บทที่ 3 : เมื่อสนใจจะซื้อหน่วยลงทุน...เตรียมความพร้อมกันดีกว่า

เมื่อแน่ใจที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ต่อไปนี้จะเป็นขั้นตอนสำหรับการเตรียมตัว และเพิ่มความพร้อมที่จะเป็นนักลงทุนผู้รอบรู้ ซึ่งถือเป็นวิชาป้องกันตัวที่สำคัญ เพราะถึงแม้การลงทุนในลักษณะนี้จะผ่านมืออาชีพ คุณแผนก็ยังต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ….เสี่ยงอยู่ดี !



1.  สำรวจวัตถุประสงค์ ฐานะก่อนตัดสินใจลงทุน


            ทุก ๆ ครั้งที่จะลงมือทำอะไรกับเงินที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนซื้อทองคำ ซื้อที่ดิน หรือลงทุนในกิจการค้าคงเสี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ คือ ฐานะการเงินของตนเองตอนนี้เป็นอย่างไรและต้องการอะไรจากการลงทุนนั้น ซึ่งคงไม่ต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมแบบนี้ เพราะแม้ว่ามีมืออาชีพบริหารเงินให้แต่ก็ต้องหาคำตอบว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋า เท่าไหร่?  จะนำไปลงทุนซื้อหน่วยลงทุนได้เท่าไหร่?  มีเวลารอดอกผลได้นานแค่ไหน?  สามารถรับความเสี่ยงที่เกิดจากการนี้ได้มากน้อยเพียงใด?  จะนำเงินที่ได้จากการลงทุนนั้นไปใช้อะไรเป็นการเฉพาะหรือไม่?  เมื่อมีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้อยู่อย่างชัดเจน และพิจารณาเห็นว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมน่าจะเอื้อประโยชน์ให้ตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีอยู่ จึงจะมาเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวกองทุนรวมที่ว่านี้ เพื่อที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสม



2.  รู้จักตัวเลือกในการลงทุน


            ยังจำได้ไหมว่าข้อดีอย่างหนึ่งของกองทุนรวม คือ มีทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งในตำราทางการเงินจะมีการชอบย่อยทางเลือกกันออกไปด้วยหลักต่าง ๆ มากมายในที่นี้จะแจกแจงกองทุนรวมเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ดูตามลักษณะนโยบาย และอายุของกองทุนรวม

นโยบายแบบต่าง ๆ

            วิธี การหนึ่งที่ใช้แบ่งประเภทของกองทุนรวม คือ ดูจากนโยบายในการลงทุนว่ากองทุนรวมนั้นเอาเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงิน ประเภทไหน เนื่องจากกฎหมายได้เปิดให้มีแนวทางการบริหารกองทุนรวมด้วยนโยบายการลงทุนที่ แตกต่างกันไป

            แบบแรก  คือ กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นแหละ ปกติจะรู้จักกันว่าเป็น กองทุนรวมตราสารทุน หากถามว่าแล้วแบบที่ลงทุนในหุ้นทุนนี้เหมาะอย่างไรกับตัวคุณแผน ก็คงต้องพิจารณาเอาเองว่า คุณแผนเป็นประเภทที่ชอบความเสี่ยง รักการลุ้น กล้าได้กล้าเสีย และเข้าใจธรรมชาติ ความหวือหวาของราคาหุ้นทุนหรือไม่ เพราะสิ่งนี้มีผลโดยตรงกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นกับโครงการกองทุนรวม ที่คุณแผนเข้าไปลงทุนไว้

             แบบที่สอง  คือ  กองทุนรวมตราสารหนี้  ในทำนองเดียวกัน คือ จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งหมายถึง หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนต่าง ๆ และพันธบัตรที่ออกโดยภาครัฐ แบบนี้อาจเหมาะสำหรับการลงทุน หากคุณแผนไม่ชอบความเสี่ยงเท่าไหร่นัก เพราะดอกผลที่เกิดจากตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าราคาของตัวตราสารหนี้เองอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลง แต่ผลตอบแทนโดยรวมของตราสารทางการเงินประเภทนี้ไม่หวือหวา น่าหวาดเสียวเท่ากับตราสารทุน

             แบบที่สาม  คือ  การลงทุนปน ๆ กันไป เรียกว่า  กองทุนรวมแบบผสม  ลงทุนทั้งในหุ้นกู้ และหุ้นทุน ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนเงินที่จะนำไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้ ระดับความผันผวนในด้านผลตอบแทน ของโครงการกองทุนรวมแบบนี้หลากหลายไปตามน้ำหนักสัดส่วนดังกล่าว เช่น ถ้าลงทุนในหุ้นกู้ด้วยสัดส่วนที่มากกว่า ผลตอบแทนก็อาจมีความผันผวนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโครงการที่นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในหุ้นทุนมาก ๆ เป็นต้น


            การกำหนดสัดส่วนว่าให้โครงการกองทุนรวมสามารถลงทุนในตราสารทางการเงินอะไรได้บ้าง หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินในกองทุนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะตราสารทางการเงิน ไม่ว่าหุ้นกู้ หรือหุ้นทุน มีลักษณะดีหรือด้อยมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป มีผลทั้งสิ้นต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกคุณลักษณะของกองทุนรวมโครงการนั้น (มีตารางแยกย่อยแบบเจาะลึกพลิกดูรายละเอียดได้ที่ด้านหลังในหัวข้อนโยบายการลงทุน…..แบบลึก ๆ)


กองทุนแบบเปิด หรือ ปิด

            นอกจากแยกประเภทตามนโยบายการลงทุนแล้ว ยังสามารถจำแนกกองทุนรวมได้เป็นแบบเปิดและแบบปิด หากคุณแผนอ่านพบโฆษณาใด ๆ ที่เกี่ยวกับกองทุนรวม จะสังเกตได้ว่ามีการระบุว่ากองทุนโครงการนั้นมีลักษณะเปิดหรือปิด ไม่ต้องนั่งมึนกับคำว่าเปิดหรือปิดให้เสียเวลา มาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนดีกว่าว่าลักษณะเปิดหรือปิดนั้นหมายความว่าอะไร
            กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือกองทุนเปิด  เป็นกองทุนรวมแบบที่เปิดให้มีการจำหน่าย และรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามเวลาที่กำหนดทำให้ปริมาณกองเงินมีการยืดและหด หรือมีขนาดใหญ่หรือเล็กไม่คงที่ กองทุนนี้จะเปิดให้ซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการหรือตัวแทนสนับสนุนและสามารถไถ่ถอน (ขายคืน) หน่วยลงทุนได้เป็นระยะ ๆ
            ในกรณีของกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือกองทุนปิด จะต่างจากกองแบบเปิดตรงที่มีการเปิดขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มโครงการ เป็นการขายในจำนวนที่จำกัด โดยจะกำหนดอายุโครงการไว้อย่างแน่นอน เช่น กองทุนรวม ก. มีอายุโครงการ 3 ปี หรือกองทุนรวม ข มีอายุโครงการ 6 ปี เมื่อครบอายุดังกล่าวผู้ลงทุนจึงจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพื่อขอรับเงินคืนได้
            อย่างไรก็ดี การซื้อขายหน่วยลงทุนประเภทกองทุนปิดหลังจากการเสนอขายครั้งแรกแล้ว อาจทำได้ในตลาดหลักทรัพย์ที่กองทุนปิดนั้นจดทะเบียนอยู่โดยซื้อ-ขายผ่านบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) แต่ในกรณีที่กองทุนปิดนั้นมิได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดใดเลย คุณแผนก็ต้องไปติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้สร้างสภาพคล่องหรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า market maker ซึ่งจะทำหน้าที่ซื้อ-ขายหน่วยลงทุนที่ไม่ได้จดทะเบียนเหล่านี้
            ลักษณะที่กองทรัพย์สินของกองทุนปิดถูกกำหนดไม่ให้มีการไหลเข้า-ออก (ไถ่ถอน) ระหว่างที่ยังไม่สิ้นสุดอายุโครงการนี้ ทำให้ผู้บริหารกองทุนสามารถจัดการกับทรัพย์สินในกองทุนรวมได้สะดวกขึ้น เนื่องจากบริษัทจัดการไม่จำเป็นต้องกันเงิน หรือคำนึงถึงการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วย ที่จะทำให้ปริมาณกองทรัพย์สินมีความเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ตลอดเวลา จึงทำให้สามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่ากองทุนเปิด แต่ในขณะเดียวกันการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุน ของกองทุนเปิดได้เป็นช่วง ๆ ก็เป็นผลดีต่อผู้ลงทุนในด้านสภาพคล่อง



อะไรเอ่ย  เดี๋ยวปิด-เดี๋ยวเปิด?

            หากคุณแผนเคยได้ยินว่ากองทุนปิดเปลี่ยนมาเป็นกองเปิด ก็ไม่ต้องสงสัยไป เพราะบางครั้งผู้ออกโครงการจะกำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน (หรือเอกสารที่เชิญชวนให้ซื้อหน่วยลงทุน) ว่า กองทุนปิดจะมีการขอเปลี่ยนประเภทโครงการเป็นกองทุนเปิดเมื่อครบอายุโครงการเมื่อถึงเวลาอันสมควรผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น จะได้รับหนังสือจากบริษัทจัดการ เพื่อขอมติในการเปลี่ยนประเภทโครงการกองทุนรวมจากปิดเป็นเปิด
            ผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหลายต้องอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงให้ดีว่า ลักษณะของโครงการกองทุนรวมนั้น ๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มีข้อดี-ข้อเสีย สำหรับผู้ถือหน่วยหรือไม่อย่างไร และมาทบทวนดูว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินในขณะนั้นเลยหรือเปล่า ดูลักษณะของโครงการกองทุนรวมเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วิธีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และเงื่อนไขทั้งหลายทั้งปวง จากนั้นค่อยตัดสินใจลงมติว่าจะให้มีการเปลี่ยนจากกองปิดเป็นเปิด และยังตกลงใจจะถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมซึ่งจะกลายเป็นกองเปิดต่อไปหรือไม่
            หลังจากที่บริษัทจัดการได้รับมติให้เปลี่ยนประเภทโครงการแล้วบริษัทจัดการจะมีหนังสือออกไป เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแสดงความจำนงว่าจะถือต่อ หรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อถึงวันที่ครบอายุโครงการ คุณแผนต้องใช้สิทธิตอบแจ้งไปยังบริษัทจัดการ ทั้งนี้หากไม่ใช้สิทธิในการไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั่นหมายความว่าต้องถือหน่วยลงทุนต่อไปอีก และไปไถ่ถอนในวันข้างหน้าแทน




3.  หาข้อมูลเบื้องต้นของกองทุนรวมที่ขายอยู่


            ข้อมูลเบื้องต้นแบบนี้ คุณแผนจะหาได้จากหนังสือพิมพ์ธุรกิจต่าง ๆ เพราะเมื่อแรกเริ่มของการขายหน่วยลงทุน ทางผู้ออกโครงการจะลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประกาศเป็นการทั่วไปว่าตอนนี้มีโครงการออกใหม่ ที่มีรายละเอียดเบื้องต้น เช่น ซื้อหน่วยลงทุนนั้นได้ที่ไหน? เมื่อไหร่? ราคาเท่าไหร่? ใครเป็นผู้ออกโครงการ หรือใครเป็นคนขาย? เป็นต้น และทีนี้หากมีความสนใจใคร่ซื้อขึ้นมาจริง ๆ ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไป
            นอกจากนี้ หลังจากที่ได้เริ่มขายโครงการออกไปแล้ว จะมีการเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวม ในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นต้นว่า ราคาซื้อ-ขายหน่วยลงทุน สำหรับทั้งกองเปิด และกองปิด รับรองว่าหากติดตามก็คงไม่ตกข่าวแน่นอน




4.  ศึกษาข้อมูลโครงการกองทุนรวมอย่างละเอียด


            นอกจากทำความรู้จักกับโครงการกองทุนรวมผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้นแล้ว คุณแผนยังต้องศึกษาข้อมูลอื่น ๆ อีก เพราะกองทุนรวมแต่ละโครงการจะมีลักษณะและรายละเอียดเป็นของตนเอง เช่นว่าเป็นกองทุนเปิดหรือปิด เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารประเภทอะไร บริษัทจัดการใดเป็นผู้บริหารโครงการหรือมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ลงทุนต้องจ่ายเท่าไหร่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนี้คุณแผนสามารถทำความรู้จักกับโครงการเหล่านั้นได้โดยละเอียดด้วยวิธีการดังต่อไปนี้


หาหนังสือชี้ชวนมาอ่าน

            แหล่งข้อมูลสำคัญที่ต้องอ่าน และศึกษาอย่างละเอียดนอกเหนือจากการอ่านหนังสือพิมพ์ คือ หนังสือชี้ชวน ซึ่งบริษัทจัดการจัดทำและแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจจะลงทุน ในนั้นจะมีรายละเอียดทั้งหมดของโครงการกองทุนรวม เรื่องของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีทั้งคำเตือน บอกถึงความเสี่ยง โดยเน้นเตือนเรื่องความเสี่ยงด้วยประโยคที่ว่า การลงทุนในหน่วยลงทุน มิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้  คำเตือนเหล่านี้ เมื่ออ่านแล้วต้องจำไว้เตือนตนเองเสมอ เพราะมันเป็นสัจจธรรมของการลงทุนเลยทีเดียว
            หนังสือชี้ชวนมี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนสำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องอ่านเรียกว่า ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งบริษัทจัดการจะแจกให้กับผู้ต้องการลงทุน โดยจะแนบใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญซื้อหน่วยลงทุนไว้ให้ด้วย ในนั้นจะให้ข้อมูลสำคัญลงลึกเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน อ่านดูให้แน่ชัดเลยว่า กองทุนรวมโครงการนี้ เขาจะนำเงินไปลงทุนในตราสารอะไรบ้าง มากน้อยเท่าไหร่ เช่น อาจบอกไว้ว่า จะลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์หรือ จะลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารแห่งหนี้ ทุกประเภทมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 35 ของทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเป็นต้น นโยบายเหล่านี้มีผลอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงของเงินลงทุน นอกจากนี้ อย่าลืมอ่านคำเตือนต่าง ๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนในกองทุนรวมโครงการนั้น รวมทั้งตรวจดุค่าใช้จ่ายซึ่งจะเป็นต้นทุนของการลงทุนได้จากตาราแสดงค่าใช้จ่ายด้วย
            สำหรับส่วนที่ 2 จะเป็น ส่วนข้อมูลโครงการ ซึ่งแจกแจงรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม เกี่ยวกับวิธีการซื้อขายหน่วยลงทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล และสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น

            กองทุนรวมแต่และโครงการมีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกันบ้างก็ตาม ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน ควรจะพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่ในหนังสือชี้ชวนอย่างละเอียด และควรเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่น ๆ ด้วย


            คุณแผนขอรับหนังสือชี้ชวนทั้งสองส่วนนี้ได้ที่บริษัทจัดการหรือตัวแทนสนับสนุนของกองทุนรวมโครงการนั้น รวมทั้งอาจมาขอสำเนาได้ที่ศูนย์ข้อมูล สำนักงาน ก... ซึ่งจัดเก็บเอกสารชี้ชวนของแต่ละกองทุนรวมไว้ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถสืบค้นได้ง่าย
            ย้ำกันไว้ตรงนี้อีกทีว่าเอกสารชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญ เป็นวัคซีนช่วยสร้างภูมิป้องกันความเพลี่ยงพล้ำ จากการตัดสินใจลงทุน ต้องไม่ลืมอ่านเป็นอันขาด……..!


พิจารณาบริษัทที่บริหารกองทุนรวม

            บริษัทที่บริหารโครงการกองทุนรวม คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือเรียกกันมาตั้งแต่ต้นอย่างย่อว่าบริษัทจัดการ
            ในบริษัทจัดการนั้น มีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน ทำการบริหารโครงการกองทุนรวม คนกลุ่มนี้จะต้องผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติ ต้องมีความสามารถที่จะประกอบวิชาชีพ ต้องมีจรรยาบรรณที่ดีตามที่สมาคม บริษัทจัดการเป็นผู้กำหนดขึ้น และไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม
            บริษัทจัดการจะออกรายงานประจำปี บอกให้รู้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาการบริหารกองทุนรวมโครงการต่าง ๆ ภายใต้ความรับผิดชอบนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการเป็นใคร ข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณแผนเห็นภาพการทำงานของบริษัทจัดการดังกล่าวได้ดีขึ้น รายงานประเภทนี้ขอดูได้ที่บริษัทจัดการเองโดยตรง หรือมาขอดูจากสำนักงาน ก... ก็ได้ (สนใจบริษัทจัดการไหน ลองพลิกไปดูรายชื่อ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมได้ที่ภาคผนวกด้านหลัง)



5.  เช็คว่าต้องจ่ายอะไรบ้าง


            ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสำคัญที่คุณแผนอาจกำลังกังวล คือ เรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย….  หากถามว่า…. ดูได้จากไหน? คำตอบอยู่ใกล้ ๆ ตัว คือ พลิกอ่านได้จากหนังสือชี้ชวนในมือนั่นแหละ จะเห็นว่ามีส่วนของค่าใช้จ่ายแจกแจงเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ต้องจ่ายนอกเหนือจากค่าหน่วยลงทุน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่หักโดยตรงจากผู้ถือหน่วยอย่างคุณแผน และค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวโครงการกองทุนรวม

            ส่วนที่ 1  ค่าใช้จ่ายที่หักโดยตรงจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน  โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ 2 ขา คือ ขาที่ซื้อหน่วยลงทุนเรียกว่า ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนและในขาขายจะเรียกว่า ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน   ซึ่งในขาหลังนี้บริษัทจัดการอาจยกเว้นให้ ถ้าคุณแผนถือหน่วยลงทุนนั้นเป็นระยะเวลานาน ๆ นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนหน่วยลงทุนให้กับคนอื่น ค่าธรรมเนียมในการออกใบหน่วยลงทุนใหม่ รวมทั้งค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนหน่วยลงทุน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากเดิมเคยลงทุนไว้ในโครงการกองทุนรวม ก. ของบริษัทจัดการสบายใจ เกิดมีวันหนึ่งต้องการจะเปลี่ยนเป็นกองทุนรวม ข. ซึ่งบริษัทจัดการสบายใจบริหารอยู่ก็สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้วิธีหักกลบลบหนี้ เพียงแต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทจัดการสบายใจด้วยเท่านั้นเอง
            ค่าใช้จ่ายทั้งหลายในส่วนแรกนี้ กองทุนรวมแต่ละโครงการอาจไม่เรียกเก็บหรือเก็บในจำหน่ายเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ว่าแต่ละโครงการจะกำหนดอย่างไร

            ส่วนที่ 2  ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม  เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการโครงการ ซึ่งจะดึงเงินจากกองทรัพย์สินของโครงการกองทุนรวมนั่นแปละมาจ่าย หมายความว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะเป็นภาระทางอ้อมที่ผู้ถือหน่วยต้องแบกรับอยู่ด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการของบริษัทจัดการ ค่านายทะเบียนค่าที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการจะกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ไม่เท่ากัน

            ควรเปรียบเทียบอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ในแต่ละโครงการ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เป็นตัวทำให้ผลตอบแทนของโครงการกองทุนรวมนั้นลดต่ำลง

ตัวอย่าง  ตารางค่าใช้จ่าย


1.  ค่าใช้จ่ายที่หักโดยตรงจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน 
     (Unitholder’s expenses)
ร้อยละของ
มูลค่า
หน่วยลงทุน
1.1  ค่าธรรมเนียมการขาย  (front-end fee)

1.2  ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน  (back-end fee)

1.3  ค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนหน่วยลงทุน  (switching fee)

2.  ค่าใช้จ่ายที่หักโดยตรงจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน
     (unitholder’s expenses)
ตามที่
จ่ายจริง
2.1  ค่าธรรมเนียมการโอนหน่วยลงทุน  (Unit transfer fee)

2.2  ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
       (ค่าธรรมเนียมการโอน หรือการเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ เป็นต้น

3.  ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
     (fund’s direct expenses)
ร้อยละของมูลค่า
NAV
3.1  ค่าธรรมเนียมการจัดการ  (management fee)

3.2  ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์  (trustee fee)

3.3  ค่านายทะเบียน  (registrar fee)

3.4  ค่าที่ปรึกษาการลงทุน  (advisory fee)

3.5  ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

4.  สัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ *


* ดูความหมายของคำว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ได้ในหัวข้อ การบ้านต่อเนื่อง คือ ติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุนรวม  (หน้า 24)


            คุณแผนควรศึกษาดูสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในข้อ 4 ของตารางด้วย เพราะเป็นตัวเลขที่จะบอกให้รู้ว่า จากมูลค่าของเงินในโครงการทั้งหมด มีการคิดค่าใช้จ่ายในสัดส่วนร้อยละเท่าไหร่ ข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องดูเปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนรวมแต่ละโครงการ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะลงทุนกองไหนดี
 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘