วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 2

คราวที่แล้ว ปฐมบทแห่งการลงทุน 1 ว่าด้วยเรื่อง “ทำอย่างไร คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน คนรับจ้างทั่วไป จะมีเงินเป็นกลุ่มก้อน เพียงพอที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลต่อ?” ซึ่งคำตอบก็คือ “การจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personnel Finance Management)” ทำให้เกิดเงินออมขึ้นมา ตามลิงค์นี้ครับ

http://topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3243022/I3243022.html

เมื่อ ทั้งผู้มีอันจะกิน คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน คนรับจ้างทั่วไป ฯลฯ มีเงินเพียงพอที่จะนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลแล้ว คำถามต่อไปก็คือ “แล้วจะทำอย่างไรล่ะให้เงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมา นำไปลงทุนแล้วให้เกิดดอกออกผลได้?”

จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผม ผมได้แบ่งแยกองค์ประกอบที่จะทำให้เงินก้อนที่นำไปลงทุนนั้นเกิดดอกออกผลได้ โดยเปรียบเทียบ “ตลาดหุ้น” เป็น “ยุทธภพ” พวกเรา “นักลงทุน” เปรียบเทียบได้กับ “จอมยุทธ์”

จอมยุทธ์ จะอยู่รอดปลอดภัยในยุทธภพ และก้าวเข้าสู่ “จ้าวยุทธภพ” เป็นหนึ่งในใต้หล้า ที่ไม่มีจอมยุทธ์ใดๆ สามารถจะเทียบทัน ต้องประกอบไปด้วย 5 อย่าง คือ 1. คัมภีร์ยุทธ์ 2. อาวุธ 3. กระบวนท่า 4. เคล็ดวิชา 5. การฝึกฝน

1. คัมภีร์ยุทธ์
จอมยุทธ์ในหนังจีนจะต้องตามหาอาจารย์และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอเก่งแล้ว ก็ออกท่องยุทธภพ ตามหาสุดยอดคัมภีร์ยุทธ์เพื่อฝึกวิชาให้เป็นหนึ่งในใต้หล้า แต่ในตลาดหุ้น การตามหาอาจารย์แบบนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก และส่วนใหญ่จะไม่สอนให้ฟรีๆ เสียด้วย คิดค่าสอนเป็นหลักหมื่นขึ้นไปแทบทั้งนั้น ดังนั้นถ้าหาอาจารย์ลำบากจึงต้องหาคัมภีร์ยุทธ์ก่อน เพราะหาง่ายกว่า

ผมชอบที่จะเป็นจอมยุทธ์ที่ครบเครื่อง คือ ได้ทั้ง “บุ๋น” และ “บู๊” ดังนั้นคัมภีร์ยุทธ์ที่ผมหามาใช้ ผมใช้ “คัมภีร์ยุทธ์ทางบุ๋น” และ “คัมภีร์ยุทธ์ทางบู๊”

1.1 คัมภีร์ยุทธ์ทางบุ๋น
คัมภีร์ยุทธ์ทางบุ๋นที่ผมใช้ ผมจัดให้เป็นองค์ความรู้ส่วน “การวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)” คือ จะต้องมีความรู้ครอบคลุมในเรื่อง

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อที่จะได้รู้จักตลาดหลักทรัพย์ หลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขาย ความรู้เบื้องต้นต่างๆ ที่ควรทราบ

เศรษฐศาสตร์จุลภาค เพื่อที่จะได้รู้ถึงลักษณะของตลาดแบบต่างๆ เช่น ผูกขาด กึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด หรือตลาดเสรี รู้ถึงผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลในระดับจุลภาค

เศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อที่จะได้รู้ถึง ผลกระทบทางด้าน Financial Factor ต่างๆ นโยบายของรัฐ หรือปัจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น

การวิเคราะห์งบการเงิน เพื่อที่จะได้รู้ถึงภาวะทางด้านการเงินในบริษัทที่เราสนใจว่ามีทิศทาง แนวโน้มน่าลงทุนหรือไม่ โดยอาศัยดูตัวเลขที่เป็นตัวชี้ภาวะ คือ พวก Ratio ต่างๆ

Five Forces Model ของไมเคิล อี พอร์เตอร์ เพื่อจะได้รู้ถึง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่เราสนใจว่า มี ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบ และส่งผลแรงเพียงใด ซึ่งแบ่งแยกออกเป็น 5 ปัจจัยได้แก่
ภาวะการแข่งขันของบริษัทคู่แข่งในตลาดที่มีอยู่เดิม (Rivalry among existing firms) ถ้ามีภาวะการแข่งขันสูง ย่อมส่งผลเสียต่อบริษัทที่เราสนใจ
อุปสรรคในการที่บริษัทคู่แข่งหน้าใหม่จะเข้ามา (Threat of new entrants) ถ้าเข้ายาก ย่อมเป็นผลดีต่อบริษัทที่เราสนใจ
อุปสรรคของสินค้าที่จะเข้ามาทดแทนกันได้(Threat of substitute products) ถ้าทดแทนกันได้ยาก ย่อมส่งผลดีต่อบริษัทที่เราสนใจ
อำนาจในการต่อรองของผู้ขายปัจจัยการผลิต (Bargaining power of suppliers) ถ้าผู้ขายปัจจัยการผลิตมีอำนาจในการต่อรองราคาสูง ย่อมส่งผลเสียต่อบริษัทที่เราสนใจ
อำนาจในการต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining power of buyers) ถ้าผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองราคาสูง ย่อมส่งผลเสียต่อบริษัทที่เราสนใจ

SWOT คือ การวิเคราะห์ จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) อุปสรรค (Threat) ของบริษัทที่เราสนใจ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ หาอ่านได้จากหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ มีหลายเล่ม เศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค, การวิเคราะห์งบการเงิน หาอ่านได้ไม่ยากเพราะชื่อหนังสื่อตรงกับชื่อองค์ความรู้ ส่วน Five Forces Model และ SWOT หาอ่านได้ในหนังสือ “การจัดการเชิงกลยุทธ์”

สาเหตุที่ผมนำเอาองค์ความรู้ “การจัดการเชิงกลยุทธ์” มาช่วยในการตัดสินใจเลือกหุ้น ผมจะกล่าวใน “ปฐมบทแห่งการลงทุน 3” ที่จะลงในสัปดาห์หน้า

1.2 คัมภีร์ยุทธ์ทางบู๊
คัมภีร์ยุทธ์ทางบู๊ที่ผมใช้ ผมจัดให้เป็นองค์ความรู้ส่วน “การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค (Technical Analysis) ซึ่งในตอนแรกที่ผมเข้ามาในตลาด หรือก้าวเข้าสู่ “ยุทธภพ” ผมไม่เคยสนใจองค์ความรู้ส่วนนี้เลย เพราะช่วงนั้นผมมีความเป็น EGO สูง คือ ผมเรียนต่อโท Finance ซึ่ง องค์ความรู้ทางด้าน “การวิเคราะห์ทางเทคนิค” นักการเงินไม่ให้ความยอมรับ เพราะถือว่าเป็น “Voodoo Finance” หรือ “ศาสตร์การเงินทางด้านมืด” ไม่เหมือน “Pure Finance”

ต่อมา ผมมานั่งคิดว่า “เหตุใดผมถึงได้ปิดกันความคิดตัวเอง มีประโยชน์อะไรหรือที่ผมจะปิดกั้นองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งผมไม่เคยศึกษามาก่อน?” เมื่อหาเหตุผลมาหักล้างไม่ได้ ผมจึงเปิดใจยอมรับศึกษาองค์ความรู้ใหม่นี้ และเริ่มศึกษา “การวิเคราะห์ทางเทคนิค” อย่างจริงจัง

หนังสือหรือคัมภีร์ที่ผมใช้ ถ้าเป็นหนังสือต่างประเทศผมใช้ของ John J. Murphy : Technical Analysis of the Futures Markets (1986) ซึ่งเป็น Text book ที่อ่านง่าย อีกเล่มหนึ่งของ Edwards and Magee : Technical analysis of stock trends (1997) ซึ่งเป็นที่นิยมเหมือนกัน แต่อ่านยากกว่า ถ้าเป็นหนังสือไทยผมใช้ของ สุรชัย ไชยรังสินันท์

มีหนังสือหรือคัมภีร์ที่เกี่ยวกับ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค” อีกหลายเล่มที่ผมไม่ได้กล่าวถึงซึ่งน่าอ่านแทบทั้งสิ้น โดยมีผู้รู้หลายท่านเคยลงไว้ให้แล้ว ผมกล่าวถึงเล่มที่ผมใช้อยู่บ่อยๆ เท่านั้น

นอกจากคัมภีร์ยุทธ์ทางบุ๋นและบู๊ ที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีคัมภีร์ยุทธ์อีกทางหนึ่งที่ผมแนะนำคือ “ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับตลาด การเมือง และสังคม” ตลาดในที่นี้คือ ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดทองคำ และตลาดธุรกิจของบริษัทที่เราสนใจ ส่วนการเมืองและสังคม ต้องยอมรับว่าส่งผลต่อตลาดไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาวะการณ์การเมืองในขณะนั้น นโยบายของรัฐบาล เหตุการณ์ทางสังคมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ความรู้เหล่านี้หาอ่าน ฟัง ดู ได้ไม่ยาก จากหนังสือพิมพ์ ข่าววิทยุ โทรทัศน์ รวมไปถึงในห้องสินธร pantip.com นี่เอง

2. อาวุธ
เมื่อได้ “คัมภีร์ยุทธ์” มาแล้ว ต่อมา “ยอมยุทธ์” ก็ต้องหา “อาวุธ” คู่ใจ มาใช้เพื่อใช้ท่อง “ยุทธภพ” โดยอาวุธคู่ใจนี้ต้องเหมาะสมกับตัวเองด้วย จะให้มือกระบี่อันดับ 1 ไปจับหอก ทวน ธนู คงจะใช้ได้ไม่ดีเท่ากระบี่ที่ตนเองถนัด แต่หากเป็นจอมยุทธ์ที่ถนัดใช้หลายอาวุธ ก็จะเป็นจอมยุทธ์ที่น่ากลัวมาก

อาวุธคู่ใจที่ผมใช้ ผมจัดเป็นอาวุธทางบุ๋น และบู๊ ดังนี้

อาวุธทางบุ๋นที่ผมใช้คือ “ตาดู หูฟัง สมองคิด มือเขียน ปากพูด” จากคัมภีร์ยุทธ์ทางบุ๋นที่ผมหามาอ่าน ถ้าดูหนังจีนจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะเข้าสอบ “จอหงวน” เวลาอ่านหนังสือ จะถือหนังสือแล้วเดินท่องดังๆ ซึ่งผมลองใช้ดูพบว่า เวลาจะให้กระแสไฟฟ้าในสมองแล่นได้เร็ว และจำได้นาน นอกจากต้องท่องออกมาดังๆ แล้ว มือยังต้องเขียนไปด้วย

ส่วนอาวุธทางบู๊ที่ผมใช้ แบ่งออกเป็นอาวุธหลัก และ อาวุธรอง ดังนี้

อาวุธหลักที่ผมใช้เป็นประจำคือ ทฤษฎีคลื่นอีเลียต, Fibonacci Retracement, เส้นแนวรับแนวต้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เส้น Trend line และ เส้น EMA ค่าต่างๆ

อาวุธรองที่ผมใช้เป็นประจำคือ แท่งเทียน, Patterns และเครื่องมือ Basic Technical ที่ผมดัดแปลงขึ้น คือ T-EMA (ซึ่งผมจะนำมาเผยแพร่ในตอนต่อๆ ไป)

3. กระบวนท่า
เมื่อได้ “คัมภีร์ยุทธ์” และ “อาวุธ” มาแล้ว ก็ต้องมาฝึกใช้อาวุธให้เข้ากับ “กระบวนท่า” ให้ถูกต้องตามคัมภีร์ทั้งทางบุ๋นและบู๊ หากได้อาวุธมาแล้ว แต่ใช้ไม่เป็น ไม่ถูกกระบวนท่า ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ นำไปท่อง “ยุทธภพ” ก็มีแต่จะถูก “จอมยุทธ์” ที่เก่งๆ ฆ่าตายหมด

อาวุธทางบุ๋น หาก “ตาดู หูฟัง สมองคิด มือเขียน ปากพูด” แล้ว แต่ไม่สามารถนำความรู้นั้นไปวิเคราะห์ต่อได้ หรือประยุกต์ใช้ได้ ก็เปรียบเสมือน รู้วิชา มีอาวุธ แต่ไม่สำเร็จ “กระบวนท่า” กล่าวคือ เพียงแต่มีตำรา รู้วิธีซึบซับความรู้เข้าสมองยังไง แต่ใช้ไม่เป็น ก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

อาวุธทางบู๊ หาก นำมาใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกเวลา ไม่รู้จุดอ่อนของอาวุธที่นำมาใช้ ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ทฤษฎีคลื่นอีเลียตนั้นมีจุดอ่อนตรงที่ มักจะมีคลื่นต่อให้เห็นอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น 1 2 3 4 5 x 1 2 3 4 5 หรือ A B C x A B C ดังนั้นผมจึงแก้จุดอ่อนโดยใช้ Fibonacci Retracement ช่วยในการนับคลื่นกำกับอีกครั้ง หากเป็นคลื่นต่อ หรือคลื่นล้มเหลว (Failure wave) จะได้รู้ทันการณ์ และสามารถใช้เป็นแนวรับแนวต้านได้อีก แต่มีจุดอ่อนตรงที่ แนวรับแนวต้าน มีผิดพลาดให้เห็นบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงแก้ด้วยเส้น Trend line และ EMA ค่าต่างๆ เพื่อกำกับเส้นแนวรับต้านนั้นอีกทีหนึ่ง โดยผมพบว่าหากแนวรับแนวต้านใด มีเส้น Fibonacci Retracement, Trend line และ EMA อยู่ที่แนวเดียวกัน แนวนั้นจะเป็นแนวรับแนวต้านที่แกร่งมากๆ

แท่งเทียน ก็มีจุดอ่อนตรงที่มีผิดพลาดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงแก้ด้วยพิจารณารูปแบบ Patterns เข้าไปกำกับ และPatterns ก็ยังสามารถแก้จุดอ่อนของทฤษฎีคลื่นอีเลียตได้อีกด้วย แต่ Patterns ก็มีจุดอ่อนตรงที่ ตัวมันเองก็มีผิดพลาดให้เห็นอยู่บ่อยเช่นกัน จึงแก้ด้วยทฤษฎีคลื่นอีเลียตเข้าไปกำกับ ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้อาวุธของผม เพื่อที่จะแก้จุดอ่อนของอาวุธ ผมใช้เครื่องมืออื่นแก้จุดอ่อนเป็นแบบ “วัฏจักร”

ส่วน T-EMA ที่ผมดัดแปลงขึ้นนั้น ก็มีจุดอ่อนตรงที่ให้สัญญาณซื้อขายที่ค่อนข้างเร็ว ดังนั้นผมจึงแก้จุดอ่อนโดยการใช้เส้นแนวรับแนวต้านหลายเส้นเป็นตัวกำกับอีก ทีหนึ่ง หากสัญญาณ T-EMA บอกให้ซื้อประกอบกับราคาอยู่ที่แนวรับพอดี ก็จะเป็นสัญญาณบ่งบอกการซื้อที่ชัดเจน (รายละเอียดการใช้ T-EMA ผมจะกล่าวในตอนต่อๆ ไป)

4. เคล็ดวิชา
เมื่อได้ “คัมภีร์ยุทธ์” “อาวุธ” และ “กระบวนท่า” มาแล้ว จะสำเร็จสุดยอดวิชาได้ ต้องมี “เคล็ดวิชา” ถ้าไม่เข้าใจเคล็ดวิชานั้นๆ แล้ว ยากที่จะดึงประสิทธิภาพของสุดยอดวิชานั้นมาใช้ในการท่อง “ยุทธภพ” ซึ่งมี “จอมยุทธ์” ที่เก่งๆ สำเร็จสุดยอดวิชามามากมาย คอยห่ำหั่น ฆ่าฟันกัน

วิชายุทธ์ที่ผมคิดค้นนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคัมภีร์ทางบุ๋น และ คัมภีร์ทางบู๊ โดยผมให้ชื่อว่า “FTA (Fundamentally Technical Analysis)” เป็นการนำจุดเด่นของการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ทางเทคนิค มาผสมผสานใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นการผสมผสานกันระหว่างผู้ที่ชอบลงทุนระยะยาวและนักเก็งกำไร โดย “เคล็ดวิชา” หรือ “แนวคิดหลัก” จะคล้ายกับสุดยอดวิชา “DSM” ของคุณเด่นศรี คือ “ทำอย่างไรให้เงินเท่าเดิม แต่มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นได้ เพื่อหวังเก็บเกี่ยวเงินปันผลในระยะยาว” ซึ่งแน่นอนว่า “DSM” ก็เป็นสุดยอดวิชาอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นวิชาที่นักเก็งกำไรไม่ค่อยนิยม “FTA” จึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม “FTA” ก็มีจุดอ่อนเหมือนกัน คือ “ความโลภ” ของมนุษย์นั่นเอง จนวันหนึ่งผมได้มาเจอสุดยอดวิชา “MGC” ของคุณ MudleyGroup ซึ่งเข้ากับ “FTA” ได้เป็นอย่างดีโดยผมได้นำ “เคล็ดวิชา” หรือ แนวคิด “Model Trade” และ “การปรับเปลี่ยนความคิดในการซื้อขาย” มาช่วยแก้จุดอ่อน ซึ่งยอมรับตามตรงว่า การแก้ “ความโลภ” ของมนุษย์ซึ่งเป็นกิเลศนั้น ยากมากๆ ต้องมีวินัยในการใช้ “เคล็ดวิชา” และการฝึกฝนเท่านั้น

5. การฝึกฝน
เมื่อได้ “คัมภีร์ยุทธ์” “อาวุธ” “กระบวนท่า” และ “เคล็ดวิชา” แล้ว ต่อมาต้องมาทำ “การฝึกฝน” ให้เกิดความชำนาญจนมีระดับยุทธ์ที่สูงขึ้น ซึ่งในหนังจีนจะเห็นได้ว่า “วิชายุทธ์” จะมีเป็นระดับขั้น เช่น “ฝ่ามือ 7 มังกร” ของก๊วยเจ๋ง จะมีอยู่ 5 ขั้น เมื่อสำเร็จขั้นที่ 5 แล้ว ก็ถือว่าสำเร็จวิชายุทธ์นั้น
“FTA” ถ้าเปรียบได้กับ “วิชายุทธ์” ที่มี 7 ขั้น ผมเพิ่งฝึกฝนอยู่ได้แค่ขั้นที่ 2 เท่านั้น คงยังต้องฝึกฝนอีกมาก กว่าจะสำเร็จยุทธ์

รายละเอียดเกี่ยวกับ “FTA” ผมจะกล่าวในตอนต่อไป คือ ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน3 ซึ่งจะว่าด้วยเรื่อง “การจัดพอร์ทการลงทุนอย่างไรให้ลงตัวในแบบฉบับของผมเอง”

ขอให้เหล่า “จอมยุทธ์” ทั้งหลาย ที่หลงเข้ามาท่องอยู่ใน “ยุทธภพ” แล้ว ให้รอดปลอดภัย จาก “เจ้ายุทธภพ” และขอให้สำเร็จวิชาที่ “จอมยุทธ์” ทั้งหลายได้ใช้ด้วยเทอญ

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘