข้าใจก็อย่าเข้าไปยุ่ง อย่าพยายามนึกว่าเรารู้
ผมเองยอมรับว่าเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญค่อนข้างจำกัด และไม่ค่อยจะมีความสามารถในการมอง หรือคิด เกี่ยวกับเรื่องที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ สินค้า หรือธุรกิจไฮเทค ในเรื่องที่เป็นนามธรรม ผมเองก็ค่อนข้างอ่อนในการที่จะคาดการณ์สภาวะในอนาคต ไล่ตั้งแต่เรื่องของวงจรความรุ่งเรือง และตกต่ำของธุรกิจวัฏจักรทั้งหลาย ไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาผมดูหรือวิเคราะห์หุ้นจำนวนมาก ข้อสรุปหรือคำตอบของผมจึงมักออกมาว่ามัน "Too Hard" จนตอนหลังๆ ผมแทบจะไม่อยากวิเคราะห์เลย ถ้าดูแล้วธุรกิจของบริษัท เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถเข้าใจหรือคาดการณ์ได้
ถึงอย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผมไม่ได้เป็นผู้บริหารของกองทุนรวม ที่ต้องหาหุ้นลงทุนอย่างน้อยหลายสิบตัว ส่วนผมเอง ต้องการหุ้นเพียง 6-7 ตัวเท่านั้น ผมจึงยังสามารถที่จะหาหุ้นลงทุนที่ดีได้แม้ว่าในหลายๆ ครั้งจะ "เสียโอกาส" ที่ไม่ได้เก็บหุ้นที่ถูกมาก และได้ผลตอบแทนมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็ว เพียงเพราะว่าผมไม่แน่ใจว่าผมรู้ดีพอ แต่ผมก็ปลอบใจตัวเองเสมอว่า "เสียดายดีกว่าเสียใจ"
ส่วน Value Investor ที่ยังไม่เชี่ยวชาญมาก ผมคิดว่า เขาจำเป็นที่จะต้องมี "ถาด 3 ใบ" อยู่บนโต๊ะ หรืออย่างน้อยในสมองสำหรับหุ้นแต่ละตัวที่เขาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาลงทุน สิ่งที่สำคัญยิ่งยวด ก็คือ เขาจะต้องประเมินอย่างเป็นกลาง และจริงใจต่อตนเองมากที่สุดว่าเขามีความรอบรู้แค่ไหน กิจการที่เขากำลังวิเคราะห์อยู่นั้น อยู่ใน "ขอบเขตแห่งความรอบรู้" ของเขาหรือไม่ อย่าคิดว่าเรารู้ ถ้าข้อเท็จจริงก็คือ เราไม่รู้ เพราะนั่นจะทำให้เราสรุปผิด นอกจากนั้น เราจะต้องตระหนักด้วยว่า มีสิ่งต่างๆ จำนวนมากในโลกนี้ที่เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือมีคนที่สามารถคาดได้น้อยมาก ดังนั้น ถ้ามีข้อสงสัยว่าเรารู้หรือเราไม่รู้ ผมแนะนำว่า เราเอาหุ้นตัวนั้นไปใส่ไว้ในถาด "Too Hard" จะปลอดภัยกว่า
Value Investor หลายคน แทนที่จะวิเคราะห์และสรุปการประเมินเอง กลับใช้วิธีลอกการบ้านคนอื่น โดยเฉพาะที่คิดว่าเป็นคนเก่งเป็นเซียน และเคยมีผลงานประทับใจให้เห็นมาแล้ว แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนสำคัญก็คือ "ต้นฉบับ" นั้นมักจะซื้อหุ้นลงทุนไปก่อนแล้วในราคาที่ต่ำกว่าก่อนที่จะปล่อยต้นฉบับมาให้คนลอก ดังนั้น โอกาสที่คนลอกจะซื้อหุ้นดีในราคาที่สูงเกินไปก็มีอยู่ไม่น้อย ในอีกด้านหนึ่ง คนเก่งหรือเซียนเองก็มีโอกาสผิดพลาดได้ และเซียนนั้น เมื่อผิดพลาดแล้วก็จะรู้วิธีแก้ และแก้ไขได้เร็วกว่า ในขณะที่คนตามนั้นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว การลอกการบ้านคนอื่น โดยไม่ได้คิดเองอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ
การมีถาด 3 ใบ ในใจนั้น ในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เหตุผลก็คือ นักลงทุนมักอ่อนไหวไปตามราคาหุ้น ที่ขึ้นลงหวือหวาบนกระดาน เวลาวิเคราะห์หุ้นเรามักจะมองราคาหุ้นไปด้วย และเมื่อราคาหุ้นกับสิ่งที่เราวิเคราะห์สอดคล้องกัน "อย่างชัดเจน" เราก็อาจจะด่วนสรุปว่าเรารู้ เราวิเคราะห์ถูก ทั้งที่มันไม่ใช่ และมันเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ดังนั้น เวลาวิเคราะห์และลงความเห็นว่าหุ้นตัวนั้นควรจะอยู่บนถาดไหน ผมแนะนำว่า เราควรปิดจอดูหุ้นไว้ก่อน อย่าให้ราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกนาทีมาตัดสิน "การลงทุน 5 ปี" ของเรา

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘