ก้าวที่ 2 : ก้าวสู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

หลังจากที่คุณได้รู้จักตลาดหลักทรัพย์ในเบื้องต้นแล้ว คราวนี้เราจะอธิบายถึงระบบวิธีการลงทุนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พอที่คุณจะสามารถมองภาพได้ว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่พูดกันในภาษาทั่ว ๆ ไปว่า การซื้อ-ขายหุ้นนั้น เขาทำกันอย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มีข้อควรและไม่ควรปฏิบัติอย่างไร เพราะการลงทุนทุกชนิดผู้ลงทุนควรจะได้มีการเตรียมพร้อมที่ดีก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ซึ่งนั่นก็คือเม็ดเงินที่คุณกำลังจะนำออกมาลงทุนนั่นเอง

ก่อนอื่น เรามาทำความคุ้นเคยกับสินค้าของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ตราสาร” อันหมายถึง เอกสารทางการเงินที่ออกมาเพื่อระดมเงินให้นักลงทุนได้เข้ามาซื้อขาย






ประเภทของตราสารในตลาดหลักทรัพย์



1. หุ้นสามัญ (Ordinary Share)

เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชน ซึ่งได้จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท * เพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน ให้คุณได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจนั้น ๆ โดยตรง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง ร่วมตัดสินใจในปัญหาสำคัญในที่ประชุมผู้ถือหุ้น อาทิ การเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล การควบกิจการ คุณจะมีสิทธิออกเสียงตามสัดส่วนของหุ้นที่คุณถืออยู่ ผลตอบแทนที่คุณจะได้โดยตรงก็คือ เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจ กำไรจากการขายหุ้น (ในกรณีที่ขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาเมื่อซื้อมา) และสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ ในกรณีที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน

ผลตอบแทนจากหุ้นสามัญไม่มีความแน่นอน อาจสูง หรือต่ำ หรือขาดทุน (ในกรณีขายคืนได้ราคาต่ำกว่าเวลาซื้อ) ขึ้นอยู่กับผลของการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ ตลอดจนปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ซึ่งคุณในฐานะผู้ลงทุน จะต้องศึกษาข้อมูล จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจทุกครั้ง

* การนำบริษัท จำกัด เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่า บริษัทจดทะเบียน (Listed Company) มีประโยชน์อย่างยิ่งในทางธุรกิจ สำหรับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเดิม สามารถจะระดมทุนเพื่อขยายกิจการได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ทั้งเป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน สำหรับประชาชนทั่วไป ก็จะมีทางเลือกในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น มีโอกาสที่ดีในการเข้าถือหุ้นในกิจการที่ตนสนใจและเชื่อว่าจะเจริญก้าวหน้า



2. หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share)

เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญคือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ได้สิทธิพิเศษคือ เงินปันผลในอัตราที่แน่นอนตายตัว ซึ่งระบุไว้ชัดเจน และได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หุ้นประเภทนี้มีไม่มากนักในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เป็นที่นิยม มีการซื้อขายกันน้อย หรือภาษาเทคนิคเรียกว่า สภาพคล่องไม่ดี หุ้นบุริมสิทธิบนกระดานหุ้น สังเกตได้จากสัญลักษณ์ - P ท้ายอักษรย่อของหุ้นสามัญ



3. หุ้นกู้ (Debenture)

เป็นตราสารที่บริษัทเอกชนออกมา เพื่อกู้เงินระยะยาวจากผู้ลงทุน ซึ่งเมื่อซื้อหุ้นกู้แล้ว ก็เปรียบเหมือนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ บริษัทจะต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือ ตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด ผู้ถือจะได้เงินต้นคืนครบถ้วน เมื่อสิ้นสุดอายุตามระบุในเอกสาร ตลาดหุ้นกู้มักมีสภาพคล่องในการซื้อขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่ซื้อขายโดยผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้ลงทุนระยะยาว



4. หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture)

หุ้นกู้แปลงสภาพคล้ายคลึงกับหุ้นกู้ในข้อ 3 แตกต่างกันตรงที่ว่าจะได้คืนเงินต้นเมื่อครบอายุ แต่จะแปลงเงินต้นเป็นหุ้นสามัญในราคาที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะผู้ซื้อคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้จากราคาหุ้นเมื่อแปลงสภาพแล้ว ซึ่งจะทำกำไรได้มากกว่าผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยของหุ้นกู้ธรรมดา



5. ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)

เป็นตราสารที่ระบุว่า ผู้ถือครองจะได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญในราคาที่กำหนด เมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ (ซึ่งราคาจองซื้อมักจะกำหนดไว้ต่ำ หรือบางครั้งอาจได้รับหุ้นสามัญโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือได้ฟรีก็เป็นได้) ใบสำคัญแสดงสิทธิจะออกควบคู่กับการเพิ่มทุน เป็นเทคนิคการตลาด จูงใจให้คุณลงทุนจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หุ้นบุริมสิทธิหรือหุ้นกู้ เป็นต้น ถ้าคุณซื้อหุ้นเพิ่มทุนในวันนี้ จะได้ Warrant หรือใบสำคัญแสดงสิทธิฟรี หรือในราคาที่กำหนดเช่น 12 บาท ในเวลาที่กำหนดซึ่งอาจเป็น 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้า



6. ใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short-Term Warrant)

ใบสำคัญแสดงสิทธิชนิดนี้จะมีอายุไม่เกิน 2 เดือน และเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น แทนการจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้น (Rights) และสามารถยื่นขอตลาดหลักทรัพย์ ให้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ได้



7. หน่วยลงทุน (Unit Trust)

คือตราสารที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ในรูปของหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยทางบลจ. จะเป็นผู้บริหารกองทุนให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยในรูปของเงินปันผล กองทุนรวมมีหลายประเภท ซึ่งคุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ในหนังสือชี้ชวนซื้อหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุน ซึ่งจะมีการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน ข้อดีของการลงทุนประเภทนี้คือ มีผู้บริหารมืออาชีพดูแลเงินลงทุนแทนคุณ มีการกระจายความเสี่ยงลงในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และมีอำนาจต่อรองที่มากกว่าเพราะเป็นเงินกองทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไปได้ยากในกรณีที่คุณจะลงทุนด้วยตัวเอง



ตราสารหรือหลักทรัพย์ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยภาคเอกชน แต่ยังมีหลักทรัพย์ที่ออกโดยภาครัฐบาล เพื่อการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเช่นกัน ได้แก่



1. พันธบัตรรัฐบาล (Corporate Securities)

เป็นหลักทรัพย์ที่รัฐบาลออกมากู้เงินจากประชาชน ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากออกโดยกระทรวงการคลังมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และอายุไถ่ถอนแน่นอน มี 2 ชนิด คือ พันธบัตรเงินกู้ และ พันธบัตรลงทุน



2. พันธบัตรองค์การรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ (Government Securities)

เป็นพันธบัตรที่ออกโดยองค์การรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ อาจมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย พันธบัตรดังกล่าวได้แก่ พันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์ พันธบัตรเพื่อการลงทุนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และพันธบัตรเงินกู้ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

จากการพิจารณาตราสารทั้งหมดที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สามารถจัดประเภทใหญ่ ๆ ตามธรรมชาติของผู้ลงทุนให้ง่ายต่อการเลือกลงทุนของคุณได้ดังนี้






ขั้นตอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์



เมื่อคุณทราบถึงหลักทรัพย์ชนิดต่าง ๆ และการพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนของคุณแล้ว ต่อจากนี้เราจะอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นที่คุณจะเข้าสู่การซื้อขาย ว่าจะต้องมีความพร้อมอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง



ขั้นตอนที่ 1

วางกรอบการลงทุนของตัวคุณเองอย่างชัดเจน วงเงินที่คุณจะลงทุน ระยะเวลาที่จะลงทุน ความคาดหวังผลตอบแทน คุณพร้อมรับความเสี่ยงแค่ไหน หรือพร้อมรับความจริง หากต้องขาดทุนในวงเงินเท่าไรเช่นกัน ถ้าได้กำไร จะขยายวงเงินในการลงทุนหรือไม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งสติ กำหนดขอบเขตการลงทุนของตัวคุณเอง



ขั้นตอนที่ 2

คุณต้องมีบัญชีกับธนาคารเพื่อใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันก็ได้ คุณต้องแจ้งเลขที่บัญชีที่คุณจะใช้ เมื่อคุณเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ กับโบรกเกอร์ที่คุณจะใช้บริการ



ขั้นตอนที่ 3

ติดต่อบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ และสมัครเป็นสมาชิกหรือลูกค้า โดยการขอเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1) บัญชีเงินสด (Cash Account) หมายถึงถึงบัญชีที่ผู้ลงทุนจะต้องชำระด้วยเงินสด เมื่อมีการแจ้งผลการซื้อจริงเกิดขึ้น บัญชีเงินสดนี้โบรกเกอร์จะพิจารณาอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมกับฐานะการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้การซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องชำระค่าซื้อภายใน 3 วัน นับจากวันที่ซื้อหลักทรัพย์

2) บัญชีเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาจิน (Margin Account) เป็นบัญชีที่ผู้ลงทุนจ่ายชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง และกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์อีกส่วนหนึ่ง โดยมีหลักทรัพย์ที่ซื้อวางเป็นหลักประกัน และมีข้อตกลงว่านักลงทุนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินในส่วนที่กู้ยืมด้วย การลงทุนด้วยระบบมาร์จินมีความซับซ้อนที่ต้องระวังอยู่ในวงเงินกู้ที่คุณใช้ลงทุนอยู่นั้น สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงตลอดเวลา และอาจรวดเร็วรุนแรงตามสภาพการณ์ของตลาดหลักทรัพย์และของตัวหุ้นที่คุณถือลงทุนด้วยระบบมาร์จินอยู่

การลงทุนด้วยระบบมาร์จินนี้ คุณควรศึกษาอย่างละเอียดถึงกฎระเบียบที่มีมากมาย โดยเฉพาะในกรณีเมื่อราคาตลาดลดต่ำลงมาจะมีการเรียกเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นมาวางประกันเพิ่ม ตลอดจนการบังคับขายหุ้นในบัญชีลูกค้า ซึ่งความเสียหายในการลงทุนด้วยระบบนี้ค่อนข้างรุนแรง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม บัญชีมาร์จิน ที่ท้ายบท)






เอกสารที่ต้องใช้เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์



เมื่อคุณตัดสินใจจะเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ คุณต้องจัดเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบสำคัญคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทางในกรณีเป็นชาวต่างชาติ

2. สำเนาทะเบียนบ้าน

3. สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

4. สำเนาใบแจ้งรายการบัญชีธนาคาร (Bank Statement) หรือสำเนาสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์ย้อนหลัง 6 เดือน



หลังจากคุณจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่การตลาดผู้ซื้อจะเป็นผู้ดูแลการลงทุนของคุณ จะสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ จากคุณ อาทิ

1. ฐานะทางการเงินของคุณ วงเงินลงทุนที่คุณจะใช้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

2. วัตถุประสงค์ในการลงทุนของคุณ เป้าหมายในการลงทุนของคุณ เพื่อจะได้ทราบว่าคุณเป็นผู้ลงทุนประเภทใด ลงทุนระยะสั้น หรือระยะยาว คุณคาดหวังผลตอบแทนในรูปแบบใด พร้อมรับความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด คุณต้องการได้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ เป็นต้น

3. พูดคุยซักถามแลกเปลี่ยน เพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ชี้แจงผลดีผลเสียการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าคุณมีความรู้และทัศนคติในการลงทุนอย่างไร และมาน้อยเพียงไร

จากนั้นเจ้าหน้าที่การตลาดจะให้คุณเขียนใบคำขอเปิดบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ และเมื่อได้รับการอนุมัติให้เปิดบัญชีแล้ว คุณจะได้รับแจ้งหมายเลขสมาชิก หรือรหัสประจำตัวลูกค้า ซึ่งจะใช้ในการส่งคำสั่งซื้อ-ขาย เปลี่ยนแปลง ยกเลิก รวมทั้งการชำระเงิน หรือในการติดต่อใด ๆ กับโบรกเกอร์ รหัสนี้คุณต้องเก็บเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจมีผู้แอบอ้างทำให้เกิดความเสียหายได้






การส่งคำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์



ถึงตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้วคราวนี้ลองมาดูว่า คุณจะสามารถสั่งซื้อ-ขายหุ้นได้อย่างไร และกระบวนการซื้อขายหุ้นเป็นอย่างไร

ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดธนาคาร ซึ่งคุณจำง่าย ๆ คือ วันไหนธนาคารทำการ ตลาดหลักทรัพย์ ก็มีการซื้อ-ขายและวันที่ธนาคารหยุด ตลาดหลักทรัพย์ก็หยุดทำการด้วย

ตลาดหลักทรัพย์ เปิดทำการวันละ 2 ช่วงเวลา คือ

ช่วงเช้า 10.00 น. - 12.30 น.

ช่วงบ่าย 14.30 น. - 16.30 น.

แต่คุณสามารถส่งคำสั่งซื้อ-ขายได้ก่อนเวลาทำการในแต่ละช่วงล่วงหน้า 30 นาที คือ ส่งคำสั่งซื้อ-ขายในช่วงเช้าได้ตั้งแต่ 9.30 น. และช่วงบ่าย 14.00 น. ซึ่งเรียกว่าช่วง Pre - opening

ส่วนวิธีส่งคำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์นั้น สามารถกระทำได้ 2 วิธีคือ

1. สั่งด้วยตัวคุณเองที่ห้องค้าหลักทรัพย์ ซึ่งคุณจะต้องกรอกใบคำสั่งซื้อหรือขายด้วยตนเอง พร้อมทั้งเซ็นชื่อกำกับ

2. สั่งทางโทรศัพท์ ในกรณีที่คุณไม่สะดวกหรือไม่ต้องการไปส่งคำสั่ง ณ ห้องค้าหลักทรัพย์ คุณอาจโทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดผู้ดูแลบัญชีของคุณ และส่งคำสั่งที่แจ้งรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งที่คุณจะลืมไม่ได้คือ รหัสประจำตัวของคุณเอง



ไม่ว่าจะส่งคำสั่งด้วยวิธีใด คุณควรเป็นผู้ส่งคำสั่งด้วยตัวคุณเองเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดเสียหาย

ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการกำหนดหน่วยการซื้อ-ขายและช่วงราคา ซึ่งคุณควรทราบไว้ ดังนี้

1. หน่วยการซื้อ-ขาย หรือ Board Lot กำหนดไว้สำหรับการซื้อขายบนกระดานหลัก โดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็น Board Lot ละ 100 หุ้นเท่ากันทุกหลักทรัพย์ แต่ในกรณีที่มีผู้ต้องการซื้อ-ขายหุ้นเป็นเศษของหน่วยการซื้อ-ขาย เช่น 15 หุ้น 77 หุ้น จะทำการซื้อขายได้บนกระดานหน่วยย่อย (Odd Lot Board)

2. ช่วงราคา (Spread) ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดช่วงราคาการปรับขึ้น-ลงของราคา

ซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละครั้งที่แน่นอนไว้เพื่อให้การซื้อ-ขายหลักทรัพย์มีมาตรฐาน และก่อให้เกิดการ

ซื้อ-ขายที่สะดวกรวดเร็วขึ้นดังนี้


ราคาซื้อ หรือ ราคาขาย


ช่วง(บาท)

ต่ำกว่า


10

บาท











.10

ตั้งแต่


10





แต่ต่ำกว่า


50


บาท


.25




50








100





.50




100








200





1.00




200








600





2.00




600








1,000





4.00




1,000





ขึ้นไป








6.00






ผู้ลงทุนที่จะเสนอซื้อหรือเสนอขายหลักทรัพย์ จึงจำเป็นที่จะต้องเสนอราคาให้ตรงกับ

ช่วงราคาที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด เช่น หุ้นที่มีการซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 110 บาท ผู้ลงทุนจะต้อง

เสนอราคาเสนอซื้อหรือเสนอขายด้วยราคาที่ตรงช่วงละ 1 บาท เช่น เสนอซื้อที่ราคา 109 บาท

หรือเสนอขายที่ราคา 111 บาท หรือในช่วงราคาอื่น ๆ ที่เป็นทวีคูณของช่วง 1 บาท เช่น เสนอซื้อที่

108, 107 และเสนอขายที่ 112 และ 113 บาท เป็นต้น

หรือในกรณีที่ราคาหุ้นมีการตกลงซื้อขายกันอยู่ที่ 250 บาท ซึ่งกำหนดช่วงราคาไว้ช่วงละ 2 บาท ดังนั้นนักลงทุนจะต้องเสนอราคาซื้อหรือขายให้ตรงช่วงละ 2 บาท หรือทวีคูณของ 2 บาท เช่น เสนอราคาที่ 252, 254, 256 เป็นต้น แต่ถ้าคุณเสนอราคาที่ 253, 255, 259 เครื่องคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์จะไม่ตอบรับคำสั่งของคุณ เพราะไม่สามารถลงตัวกับช่วงราคาที่ตั้งไว้



3. ราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน (Ceiling & Floor Price) ตลาดหลักทรัพย์มีข้อกำหนดให้ ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุด หรือลดลงต่ำสุดได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาซื้อขายสุดท้ายในวันทำการก่อนหน้านี้ หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า ราคาหุ้นโดยทั่วไปในแต่ละวันจะขึ้นลงได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์จากราคาปิดตลาดของวันทำการก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีเวลาเพียงพอ เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ เมื่อมีการขึ้นลงผันผวนที่รุนแรงเกินไป อย่างไรก็ตามกฎข้อนี้มีการยกเว้นสำหรับหลักทรัพย์บางประเภท อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิต่าง ๆ (Warrant) หรือหลักทรัพย์ที่ถูกสั่งพักการซื้อขายไปเป็นระยะเวลานาน



4. Circuit Breaker ตลาดหลักทรัพย์มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ไว้ด้วยเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบและได้มีเวลารับรู้และไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนต่อไป โดยในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างรุนแรง Circuit Breaker จะทำงานใน 2 ระดับ ดังนี้

ระดับแรก เมื่อดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที

ระดับที่สอง เมื่อดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดจะหยุดพักการซื้อขายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

และหลังจากการทำงานระดับที่สองของ Circuit Breaker แล้วตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการซื้อขายตามปกติ โดยไม่มีกาหรยุดพักการซื้อขายอีก เนื่องจากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์จะถูกกำกับโดยกลไกของราคา Ceiling & Floor ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมไม่ให้ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ลดลงต่ำกว่า 30% อยู่แล้ว

คราวนี้มาถึงขั้นตอนที่คุณตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ คุณต้องเขียนใบคำสั่งซื้อ-ขาย โดยระบุชื่อของคุณ วันที่ รหัสบัญชีของคุณ ประเภทบัญชีหลักทรัพย์ที่จะซื้อ หลักทรัพย์ที่จะซื้อ จำนวนและราคาสูงสุดที่จะซื้อ และราคาต่ำสุดที่จะขาย ลงในช่องที่กำหนดไว้ตามตัวอย่าง

เราจะลองยกตัวอย่างคำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์เป็นตัวอย่างให้คุณได้เห็นเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น




จากคำสั่งซื้อนี้ หมายความว่า ผู้ลงทุน คือ นายยิ่งใหญ่ กำไรดี รหัสเลขที่ 007 ได้สั่งซื้อหลักทรัพย์ ABC จำนวน 4,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 50.50 บาท ด้วยบัญชีเงินสดในวันที่ 1 ตุลาคม 2541





จากตัวอย่างใบคำสั่งขายนี้ หมายความทำนองเดียวกับตัวอย่างใบคำสั่งซื้อคือ ผู้ลงทุน ชื่อ ยิ่งใหญ่ สามารถขายหลักทรัพย์ XYZ จำนวน 3,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 59 บาท

คำสั่งซื้อขายของคุณเมื่อถึงมือโบรกเกอร์แล้ว จะมีการส่งต่อไปสู่ระบบซื้อ-ขายของตลาดหลักทรัพย์ที่เรียกว่า ระบบ ASSET ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ On Line คำสั่งจำนวนมหาศาลจากโบรกเกอร์ทุกแห่งทุกสาขาทั่วประเทศ ราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขายทั้งหมดของหลักทรัพย์แต่ละตัว จะถูกจัดเรียงลำดับโดยอัตโนมัติ ราคาเสนอซื้อที่สูงที่สุด จะปรากฏบนหน้าจอของตลาดในช่อง Bid พร้อมจำนวนหุ้นที่เสนอซื้อในราคานี้ เช่นกัน ราคาเสนอขายที่ต่ำที่สุดจะปรากฏบนหน้าจอของตลาดในช่อง Offer พร้อมจำนวนหุ้นที่เสนอขายในราคานี้ คำสั่งซื้อ-ขายของคุณจึงถูกเรียงต่อคิวด้วยวิธีนี้ ในขณะที่การซื้อ-ขายยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ระบบวิธีการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก มีพื้นฐานบนหลักการเดียวกันหมด คือการให้มีการเสนอราคาแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเปิดเผย โดยระบบที่กำหนดนั้น มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ราคาที่มีการตกลงซื้อขายจะต้องเป็นราคาที่ดีที่สุด (The Best Price) คือเป็นราคาที่สูงที่สุดที่ผู้ขายจะขายได้ และเป็นราคาที่ต่ำที่สุดที่ผู้ซื้อจะซื้อได้

การซื้อขายจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ในทันทีที่ราคาเสนอซื้อและขายของหลักทรัพย์แต่ละตัวตรงกัน หลักทรัพย์ตามจำนวนที่ระบุ จะถูกเปลี่ยนเจ้าของในวินาทีนั้น เมื่อการซื้อ-ขายจริงเกิดขึ้น โบรกเกอร์จะทำหน้าที่แจ้งผลการซื้อ-ขายนี้กลับมาที่คุณ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่างช้าก่อนเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันทำการถัดไป

ราคาซื้อ-ขายจริงในแต่ละวินาที จะปรากฏบนหน้าจอของตลาดในช่อง Execute (EXC) ตัวเลขนี้จะเป็นสีเขียวในกรณีราคาซื้อ-ขาย ณ วินาทีนั้นสูงกว่าราคาปิดของวันทำการก่อนหน้านี้ และจะเป็นสีแดงในกรณีราคาซื้อ-ขาย ณ วินาทีนั้นต่ำกว่าราคาปิดของวันทำการก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปทำความเข้าใจการแจ้งผลการซื้อขายของนายยิ่งใหญ่ กำไรดี ซึ่งได้รับการแจ้งผลการซื้อ ว่าสามารถซื้อหลักทรัพย์ ABC ได้ดังนี้ จำนวน 1,000 หุ้นที่ราคา 50.50 บาท จำนวน 2,000 หุ้นที่ราคาหุ้นละ 50 บาท และ 1,000 หุ้นที่ราคาหุ้นละ 49.75 บาท รวมจำนวน 4,000 หุ้น ในราคาไม่เกิน 50.50 บาท ตามคำสั่งได้ระบุข้างต้น เท่ากับว่าคุณยิ่งใหญ่ได้ประโยชน์ เพราะซื้อได้ถูกกว่า เนื่องจากมีผู้เสนอขายราคาต่ำกว่าในวินาทีนั้นนั่นเอง ซึ่งคุณสวยสม เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบัญชีได้เป็นผู้ลงนามรับรองคำสั่งของคุณ





คำสั่งเสนอซื้อ-ขายของคุณจะมีผลในทางปฏิบัติวันต่อวัน โดยสิ้นสุดเมื่อตลาดปิดทำการ 16.30 น. คุณต้องส่งใบคำสั่งซื้อ-ขายใหม่ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ก่อนตลาดเปิด 30 นาที (ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย) ในระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการอยู่หากคุณเกิดต้องการเปลี่ยนแผนการลงทุน สามารถเสนอคำสั่งใหม่หรือยกเลิกคำสั่งเก่า โดยเขียนแจ้งได้ที่ โบรกเกอร์ตลอดเวลาทำการ






ค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์



เมื่อคุณได้รับทราบผลของการซื้อขาย คุณจะต้องจ่ายเงินค่าซื้อหลักทรัพย์ หรือรับเงินค่าขายหลักทรัพย์ ภายใน 3 วันทำการ หลังจากวันที่รายการซื้อหรือขายเกิดขึ้นแล้ว คุณยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียม เป็นค่านายหน้าที่ต้องจ่ายแก่บริษัทโบรกเกอร์ในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ซึ่งได้กำหนดอัตราไว้ดังนี้



1. อัตราร้อยละ 0.50 ของจำนวนเงินที่ซื้อหรือขาย สำหรับการซื้อ-ขายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมข้างต้นในแต่ละครั้งจะต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท



2. อัตราร้อยละ 0.30 ของจำนวนเงินที่ซื้อหรือขาย สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมจะต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 30 บาท



ค่าธรรมเนียมนี้ คุณต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมที่คุณต้องเสีย






ข้อควรระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์



เนื่องจากการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ค่อนข้างมีกระบวนการที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เราจึงอยากแนะนำให้คุณตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขาย อย่างละเอียดถี่ถ้วนดังนี้



1. คำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ในกรณีที่คุณส่งคำสั่งซื้อ-ขาย ณ ห้องค้าหลักทรัพย์ คุณต้องมั่นใจว่าเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนทั้งชื่อและรหัสของคุณ ชื่อหลักทรัพย์ จำนวน และราคาหุ้นที่ถูกต้องชัดเจน และเซ็นชื่อท้ายคำสั่งทุกครั้ง สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าหยิบคำสั่งซื้อขายมาเขียนสลับกัน เพราะคุณจะสูญเสียโอกาส เสียเงิน และเสียอารมณ์อย่างยิ่ง



2. Contract และ Invoice เป็นเอกสารซึ่งโบรกเกอร์จะส่งมาให้คุณเซ็น เพื่อรับทราบผลของการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ Contract และ Invoice จะออกมาคู่กัน เพื่อแจ้งรายการที่คุณสั่งว่าได้ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อใด หุ้นอะไร จำนวนและราคาเท่าไร เป็นเงินที่คุณจะต้องจ่าย (กรณีซื้อ) หรือได้รับ (กรณีขาย) เท่าไร หักค่าธรรมเนียม (Commission) แล้วจะเป็นเท่าใด คุณไม่ควรลงลายเซ็นก่อนการตรวจสอบตัวเลข และรายละเอียดทั้งหมดว่าถูกต้องหรือยัง ทุกครั้งทุกกรณี สำเนาเอกสารจากโบรกเกอร์ทุกชิ้น คุณต้องเก็บรักษารวบรวมให้เป็นระบบและครบถ้วน เพราะ Contract และ Invoice มีความสำคัญมาก เป็นหลักฐานสำคัญในกรณีเกิดเหตุผิดพลาดทางบัญชี



3. รายงานยอดหลักทรัพย์คงเหลือในบัญชี บางครั้งคุณอาจหยุดการซื้อขายไประยะหนึ่ง แต่ทุกสิ้นเดือนโบรกเกอร์จะแจ้งยอดหลักทรัพย์คงเหลือในบัญชีของคุณมาให้ เหมือนกับที่ธนาคารพาณิชย์แจ้งยอดบัญชีกระแสรายวันให้คุณในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งคุณจะต้องตรวจสอบความถูกต้องว่าหักทรัพย์ของคุณยังคงมีอยู่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพราะโบรกเกอร์อาจมีลูกค้ามาก หรือระบบคอมพิวเตอร์อาจคลาดเคลื่อน ทำให้ยอดหลักทรัพย์คงเหลือของคุณผิดพลาดไปได้ ถ้าหากเกิดความผิดพลาด หรือหากคุณไม่แน่ใจ คุณอาจติดต่อกลับไปยังเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทโบรกเกอร์ที่ดูแลบัญชีของคุณให้ช่วยตรวจสอบได้ทุกเวลา



4. ในกรณีที่คุณใช้ระบบมาร์จิน คุณต้องตรวจสอบเพิ่มเติมถึงวงเงินคงเหลือ อัตรามาร์จินที่อาจเปลี่ยนแปลงหรืออื่น ๆ ซึ่งคุณต้องละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะระบบการซื้อ-ขายด้วยบัญชีมาร์จินมีความซับซ้อน ตัวเลขเคลื่อนไหวทุกวัน และมีรายละเอียดขั้นตอนมาก จึงควรศึกษาเพิ่มเติม หลังจากมีความเข้าใจกระบวนการซื้อ-ขายหลักทรัพย์แบบพื้นฐานดีพอแล้ว โดยอาจสอบถามได้จากโบรกเกอร์ที่คุณเป็นลูกค้า หรือกำลังจะเป็นลูกค้า จะได้รับการอธิบายที่ชัดเจนขึ้น



มาถึงตรงนี้ คุณคงมีความเข้าใจการลงทุนในหลักทรัพย์เบื้องต้นพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ในบทต่อไป เราจะอธิบายถึงบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดที่สุดในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของคุณ ว่ามีความสำคัญอย่างไร และโบรกเกอร์ที่ดีที่คุณควรฝากอนาคตการลงทุนของคุณไว้กับเขานั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร






สรุป



การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีขั้นตอน วิธีการและสิ่งควรศึกษาเรียนรู้เป็นลำดับขั้นดังนี้

1. สินค้าของตลาดหลักทรัพย์ เรียกโดยรวมว่าตราสาร ซึ่งได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิประเภทต่าง ๆ หน่วยลงทุน และพันธบัตร

2. บัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์มีทั้งบัญชีเงินสด (Cash Account) และบัญชีเงินกู้ (Margin Account)

3. ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการเช่นเดียวกับวันทำการของธนาคาร โดยมีเวลาทำการ ช่วงเช้า 10.00 - 12.30 น. และช่วงบ่าย 14.30 - 16.30 น.

4. ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ 2 วิธีคือ ส่งคำสั่งด้วยตัวเอง ณ ห้องค้าหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งทางโทรศัพท์โดยมีรหัสส่วนตัว

5. ในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจะต้องดูหน่วยการซื้อขาย ช่วงราคา และระดับราคาสูงสุดต่ำสุด ให้ถูกต้อง และทบทวนคำสั่งให้ละเอียดชัดเจนทุกครั้ง

6. โบรกเกอร์คิดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.50 ยกเว้นการซื้อขายหน่วยลงทุนคิดร้อยละ 0.30 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7






บัญชีมาร์จิน



ในกรณีที่มูลค่าหุ้นที่คุณลงทุนด้วยระบบบัญชีมาร์จินตกลงต่ำจากวงเงินกู้ครั้งแรก (Initial Margin) จนถึงเกณฑ์ที่กำหนด คุณจะถูกเรียกเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม (Margin Call) เพิ่มให้มูลค่าหลักประกันวงเงินกุ้ของคุณอยู่ในอัตราส่วนในเกณฑ์กำหนด หรือที่เรียกว่า maintenance Margin Rate หากคุณไม่นำเงินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่ม โดยที่ราคาหุ้นที่คุณลงทุนอยู่นั้นตกลงไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งเกณฑ์ไว้ บริษัทโบรกเกอร์จะต้องนำหุ้นของคุณออกขาย (Forced Sell) เพื่อนำเงินสดที่ได้มาเป็นหลักประกัน เพื่อให้ Maintenance Margin ของคุณอยู่ในเกณฑ์ ดังตัวอย่างดังนี้

ถ้าตลาดหลักทรัพย์กำหนด

Initial Margin Rate = 50%

Margin Call = 35%

Forced Sell = 25%

หากคุณมีความประสงค์จะซื้อหุ้นด้วยบัญชี Margin มูลค่า 100,000 บาท

คุณต้องวางเงินเป็นหลักประกันเบื้องต้น 50,000 บาท

เมื่อราคาหุ้นของคุณลดต่ำลงจนมีมูลค่าเหลือ 75,000 บาท

หลักประกันของคุณจะลดลงเหลือ 25,000 บาท

ซึ่งคิดจาก 50,000 - (100,000 - 75,000) = 25,000 บาท

หรือเท่ากับ 33.33% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ35%

โบรกเกอร์ของคุณจะให้คุณนำเงินมาวางเพิ่มเพื่อให้มูลค่าหลักประกันของคุณครบตามเกณฑ์คือ 35% ซึ่งมีวิธีคำนวณคือ

75,000 X 35 = 26,250 บาท

100

ซึ่งคุณต้องนำเงินมาวางเพิ่ม 26,250 - 25,000 = 1,250 บาท

และหากคุณไม่นำเงินไปวางเพิ่ม และราคาหุ้นของคุณยังตกลงเรื่อย ๆ จนเหลือมูลค่าเพียง 40,000 บาท ซึ่งต่ำกว่า 25% เป็นระดับที่จะถูก Forced Sell โบรกเกอร์จะนำหุ้นของคุณบางส่วนออกขาย เพื่อให้ได้เงินมาเพิ่มมูลค่าหลักประกันเงินกู้ของคุณ โดยเทียบกับยอดมูลค่าหลักทรัพย์แล้วเกินกว่า 25%

ในกรณีที่ถูก Forced Sell หลายครั้ง จนกระทั่งหุ้นของคุณหมด คุณยังต้องรับผิดชอบภาระหนี้ส่วนที่เหลือกับแหล่งเงินกู้ของคุณพร้อมภาระดอกเบี้ยทั้งหมดด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘