ก้าวที่ 1 : รู้จักกับตลาดหลักทรัพย์

ทำความรู้จักกับตลาดหลักทรัพย์

            ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีอัตราการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว หรือยุควิกฤติการณ์ อันส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในบ้านเราซบเซาก็ตาม คุณคงเห็นได้ชัดว่า ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ ตามสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ จะมีการรายงานสภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ และวิเคราะห์ถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้คุณได้ทราบกันอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ชั่วโมง ระหว่างช่วงเวลาที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน

            แต่หากคุณลองสอบถามผู้คนโดยทั่วไปว่า มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ หรือการซื้อขายหลักทรัพย์กันมากน้อยเพียงใด เชื่อว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยคงจะส่ายหน้า หรืออาจให้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป ตามที่แต่ละคนคิดหรือได้ยินมา

          แท้ที่จริงแล้ว  ตลาดหลักทรัพย์คืออะไร และมีความเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร?”

            ในก้าวที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ เราจะขอแนะนำให้คุณได้รู้จักกับตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนมาตรการในการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน และภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้คุณมีความเข้าใจอย่างถูกต้องและตรงกัน ก่อนที่จะได้ก้าวเข้าไปสู่สนามของการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ต่อไป

            ในลำดับแรกนี้ เราจะอธิบายให้คุณทราบถึงความหมายของคำว่า ตลาดทุน (Capital Market)” กันก่อน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของตลาดทุน

            ตลาดทุน (Capital market)” เป็นแหล่งในการระดมเงินออมระยะยาว (เกิน 1 ปี) เพื่อทำการจัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุนระยะยาว นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การขยายธุรกิจของผู้ประกอบกิจการเอกชน หรือการลงทุนในด้านการสาธารณูปโภคของภาครัฐบาล เป็นต้น โดยผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจะออกตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม, หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอก หรือประชาชนโดยทั่วไปใน  ตลาดแรก (Primary Market)”
           
            โดยมี ตลาดรองหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ (Secondary or Trading Market)”  เป็น แหล่งกลาง สำหรับการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการจองซื้อ ในตลาดแรกมาแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่า เขาจะสามารถขายหลักทรัพย์นั้นเพื่อเปลี่ยนกลับคืนเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

            และ  ตลาดหลักทรัพย์ (Securities Market)” เป็นสถาบันหนึ่งในตลาดรอง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการระดมเงินออม และจัดสรรเงินทุนในตลาดทุน อันเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
            ขอให้คุณดูลักษณะความสัมพันธ์ของตลาดการเงินประเภทต่างๆ ในแผนภาพที่ 1.1 ประกอบ

แผนภาพที่ 1.1  :  ประเภทของตลาดการเงิน
แหล่งที่มา  :  หนังสือตลาดหุ้นในประเทศไทย ปี พ.. 2540

            วัตถุประสงค์สำหรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.. 2517 คือเพื่อ
·     จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์
·     ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ
·     สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ และอุตสาหกรรมภายในประเทศ
·     ให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีสภาพคล่อง อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผลเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม
·     ให้ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันเอกชน ดำเนินการโดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันกัน
           
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยได้แก่ :-
           
            1.  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (The Stock Exchange of Thailand) ทำหน้าที่เป็นตลาดหุ้น หรือศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยตรง หากแต่ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัวและยุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน และก่อให้เกิดการระดมเงินออมจากประชาชนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยส่วนรวม
            2.  บริษัทสมาชิก (Broker) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป โดยบริษัทสมาชิกจะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสมาชิก จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป
            3. หลักทรัพย์จดทะเบียน (Listed Security) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยทั้งหลักทรัพย์จดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียนผู้ออกหลักทรัพย์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และเป็นไปตามข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์ (Listing Agreement) ประเภทของหลักทรัพย์จดทะเบียนสามารถแบ่งออกเป็น หุ้นสามัญ (Ordinary Share), หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Share), หุ้นกู้ (Debenture), หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture), พันธบัตร (Bond), หน่วยลงทุน (Unit Trust), ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน (Warrant), และใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short - Term Warrant)
            4.  ผู้ลงทุน  (Investor) จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนอาจเป็นประชาชนทั่วไปหรือนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของกำไรจากการซื้อขาย (ผู้ลงทุนระยะสั้น) หรือรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วย (ผู้ลงทุนระยะยาว)


ทำไมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเกี่ยวข้องกับตัวคุณ



            ถึงตอนนี้คุณคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าตลาดหลักทรัพย์คืออะไร มีวัตถุประสงค์ และองค์ประกอบอย่างไร แต่ยังมีอีกคำถามหนึ่งที่เราเชื่อว่ากำลังเกิดขึ้นในใจของคุณหลาย ๆ คน คือ ตลาดหลักทรัพย์จะเข้ามามีความเกี่ยวข้องกับตัวคุณได้อย่างไร เพราะเมื่อกล่าวถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หลาย ๆ คนมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และมีความยุ่งยาก ไม่อยากที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หรือแม้อยากเข้าไปลงทุนแต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร หรือคุณบางคนอาจมีข้อสงสัยว่าการนำเงินออมไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้ จะได้รับผลตอบแทนดีกว่า หรือมีข้อแตกต่างจากการออมเงินโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์อย่างไร ดังนั้น ในหัวข้อนี้เราจะได้อธิบายให้คุณเข้าใจถึง ความสำคัญของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวคุณ
           
            การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น สามารถเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวางแผนออมเงินระยะยาวของคุณได้ ด้วยการที่คุณเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ในธุรกิจที่คุณมีความเชื่อมั่นว่า จะสร้างผลกำไรและเจริญรุ่งเรืองต่อไปในวันข้างหน้า การเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวจะทำให้คุณในฐานะผู้ลงทุนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของกิจการ และจะได้รับการจ่ายเงินปันผลจากกำไรที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจนั้นทุก ๆ ปี ตราบเท่าที่คุณยังถือหลักทรัพย์นั้นอยู่
            ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังสามารถคาดหวังให้ราคาของหลักทรัพย์ที่คุณถืออยู่มีค่าเพิ่มขึ้นได้ ถ้าธุรกิจนั้นสามารถสร้างผลกำไร และเงินปันผลมากขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อถึงเวลาที่คุณตัดสินใจขายหลักทรัพย์นั้นออกไป ก็อาจจะมีมูลค่ามากกว่าเมื่อแรกซื้อมาหลายเท่าตัวก็เป็นได้
            ด้วยเหตุนี้ คุณจะเห็นได้ว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นวิถีทางของการลงทุนโดยตรงกับความสำเร็จ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาวของธุรกิจหนึ่ง ๆ แขนงใดแขนงหนึ่ง หรือของระบบเศรษฐกิจโดยรวม อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจแขนงต่าง ๆ  รวมทั้งกิจการของรัฐที่จะสามารถขยายทุน และขอบข่ายการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น เป็นโอกาสให้แก่ผู้มีเงินออมที่จะได้เพิ่มทางเลือกในการลงทุน และเพิ่มผลตอบแทนจากเงินออมของตนเองได้มากขึ้น
            อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็สามารถมีความเสี่ยงได้ เช่นเดียวกันกับการลงทุนในประเภทอื่น ๆ หากธุรกิจนั้นเผชิญกับสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย หรือผลการประกอบการตกต่ำลง  ย่อมส่งผลให้เงินปันผลที่คุณพึงจะได้รับลดลงตามไปด้วย และถ้าในกรณีที่ธุรกิจนั้นประสบกับภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการลง คุณจะได้รับการจ่ายคืน ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินของธุรกิจยังเหลืออยู่ หลังจากที่ได้มีการจ่ายส่วนที่เป็นหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมดแล้ว
            นอกจากนี้ มูลค่าของหลักทรัพย์ยังสามารถปรับตัวขึ้นลง ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน หลักทรัพย์ที่เคยมีมูลค่าสูงก็อาจมีโอกาสที่จะมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณจะได้ทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลตอบแทน และการขึ้นลงของมูลค่าหลักทรัพย์ต่อไป
            ถึงตอนนี้คุณอาจมีข้อสงสัยอีกว่า ในเมื่อการลงทุนในหลักทรัพย์มีความเสี่ยง เหตุใดผู้ลงทุน จึงไม่เลือกที่จะทำการลงทุนโดยวิธีอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า?
            คำตอบอย่างง่าย ๆ และชัดเจนที่สุดของคำถามข้างต้นนี้ คือ ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การฝากเงินในสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง ผู้คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อมั่นว่า เป็นวิธีการออมเงินที่ปลอดภัย ได้รับดอกเบี้ยจากมูลค่าเงินต้นที่ฝาก ทั้งยังสามารถเรียกเงินคืนได้ เมื่อมีการทวงถามทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง โอกาสที่จะรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงกว่า หรือเท่าเทียมกับระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามภาวะเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้มีเสมอไป และหากอัตราเงินเฟ้อมีค่าสูงขึ้นมากในอัตราที่รวดเร็ว หรือระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง มูลค่าที่แท้จริงของเงินออมก็มีความเสี่ยงที่จะถูกลดค่าลงด้วย
            ในขณะที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออมเงินในระยะยาว ที่สามารถหลีกเลี่ยง หรือป้องกันการขาดทุนอันเกิดขึ้นจากระดับอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ จะช่วยรักษามูลค่าที่แท้จริงของเงินทุน และให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล, กำไรส่วนทุน  และสิทธิการจองซื้อหุ้นใหม่ ในราคาต่ำให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย และหากผู้ลงทุนมีความรู้ และความชาญฉลาดพอ ก็จะสามารถเลือกซื้อเลือกขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในระดับราคา และจังหวะเวลาที่จะให้ผลตอบแทนได้สูงสุด
            เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว คุณจะเห็นได้ว่าในฐานะสถาบันทางการเงินแบบหนึ่งของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ตลาดหลักทรัพย์สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวคุณได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม และหากคุณมีความสนใจและความพร้อมเพียงพอ ก็อาจใช้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับการออมเงินและสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้


มาตรการในการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน


            หน้าที่ และวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ คือ การออกมาตรการให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นธรรม และดูแลการดำเนินงานของบริษัทสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ถูกต้อง และได้มาตรฐาน ตลอดจนให้มีการเปิดเผย และเผยแพร่ข้อมูลไปยังผู้ลงทุนอย่างทั่วถึง และครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมาตรการต่าง ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ออกมา และมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวคุณในฐานะผู้ลงทุน มีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
           
          1.  พัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน
            ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนพัฒนาคุณภาพของบริษัท ทั้งด้านระบบการควบคุมดูแลกิจการภายใน (Good Governance Practices) และการเผยแพร่รายงานทางการเงิน  ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ให้มีความน่าเชื่อถือ และมีความโปร่งใสอย่างมากที่สุด เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจลงทุน
           
          2.  เพิ่มประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุน
            ตลาดหลักทรัพย์มีนโยบายส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลประโยชน์ตอนแทนจากการลงทุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนมีความสนใจในการเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์มากขึ้น เช่น มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ สิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Subscription Rights)” สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนได้รับผลประโยชน์จาก สิทธิในการจองหุ้นเพิ่มทุนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินอีกส่วนหนึ่งไปจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และยังช่วยให้ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีข้อติดขัดไม่สามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สามารถรับผลประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวในส่วนของตนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
           
          3.  เสริมสร้างสภาพคล่องและเสถียรภาพในการซื้อขายหลักทรัพย์
            ตลาดหลักทรัพย์ได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้กลไกตลาดมีบทบาท และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การนำมาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น มาใช้ควบคู่กับการขยายช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ระหว่างวัน (Ceiling & Floor) เพื่อผู้ลงทุนจะได้มีเวลาไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และราคาซื้อขายหลักทรัพย์จะสามารถเปลี่ยนไปได้ตามกลไกตลาดเพื่อที่จะสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น

          4.  สร้างความน่าเชื่อถือต่อตลาดหลักทรัพย์โดยกำกับดูแลการซื้อขาย
            เพื่อการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุน และสร้างความโปร่งใสในกระบวนการซื้อขาย  ตลาดหลักทรัพย์ได้พัฒนาระบบตรวจสอบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ (Automated Tools of Market Surveillance: ATOMS) พร้อมทั้งระบบแจ้งเตือนความผิดปกติในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Alert Module) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ให้มีการสร้างราคาผิดไปจากที่ควรจะเป็น หรือมีการใช้ข้อมูลภายในเป็นประโยชน์ในการซื้อขาย ซึ่งเป็นการเอาเปรียบต่อผู้ลงทุนทั่วไป
           
          5.  พัฒนาช่องทางเผยแพร่ข้อมูลให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
            ตลาดหลักทรัพย์ได้พัฒนาช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์, บริษัทจดทะเบียน, งบการเงิน, และการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ใช้ในการวิเคราะห์ วิจัยด้านหลักทรัพย์ประกอบการพิจารณาลงทุนอย่างมีเหตุมีผล โดยมีทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์, สื่ออิเล็กทรอนิกส์, Internet และในรูปของแผ่น CD-ROM ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุนโดยทั่วไป


ภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์


            เมื่อได้อ่านชื่อของหัวข้อนี้ คุณบางคนอาจมีความคิดอยู่ในใจว่าภาษีเป็นเรื่องยาก และยังไม่มีความจำเป็นที่คุณ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ลงทุนหน้าใหม่ต้องรู้ละเอียดมากนัก ทำให้ยากพลิกข้ามไปอ่านหัวข้ออื่นต่อไป แต่แท้จริงแล้ว เราอยากบอกว่าภาษีอากรไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่คุณคิด และยังจัดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเป็นลำดับแรก ที่ผู้ลงทุนควรจะได้ทราบ และมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะการจ่ายภาษีอากรให้ถูกต้อง และครบด้วนตามกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเมื่อก้าวเข้มาสู่สนามของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
            ในเบื้องต้นนี้ เราจึงได้รวบรวมหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีอากรสำหรับบุคคลธรรมดา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น การลงทุนในหุ้นสามัญ, หุ้นบุริมสิทธิ, หุ้นกู้, หน่วยลงทุน และพันธบัตรขององค์กรของรัฐบาล ที่คุณควรทราบและง่ายต่อการทำความเข้าใจ มาแสดงไว้ในตารางที่ 1.1 และหากคุณมีความสนใจเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การจัดเก็บภาษีอากรสำหรับนิติบุคคล อันเนื่องมาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็สามารถดูรายละเอียดได้ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้


สรุป


            จากที่กล่าวมาในก้าวที่ 1 นี้ คงจะทำให้คุณได้มีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นแล้วว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการระดมเงินออม และจัดสรรเงินทุนในตลาดทุน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว นอกจากนั้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังจัดเป็นวิถีทางหนึ่งของการวางแผนออมเงินระยะยาว ที่คุณสามารถเข้าไปเลือกลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในธุรกิจ ซึ่งคุณคาดว่าจะประสบความสำเร็จ การเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยรักษามูลค่าที่แท้จริงของเงินทุนของคุณแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนสูงสุดกลับคืนมาให้คุณได้อีกด้วย หากคุณมีความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างดีเพียงพอ ซึ่งคุณจะสามารถศึกษาได้จากก้าวต่อ ๆ ไปของหนังสือเล่มนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘